ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไทย(2)


ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไทย

     ตามกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2524) ออกตามความในพระราชบัญญตัิการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง จะต้องมีคุณลักษณะตามเงื่อนไขที่กำหนดเฉพาะที่สำคัญ กล่าวคือ

     1. หลักฐานการเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย

     2. มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิการใช้สถานที่เก็บรถโดยสาร

     3. มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถที่จะใช้ทำการขนส่งผู้โดยสาร

     4. เครื่องหมายประจำรถ

     จะเห็นได้ว่า เพียงแต่บุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ยื่นหลักฐานสำคัญทั้ง 4 ประการ พร้อมกับหลักฐานประกอบให้ครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2524) แล้ว  ผู้ขอนั้นก็จะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางในเส้นทางสายที่ยื่นคำขอนั้น เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2524) กำหนด  แต้ถ้ามีผู้ยื่นคำขอในเส้นทางเดินรถที่ประกาศคำขอหลายราย ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอก่อนว่า มีเอกสารเสนอครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่  ถ้าเอกสารครบไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ก็จะถูกตัดสิทธิออกจากการเป็นผู้ขอ  แต่ถ้าเอกสารครบถ้วนถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็จะทำความเห็นเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากิจการขนส่งทางบกกลาง เพื่อให้พิจารณาว่าผู้ขอรายใดมีความเหมาะสมมากที่สุด ก่อนนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเพื่อพิจารณาอนุมัติ

     จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง มีขั้นตอน ดังนี้

          1.เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกรวบรวมหลักฐานของผู้ขอ

          2.คณะอนุกรรมการพิจารณากิจการขนส่งทางบกกลางพิจารณาตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตามข้อ 1 เสนอ ว่า ผู้ขอรายใด สมควรได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง

          3.คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง พิจารณาข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตามข้อ 1 เสนอ พร้อมกับพิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการตามข้อ 2  เพื่ออนุมัติว่า ผู้ขอรายใดสมควรได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง(กรณีมีผู้ขอหลายราย) หรือผู้ขอนั้นสมควรได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง(กรณีมีผู้ขอรายเดียว) หรือไม่   

     ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาอนุมัติแล้ว ผู้ขอที่ได้รับการอนุญาต จะต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งสายที่ขอนั้นภายในเวลาที่กำหนด พร้อมกับชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 7,000 บาท จึงจะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางตามนัยแห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งอายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง มีอายุ 7 ปี

     จะเห็นได้ว่า การเข้ามาเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เป็นเรื่องที่ง่ายและมีความเป็นไปได้สูง ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านการบริการจัดการและการบริการแต่อย่างใด ขอเพียงให้มีสถานที่เก็บรถและรถที่ใช้ทำการขนส่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ พร้อมด้วยหลักฐานการเป็นบุคคลตามกฏหมาย ก็สามารถยื่นคำขอและมีโอกาสเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางได้ 

     จากการศึกษาวิเคราะห์ขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ในความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่า

     1.ในการพิจารณาเบื้องต้นของ คณะอนุกรรมการพิจารณากิจการขนส่งทางบกกลาง ใช้หลักเกณฑ์อย่างไรเป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาว่า ผู้ขอเป็นผู้มีความสามารถในการจัดให้บริการแก่ผู้ใช้บริการได้ดีนอกจากการจัดให้มีรถโดยสารวิ่งรับส่งคนโดยสาร เพราะ การมีรถโดยสารวิ่งรับส่งคนโดยสารในเส้นทาง เป็นคนละกรณีกับการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมการขนสน่งทางบกที่เคยเป็นและเป็นคณะอนุกรรมการดังกล่าว ได้รับคำตอบที่เหมือนกันว่า พิจารณาเฉพาะหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขใน กฏกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2524) เท่านั้น  ซึ่งคำตอบนี้สามารถรับฟังได้อย่างสมเหตุสมผลเฉพาะกรณีที่มีผู้ขอเพียงรายเดียว  ส่วนในเส้นทางที่มีผู้ขอหลายรายและปรากฏว่า เอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนเหมือนกัน จะใช้เกณฑ์ใดพิจารณา ซึ่งต่อคำถามนี้ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดสามารถอธิบายหรือตอบได้

     ในความเห็นของข้าพเจ้า โดยการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับอนุญาตและผู้ขอที่ไม่ได้รับการพิจารณา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 10 ราย ได้รับคำตอบที่เหมือนกันว่า ไม่เชื่อมั่นต่อความโปร่งใสและความถูกต้องเป็นธรรมในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก และที่สำคัญผู้ตอบสัมภาษณ์จำนวน 9 ราย ตอบว่า เชื่อว่ามีระบบอุปภัมภ์ในการพิจารณา ขณะที่อีก 1 ราย ไม่ขอตอบคำถามนี้

     2. จากการวิเคราะห์กระบวนการพิจารณาอนุมัติของที่ประชุม คณะอนุกรรมการกิจการขนส่งทางบกกลาง และ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง  จะพบว่า ยังขาดความโปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้ และขาดกระบวนการมีส่วมร่วม กล่าวคือ

          2.1 ที่ประชุมของคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการ ดังกล่าว มีเฉพาะบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ไม่มีภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ และภาคผู้ประกอบการขนส่งซึ่งเป็นผู้จัดให้บริการ

          2.2 ถ้ามีการสอบถามโดย กรรมการในคณะต่างๆ เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้ตอบแทนผู้ขอ เพราะผู้ขอไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม  คำตอบที่เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกตอบนั้น จึงไม่ถูกต้องและไม่อาจรับฟังได้

          2.3 การแสดงเหตุผลในการอนุมัติไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ คงมีแต่คำว่า "สมควร" หรือ "เหมาะสม" ซึ่งไม่สามารถอธิบายคำตอบให้แก่ ผู้ขอที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นที่เข้าใจและยอมรับมตินั้นได้

     ด้วยเหตุผลดังที่แสดงความเห็นในข้างต้น การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง จึงไม่ต่างไปจากกระบวนการสร้างความชอบธรรมโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเท่านั้น เพราะถ้ากระบวนการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง มีความถูกต้องเป็นธรรม โปร่งใส เป็นที่ยอมรับได้แล้ว  การจัดให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน จะต้องเป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการมากกว่านี้  ดังจะเห็นว่า ผู้ประกอบการขนส่งหลายรายได้รับใบอนุญาตมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ ตกทอดมาสู่รุ่นลุกในปัจจุบัน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี รถที่ใช้ทำการขนส่งก็ยังเป็นรถคันเดิม ไม่มีการเปลี่ยนรถใหม่ มารยาทก็ยังเป็นแบบเดิมที่ผู้ใช้บริการต้องทนรับ มีเรื่องร้องเรียนเป็นประจำ เก็บค่าโดยสารเกินราคา และในประการสำคัญ ผู้โดยสารต้องทนใช้บริการของผู้ประกอบการขนส่งรายนั้นที่ผูกขาดเพียงรายเดียว 

        จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การเข้ามาเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง เป็นเรื่องที่ง่าย ประกอบกับโดยลักษณะของกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นเสมือนหนึ่ง เครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย   การจัดให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งส่วนใหญ่ จึงไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารประจำทางมากขึ้น จึงเป็นกรณีที่ กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก จะต้อง ปฏิรูประบบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง โดย

     1. ปฏิรูปกฏหมาย ระเบียบการปฏิบัติราชการ โครงสร้างอำนาจและการบังคับบัญชา ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์

     2. สร้างกระบวนการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกรมการขนส่งทางบก ให้มีคุณภาพเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการบรรจุบุคคลเข้ารับหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นหน้าที่เฉพาะ จะต้องมีความเหมาะสมกับงาน เลิกใช้ระบบอุถัมป์หันมาใช้ระบบคุณธรรม

     3. สร้างองค์กรให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาลตามหลักการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี พร้อมใช้กระบวนการมีส่วนร่วม

     4. ยกเลิกระบบผูกขาดเส้นทางเดินรถที่มีเพียงเส้นทางเดียว ควรให้มีมากกว่า 1 เส้นทาง เพื่อให้มีการแข่งขันทางด้านการบริการ พร้อมทั้ง ยกเลิก มติคณะรัฐมนตรีปี 2526 ที่ให้ ขสมก. ผูกขาดความเป็นผู้ประกอบการขนส่งในเส้นทางเดินรถ หมวด 1 และหมวด 4 ในกรุงเทพมหานคร และหมวด 2 และ 3 ที่ให้แก่ บขส.

 

 

หมายเลขบันทึก: 450910เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2011 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท