TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

การประชุมวิชาการประจำปี 2554 ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง Library Goes Green through ICT


เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมากขึ้น รูปแบบการอ่านซึ่งเคยมีแต่รูปแบบหนังสือก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการอ่านบนสื่อออนไลน์แทน การอ่านบนสื่อออนไลน์เป็นวิธีการที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า จากระบบคอมพิวเตอร์รูปแบบเดิมที่ต้องหาซอฟท์แวร์มาใส่เครื่องเอง ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการเชื่อมต่อแบบทั่วถึงแบบไร้สายระหว่างอุปกรณ์ปลายทางและต้นทาง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารที่ไม่มีวันหยุด และ Cloud computing เป็นการทำให้ศูนย์คอมพิวเตอร์มีขนาดพื้นที่เล็กลง ช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

วันที่ 21-22 กรกฎาคม 2554 นางสาวแจ่มจันทร์ นพบุตรการณ์ นางบังอร นพกูล  นางสาวฐิติมา หิรัญเวชยางกูร  นางสาวประวีณา ปานทอง และบุคลากรฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด เข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปี 2554 ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง Library Goes Green through ICT อาคารธาราเทพ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

สรุปโดย นางสาวประวีณา ปานทอง ดังนี้

พิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช)และหน่วยงานเครือข่าย 

การประชุมวิชาการประจำปี 2554 

ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

เรื่อง Library Goes Green Though ICT

วันที่ 21 ก.ค. 2554

1. Green Library and Cloud Computing

โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมากขึ้น รูปแบบการอ่านซึ่งเคยมีแต่รูปแบบหนังสือก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการอ่านบนสื่อออนไลน์แทน การอ่านบนสื่อออนไลน์เป็นวิธีการที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า จากระบบคอมพิวเตอร์รูปแบบเดิมที่ต้องหาซอฟท์แวร์มาใส่เครื่องเอง ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการเชื่อมต่อแบบทั่วถึงแบบไร้สายระหว่างอุปกรณ์ปลายทางและต้นทาง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารที่ไม่มีวันหยุด

Cloud computing เป็นการทำให้ศูนย์คอมพิวเตอร์มีขนาดพื้นที่เล็กลง ช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

ข้อจำกัด

-          โปรแกรมในคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงตามลำดับ

-          จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่ความเร็วในการให้บริการยังเท่าเดิม

ข้อดี

-          มีการจัดการข้อมูลที่ดี ใช้ชุดจัดเก็บเพียงชุดเดียว

-          คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้

-          จำนวน Server ลดลงทำให้ประหยัดไฟเพิ่มขึ้น

Cloud computing ประกอบด้วย

-          Application

-          Platform

-          Infrastructure

การก้าวสู่ Cloud computing เพราะการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆขององค์กร ทำให้เว็บกลายเป็นสื่อกลางสำหรับการติดต่อสื่อสารของคนทั่วโลก ซึ่งมีระบบการใช้งานที่ง่ายไม่ซับซ้อน และลดต้นทุนการผลิต ลดงบประมาณ ลดการใช้พื้นที่ มีการประกันความเสี่ยง ประหยัดพลังงานไฟฟ้าลดภาวะโลกร้อน แต่เพิ่มคุณค่าการใช้งานขึ้นโดยข้อมูลที่ได้ถูกแปลงเป็น Digital ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น ตัวอย่างของการโปรแกรมการแชร์ข้อมูล เช่น Dropbox, yousendit, flickr, wordpress ฯลฯ ซึ่งความเสี่ยงของ Cloud computing ที่เกิดขึ้นจากการขาดความรอบคอบในการอ่านข้อมูลหรือกฏการใช้ระหว่างผู้ให้บริการถึงสิทธิที่ผู้ขอรับบริการพึงได้ มีแค่ไหน ทำให้เกิดความเสี่ยงของข้อมูลส่วนตัวที่จะเปิดเผยสู่สาธารณะ

 

2. การเสวนาเรื่อง Green ICT กรณีศึกษา Digitalization

ผศ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 

          โครงการเริ่มต้นจากคำว่า “หญ้าแพรก” เพราะมันตายยากและมีขึ้นโดยทั่วไป หรืออีกชื่อที่คนทั่วไปรู้จักบนเว็บ (www.siamrarebooks.com) คือ หนังสือเก่าชาวสยาม รวบรวมข้อมูลจากสมุดข่อย สมุดดำ และหนังสือเอกสารเก่าๆ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกและคัดเลือกภายใต้หัวเรื่อง วรรณคดีเก่า กลุ่มชาติพันธุ์ วารสารนิตยสารเก่า

 

นางสาวพรทิพย์ อาณาประโยชน์ หัวหน้าหอสมุดศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล 

โครงการเริ่มปี 2549 จากการปรับปรุงเอกสารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประกอบด้วย

-          สมุดบันทึกคำบรรยายพระชนก 17 เล่ม มีลายพระหัตต์และภาพวาด

-          หนังสืออนุสรณ์ ของแพทย์ศิริราช ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบุคคลสามารถเข้าไปเพิ่มข้อมูล รูปภาพ ที่อยู่ เพื่อติดต่อกันได้

-          รูปภาพเก่าที่มีอยู่ในองค์กร ในคณะแพทย์ เช่น รูปราชวงศ์ รูปวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่เป็นแพทย์ พยาบาลในศิริราช

โครงการอื่นๆ เช่น โครงการจากวันแม่ถึงวันพ่อ โดยจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 84 เล่ม รวบรวมข้อมูลประวัติความเป็นมาของศิริราชกับการแพทย์สมัยใหม่

 

ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          แต่เดิมเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านการเกษตรตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว อยู่ในรูปของไมโครฟิช แต่ปัจจุบันทำในรูปแบบของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สาขาเกษตรจะทำให้ได้ 999 เล่ม (ปัจจุบันทำเสร็จ 99 เล่ม) สาขาอื่นๆ 179 เล่ม นอกจาก e-Book ยังมี e-Journal, e-Thesis, Proceeding, e-Document, eNews, eMeeting Report ฯลฯ ซึ่งการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการให้บริการตัวเล่ม  การเข้าใช้ทำได้อย่างรวดเร็ว ปริมาณการถ่ายเอกสารน้อยลงทำให้ประหยัดกระดาษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

 

วิทยากรสรุปเพิ่มเติม 

          การทำ Digital File ควรใช้กับหนังสือเก่าที่มีคุณค่า ไม่สามารถหาอ่านได้แล้วและควรจะหยุดการทำ Digital File เมื่อถึงจุดหนึ่ง เช่น หนังสือที่เคยมีอยู่ในรูปออนไลน์แล้ว หรือหนังสือที่เป็นปีพิมพ์ปัจจุบัน ส่วนการใช้งาน e-Book ผ่านออนไลน์ต่างๆ เช่น ipad, iphone ฯลฯ จำเป็นต้องมีโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพรองรับการใช้งานก่อน

 

3. Cloud Computing

โดย นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                                     

ห้องสมุดมีซอฟท์แวร์ Horizon ตัวเดียวในระบบงานของห้องสมุดและกำลังจะนำ Koha เข้ามาใช้แทน ในส่วนงานที่เกี่ยวกับ Cloud Computing ที่ใช้ในงานห้องสมุดอัตโนมัติ คืองานประชุม งานจัดหา เช่น ห้องสมุดนำรายชื่อหนังสือที่ต้องการซื้อขึ้นแชร์บนโปรแกรม Dropbox ให้ห้องสมุดสาขาอื่นๆตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ซื้อหนังสือซ้ำกัน เทคโนโลยีของ OCLC ที่ห้องสมุดใช้ เช่น Worldcat Local รูปแบบการสืบค้นแบบ Global Union Catalog และโปรแกรม CONTENTdm ของ OCLC ซึ่งเป็นโปรแกรมบริหารจัดการ Digital content และในอนาคตจะมีการแชร์ข้อมูลในระดับสากล เช่น การยืมหนังสือกับห้องสมุดต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้ผ่านทางออนไลน์ เช่น การใช้โปรแกรม Survey Monkey เพื่อความสะดวกและได้รับข้อมูลที่ตรงตามความจริง โปรแกรม Google Doc ใช้สำหรับแชร์รายชื่อหนังสือบริจาค ห้องสมุดสาขาใดต้องการตัวเล่มสามารถเข้ามาคลิกเลือกรายชื่อ โดยแสดงหน้าปกและรายการข้อมูลหนังสือ

Cloud Computing มีส่วนให้การทำงานของห้องสมุดง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถเก็บข้อมูลอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถจัดเก็บได้ แชร์ข้อมูลและสามารถมองเห็นข้อมูลได้ไม่ว่าอยู่สถานที่ไหนในโลกนี้ และสามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

 

4. Sementic Web กรณีการประยุกต็ใช้ในห้องสมุด

โดย ดร.มารุต บูรณรัชนักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

          การพัฒนารูปแบบเว็บจากการใช้ข้อมูลเว็บด้านเดียว 1.0 มาเป็นเว็บ 2.0 หรือการแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้มากขึ้น และในยุคต่อไปหรือยุคของเว็บ 3.0 หรือ Sementic Web เว็บเชิงความหมายของ Digital Library จะมีการจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการบูรณาการข้อมูลให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยการนำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาช่วยค้นหาข้อมูล โดยกลุ่มของเครื่องมือที่ใช้ (Technology Sementic) คือ Resource Description Framework (RDF) หรือ Web Ontology Language (OWL) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสืบค้นข้อมูลด้วยเทคนิคการสืบค้นแบบใหม่ เช่น Link Data เนื่องจากข้อมูลที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันรองรับการอ่านที่คนสามารถเข้าใจง่ายเพียงด้านเดียว การทำข้อมูล RDF จะเพิ่มประสิทธิภาพให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านข้อมูลได้ง่ายด้วยและสามารถนำข้อมูลไปประมวลผลต่อได้ Faceted Search (การค้นหาตามมิติ) เนื่องจากปัญหาในการสืบค้นข้อมูลในระบบ Digital Library ใช้การ Browse ข้อมูลที่แตกต่างกันในแต่ละแหล่งข้อมูล  Faceted Search จะช่วยให้การ Browse ข้อมูลหรือการกรองข้อมูลตามประเภทเขตข้อมูล เช่น ผู้แต่ง หัวเรื่อง ชื่อเรื่อง สามารถทำได้ง่ายขึ้นกับข้อมูลแบบ RDF

 

5. การเสวนาอนาคต e-book e-reader ในการพัฒนาบริการของห้องสมุด ดำเนินรายการโดย ว่าที่ ร้อยตรีพรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สถาบันวิทยาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

 

นายพชร สมุทวณิช บรรณาธิการบริหารนิตยสารมาร์ส สำนักพิมพ์ มาร์ส พับลิซชิ่ง ในเครือผู้จัดการ 

          การปรับเปลี่ยนการอ่านจากหนังสือไปเป็น e-book ช่วยในเรื่องการลดปริมาณกระดาษ การใช้เทคโนโลยีออนไลน์มาทดแทนกระดาษเป็นผลมาจากรูปแบบในการอ่านเปลี่ยนไป และเพื่อดึงความสนใจให้กับผู้ที่ต้องการความสะดวกในการเข้าถึงจึงได้จัดทำเว็บผู้จัดการขึ้น ซึ่งคนหันมาให้การตอบรับดีมาก การอ่านหนังสือพิมพ์แบบกระดาษ ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยการอ่านจากเว็บไซต์ เพราะง่ายที่จะเข้าถึง รวมทั้งปัจจุบันสามารถรองรับการอ่านบน ipad, iphone ได้ด้วย

 

นายบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ หัวหน้างานพัฒนาและบริการสื่อสาระดิจิทัล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

          รูปแบบการทำ e-book มีหลายช่องทาง เช่น สามารถนำเอกสารแปลงเป็น pdf file ผ่านโปรแกรม open source นามสกุล .epub แล้วนำขึ้นโปรแกรม Dropbox  แล้ว Upload ข้อมูลเป็น e-book ได้ โดยการจะนำข้อมูลเข้าสู่ออนไลน์กรณีของ ipad, iphone ต้องทำการศึกษารูปแบบ Format ก่อน และทำการสำรวจว่าผู้ใช้เข้ามาใช้บริการห้องสมุดผ่านช่องทางใดมากที่สุด ก่อนการตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ห้องสมุดจะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และข้อมูลที่จะให้ใช้ พร้อมแล้วหรือยังที่จะให้บริการในอุปกรณ์รูปแบบใหม่

 

ดร.สารสิน บุพพานนท์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทิซ อินโนเวชั่น จำกัด   

          ยุค Post Modern เป็นที่ชัดเจนว่าควรจะมีบริการผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆให้ได้อย่างไร เช่น ก่อนการประชุม สามารถนำเอกสารการประชุม Scan แล้วนำขึ้นเว็บ ทันทีที่ Add ข้อมูลทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและโหลดข้อมูลได้ด้วย เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ทุกคนสามารถส่งผ่านข้อมูลผ่านอุปกรณ์ เช่น ipad, Mobile device ได้เร็วและสะดวก

 


วันที่ 22 ก.ค. 2554

1. การเสวนาเรื่อง การใช้ Online Database ในมุมมองของภาคเอกชนและแนวทางการบอกรับในลักษณะ National Site License ดำเนินรายการโดย นางสาวสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ห้องสมุดมีฐานข้อมูลออนไลน์ทั้งหมดประมาณ 70 ฐานข้อมูลโดยแบ่งเป็นฐานข้อมูลที่ สกอ.บอกรับ 13 รายชื่อ ฐานข้อมูลที่ห้องสมุดบอกรับเอง และหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะบอกรับ ส่วนความคุ้มค่าในการบอกรับนั้นส่วนหนึ่งดูจากสถิติการใช้ ความจำเป็นที่ต้องใช้ และบริษัทที่ให้บริการฐานข้อมูลก็มีข้อจำกัดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การใช้ฐานข้อมูล

 

นางสุวคนธ์ ศิริวงศ์วรวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์สนเทศและหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

1. ห้องสมุดบอกรับฐานข้อมูลออนไลน์ในรูปแบบภาคี (Consortium)

2. ให้ความช่วยเหลือกันในรูปแบบ InterLibrary Loan

3. จัดการประชุมกลุ่ม เพื่อให้ความรู้ต่อกันในเรื่องฐานข้อมูลออนไลน์

          โดยฐานข้อมูลที่ซื้อ ได้จัดซื้อแบบจำกัด Username เนื่องจากปริมาณคนที่ใช้จริงๆมีน้อย การบอกรับฐานข้อมูลคุณสุวคนธ์ได้ยกตัวอย่างของประเทศเกาหลี เช่น Korea Electronic Site License Initiative (KESLI) ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายให้สามารถเข้าใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอยากให้ประเทศไทยทำได้หรือมุ่งไปในทิศทางนั้นเช่นกัน

 

นางพัชราวิไล พงษ์วิชชุลดา นักทรัพย์สินทางปัญญา บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด 

          จากคำถามที่ว่าทำไมองค์กรเอกชนจึงต้องใช้ฐานข้อมูล เนื่องจากองค์กรต้องการพัฒนา นวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นและต้องการเพิ่มศักยภาพของนักวิจัยจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน จึงมีความจำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากเป็นองค์กรเอกชน การซื้อฐานข้อมูลก็ต้องจ่ายในราคาแพงมาก จึงซื้อเฉพาะบางรายชื่อ และบางรายชื่อก็ใช้วิธีสมัครสมาชิกห้องสมุดต่างๆแทน ฐานข้อมูลที่นักวิจัยใช้เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นฐานข้อมูลทางด้านเอกสารสิทธิบัตร

 

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ   

          สวทช. เป็นองค์กรทางด้านการวิจัย การเข้าถึงข้อมูลเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้นักวิจัยและคนไทยในการพัฒนาประเทศในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพงานการวิจัย โดยการเพิ่มมูลค่าวิจัยของประเทศ นอกจากภาครัฐยังรวมไปถึงภาคเอกชน โดยการใช้ทรัพยากรสารสนเทศเป็นพื้นฐานการสร้างความรู้ใหม่ๆ โดยมี สวทช.เป็นหน่วยงานจัดหาทรัพยากรให้ และเนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี จึงต้องมีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความคุ้มค่าให้ทรัพยากรมากขึ้น การให้บริการฐานข้อมูลของ สกอ. มีข้อจำกัด มหาวิทยาลัยเอกชนและภาคธุรกิจยังไม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ในอนาคตอยากให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ซึ่งต้องมีกลไกและมาตรการส่งเสริมและขอความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อตกลงราคาร่วมกัน มีเป้าหมายการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

 

2. ประสบการณ์การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทำเหมืองข้อมูล (Text Mining) โดย ดร.อลิสา คงทน นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช.

 

          ตัวอย่างของการทำ Text Mining เช่น ในเว็บของ G-mail ถ้าลองสังเกตโฆษณาที่ขึ้นมาข้างบล็อกจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เจ้าของเมลเคยเขียนหรือได้รับ เนื่องจาก G-mail นำข้อมูลการรับ-ส่งเมลของผู้ใช้ไปทำการวิเคราะห์ และนำใจความสำคัญที่ได้ไปสกัด Keyword ออกมา แล้วหาโฆษณาที่เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ใช้สนใจอยู่มาใส่ไว้

          Text Mining คือการนำข้อมูลไปวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กัน เพื่อนำไปสกัดหาคำตอบ มนุษย์มีความสามารถทางด้านวิเคราะห์ภาษา และคอมพิวเตอร์มีความสามารถในอ่านและคำนวณที่มากกว่ามนุษย์มาก เมื่อนำความสามารถที่เฉพาะด้านมารวมกัน จะได้วิธีการทำ Text Mining โดยคอมพิวเตอร์จะดึงข้อมูลหรือการสกัด Keyword หรือคำสำคัญว่ามีอะไรบ้าง คัดคำที่ไม่มีความหมายออก นำ Text ที่มีโครงสร้างออกมาและนำไปวิเคราะห์ หา Topic ที่สำคัญ เช่น การย่อความ การจัดหมวดหมู่ การจัดกลุ่มเอกสาร ฯลฯ การหาความสัมพันธ์ระหว่างเอกสารด้วยกันทำให้ทราบว่ามีข้อมูลที่เชื่อมโยงกันอยู่ นำข้อมูลมาจัดให้อยู่ในรูปของ รูปภาพ หรือสิ่งที่มองเห็นได้

          การประยุกต์ Text Mining เพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับงานวิจัย ค้นหาสิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบันช่วงต่างๆ และดูแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเทคนิคที่สำคัญประกอบไปด้วย Who, What, When, Where นำไปจัดความสัมพันธ์ เช่น สถาบันใดบ้างที่ตีพิมพ์งานอะไรใหม่ๆและมีเนื้อหาเหมือนหรือคล้ายกัน สามารถนำไปทำตารางความสัมพันธ์ตามลำดับ

          ปัจจุบันระบบฐานข้อมูล จัดระบบให้สามารถดูข้อมูลค่า Impact Factor หรือการอ้างอิงข้อมูลได้ เช่น ใครมีความเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษ มีการอ้างอิงผลงานมากน้อยแค่ไหน สามารถดูกราฟแสดงความสัมพันธ์ได้ เช่น ฐานข้อมูลของ Science Direct ในยุคของเว็บ 2.0 หรือ User Generated Contents ยุคแห่งการแสดงความคิดเห็น ก็สามารถนำข้อมูลการแสดงความคิดไปวิเคราะห์ได้ เช่น วิเคราะห์ว่าคนทั่วไปชอบแบรนด์สินค้าใดมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง การใช้คำกำกวม คำในความหมายประชดประชัน หรือแม้แต่การตัดคำ การแบ่งประโยค เป็นต้น

 

3. Green Journal ด้วย OJS ในมุมมองของการพัฒนาและความหวังในอนาคต

รศ.อังสนา ธงไชย สาขาสารสนเทศศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ห้องสมุดมีส่วนในการพัฒนาการจัดเก็บความรู้ และส่งต่อข้อมูลที่มีอยู่ไปสู่อนาคต สิ่งพิมพ์ที่อยู่ในรูปแบบกระดาษใช้ต้นทุนในการจัดเก็บมากกว่าสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันผู้ใช้มีพฤติกรรมการใช้เปลี่ยนไป การหันมาใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ประหยัดพลังงานและประหยัดทรัพยากรเพิ่มขึ้น

          Open Access คือ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เจ้าของผลงานเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย มีลักษณะเป็นเอกสารแบบเปิด ได้รับการยอมรับทางวิชาการและมีการนำไปอ้างอิง แนวคิดในการทำ Open Access ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ในรูปแบบ Digital ที่เป็นบทความทางวิชาการ งานวิจัย มีจำนวนน้อยและแพร่หลายในวงจำกัดเท่านั้น การทำเป็นเอกสาร Open Access สามารถทำให้ความรู้ขยายออกไปสู่ภายนอก เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

นายสาโรช เมาลานนท์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  

          SWU e-Journal System เป็นระบบจัดการวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่บทความวิชาการของอาจารย์ บุคลการ และนักศึกษา เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านวิชาการ ได้พัฒนาระบบจัดการและเผยแพร่วารสารวิชาการแบบอิเล็กทรอนิกส์ จากซอฟท์แวร์ประเภท Open Source สำหรับใช้เป็นระบบจัดการวารสารวิชาการ โดยเลือกระบบ Open Journal System (OJS) มาใช้

          Open Journal System (OJS) เป็นระบบที่สามารถติดตั้งและควบคุมดูแลได้เอง กำหนดกรอบการทำงานได้ สามารถส่งบทความและจัดการเนื้อหาได้แบบออนไลน์ มีเครื่องมือช่วยในการอ่านและสืบค้นบทความ

          ประโยชน์ของบริการ เช่น การให้บริการเผยแพร่วารสารที่จัดอยู่ในรูปสื่อ Digital สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนได้สะดวกรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

 

4. ก้าวสู่ห้องสมุดสีเขียว กรณีศึกษา สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                                 

 

นางศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาคารต้นแบบเข้าแข่งขันในการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้โครงการ Beat2010 ของกระทรวงพลังงาน โดยในมหาวิทยาลัยเองก็มีการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมให้ประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆอยู่ก่อนแล้ว เช่น บริการรถ NGV ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรขี่จักรยาน โครงการธนาคารขยะ และการปลูกต้นไม้ ภายใต้โครงการ Beat2010 ได้จัดให้มีกิจกรรมให้นักศึกษาประกวดคำขวัญ โลโก้ หนังสั้น โครงงานและนิทรรศการเคลื่อนที่ เพื่อเผยแพร่สู่ชุมชน และแหล่งศึกษารอบมหาวิทยาลัย เปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟ LED ติดตั้งม่านอากาศ Solar Cell, Solar tube ติดตั้ง Sensor ตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ ติดตั้ง Building Automatic System เพื่อควบคุมระบบปรับอากาศและเพิ่มแสงสว่างจากพลังงานธรรมชาติ โดยแนวคิดที่ได้ คือ ห้องสมุดสามารถสร้างแหล่งเรียนรู้การประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น

 

ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาคารต้นแบบเข้าแข่งขันในการอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้โครงการ Beat2010 ของกระทรวงพลังงาน เช่นกัน โดยกิจกรรมที่ทำภายใต้โครงการ Beat2010 คือ การจัดแบ่งพื้นที่จัดเก็บหนังสือเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่จัดเก็บหนังสือเก่าและหนังสือใหม่ การติด Motion Switch การจัดการรอยรั่วและติดตั้งม่านอากาศ ติดไฟกระตุก และเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด T5 โดยแบ่งการอนุรักษ์พลังงานหรือ Green Library แบ่งออกเป็น

-          Green Service คือการบริการหนังสือในรูปแบบe-book และ Digital content service

-          Green Office ใช้วิธีการ Reuse, Reduce, Recycle โดยการลดพลังงานและลดปริมาณการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง เช่น ใช้กระดาษ 2 หน้า ใช้กระดาษกล่องนมแทนกระดาษขาว 80 แกรม

-          Green Environment มีโครงการคัดแยกขยะซึ่งห้องสมุดคัดแยกขยะที่ต้องทิ้งจากวันละ 19 ถุงเหลือ 9 ถุง ห้องสมุดในสวน โครงการปุ๋ยหมัก รถรางไบโอดีเซลจากน้ำมันที่เหลือจากการทอด ส่งเสริมให้ใช้จักรยาน และงดใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

-          Green Heart กิจกรรมปลูกจิตสำนึก ประกวดคำขวัญ กิจกรรมแข่งขันหาจุดไม่ประหยัดพลังงานและส่งคำตอบ แข่งขันประหยัดพลังงาน แข่งขันสืบค้นข้อมูลการอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อม

    โดยหลักของ Green Library จะเป็นห้องสมุดเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเพื่ออนาคต พลังงานเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันรักษาอย่างยั่งยืน เราทุกคนต้องร่วมมือกันกระตุ้น และช่วยกันให้มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 451623เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2011 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท