ปัญญาประดิษฐ์


มุมมองเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ของคนทั่วไปเป็นภาพจินตนาการที่ฉายให้เห็นถึงความฉลาดล้ำของสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีชีวิตในโลกอนาคตที่ดูประหนึ่งคล้ายจะมีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

มุมมองเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ของคนทั่วไปเป็นภาพจินตนาการที่ฉายให้เห็นถึงความฉลาดล้ำของสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีชีวิตในโลกอนาคตที่ดูประหนึ่งคล้ายจะมีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์   มีภาพยนตร์-นวนิยายหลายๆเรื่องที่สื่อสะท้อนให้เรานึกถึงนวัตกรรมที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก มันสมองของมนุษย์จนกระทั่งมันสามารถพัฒนาความรู้สึกนึกคิดของตนและกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวโลก ในความเป็นจริงมันจะสามารถพัฒนาตัวเองได้มากน้อยขนาดที่จะกลายมาเป็นผู้ครองอาณาจักรแห่งโลกสีน้ำเงินนี้แทนมนุษย์ได้หรือไม่ยังดูเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าจะคาดคิดกันได้เอง

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (A.I.) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในทางวิทยาศาสตร์ที่พยายาม สร้าง จำลอง ให้คอมพิวเตอร์มีความคิดอย่างมนุษย์ มีพฤติกรรมต่างๆ โดยเลียนแบบจากมนุษย์  

ประวัติความเป็นมาของ A.I. 
แนวคิดที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอาณาจักรกรีกยังยุคเรือง โดยอริสโตเติ้ลนักปราชญ์ผู้กระเดื่องนามในยุคนั้น ได้แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างมวลสาร(Matter) กับรูปแบบ (Form) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น พื้นฐานการคำนวณเชิงสัญลักษณ์ จากแนวคิดของอริสโตเติ้ลถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์นี้เองที่ถูกนักคณิตศาสตร์หลายๆท่านได้นำมาสานต่อ ไม่ว่าจะเป็น ลีออนฮาร์ด ออยเลอร์ (Leonhard Euler) นักคณิตศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษอย่าง เลวิส คาร์รอลล์(Lewis Carroll), จอร์จ บลู (Georeg Boole) จนวงการปัญญาประดิษฐ์ถือว่าแนวคิดของอริสโตเติ้ลเป็นจุดก่อกำเนิดของศาสตร์แขนงนี้ 

อริสโตเติ้ล
ภาพจาก https://blogs.otis.edu/

ปัญญาประดิษฐ์ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเต็มตัวราวในปี ค.ศ. 1956 เมื่อ จอห์น แมคคาร์ธี (John McCarthy)ร่วมกับนักวิจัยในจากสถาบันอื่นๆ อีกกว่า 10 ท่านได้ทำการวิจัยร่วมกัน ใน มหาวิทยาลัย Princeton โดยการวิจัยในครั้งนั้น นักวิจัยได้พยายามร่วมกัน ทำวิจัยเรื่องทฤษฎีอัตโนมัติ (automata theory) โครงข่ายใยประสาท และศึกษาเรื่อง ความฉลาด : intelligence และ John McCarthy นี้เองที่ตั้งชื่อให้กับศาสตร์สาขาใหม่นี้ว่า Artificial Intelligence หรือ AI 

ในปี  ค.ศ.1995  Hunt E. ได้ให้คำจำกัดความของ ปัญญาประดิษฐ์เอาไว้ว่ามีขั้นตอนที่ประกอบด้วยขั้นตอนใหญ่ๆ 3 ขั้นตอน คือ  
- การสร้างวิธีการแทนสิ่งที่อยู่ในใจ 
- การดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาใช้ 
- การจัดการแทนค่าออกมาเป็นคำตอบ

งานทางด้าน AI นั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ ซึ่งแล้วแต่ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการนำไปประยุกต์ใช้แต่โดยทั่วไป เราสามารถแบ่งแขนงของ งานA.I. ได้ดังนี้ 

1. การเล่นเกม
AI ชนิดถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างแรกๆของ AI เลยทีเดียว ในการวิจัยเกี่ยวกับเกมของ AI จะเน้นไปในการเล่นเกมกระดาน เพราะเกมเหล่านี้จะมีกฎกติกาที่ตายตัว และไม่มีความสลับซับช้อนมากในการเขียนโปรแกรมเพื่อประมวลผล มากนัก เช่นเกม หมากรุก ,puzzle เป็นต้น การพัฒนาทางด้านนี้ทำให้เกิด Heuristics search(ขบวนการการค้นหาคำตอบที่ดีที่สุด) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สำคัญของ AI อีกด้านแขนงหนึ่ง 

2. การให้เหตุผลและการพิสูจน์ทฤษฎีอย่างอัตโนมัติ 
งานในแขนงนี้เป็นงานที่เก่าแกที่สุดของกระบวนการในทาง AI  ซึ่งในอดีตนักคณิตศาสตร์หลายท่านพยายามที่จะใช้คณิตศาสตร์ในการ แก้ปัญหาต่างๆอยู่เสมอ 

3. ระบบผู้เชียวชาญ (Expert System)
การสร้างผู้เชี่ยวชาญคือการกำหนดขอบเขตความรู้ให้กับ A.I. ซึ่งเป็นขอบเขตความรู้ที่แคบๆ แต่ สามารถรู้ได้อย่างลึกซึ้ง  A.I. ในแขนงนี้เป็นว่าเป็นบทเรียนใหญ่ในมหาวิทยาลัยทั่วๆไปที่สอนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์เลยทีเดียว

4. การเข้าใจภาษาธรรมชาติและการสร้างรูปแบบความหมาย 
A.I. ชนิดนี้ เน้นไปที่การสร้างโปรแกรมที่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ได้  มีการตอบโต้กับมนุษย์ได้  อาจจะเป็นลักษณะการพูดตอบโต้หรือการสื่อความหมายในรูปแบบอื่น แม้จะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ A.I. ในลักษณะนี้ก็ต้องถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าทีควร เพราะภาษาของมนุษย์เรานั้นมีหลายภาษาแล้วแต่ถิ่นฐานเชื้อชาติ รวมถึงศัพท์แสลงต่างๆที่ออกจะเป็นการยากสักหน่อยในการพัฒนาแต่เชื่อแน่ว่าในระยะเวลาไม่นานนี้  A.I. จะสามารถทำได้อย่างดีทีเดียว 

5. การสร้างรูปแบบตามอย่างการทำงานของมนุษย์ 
A.I. ในแขนงนี้เน้นหนักไปทางด้าน การเลียนแบบความคิดมนุษย์ และมีสติปัญญาที่เท่าทันกัน  โดยมุ่งเน้นศึกษาไปในวิธีคิดของมนุษย์เพื่อเลียนแบบออกมาเป็น A.I.

6.การวางแผนและหุ่นยนต์ 
เป็นการสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมนุษย์เรา หุ่นยนต์อาจจะถูกสั่งให้เดินหน้าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้แต่เมื่อเจอสิ่งกีดขวางบางทีมันก็ดันทุลังที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะโปรแกรมเขียนมาอย่างนั้น แต่ในปัจจุบันมีหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น 

7. ภาษาและสภาพแวดล้อมสำหรับ AI
 
การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้าน AI นั้น เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้มีการพัฒนาในส่วนของโปรแกรม ควบคู่ไปด้วยกัน โปรแกรมเมอร์จะต้องเรียนรู้และพัฒนาเทคนิคในการเขียนโปรแกรมควบคู่กันไป 


RQ-4 Global Hawk เครื่องบินไร้คนขับ
ภาพจาก http://airvoila.com

AI ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันหลายหน่วยงานพยายามส่งเสริมด้านการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับ AI อยู่หลายแห่ง หลายองค์กรจัดให้มีการแข่งขันเกี่ยวกับการเขียน AI อยู่เสมอ หรืออย่างที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆ อย่าง Robocode Thailand Contest 2009 ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษารวมทั้งประชาชนทั่วไปหันมาประลองความสามารถทางด้าน A.I. กัน

แม้ A.I. จะทำอะไรได้มากมายแต่หากเทียบกับจุดมุ่งหมายเดิมที่ต้องการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มีความรู้ความคิดเท่าทันมนุษย์แล้วนับได้ว่า A.I. ในปัจจุบันยังห่างไกลกับความซับซ้อนของระบบความคิดของมนุษย์พอสมควร แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย  สิ่งที่ A.I. ยังขาดไปคือ จินตนาการ และแรงบันดานใจ ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์เราทุกคนแล้วแต่จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามวัยและประสบการณ์ รวมทั้งความรู้จักคิดรู้จักตั้งคำถาม  หรือการพัฒนาองค์ความรู้จากประสบการณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ A.I. ยังไม่สามารถมีได้ทัดเทียมกับมนุษย์เรา  แต่หากเปรียบเทียบกันในเรื่อง ความว่องไวแม่นยำในการคิดการประมวลผลแล้วแน่นอนว่า มนุษย์เราไม่สามารถทำได้เร็วเท่า  ความว่องไวแม่นยำเป็นซึ่งเป็นจุดเด่นของ สมองกลอยู่แล้ว แถมซ้ำมนุษย์เรายิ่งแก่ก็ยิ่งหลงๆลืมๆ  ไปตามวัย

ดังนั้นพอจะอนุมานได้ว่า A.I. เป็นตัวเสริมความรู้ของมนุษย์เราในด้านที่บกพร้องต่างๆ เป็นการเติมเต็มในบ้างสิ่งที่มนุษย์เราขาดหายไป หรือ หลงลืมไปในบางรายละเอียด ทั้งการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยังเป็นการพิสูจน์ศักยภาพของมนุษย์ว่าจะสามารถพัฒนาสิ่งไม่มีชีวิตให้กลับมา เป็นสิ่งซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดอย่างมนุษย์หรือเข้าใกล้มนุษย์ได้มากน้อย เพียงใด ล้วนเป็นคำถามที่น่าสงสัยและรอการไขสู่คำตอบอยู่ทุกเมื่อ

การประยุกต์ใช้ A.I.
A.I.ถูกนำมาประยุกต์เพื่อการใช้งานในหลายๆส่วน ซึ่ง จุดเด่น ของ AI คือสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มีความแม่นยำสูง และสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว

- ทางด้านการแพทย์
มีการนำแขนกลเข้าไปช่วยการผ่าตัด ซึ่ง สามารถทำงานได้ละเอียดกว่ามนุษย์มาก และข้อดีอีกประการคือการไม่มีความวิตกกังวล เกิดขึ้นในขณะทำงานอย่างเช่นในมนุษย์ที่อาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานได้  การใช้แขนกลช่วยในการผ่าตัด เป็นการทำงานที่มีความปลอดภัยสูง และอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์จึงเป็นการร่วมงานกันอย่างดีเยี่ยมระหว่างคนกับเครื่องจักรกล

 

 

-  ทางด้านงานวิจัย 
ในหลายงานวิจัย เริ่มมีการใช้ A.I. เข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เช่นการสำรวจในบริเวณพื้นที่ทีมีความเสี่ยง อย่าง ปากปล่องภูเขาๆไฟ หรือในมหาสมุทรที่มีความลึกอย่างมากก็สามารถ สามารถใช้หุ่นยนต์สำรวจลงไปทำงานแทนได้ เพราะเครื่องจักรพวกนี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ดีกว่ามนุษย์มาก ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดและแม่นยำกว่ามนุษย์

 

- ทางด้านอุตสาหกรรม
เป็นการช่วยลดภาระทางต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก  ทั้งในงานบางประเภทที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือมีความเสี่ยงสูง จนไม่ค่อยมีใครอยากทำก็สามารถใช้ หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์มาทำงานแทนได้

- ทางด้านการบันเทิง 
มีการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้ เป็นสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น

 

- ด้านทางการทหาร 
A.I หรือปัญญาประดิษฐ์ในพวกนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็น เครื่องบินไร้คนขับ  รถถังไร้คนขับ โดยมีจุดประสงค์หลักในทางด้านความมั่นคง


Asimo กำลังเล่นฟุตบอล
ภาพจาก http://www.boskowan.com

ปัจจุบันมีการสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์ที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และที่ดูฮืออาและได้รับความสนอกสนใจจากคนทั่วไปมากที่สุดเห็นจะเป็น  อาซิโม (Asimo) หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ของบริษัทฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น ที่ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 มันสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่างจนกระทั่งสร้างความฉงนให้มนุษย์เราได้มากพอสมควรทั้ง ทั้งสามารถเดินและวิ่งได้อย่างอิสระ ขึ้นบันไดและเต้นรำได้  เคลื่อนย้ายวัตถุจากที่หนึ่งไปอีกทีหนึ่ง สามารถจดจำใบหน้าคู่สนทนาได้อย่างแม่นยำ มีระบบบันทึกเสียงเพื่อตอบสนองคำสั่งของมนุษย์ รวมไปถึงหุ่นยนต์ "ไอโบ" (Aibo) หุ่นยนต์สุนัขแสนรู้จากค่าย โซนี่  หรือ หุ่นยนต์แมว อย่าง"เนโคโร" และ "แม็กซ์" ที่พัฒนาโดย บ.ออมรอนของญี่ปุ่น

แนวโน้มของการพัฒนา ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นรูปธรรมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาอันใกล้เราอาจจะเห็นปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่ๆที่ คล้ายมนุษย์มากขึ้นทุกวัน เพราะนับจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ก็พัฒนาแบบก้าวกระโดดเรื่อยมา 
แต่ในขณะเดียวกันหากเราใช้วิถีชีวิตที่ยึดติดกับเทคโนโลยีมากเกินไป มนุษย์เราก็อาจจะถูกลดทอนความสำคัญลงเพราะคนไม่ต้องสนใจในผู้คนรอบข้างมากนักไม่ต้องกังวลว่าจะกลายเป็นคนไม่มีเพื่อนเมื่อเหงาก็สามารถพูดคุยกับ หุ่นยนต์ได้ เหมือนอย่างเช่นเทคโนโลยีหลายๆอย่างที่ทำให้คนห่างไกลกัน แต่ถึงกระนั้นหากมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ตัวเองสร้าง อย่างเท่าทันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เราจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์และมีความฉลาดที่เกือบจะทัดเทียมกัน ..ปัญญาประดิษฐ์นับได้ว่าศาสตร์แห่งชีวิตอนาคตอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #ปัญญาประดิษฐ์
หมายเลขบันทึก: 452194เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท