ต้องรื้อโครงสร้างอำนาจ


นี่คือสาระสำคัญของข้อเสนอโดยสรุป ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดขานรับเลย ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเพราะไม่เข้าใจแก่นแท้ของข้อเสนอที่สำคัญชิ้นนี้ สู้เสนอนโยบาย “ลดแหลกแจกแถม” ดีกว่า เพราะถูกใจคนให้คะแนนเสียงมากกว่า นี่คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่ “ต้องรื้อถอนโครงสร้างอำนาจ” ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทันที

ได้มีโอกาสศึกษาข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ยื่นเสนอต่อพรรคการเมืองไทย มีสาระสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และต้องอดเสียใจแทนคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดขานรับข้อเสนอนี้มาประกาศเป็นแนวนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๓ กรกฎาคม ศกนี้เลย

ข้อเสนอกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ขณะนี้คนไทยหาความปกติสุขมิได้ ซึ่งก็ยอมรับกันว่าการเผชิญกับความยากลำบากของชีวิตนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราต่างกันมากในโอกาสเอาชนะอุปสรรค คือการมีอำนาจจัดการตัวเองไม่เท่ากัน คนไทยจำนวนมากล้วนต้องขึ้นต่ออำนาจของผู้อื่น ในขณะที่คนหยิบมือเดียวไม่เพียงกำหนดตัวเองได้ หากยังมีฐานะครอบงำคนที่เหลือ ความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง หากยังเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสำคัญอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม

ความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นมีหลายแบบ และถูกค้ำจุนไว้ด้วยโครงสร้างทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โครงสร้างอำนาจที่มีพลังสูงสุดและส่งผลกำหนดต่อโครงสร้างอำนาจอื่นทั้งปวงคือโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางและเป็นที่ยอมรับกันทั้งสังคมว่า การบริหารจัดการประเทศแบบนี้เป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพ

การกระจุกตัวของอำนาจรัฐเช่นนี้ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างสุดขั้วระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้ไม่สามารถเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เพียงพอสำหรับประชาชนที่นับวันยิ่งมีความหลากหลายกระจายกลุ่ม ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตัวเองไม่ได้ในบางด้าน มีส่วนทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในหลายที่หลายแห่ง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีกำหนดนโยบายจากส่วนกลางนั้น ยิ่งส่งผลให้ท้องถิ่นไร้อำนาจในการจัดการเรื่องปากท้องของตน 

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมให้เลวลงด้วยเงื่อนไขของยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ การที่รัฐไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาสังคมไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องสังคมไทยจากอิทธิพลข้ามชาตินั้น นับเป็นภาวะวิกฤตที่คุกคามชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นแทบจะป้องกันตนเองไม่ได้เลย เมื่อต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่า

เมื่อสังคมถูกทำให้อ่อนแอ ท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอ และประชาชนจำนวนมากถูกทำให้อ่อนแอ ปัญหาที่ป้อนกลับมายังศูนย์อำนาจจึงมีปริมาณท่วมท้น ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องที่ล้นเกิน ครั้นแก้ไขไม่สำเร็จทุกปัญหาก็กลายเป็นประเด็นการเมือง

ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป จึงเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการถึงระดับถอดสายบัญชาการของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่นออกในหลายๆด้าน และเพิ่มอำนาจบริหารจัดการตนเองให้ท้องถิ่นในทุกมิติที่สำคัญ ตามหลัก “ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน”

เจตจำนงสำคัญอยู่ที่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็นองค์รวมของประชาชนทั้งประเทศ ต้องประสานประชาธิปไตยทางตรงเข้ากับประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้มากขึ้น การเพิ่มอำนาจให้ชุมชนเพื่อบริหารจัดการตนเองต้องเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ต้น และอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นก็จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบโดยประชาชนในชุมชนหรือภาคประชาสังคมในท้องถิ่นได้ในทุกขั้นตอน

การรื้อโครงสร้างอำนาจในทิศทางดังกล่าวมิใช่การรื้อถอนอำนาจรัฐ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีผลต่อฐานะความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย หากยังจะเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐไทย และช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐไปด้วยพร้อม ๆ กัน

นี่คือสาระสำคัญของข้อเสนอโดยสรุป ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดขานรับเลย ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเพราะไม่เข้าใจแก่นแท้ของข้อเสนอที่สำคัญชิ้นนี้ สู้เสนอนโยบาย “ลดแหลกแจกแถม” ดีกว่า เพราะถูกใจคนให้คะแนนเสียงมากกว่า นี่คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า ถึงเวลาแล้วที่ “ต้องรื้อถอนโครงสร้างอำนาจ” ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทันที

(เขียนต้นฉบับเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔)

 

หมายเลขบันทึก: 450147เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

Iii think it is extremely hard ask PTT (ปตท) to share its fuel market share or SCG to allow people to sell cement in its market.

Little people see and feel the pains of living in suppression under monopoly of power.

Those in control see great benefits of greater control and feel pleasures from having greater power over other people.

Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely. ;-)

นักการเมืองเล่นการเมืองเพื่อครอบครัว

หลักฐานคือพอถูกห้ามเล่นก็เอาญาติพี่น้อง

บิดามารดา ภรรยา สามี ลูก หลาน เหลน ฯ

คงไม่ยอมปรับปรุงง่ายๆ ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นต่อสู้


สวัสดีครับ

ผมเห็นด้วยครับ "คนเราต่างกันมากในโอกาสเอาชนะอุปสรรค คือการมีอำนาจจัดการตัวเองไม่เท่ากัน คนไทยจำนวนมากล้วนต้องขึ้นต่ออำนาจของผู้อื่น"

อย่างไรก็ตามปัจจุบันช่องทางของการเพิ่มอำนาจของพลังภาคพลเมืองก็มีเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไร ให้พลังภาคพลเมืองเป็นพลังที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง และไร้อำนาจแฝงเช่นปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ต้องภาวนาให้เกิดเร็ว ๆและเกิดขึ้นแล้วสำเร็จ คือ การปฏิรูปการศึกษารอบสอง ครับ น่าจะช่วยให้คนไทยตาสว่างมากขึ้นครับ

ขอบคุณครับสำหรับสาระที่มีประโยชน์

นับเป็นแนวทางที่ดีในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยอัตลักษณ์ของแต่และพื้นที่ที่แตกต่างกัน การพัฒนาจึงแตกต่างกัน การที่ให้อำนาจกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางไม่ได้ส่งผลดีต่อการพัฒนาในระดับท้องถิ่น ส่งผลให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนก็อ่อนแอ กลายเป็นผู้ที่รอให้รัฐลงมาแก้ปัญหา ไม่สามารถจัดการปัญหาของตัวเองได้ หาใช่ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาและบริหารท้องถิ่นเอง แต่อำนาจในการบริหารอยู่ที่ส่วนกลาง นโยบายการกระจายอำนาจก็ใช้ได้จริงไม่ดีนัก หากรัฐเองยังกุมอำนาจการบริหารไว้ที่ส่วนกลางอยู่ หากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของรัฐให้ท้องถิ่นได้จัดการตัวเองอย่างเต็มที่ตามศักยภาพของท้องถิ่น การประท้วงหรือเรียกร้องต่างๆสู่เมืองหลวงคงจะน้อยลง อีกทั้งยังเกิดความเข็มแข็งขึ้นในชุมชนเพราะพวกเค้ามีสิทธ์ที่จะเข้าไปมีส่วนในการบริหารและแก้ปัญหาชุมชนของตนเอง

เมื่อวานก่อนผมไปร่วมงานที่ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ชาวบ้านรวมตัวกันลุกขึ้นมาประกาศใช้ "แผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตำบล" ผู้บริหารจังหวัดตบท้ายว่า จะเอาเงินมาจากไหน ทั้ง ๆ ที่น่าจะสนับสนุน อาจจะใช้ใช้งบของจังหวัดที่มีอยู่จัดสรรลงไปสนับสนุนขบวนชาวบ้าน หรืออาจจะช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดให้สนับสนุนพื้นที่ที่ทำสิ่งดี ๆ แบบนี้ ฉะนั้นประเด็นแรกที่ผมคิดว่าจะรื้อปรับคือยังควรมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่หรือไม่ ขอความเห็นด้วยครับ

จากที่ผมได้รับรู้ได้ยินข่าวมาว่าจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีทุนทางสังคมมาก ชาวบ้านตื่นตัวในการจัดการตนเอง และเกิดสิ่งดีๆมากมายด้วยการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ชาวบ้านเค้าตื่นแล้วแต่ระบบราชการหล่ะตื่นหรือยัง ยังคงใช้ระบบเดิมอยู่หรือป่าว เป็นระบบที่ล้าหลังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คงต้องมาตั้งคำถามกันแล้วแหละวันมันถึงเวลาที่ราชการส่วนภูมิภาคต้องปรับตัวหรือยัง หากยังติดแนวคิดในกรอบเดิมๆแล้ว การขับเคลื่อนและพัฒนาจากภาคประชาชนที่เค้ารู้ดีลึกซึ้งซึ่งปัญหาและได้มองเห็นหนทางแก้ไข้ที่ดีและบูรณาการกว่าจะไม่เกิดขึ้น หากไม่ยอมปรับตัวคงถึงเวลาต้องรื้อระบบเสียใหม่สักที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท