ภาวะผู้นำกับบุคลิกภาพ


ภาวะผู้นำกับบุคลิกภาพ 
                ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  เทคโนโลยีต่าง ๆ  มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต  ทัศนคติ  การปรับตัวของคนในสังคม  เกิดความสับสนไม่แน่ใจไม่สามารถปรับตัว ทัศนคติ  พฤติกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ  ในสังคม  จึงเกิดความขัดแย้ง  คับข้องใจภายในตนเองและการแสดงออก  เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกันทั้งในครอบครัว  สถาบันการศึกษา  องค์การที่ทำงาน  การร่วมมือทำกิจกรรมต่าง ๆ
                การศึกษาการพัฒนาบุคลิกภาพหรือการปรับตัวให้สามารถมีชีวิตที่มีความสุข  ประสบความสำเร็จทั้งในหน่วยงาน  สังคม  ชีวิตส่วนตัว
                ความสำเร็จในการพัฒนาบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล  ขึ้นกับความตั้งใจแน่วแน่ในการสำรวจตนเองอยู่เสมอ  และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อบกพร่องที่เป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการติดต่อกับบุคคลอื่น  การยอมรับข้อบกพร่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขของตัวเองซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา  และค่อยเป็นค่อยไป

ความหมายของคำว่า  บุคลิกภาพ
               บุคลิกภาพ  (Personality)  มาจากภาษาลาตินว่า  Persona  แปลว่า  หน้ากากที่ตัวละครสมัยกรีกและโรมันสวมใส่เพื่อแสดงบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน  ให้ผู้ดูเห็นได้ในระยะไกล ๆ
                บุคลิกภาพ  หมายถึง ลักษณะโดยส่วนรวมอันเป็นของจำเพาะแต่ละบุคคล ทั้งลักษณะภายในและภายนอก ซึ่งแสดงออกทางท่าทาง ความรู้สึกนึกคิด ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนกิริยามารยาท ลักษณะนิสัยและอุปนิสัย
                เป็นการยากที่จะให้ความหมายของบุคลิกภาพที่แน่นอนตายตัว  เพราะคนมักตัดสินบุคลิกภาพของผู้อื่นโดยเอาความรู้สึกของตนเองเป็นเครื่องวัด  จากปฏิกิริยาที่บุคคลอื่นแสดงต่อตนเองเป็นเกณฑ์  รู้สึกว่าดีหรือไม่ดีจากความชอบหรือไม่ชอบเป็นสำคัญ  ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาวะที่แท้จริงของบุคคลนั้นก็ได้  เพราะคนสองคนอาจมีความรู้สึกต่อปฏิกิริยาของคนคนหนึ่งแตกต่างกัน  ขึ้นกับการรับรู้ที่แตกต่างกัน
                สรุปบุคลิกภาพ  คือ  ผลรวมของการผสมผสานปัจจัยด้านคุณลักษณะส่วนตัว  แนวความคิด  ทัศนคติ  ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อม  และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
 
บุคลิกลักษณะของคน  แบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ ดังนี้
๑. พวกชอบสังคม (Extrovert หรือ Social) ชอบติดต่อกับบุคคลภายนอก เป็นพวกอยากรู้อยากเห็น
๒. พวกชอบเก็บตัว (Introvert หรือ Asocial) ไม่ชอบสุงสิงกับใคร มีความคิดอ่านหรือความเห็นแต่ในส่วนที่เป็นความคิดเห็นของตัวเอง
๓. พวกก้าวร้าว (Psychopathic Personality) มีนิสัยก้าวร้าวเกะกะ ชอบพูดหลอกลวง กล่าวมุสาเป็นอาจิณ ทะนงตนอวดดี เหยียดหยามผู้อื่น มีนิสัยอิจฉาริษยา
๔. พวกโรคจิต (Paranoid) ขี้ระแวงสงสัย คิดว่าผู้อื่นทำอะไรมีความหมายถึงตนเสมอ คอยคิดแต่เพียงว่าผู้อื่นมีเจตนาไม่ดีกับตน เกิดความหวาดระแวงไปหมด
๕. Domination คือ พวกที่พยายามและมีความตั้งใจในการเป็นผู้นำในเวลาเข้าสังคม
๖. Submission คือ พวกที่ชอบตาม ชอบเป็นเบี้ยล่าง และชอบประจบสอพอ
๗. Compromise คือ พวกที่มีลักษณะเป็นผู้ขอไปที ผัดเรื่อยไป บางครั้งอาจใช้คำพูด “คิดดูก่อน” เป็นต้น
๘. Integration คือ พวกที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี รักหมู่รักคณะ
๙. Anty Social คือ พวกต่อต้านสังคม
 
 
ความสำคัญของการมีบุคลิกภาพดี 
                ผู้มีบุคลิกภาพดี  ต้องเป็นผู้มีสุขภาพจิตดีเป็นเบื้องต้น  มองเห็นสิ่งต่าง ๆ  ตามที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง  ไม่ต่อต้านหรือยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไร้หลักการ  ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ประพฤติปฏิบัติได้อย่างคงเส้นคงวา  คือ  สามารถปรับตัวได้ดี  เป็นผลให้บุคคลนั้นมีลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ  ดังนี้
๑.  สามารถรับรู้  เข้าใจสภาพความจริงได้อย่างถูกต้อง
๒.  การแสดงอารมณ์อยู่ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม
๓.  สามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสังคมได้ดี
๔.  สามารถทำงานที่อำนวยประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมได้
๕.  มีความรัก  และความผูกพันต่อผู้อื่น
๖.  สามารถพัฒนาตนเอง  การแสดงออกของตนต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น
 
ปัญหาการขาดความสามารถในการปรับตัวหรือการปรับบุคลิกภาพ
                เมื่อไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์  และบุคคลอื่นที่แวดล้อม  จะเป็นผลให้มีลักษณะไม่เป็นผลดีต่อตนเองในการดำเนินชีวิต  ต่อการประสบความสำเร็จทั้งในงานและส่วนตัว  ดังนี้
                ๑.  เป็นคนที่มีอาการเคร่งเครียด
                ๒.  ทำให้มีอาการเจ็บป่วยทางกาย  จากสาเหตุของความเครียด
                ๓.  หย่อนสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต
 
แนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพ
                พจนานุกรมไทย  บัญญัติคำว่า  บุคลิกภาพ  หมายถึง  สภาพนิสัยจำเพาะคน  หรือในบางแห่ง  ลักษณะเฉพาะประจำตัวของแต่ละบุคคลที่ปรากฏให้เห็น
                การมีบุคลิกภาพดี  มิใช่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพียงภายนอกด้วยการแต่งกาย  หรือพฤติกรรมที่แสดงออก  จำเป็นต้องปรับปรุงหรือพัฒนาบุคลิกภาพภายในเสียก่อน  จึงจะทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกประสบความสำเร็จได้  ซึ่งต้องใช้ความอดทน  และแน่วแน่ในความพยายามอย่างมุ่งมั่น  การพัฒนาบุคลิกภาพ  แบ่งเป็น  ๒  ลักษณะ
                ๑.  การพัฒนาบุคลิกภาพภายใน  (Internal Personality)  ต้องพัฒนาเป็นลำดับแรก  เพื่อนำไปสู่การมีบุคลิกภาพภายนอกหรือการประพฤติปฏิบัติในด้านต่าง ๆ  อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานภาพของตน  สภาวการณ์แวดล้อม  บุคคลที่ติดต่อเกี่ยวข้อง  การตั้งความคิดในการมองโลก  กาลเทศะฯลฯ  ที่จะเป็นตัวกำหนดท่าที  พฤติกรรม  กิริยา  ท่าทางที่เราแสดงออกในด้านต่าง ๆ  ให้บุคคลอื่นเห็นและรับรู้  รวมทั้งประเมินว่าเรามีบุคลิกภาพเป็นเช่นไร  สิ่งที่ต้องพิจารณา  ได้แก่  การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  ความกระตือรือร้น  ความรอบรู้  ความคิดริเริ่ม  ความจริงใจ  ความรู้กาลเทศะ  ปฏิญาณไหวพริบ  ความรับผิดชอบ  ความจำ  อารมณ์ขัน  ความมีคุณธรรม
                ๒.  การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก  (External Personality)  เมื่อพัฒนาบุคลิกภาพภายในดีแล้ว  จะทำให้พฤติกรรม  ท่าที  การแสดงออกในด้านต่าง ๆ  งดงาม  เหมาะสม  ได้รับความชื่นชม  การยอมรับและศรัทธาจากบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี  บุคลิกภาพภายนอกที่จำเป็นต้องพัฒนา  ได้แก่  รูปร่างหน้าตา  การแต่งกาย  การปรากฏตัว  กิริยาท่าทาง  การสบสายตา  การใช้น้ำเสียง  การใช้ถ้อยคำภาษา  มีศิลปะการพูด
                การตั้งความปรารถนาหรือความหวัง  แต่ไม่ลงมือทำ  จะไม่มีวันสมหวัง
                Herbert casson  เปรียบเทียบความหวังกับความสำเร็จว่า 
                                ความหวัง  เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์พืช  มันจะไม่มีวันงอกงาม  ถ้าคุณไม่ลงมือปลูกมัน
                                ความหวัง  จะไม่กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้  ถ้าคุณไม่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำจนกว่าจะได้สิ่งที่คุณต้องการ
                                ความหวังเพียงอย่างเดียว  จะไม่นำมาซึ่งความสำเร็จหรือความสุขได้เลย  และมักจะนำความทุกข์มาสู่ผู้ที่ไม่มีความกล้าที่จะลงมือทำ
                ฉะนั้น  เมื่อตั้งความหวังในสิ่งที่ดีงาม  จงลงมือกระทำและพยายามอย่างแน่วแน่  แล้วท่านจะสมความปรารถนาในสิ่งที่หวังเสมอ  เพียงแต่จะมีความอดทนเพียงใดเท่านั้น  เพราะการพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ  หรือการพัฒนาบุคลิกภาพ  เป็นผลของการเตรียมตัวและทำงานหนักอย่างต่อเนื่องมาก่อนเป็นระยะเวลายาวนาน
  
การพัฒนาบุคลิกภาพ  กับการสร้างความสำเร็จในชีวิต            
                ๑.  ความสามารถในการครองตน  คือ  จะต้องดูแลตนเองให้กินดี  อยู่ดี  มีความพอใจในชีวิต  และลิขิตชีวิตตัวเองได้
                ๒.  ความสามารถในการครองคน  คือ  สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้  เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  เป็นที่รักใคร่ของญาติมิตร  รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ให้ความสำคัญกับผู้อื่นจนชนะใจผู้อื่นได้
                ๓.  ความสามารถในการครองงาน  คือ  สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จในงานอาชีพ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีความก้าวหน้าในงานที่รับผิดชอบ
                ความสำเร็จในชีวิตจะทำให้คุณมีความสุขและสะท้อนออกมาในบุคลิกลักษณะที่ดีประจำตัวด้วยได้  ดังนั้น  การพัฒนาบุคลิกภาพกับการสร้างความสำเร็จในชีวิต  จึงเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
 

ลักษณะบุคลิกภาพที่ดีของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

ลำดับความสำคัญจากมากไปน้อย ดังนี้
๑. ความเฉลียวฉลาดมีปัญญา
๒. ความมั่นใจในตนเอง
๓. สมาคมกับผู้อื่นได้ดี
๔. มีเจตจำนงอันแน่วแน่
๕. มองโลกตามความเป็นจริง
๖. มีความเด่นหรือความมีอำนาจ
๗. มีทัศนคติในเชิงบวกต่อมนุษย์
บุคลิกภาพหรือคุณลักษณะที่เป็นข้อบกพร่องของนักบริหารทั่วไป  ได้แก่  ไม่รักความก้าวหน้า  รอบรู้ในวงจำกัด  ขาดความรับผิดชอบ  ไม่กล้าตัดสินใจ  ไม่หมั่นตรวจสอบ  สื่อความหมายคลุมเครือ  มอบหมายงานไม่เป็น  ชอบเข้าข้างตัวเอง  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  แสวงหาผลโดยมิชอบ  ไม่รักษาคำพูด  เป็นตัวอย่างที่เลว  อยากเป็นที่ชื่นชอบ  ไม่เห็นใจลูกน้อง  มองข้ามความสามารถ  ไม่อบรมพัฒนา  บ้ากฎระเบียบ  ขาดศิลปะในการวิจารณ์  ไม่ใส่ใจในคำร้องทุกข์  อ่อนประชาสัมพันธ์  ไร้มนุษยสัมพันธ์  ไม่สร้างฐานรองรับ
 
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพ  ได้แก่
๑.  แบบแผนทางวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อม
๒.  สถานะทางเศรษฐกิจ – สังคม
๓.  แบบแผนของสถาบัน  ชุมชน  สังคม
๔.  ค่านิยม  หลักการ  ปรัชญาในการมีชีวิต
๕.  สุขภาพจิต  (ลักษณะความอบอุ่นในครอบครัวทั้งในอดีตและปัจจุบัน)
๖.  การศึกษา  (โรงเรียน,  แบบแผนของสถาบันการศึกษา)
๗.  ความต้องการ  แรงขับกระตุ้น  (ในแง่จิตวิทยา)
๘.  ปัจจัยอื่น ๆ  เช่น  เพื่อน  อาชีพ  ฯลฯ
 
แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพ
                ศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคำอธิบายว่า  อะไรคือส่วนประกอบหรือโครงสร้างของบุคลิกภาพที่แตกต่างกันของมนุษย์  ประกอบด้วยแนวคิดที่สำคัญ  ๒  แนวคิด  คือ
                ๑.  สนใจศึกษาลักษณะโดยธรรมชาติของส่วนประกอบ  หรือโครงสร้างของบุคลิกภาพโดยตรง  โดยเชื่อว่าลักษณะโดยธรรมชาติทำให้บุคลิกภาพแตกต่างกัน
                ๒.  เชื่อว่าสิ่งกระตุ้น  เป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของบุคลิกภาพ  เพราะเป็นตัวการที่มีอิทธิพลในการก่อให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออกของคน
 
อะไรคือตัววัดบุคลิกภาพ
         ๑.  คำพูดที่สื่อความรู้สึกนึกคิด  เพราะคำพูดจะเป็นการสื่อให้เราได้ล่วงรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นได้ว่ามีความรู้สึก  โกรธ  เศร้าโศกเสียใจประการใด
         ๒.  อากัปกิริยาที่แสดงออก  ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย  เป็นข้อมูลที่ทำให้ได้ทราบภาวะจิตใจของบุคคลได้ไม่ว่าการแสดงออกนั้นจะเป็นอากัปกิริยาที่แสดงออกโดยจริงใจ  และมีจุดมุ่งหมายหรือเป็นการแสดงออกโดยไม่ตั้งใจก็ตาม
         ๓.  การเปลี่ยนแปลงทางสรีระ  เมื่อมนุษย์เกิดอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย  เช่น  หน้าแดงเมื่อโกรธ  มือสั่น  เสียงสั่น  เมื่อประหม่า
                ดังนั้น  ผู้ที่มีบุคลิกภาพดีจึงเป็นผู้ที่มีภาวะทางจิตที่มั่นคง  สามารถควบคุมพฤติกรรมการแสดงออก  ทั้งคำพูด  อากัปกิริยา  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสรีระได้เป็นอย่างดี  โดยผู้อื่นไม่อาจล่วงได้ว่าเขามีความรู้สึกที่แท้จริงอย่างไร 
                มีคำกล่าวว่า  “ผู้ที่มีบุคลิกภาพดีนั้น  คือ  ผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้ทั้งร่างกายและจิตใจ  นับตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน”
 
การเสริมสร้างบุคลิกลักษณะของบุคคล
                บุคลิกลักษณะของบุคคลสามารถดัดแปลงแก้ไขเสริมสร้างให้ดีขึ้นได้  โดยอาศัยการฝึกหัด  ปรับปรุงกิริยา  ท่าทาง  และลักษณะต่าง ๆ  ดังนี้
                ๑.  The way you look  การมองด้วยสายตา  จะแสดงความรู้สึกออกมาให้เห็น  ต้องมองด้วยความสุภาพเรียบร้อย  มองด้วยความรัก  เมตตา  ปรานี  ไม่มองอย่างเหยียดหยาม  ดูหมิ่นดูแคลน  เกลียด
                ๒.  The way you dress  การแต่งกาย  สะอาดเรียบร้อย  ใช้สีถูกต้องและเหมาะสมแก่กาลเทศะ  ตลอดทั้งส่วนอื่น ๆ  ของร่างกาย  เช่น  หน้า  ตา  จมูก  เล็บ  ให้พอดีไม่มากเกินไป
                ๓.  The way you talk  การพูด  เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราเข้ากับบุคคลได้ทุกเพศ  ทุกวัย  และทุกชนชั้น  ต้องมีศิลปะในการพูด  ใช้คำพูดที่มีเหตุผล  สุภาพเรียบร้อย  ไพเราะอ่อนหวาน
                ๔.  The way you walk  การเดิน  ระวังไม่ให้มีเสียงดังเกินไป  รบกวนผู้อื่น  ควรเดินตัวตรงอกผายไหล่ผึ่ง
                ๕.  The way you acts  การแสดงท่าทาง  น่าดู  น่าชม  เช่น  ท่าทางในการพูดสุภาพ  ไม่ให้มรการแสดงประกอบมากไป
                ๖.  The skill with which you do thing  ทักษะในการทำงานในหน้าที่การงานที่ดี  หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง  มีความชำนาญ  คล่องแคล่วว่องไว
                ๗.  Your health  สุขภาพ  ดี  ร่างกายแข็งแรง  ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ  เป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ
                เป็นผู้มีบุคลิกภาพดี  ด้วยการปรากฏและวางตนให้เหมาะสม  และมีมารยาทดี  (Good Manner)
 
กลวิธีปรับปรุงแก้ไขให้มีบุคลิกลักษณะดีขึ้น
                ๑.  จงเป็นคนใจคอกว้างขวาง  (Be Open - minded)
                ๒.  จงให้ความร่วมมือกับผู้อื่น  (Be Cooperation)
                ๓.  จงเป็นตัวของตัวเอง  (Have Confidence)
                ๔.  จงแสวงหาคำแนะนำ  (Seek Advice)
                ๕.  จงลงมือกระทำจนกว่าจะถูกต้อง  (Take Action)
                ๖.  จงตรวจสอบผลความก้าวหน้าของท่าน  (Check Your Progress)
 
หลักในการปรับปรุงบุคลิกภาพ
                ๑.  พยายามสำรวจบุคลิกภาพของตนเองอยู่เสมอ  ว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งบกพร่อง
                ๒.  พยายามสังเกตบุคลิกภาพที่ตนเองชื่นชอบ  ซึ่งมีอยู่ในตัวบุคคลอื่น  พยายามปรับปรุงบุคลิกภาพไปตามที่ตนพอใจ  ซึ่งบุคลิกภาพนั้นควรจะเป็นที่ยอมรับของสังคม
                ๓.  พยายามฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ  ระวังการเดิน  การพูดจา  และพฤติกรรมอื่น ๆ
                ๔.  พยายามปรับปรุงการแต่งกายให้เหมาะสม  เครื่องแต่งกายมีความสำคัญในการเสริมสร้างบุคลิกภาพของมนุษย์
                ๕.  พยายามสร้างความมั่นใจในตนเอง  ความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตนเอง  จะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี
                ๖.  พยายามทำตนให้เป็นคนที่เท่าทันต่อเหตุการณ์  ฉลาดรอบรู้  ไม่ล้าหลัง  สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นได้
                ๗.  พยายามทำจิตให้สบาย  ไม่มีความกระวนกระวายใจ  ความวิตกกังวล  รวมทั้งความอิจฉาริษยาผู้อื่น
                ๘.  ระวังไม่ให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว  รู้เท่าทันสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อม  การรู้ตัวเองอยู่เสมอ  จะสามารถปรับปรุงบุคลิกภาพได้
 
วิธีการปรับตัวของมนุษย์  การปรับตัวของมนุษย์มีวิธีที่ดี  ดังนี้
                ๑.  เมื่อเกิดปัญหา  พยายามศึกษาปัญหา  อย่าวิตกกังวล  ตื่นเต้น  ตกใจ  จะทำให้มองไม่เห็นสาเหตุแห่งปัญหา  จงทำใจให้สงบ  หาสาเหตุแห่งปัญหา  ยกปัญหาขึ้นมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
                ๒.  เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ  ลักษณะนิสัยบางอย่างของตนเอง  อันนำไปสู่การเกิดปัญหานั้น
                ๓.  พยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เข้ากับสภาพของเหตุการณ์
                ๔.  พยายามผ่อนคลายความตึงเครียด
                ๕.  หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา  เลือกวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา  เป็นวิธีแก้ปัญหาที่สังคมยอมรับ  ไม่ติดต่อปทัสถานของสังคม
                วิธีการปรับตัวของมนุษย์  ย่อมแตกต่างกันออกไป  การแก้ไขปัญหาได้  ย่อมหมายถึงการปรับตัวได้ดี  มีวิธีการปรับตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
 
ลักษณะของบุคคลที่ปรับตัวได้ดี  บุคคลที่สามารถปรับตัวได้ดี  จะมีลักษณะดังนี้
                ๑.  เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ
                ๒.  เป็นบุคคลที่รู้จักตนเอง  และเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง
                ๓.  เป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดี  รู้จักควบคุมอารมณ์
                ๔.  เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งการงาน  อาชีพ  และชีวิตส่วนตัว
                ๕.  เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
                ๖.  เป็นบุคคลที่สามารถจะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคใด ๆ  ด้วยความสงบเยือกเย็น
                ๗.  สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขราบรื่น
 
สาเหตุที่บุคคลปรับตัวไม่ได้
                ๑.  ความบกพร่องของตนเอง  การที่บุคคลมีข้อบกพร่องไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนใด  หรือร่างกายพิการก็ตาม  บุคคลย่อมมีข้อบกพร่อง  เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลปรับตัวไม่ได้
                ๒.  ความบกพร่องของสังคม  สภาพของสังคมที่บุคคลต้องอยู่ร่วมด้วยผิดปกติ  มีปัญหา  ย่อมทำให้บุคคลไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้  เช่น  สภาพของสังคมที่แออัดยัดเยียด  ย่อมทำให้บุคคลอึดอัด  เกิดปัญหาในการปรับตัว  หรือสภาพสังคมที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัดมากเกินไป  ย่อมทำให้บุคคลเกิดปัญหาในการปรับตัวเช่นเดียวกัน
 
สรุป
         การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นคุณค่าต่อชีวิตที่มีคุณภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะมองในแง่ความสุขในการมีชีวิตครอบครัว ชีวิตในสังคม และในการทำงาน หรือในแง่ของความสำเร็จในชีวิตอันเป็นที่พึงปรารถนาของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม
 
 
บรรณานุกรม
นงลักษณ์ สุทธิวัฒนพันธ์. (2545). การพัฒนาบุคลิกภาพผู้นำและผู้บริหาร.    (พิมพ์  ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
ชาญชัย อาจินสมาจาร. (2550). ภาวะผู้นำในองค์การ. กรุงเทพฯ : ปัญญาชน.
พรนพ พุกกะพันธุ์. (2544). ภาวะผู้นำและการจูงใจ. กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์.
หมายเลขบันทึก: 450647เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2011 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท