ประวัติพระพุทธศาสนาตอนที่ ๕


๓.๒  เหตุการณ์สำคัญก่อนการสังคายนาครั้งที่ ๒

                   เหตุการณ์สำคัญก่อนการสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ เราจะศึกษาเฉพาะเถรวาทเท่านั้น โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก ซึ่งมีเหตุการณ์ดังนี้

                   สมัยนั้น ท่านพระยสเถระ ซึ่งเป็นบุตรของกากัณฑกพราหมณ์ ได้เดินทางมาจากเมืองโกสัมพี เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทถึงนครเวสาลี พักอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ครั้นถึงวันอุโบสถเอาถาดทองสัมฤทธิ์ใส่น้ำเต็มเปี่ยมมาตั้งไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ กล่าวแนะนำชักชวนอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีที่มาประชุมกันอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ได้ กึ่งกหาปณะก็ได้ บาทหนึ่งก็ได้ มาสกหนึ่งก็ได้ สงฆ์จักมีกรณียะด้วยบริขาร เมื่อพระวัชชีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระยสกากัณฑกบุตรจึงกล่าวกะอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ถวายรูปิยะแก่พระสงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ตาม กึ่งกหาปณะก็ตาม บาทหนึ่งก็ตาม มาสกหนึ่งก็ตาม ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสาย พระศาสกยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร มีแก้วและทองวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน แม้ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวอยู่อย่างนี้ อุบาสกและอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีก็ยังถวายรูปิยะแก่พระสงฆ์อยู่

                   ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ได้จัดส่วนแบ่งเงินนั้นตามจำนวนภิกษุแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า “เงินจำนวนนี้เป็นส่วนของท่าน” ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ฉันไม่มีส่วนเงินฉันไม่ยินดีเงิน” พวกพระวัชชีบุตรจึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พระยสกากัณฑกบุตรนี้ ด่าบริภาษ อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้เขาไม่เลื่อมใส เอาละ พวกเราจะลงปฏิสารานิยกรรมแก่ท่านแล้ว” ได้ลงปฏิสารานิยกรรมแก่พระยสกากัณฑกบุตรนั้น

                   ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ได้กล่าวกะพวกพระวัชชีบุตรว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สงฆ์พึงให้พระอนุทูตแก่ภิกษุผู้ถูกลงปฏิสารณียกรรม ขอพวกเธอจงให้พระอนุทูตแก่ฉัน พระวัชชีบุตรจึงได้สมมติภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นอนุทูต แก่ท่านพระ    ยสกากัณฑกบุตร

                   ต่อมา ท่านพระยสกากัณฑกบุตร พร้อมด้วยพระอนุทูตพากันเข้าไปสู่พระนครเวสาลีแล้วชี้แจงแก่อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า อาตมาผู้กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรมว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัยว่าเป็นวินัย เขาหาว่าด่า บริภาษท่าน อุบาสกอุสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส

                   พระยสกากัณฑกบุตรกล่าวต่อไปว่า ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์พระอาทิตย์เศร้าหมอง เพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้ คือ หมอก  น้ำค้าง ละอองควัน และอสุรินทราหู

                   ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ฉันใด

                   ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้คือ

                   ๑) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุรา ดื่มเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย

                   ๒) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เสพเมถุนธรรมไม่งดเว้นจากเมถุนธรรม

                   ๓) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยินดีทองและเงินไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน

                   ๔) อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจากมิจฉาชีพ

                   ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ฉันนั้น”   ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้แล้วได้ตรัสประพันธ์คาถานี้ว่า

           สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถูกราคะและโทสะปกคลุม  ถูกอวิชชาหุ้มห่อ ยินดีรูปที่น่ารัก ดื่มสุราและเมรัย  เสพเมถุนธรรม โง่เขลา ยินดีเงินและทอง  สมณพราหมณ์พวกหนึ่งดำเนินชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์  ตรัสอุปกิเลสที่ทำให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมัวหมอง ไม่สง่า  ไม่ผ่องใส เป็นที่รู้กัน ไม่บริสุทธิ์ มีธุลี ถูกความมืดปกคลุม  เป็นทาสแห่งตัณหา ถูกตัณหาชักนำให้อัตภาพหยาบ  เจริญเติบโต ย่อมยินดีการเกิดใหม่[1]

                   ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรมว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส

                   เมื่อพระยสกากัณฑกบุตร ปรับความเข้าใจแก่ทายกเช่นนี้แล้ว ก็มีคนเลื่อมใสในพระยสกากัณฑกบุตรมาก ภิกษุชาววัชชีเมื่อได้รับข่าวนั้นก็พากันแสดงความโกรธ ให้ลงโทษพระยสกากัณฑกบุตร คือประกาศจะทำอุกเขปนียกรรม ถึงกับได้พากันห้อมล้อมกุฏิของพระยสกากัณฑกบุตร   แต่ท่านทราบเสียก่อนจึงได้เหาะสู่เวหาสไปปรากฏยังเมืองโกสัมพี แล้วส่งทูตไปหาภิกษุทั้งหลายชาวเมืองปาฐา  และภิกษุชาวเมืองอวันตีทักขิณาบถ โดยกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราจงมาช่วยกันวินิจฉัยอธิกรณ์นี้   ก่อนที่อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกคัดค้าน สิ่งมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจะถูกคัดค้าน   ภายหน้าพวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักเสื่อมกำลัง พวกอวินัยวาทีจักมีกำลัง พวกวินัยวาทีจักเสื่อมกำลัง จากนั้นพระ  ยสกากัณฑกบุตรได้เดินทางไปหาท่านพระสัมภูตเถระ ที่อโหคังคบรรพต[2] เพื่อเรียนพฤติการณ์ทั้งหลายให้ท่านทราบ

                   ฝ่ายภิกษุชาวเมืองปาฐา ๖๐ รูป อวันตี ๖๐ รูป เมื่อทราบข่าวจากสมณทูตของพระ ยสกากัณฑกบุตรก็พากันจาริกมาพร้อมกัน ณ อโหคังคบรรพตโดยภิกษุที่ได้เดินทางมาร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนั้น  ได้จัดให้มีการประชุมกันขึ้น ที่ประชุมเห็นว่าอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องยากที่จะระงับได้  ที่ประชุมได้มีมติว่าควรจะอาราธนาท่านเรวตเถระซึ่งเป็นที่เคารพของคณะสงฆ์ทั่วไปว่าเป็นผู้ทรงพระธรรมวินัย  และเป็นพหูสูตเข้าร่วมประชุมด้วย อีกประการหนึ่งคือท่านเป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ เป็นผู้มีพรรษากาลมาก จึงได้จัดส่งพระภิกษุไปนิมนต์ท่านที่เมืองโสเรยยะ ใกล้เมืองตักสิลา แต่ไม่พบ ทราบว่าเดินทางไปยังสหชาตินครในแคว้นเจตี พระภิกษุเหล่านั้นได้ติดตามท่านไปยังสหชาตินคร

                   ฝ่ายภิกษุชาวเมืองวัชชี    เมื่อได้ทราบข่าวว่า  พระภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระ       ยสกากัณฑกบุตรที่เดินทางมาจากปาวา และ อวันตี กำลังร่วมชุมนุมกันเพื่อตัดสินอธิกรณ์ของพวกตนจึงได้จัดส่งพระภิกษุไปนิมนต์ท่านพระเรวตเถระ  ที่สหชาตินคร เพื่อให้มาเป็นฝักฝ่ายของตน และได้จัดส่งสมณบริขารเป็นต้นว่า บาตร จีวร กล่องเข็ม ผ้านิสีทนะ และผ้ากรองน้ำไปถวายพระเรวตเถระ ภิกษุชาววัชชีเหล่านั้นได้ลงเรือจากเมืองเวสาลีไปยังสหชาตินคร เมื่อไปถึงแล้วได้ให้พระอุตระซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเรวตเถระเข้าถวายบริขาร และกราบเรียนประพฤติเหตุทั้งหลายให้ท่านทราบ ตลอดทั้งได้ขอร้องให้ท่านเข้ามาเป็นฝักฝ่ายของตนด้วย

                   พระเรวตเถระไม่เห็นดีด้วย เพราะเห็นว่าวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้น  ไม่ชอบด้วยธรรมวินัย แถมยังกลับไล่พระอุตตระศิษย์ของท่านที่ทำตัวเป็นนายหน้าเข้ามาอ้อนวอนแทนภิกษุชาววัชชีอีกด้วย ฝ่ายภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จ ก็เกิดเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะได้ขาดแรงสนับสนุนที่สำคัญไป จึงได้เดินทางกลับไปยังเมืองเวสาลี โดยได้ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้ากาฬาโศกราช  มาเป็นองค์ราชูปถัมภกจนสำเร็จ และทูลขอพระราชอำนาจให้คุ้มครองป้องกันอย่าให้สงฆ์ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาอยู่ในเมืองวัชชีเพื่อเบียดเบียนได้

                   ครั้นต่อมา มีนางภิกษุณีรูปหนึ่งชื่อ นันทาเถรี ซึ่งได้บรรลุพระอรหันต์แล้วเป็นเจ้าน้องนางเธอองค์หนึ่งของพระเจ้ากาฬาโศกราชทราบข่าวการแตกสามัคคีของสงฆ์จึงได้เข้าไปห้าม มิให้พระเจ้ากาฬาโศกราชหลงเชื่อคำของภิกษุชาววัชชี  ซึ่งพระเจ้ากาฬาโศกราชได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม และเมื่อทรงทราบความเป็นไปโดยละเอียดของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแล้ว พระองค์ทรงกลับพระทัยมาบำรุงอุปถัมภ์ภิกษุผู้ฝักฝ่ายพระยสกากัณฑกบุตรหรือภิกษุฝ่ายวินัยวาที

                   ฝ่ายภิกษุวินัยวาที      ครั้งแรกก็ได้ตั้งใจว่าจะพิจารณาหาทางระงับอธิกรณ์เสียที่สหชาตินั้น แต่พระเรวตเถระไม่เห็นด้วยที่จะทำกันในที่นั้น  โดยให้เหตุผลว่าอธิกรณ์เกิดขึ้นที่ไหน ควรจะจัดการระงับที่นั่น จึงได้ประกาศด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาให้สงฆ์ระงับอธิกรณ์ด้วยอุพพาหิกกรรม (การระงับด้วยการยกอธิกรณ์ไปชำระ ณ ที่เกิดอธิกรณ์)  ที่ประชุมเห็นด้วย จึงได้พากันเดินทางไปยังเมืองเวสาลี แล้วจัดให้มีการประชุมขึ้นที่เมืองเวสาลี ในการประชุมครั้งแรกนี้ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมถึง ๗๐๐ รูป ทำให้การประชุมดำเนินไปด้วยความไม่เรียบร้อย เนื่องด้วยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากเกินไป ต้องใช้เวลาถกเถียงเป็นเวลานาน ที่ประชุมจึงได้ตกลงเลือกเอาพระขีณาสพที่มาจากประเทศตะวันออก ๔ รูป คือ

                   ๑) พระสัพพกามี                                             ๒) พระสาฬหะ

                   ๓) พระกุชชโสภิตะ                                        ๔) พระวาสภคามิกะ

จากประเทศตะวันตก (ปาวา) อีก ๔ รูป คือ

                   ๑) พระเรวตะ                                                   ๒) พระสาณสัมภูตะ

                   ๓) พระยสกากัณฑกบุตร                               ๔) พระสุมนะ

                   รวมทั้งหมดเป็น ๘ รูป และในจำนวน ๘ รูปนี้ ๖ รูป เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ คือ พระสัพพกามี  พระสาฬหะ  พระเรวตะ  พระกุชชโสภิตะ  พระสาณสัมภูตะ และพระ   ยสกากัณฑกบุตร อีก ๒ รูป คือ พระวาสภคามิกะ และ พระสุมนะ เป็นลูกศิษย์ของพระอนุรุทธะ ที่ประชุมได้ตกลงแต่งตั้งให้พระอชิตะ เป็นผู้จัดสถานที่ประชุมสังคายนา พระสัพพกามี เป็นประธานในที่ประชุม 

                  การที่ได้เลือกเอาพระสัพพกามีเป็นประธานในที่ประชุมนั้น เพราะท่านเป็นผู้มีพรรษามาก คือแก่กว่าพระภิกษุทั้งหลายในที่ประชุม  ทั้งเป็นผู้มีความรู้แตกฉานตั้งอยู่ในฐานควรเคารพสักการะของภิกษุทั้งหลายและประชาชนโดยทั่วไป

                   การประชุมครั้งสุดท้ายนี้ มีพระขีณาสพเข้าร่วมประชุมเพียง ๘ รูปเท่านั้น และได้ตัดสินโดยมติเป็นเอกฉันท์ว่าการปฏิบัติของพระภิกษุชาววัชชี   ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย  ได้ประชุมกันที่วาลิการามนอกเมืองเวสาลี โดยมีพระเจ้ากาฬาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภ์ ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเสร็จ

                   ฝ่ายภิกษุชาววัชชี เมื่อพระเจ้ากาฬาโศกราชไม่ได้ถวายความอุปถัมภ์และถูกภิกษุฝ่ายวินัยวาทีโต้แย้งแล้วเกิดความเสียใจจึงได้หนีไปจากเมืองเวสาลี แล้วไปทำสังคายนาขึ้นใหม่ที่ปุปผนคร (ปาฏลีบุตร)  มีภิกษุเข้าร่วมประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป และได้เรียกพวกของตนเองว่า มหาสังคีติกะ แปลว่า ผู้มีพวกมาก การทำสังคายนาของภิกษุชาววัชชีบุตรครั้งนี้เรียกว่า  มหาสังคีติ  แปลว่า  การทำสังคายนาครั้งใหญ่  และถือว่ากำเนิดมหายานได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว นับแต่กาลบัดนั้น



[1] องฺ.จตุกฺกก.(แปล)๒๑/๕๐/๘๑-๘๓

[2]อโหคังคบรรพต อยู่ในอินเดียตอนเหนือ บริเวณแม่น้ำคงคาตอนเหนือ

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 450827เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท