วิถีแมนเดลา


ในขณะที่กำลังเดินอยู่นั้นสมองผมก็คิดไปว่า “อะไรน่ะ ที่ทำให้คนอย่างเนลสัน แมนเดลา มีความมุ่งมั่นแบบนี้ ระยะเวลา ๒๗ ปีที่เขาอยู่ในคุกจึงไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่นที่เขามีลงไปได้เลยแม้แต่น้อย”

ผมฆ่าเวลาที่มีอยู่อีกเกือบสองชั่วโมงก่อนจะถึงเวลาบรรยายในเวทีระดมสมองหนึ่ง ไปกับการเดินในร้านหนังสือแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า “ท๊อปแลนด์” ห้างสรรพสินค้าหรูชื่อดังของจังหวัดพิษณุโลก

ในระหว่างที่กำลังเพลิดเพลินกับหนังสือหลายพันเล่มที่วางบนชั้นเป็นหมวดหมู่แยกตามประเภทของเนื้อหาของหนังสือ พลันสายตาผมเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มหนึ่งมีตัวอักษรเรียงต่อกัน อ่านได้ว่า “วิถีแมนเดลา” มองต่ำถัดจากตัวอักษรลงไปมีรูปของ “เมลสัน แมนเดลา” ปรากฎอยู่เต็มหน้าปก 

ภาพของหนังสือเล่มนั้นได้ทำให้ผมได้รื้อฟื้นความทรงจำของผมให้หวนกลับคืนมา เป็นภาพที่ผมเคยเห็นหนังสือเล่มนี้เมื่อสองวันก่อนในขณะที่ผมเดินไปดูงานสวัสดิการชุมชนที่จังหวัดพะเยา ที่ระหว่างเดินทางโดยรถตู้ปรับอากาศ ผมได้เห็น “หมอก้อง” หยิบหนังสือ “วิถีแมนเดลา” ขึ้นมาอ่าน ไม่รอช้าผมรีบตรงเข้าหาและหยิบหนังสือ “วิถีแมนเดลา” ขึ้นมาเปิดอ่านทันที

ผมอ่านแบบผ่าน ๆ สายตาพบกับคำนิยมจากบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน โดยเฉพาะคำนิยมจากบุคคลสำคัญสองคน คนแรกคืออดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ บิล คลินตัน และคนที่สองคือนายกรัฐมนตรีไทยที่ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนั้นแล้วเดินไปหาพนักงานเก็บเงินทันที เพราะคิดไปว่าหากบุคคลสำคัญอย่างน้อย ๒ คนที่ผมรู้จักให้เกียรติเขียนคำนิยมให้ แสดงว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากพอควร

 ภายหลังจากที่ผมบรรยายเสร็จ ได้มีเอสเอ็มเอสผ่านเข้ามาทางโทรศัพท์มือถือของผม เปิดพลิกจึงรู้ว่าเครื่องบินขากลับเข้ากรุงเทพมหานครล่าช้ากว่ากำหนดไปสองชั่วโมง ข้อความนี้ได้ทำให้ผมมีเวลาหยิบหนังสือ “วิถีแมนเดลา” ที่ผมซื้อมาขึ้นมาอ่าน

 ตัวอักษรแต่ละตัวที่ผ่านสายตาผมไปนั้น ทำให้ผมได้รู้จักคนที่ชื่อ “เนลสัน แมนเดลา” มากยิ่งขึ้น

 เนลสัน แมนเดลา เป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่าเทมบู ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ เมื่อบิดาเขาเสียชีวิตเขาจึงทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าแทน โดยมีลุงคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ และด้วยความที่เป็นลูกของชนชั้นนำประจำเผ่า เขาจึงได้เรียนหนังสืออย่างดีที่สุดกับครูที่เป็นมิชชั่นนารีชาวอังกฤษ การที่ได้เรียนกับครูที่เป็นผู้ดีอังกฤษทำให้เขามีโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากคนในเผ่าอย่างยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก เมื่อโตขึ้นเขาได้เข้าศึกษาที่มหาวิยาลัยชั้นนำชื่อ “ฟอร์ตแฮร์ คอลเลจ” จนจบและต่อมาอีกไม่นานเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อประกอบอาชีพทนายความและศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัย “วิทวอเตอร์สแรนด์” หลังสำเร็จการศึกษาเขาก็เริ่มทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่ง “สภาแห่งชาติแอฟริกัน” ในขณะที่เขามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น  

 เนลสัน แมนเดลา เป็นทั้งทนาย เป็นทั้งโฆษกขององค์กรที่เขาสังกัด เหตุเพราะเขาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่มีวาทศิลป์อย่างยอดเยี่ยม

 เขาได้ลิ้มรสของชีวิตหลังลูกกรงเป็นครั้งแรกในปี ๑๙๕๖ ด้วยข้อหากระทำการอันผิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้ถูกปล่อยตัวออกมาในปี ๑๙๖๐ แต่ครั้นถึงปี ๑๙๖๒ เขาก็ถูกจับอีกเป็นครั้งที่สองด้วยข้อหายุยงให้มีการสไตรก์และเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ในระหว่างที่เขาติดคุกอยู่นั้น ปีถัดมาคือปี ๑๙๖๓ รัฐบาลแห่งชาติแอฟริกาใต้ได้ค้นพบเอกสารบางชิ้นที่แสดงว่าองค์กรที่เขาสังกัดอยู่นั้นมีการวางแผนเป็นกบฎต่อต้านอำนาจรัฐด้วยอาวุธสงคราม ทำให้เขาและผองเพื่อนถูกตีตรวนยาวกลายเป็นนักโทษทางการเมืองตลอดชีวิต

 เขาติดคุกอย่างยาวนานถึง ๒๗ ปี จวบจนในปี ๑๙๙๐ เขาจึงได้รับอิสรภาพในขณะที่เขามีอายุล่วงมากกว่า ๗๑ ปี ในอีก ๓ ปีต่อมา เขาได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับมนุษยชาติทั้งโลก ลุถึงปี ๑๙๙๔ ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส “เนลสัน แมนเดลา” ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงปี ๑๙๙๙ เขาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและอุทิศตนให้กับงานกุศาลระดับโลกจนถึงทุกวันนี้

แต่ผมพลิกดูเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม อ่านจากบทสรุปของหนังสือ ทำให้เห็นวิธีคิดวิธีทำงานของ “เนลสัน แมนเดลา” ที่นักเขียนที่ชื่อ “ริชาร์ด สเตงเกิล” ได้ถ่านทอดออกมาให้ผู้อ่านได้นำไปใช้เป็นหลักการในการทำงานของตนได้

วิถีแมนเดลา ประกอบด้วยหลักการทำงานของ “เนลสัน แมนเดลา” ๑๕ ประการ ประกอบด้วย (๑) หาญกล้าใช่ว่าหวาดกลัว (๒) จงเยือกเย็น (๓) นำจากข้างหน้า (๔) นำจากข้างหลัง (๕) สวมบทบาทให้ดี (๖) ยึดหลักการให้มั่น (๗) พึงมองแต่แง่ดี (๘) รู้จักศัตรูของตน (๙) เก็บคู่แข่งไว้ใกล้ตัว (๑๐) รู้จักปฏิเสธ (๑๑) เกมชีวิตยาวไกล (๑๒) ความรักที่สร้างโลก (๑๓) รู้จักวางมือคือผู้นำเช่นกัน (๑๔) เป็นได้ทั้งสองทาง และ (๑๕) เสาะหาอุทยานส่วนตัว

ผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ยังไม่จบ จึงยังไม่สามารถอธิบายวิถีแต่ละข้อได้ว่าได้บอกอะไรไว้ แต่เพียงแค่เห็นหัวข้อของแต่ละวิถีก็พอคาดเดาเรื่องราวต่าง ๆ ได้ ซึ่งแต่ละวิถีล้วนบอกนัยแห่งการเติมเต็มหลักการในการทำงานของผู้อ่านได้

เสียงของสุภาพสตรีก้องผ่านลำโพงภายในท่าอากาศยานพิษณุโลกบอกว่าถึงเวลาเดินทางแล้ว ทำให้ผมต้องเก็บหนังสือที่กำลังอ่านอยู่นั้นใส่กระเป๋า พร้อมเดินตามแถวขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ

ในขณะที่กำลังเดินอยู่นั้นสมองผมก็คิดไปว่า “อะไรน่ะ ที่ทำให้คนอย่างเนลสัน แมนเดลา มีความมุ่งมั่นแบบนี้ ระยะเวลา ๒๗ ปีที่เขาอยู่ในคุกจึงไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่นที่เขามีลงไปได้เลยแม้แต่น้อย”

น่าเรียนรู้จริง ๆ ครับ “วิถีแมนเดลา”

(เขียนต้นฉบับเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ สนามบินพิษณุโลก)

หมายเลขบันทึก: 450783เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท