แม่ชีไปร้องหาสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องเอาสักอย่างจะตั้งหรือจะบวช


แม่ชีไปร้องหาสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องเอาสักอย่างจะตั้งหรือจะบวช 

-โมไนย พจน์์- 


              
(ภาพไปร้อง กกต.ของคณะแม่ชีในเรื่องสิทธิ์การเลือกตั้ง : ภาพจากเน็ต)

           ประเด็นภาพข่าวที่กลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เปิดเผยว่า พาแม่ชีไปร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) เพื่อทวงถามสิทธิ์ในการเลือกตั้ง โดยเทียบเปรียบกับแม่ชีของสำนักสันติอโศก (ไทยรัฐ/ข่าวสด ฉบับที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ )  ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า “ต้องการอะไร” จากการมาเรียกร้องสิทธิ์เช่นเดียวกับสันติอโศก หรือนักบวชที่กฎหมายเลือกตั้งตีความให้ ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากแสดงทัศนะร่วมกับแม่ชี และคณะด้วยทัศนะแบบนี้ว่า   

          ๑. ในประวัติศาสตร์แม่ชีมีฐานะเป็นนักบวช  ดังทัศนะของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ให้คำอธิบายว่า “อัตลักษณ์ของนางชีซึ่งแสดงออกด้วยชุดนุ่งห่มขาวและโกนศีรษะนั้นคือเครื่องหมายของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทางกามารมณ์กับใครอีก...อยู่วัดพระก็ไม่มัวหมอง (ยกเว้นท่านไปทำให้มัวหมองเอง) อยู่เรือนชายอื่นก็ไม่พึงเข้าหา ผู้หญิงเล็กๆ ที่ยากจนและไม่มีอำนาจมาปกป้องตัวเองได้ อาจถูกผู้ชายรังแกได้ง่าย ก็อาศัยผ้าขาวและโกนหัว...คุ้มครองตัวให้พ้นจากชายใจพาลสันดานหยาบได้  ดังมีหลักฐานว่า พระเจ้าหลานเธอของรัชกาลที่ ๑ พระองค์หนึ่ง ถูกพม่ากวาดต้อนไปเมื่อตอนเสียกรุง ตกไปอยู่เมืองพม่าแล้วพระองค์ก็บวชชีเสีย จนกระทั่งกองทัพไทยไปตีเมืองทวายจึงได้พระองค์กลับมา เรียกกันว่าพระองค์เจ้าชี[1] ถ้าแปลความหมายง่าย ๆ ก็คือ แม่ชีได้รับการยอมรับในฐานะนักบวชนับแต่อดีตที่ต้องได้รับการปฏิบัติเช่นนักบวชทั้งของไทยและพม่าหรือประเทศอื่นใดที่มีแม่ชี  ความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศไม่ได้มองว่าแม่ชีเป็นชาวบ้าน เพราะภาพลักษณ์ที่ปรากฏผ่านศรีษะโกน ผ้าขาวที่สวมใส่ และวัดที่อยู่ จึงไม่มีเหตุผลอื่นใด ที่แม่ชีไม่ใช่นักบวช

                ๒. กฎหมายเลือกตั้งไม่ให้สิทธิ์แม่ชีเลือกตั้ง เท่ากับยอมรับแม่ชีว่าเป็นนักบวช จึงมีศักดิ์แห่งการเป็นนักบวชเช่นเดียวกับภิกษุที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเช่นเดียวกัน จะตีความได้หรือไม่ว่านั่นคือกฎหมายยอมรับแม่ชีในฐานะนักบวช มิใช่ชนชายขอบ ทั้งที่ในอดีตไม่มี  หากตีความเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสิทธิ์อื่น ๆ ในฐานะนักบวชจะพึงได้ อาทิ กฎกระทรวงคมนาคมไม่จัดแม่ชีเป็นนักบวช จึงขึ้นรถเมล์ รถไฟจึงยังถูกเก็บค่าพาหนะไม่ได้รับการยกเว้นเช่นนักบวช การเข้าถึงสวัสดิการอื่น ๆ อาทิไปโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลสงฆ์อันเป็นโรงพยาบาลของนักบวชตามชื่อ  ไม่ได้ การเป็นนักบวชจึงย่อมได้รับสิทธิ  หรือสิทธิ์ต่อการปฏิบัติตนต่อนักบวชมิใช่อุบาสิกาผู้ถือศีลแปด ตรงนั้นจึงควรเรียกร้องหรือเดินหน้าต่อไป  

                ๓. กฎหมายแม่ชีช่องทางเปิดให้สตรีกับศาสนา กล่าวคือใช้ช่องทางของการยอมรับนี้ใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการพยายามเสนอร่างกฎหมาย พรบ.แม่ชี  ที่เคยไม่ผ่านสภามาแล้ว ให้เป็นประโยชน์จากชัยชนะของพรรคการเมืองที่ องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สนับสนุนอยู่ (ทั้งต่อหน้าและลับหลังผ่านพระสงฆ์ที่นิมนต์ไปบ่อยครั้ง)  ให้เป็นประโยชน์ต่อแม่ชี ย่อมจะเป็นประโยชน์ระยะยาวทั้งศาสนาและการพัฒนาสตรีในศาสนา มิใช่เพียงแค่เป็นเครื่องมือเอาคะแนนในการเลือกตั้งให้กับพรรคที่ชื่นชอบ หรือแกนนำจัดตั้งชื่นชอบเท่านั้น  เพราะเขาเหล่านั้นได้ประโยชน์จากคะแนนก็คงจบกระมัง  

                ๔. การเรียกร้องเพื่อได้มาซึ่งผลได้ทั้งกว้างและลึก กล่าวคือ ให้เอากฏหมายแม่ชี เอากฎหมาย ร่าง พรบ.แม่ชีในอดีต ไปปรับปรุง ข้อดี ด้อย ร่าง พรบ.สถาบันแม่ชี ที่เคยศึกษาตั้งประเด็นไว้  โดยให้มีความหลากหลาย ทั้งเชิงกว้างในมิติทางสังคม เชิงลึกในวัฒนธรรมองค์กร ทั้งมีการขับเคลื่อนองค์กรอย่างเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อแม่ชีและพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  เพื่อรองรับสถานะแม่ชีที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ให้เป็นช่องทาง เป็นพื้นที่ของสตรีกับศาสนา ให้ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น เปิดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของสตรีต่อพื้นที่ทางศาสนาอย่างเป็นระบบ จะเป็นการพัฒนาสตรีเพื่อให้เป็นบุคลกรทางศาสนาอย่างมีนัยยะมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาศาสนาและบุคลากรทางการศึกษาของชาติ และเป็นการพัฒนาบุคคลากรด้านแม่ชี (ที่เป็นไปตามกฎหมาย) เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักบวชในขั้นต่อไป

              ในทัศนะผู้เขียนมองว่าการที่มีชีสงวนสิทธิ์เพื่อรุกคืบ ต่อสิทธิทางกฎหมายในฐานะนักบวช ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสตรีทั้งด้านศาสนา ต่อจิตวิญญาณของนักบวช รวมไปถึงการพัฒนาสตรีต่อสังคมในมิติของการศึกษา และการเข้าถึงโอกาสอื่น ๆ ในฐานะนักบวช  ทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อแม่ชีเอง ในความเป็นนักบวชกับการเข้าถึงเป้าหมายทางพระพุทธศาสนา หรือพัฒนาไปสู่การสร้างฐานรองรับต่อการบวชภิกษุณีผ่านเป็นกฎหมายเมื่อองค์กรของสตรีในภาพลักษณ์แม่ชีได้รับการยอมรับทั้งต่อบทบาททางศาสนาและสังคมของแม่ชีเอง ก้าวต่อไปของภิกษุณีเถื่อนจะไปยากอะไร ?

              นักกิจกรรมการเมืองที่ใช้ชื่อในร่มเงาของพระพุทธศาสนาโปรดตระหนักและเข้าใจก่อนพาแม่ชีไปลงคลอง..นะพี่มหาเสถียร......!!!!

(BT.12-07-2554)



[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์  “แม่ชีกับภิกษุณี”    มติชนสุดสัปดาห์  ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๑๑๐๔, (๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๔) : ๔๗.

คำสำคัญ (Tags): #นักบวช แม่ชี
หมายเลขบันทึก: 452147เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท