เติมพลังไปสร้างสุข


เล่าสู่กันฟัง

“เติมพลัง  ไปสร้างสุข” รุ่น 2

          “ความสุข” เป็นสุดยอดปราถนาของทุกคนบนโลกใบนี้ แม้ว่าการนิยาม และการให้ความหมายกับความสุขแตกต่างกันออกไป จนบางครั้งผมอดคิดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า ความสุขมันเป็นอย่างไร?  มันมีรสหวานหรือกลมกล่อม  กระทั่งอดคิดไม่ได้ว่าอาจจะเป็นกับดักที่คอยลอกล่อคนอยู่ก็ได้  โดยส่วนตัวผมแล้วเหมือนจะรู้จักกับคำนี้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่รู้จักมันอย่างถ่องแท้  เปรียบดังเพื่อนๆ สนิทที่ดูเหมือนว่าเรารู้จักเขาเป็นอย่างดี แต่สุดท้ายก็ต้องตั้งคำถามว่า”เขาเป็นอย่างไร?”  แม้กระทั่งตัวเราเองก็ยังไม่รู้จักในแง่มุมต่างๆ เฉกเช่นกัน       

          “เวทีเติมพลังเพื่อสร้างสุข” เมื่อวันที่ 9 -10 มิถุนายน 2554 เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้ผมได้เข้าไปเรียนรู้และค้นหา ทำความรู้จักกับแง่มุมความสุขผ่านประสบการณ์ของภาคีเครือข่าย สสส.ซึ่งเป็นเครือข่ายนำการสร้างสุขสู่ประชาชนทั่วไป แม้ว่างานครั้งนี้จะมีภาคีร่วมไม่มากนัก  ด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ  กระทั่งคุณหมอบัญชา  พงษ์พานิช ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ถึงกับเอ่ยปากว่า เครือข่าย สสส.ที่เข้าร่วมครั้งนี้มีจำนวนน้อยมาก  จนต้องเปิดรับคนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม  ก่อนที่จะถึงวันอบรมนั้น ทางผู้จัดได้ส่งเอกสารมาให้เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบ vcd หนังสือ และเอกสาร พอมาลงทะเบียนวันงานก็รับไปอีกชุดใหญ่  หอบกลับบ้านแทบไม่ไหว ผมยอมรับว่าไม่ได้เปิดอ่านจริงๆ จังๆ กับเอกสารเหล่านั้น เพียงเปิดผ่านและหยุดอ่านบางหัวข้อที่สนใจเท่านั้น นอกจากเอกสารที่กล่าวมาแล้วยังมีกระดาษแผ่นหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมกรอกข้อมูลก่อน  ซึ่งจะถามถึงทัศนคติต่อความสุขของแต่ละคน เช่น ความสุขของคุณคืออะไร? ตอนนี้คุณมีความสุขในระดับไหน? (ซึ่งมีให้เลือกหลายระดับ) และหากจะทำให้คุณมีความสุขมากกว่านี้ควรทำอย่างไร? แบบสอบถามนี้ผมคิดว่าเป็นอะไรที่ตอบยากเหมือนกันครับ จำได้ว่ากว่าจะตอบได้ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง  เพราะมันเป็นอะไรที่เราไม่เคยคิดมาก่อน สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานให้คนเข้าร่วมได้เตรียมความคิด  และไตร่ตรองกับเรื่องเหล่านี้ก่อนการอบรม  

          กระบวนการเรียนรู้ในเวที เป็นลักษณะตั้งวงสนทนา  ผ่านประสบการณ์ของแต่ละคนที่ทำงาน  ซึ่งผู้จัดจะเปิดสื่อเสียงที่แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต (ถามชีวิต) แล้วให้ล้อมวงคุยกันเป็นวงย่อย ประมาณ 4- 5 คนต่อกลุ่ม และให้เวลาแต่ละกลุ่มอย่างเพียงพอ อาจจะออกแนวสุนทรียสนทนาด้วยซ้ำ

          “ควมสุขคือ การที่ได้ทำงานตรงหน้าเสร็จเรียบร้อย”

          “ควมสุข คือ การที่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้จิตเป็นสมาธิ”

          “ความสุขคือ ได้ทำอะไรตามใจปราถนา”

          “ความสุขคือ ความเป็นที่อิสระปราศจากปัจจัยเงื่อไขกดทับ

          “ความสุขคือ...........................

เป็นก้อนความคิดที่แต่ละคนนำมาวางตรงกลาง ซึ่งบางความคิดก็อาจจะวนเวียน คล้ายกันบ้างเหมือนกันบ้าง (แต่ใช้คนละภาษา) แม้ว่าจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตามทุกคนล้วนอยากมีความสุข  ความสุขที่เราคุยกันนั้นมีอยู่หลายระดับ  ระดับต้นเราเรียกว่าความสุขแบบหยาบ เป็นความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอก เช่น การที่เราจะมีความสุขได้เราต้องเห็นคนที่เรารักมีคสวามสุข เรามีความสุขเมื่อเราได้รับการยกย่องจากบุคคลอื่นๆ     ความสุขแบบที่สองเราเรียกว่าเป็นความสุขแบบละเอียด  ความสุขแบบละเอียด เป็นความสุขที่ไม่พึ่งปัจจัยภายนอก  เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง เช่น การคิดบวก  สุขจากความสงบ  สุขจากการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ  ซึ่งการพูดคุยในวงเรามีข้อสรุปบางอย่างที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าแต่ละคนจะมีความสุขในแบบหยาบหรือละเอียดก็ตาม แต่ความสุขเหล่านี้ จะต้องไม่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ต่อไป  เช่น ความสุขที่เราได้มาจะต้องไม่ไปทำให้คนอื่นมีควาทุกข์  หรือการไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือ การไปกู้ยืมเงินมาเพื่อสนองความต้องการของตนเอง  (อันนี้พูดถึงความสุขแบบหยาบ)  ส่วนความสุขแบบละเอียดถือว่าเป็นความสุขอีกระดับหนึ่งที่ไม่พึ่งปัจจัยภายนอก  เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน เป็นความสุขที่จะต้องมีกระบวนการฝึกและทำอย่างเสมำเสมอ โดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ ความสุขในระดับนี้ เป็นสิ่งที่พวกเรา (ในกลุ่ม) ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เป็นความสุขที่เรายังไปไม่ถึง” และนี้คือเป้าหมายที่เราจะตั้งเอาไว้ในการฝึกดำเนินชีวิตปัจจุบัน  ไม่เช่นนั้นคงหาความสุขได้ยาก  เพาะเราเห็นตรงกันว่าความสุขที่อาศัยปัจจัยจากภายนอกเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยื่น มินำซ้ำอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกก็ได้  นอกจากการแลกเปลี่ยนในระดับกลุ่มแล้วกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญในช่วงเย็นของวันแรกก็คือ ทำวัตรเย็น  (การสวดมนต์) ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจความหมายของการสวดมนต์ และมีจิตเป็นสมาธิ โดยเป็นการทำวัตรแปล ซึ่งทำให้ผู้สวดมนต์ได้เข้าใจความหมายและเข้าถึงแก่นธรรมมากขึ้น  โดยส่วนตัวผมแล้วมีความรู้สึกเบา สบาย ไม่มีเรื่องให้ครุ่นคิด หายใจตามจังหวะการสวด สัมผัสกับความสุขชั่วขณะ  จนรู้สึกอยากจะกลับมาสวดมนต์ที่นี้ทุกวัน  ทำให้ย้อนถึงเมื่อครั้งยังครองเพศเป็นบรรพชิต ภาพในความทรงจำย้อนกลับมาทำให้เตือนสติตัวเองได้ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเพื่อ ดื่ม กิน เสพ แต่เราเกิดมาเพื่อพัฒนายกระดับจิตใจ และสติปัญญา ทำให้จิตมีคุณภาพ” เมื่อผมระลึกได้ดังนี้ ทำให้ตัวเองตั้งเป้าหมายในชีวิตชัดเจนมากขึ้น ลดความฟุ้งซ่านที่มีอยู่เดิม  และทำให้ผมรู้สึกว่าสถานที่นี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นที่พักผ่อนทางจิตวิญญาณสำหรับคนที่อ่อนหล้า  เพรี่ยพร้ำจากแรงกระแทกของโลก ผมจำได้ว่าคุณหมอท่านหนึ่งที่เคารพนับถือพูดว่า “ทุกคนอาจจะต้องผ่านช่วงหนึ่งที่ต้องหันหน้าเข้าศาสนา  อาจจะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่บุคคล” ทำให้ผมรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้อาจจะเป็นที่รองรับสำหรับกลุ่มคนที่เข้ามาใส่ใจเรื่องนี้ในปัจจุบันและอนาคตก็ได้

ไฮไลด์ของการอบรมครั้งนี้ อยู่ที่การเชิญบุคคลผู้ผ่านการปฏิบัติ ประสบการณ์ชีวิตอย่างโชกโชนมาแลกเปลี่ยนในเวที ครั้งที่ 1 ได้แก่อาจารย์เสกสรรค์  ประเสริฐกุล  ครั้งที่ 2 (ครั้งนี้) อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต  เดินทางจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย โดยไม่พกเงินติดตัวซักบาท แม้ว่าทุกวันนี้อาจารย์จะลาออกจากการเป็นอาจารย์ในหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วก็ตาม แต่ความเป็นครูท่านไม่สามารถลาออกได้ตลอดชีวิต ท่านได้เอ่ยปากบอกกัลยาณมิตรที่รู้จักมักคุ้นว่าหากใครต้องการให้ร่วมแลกเปลี่ยนท่านยินดีโดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ  ในการสนทนาช่วงเย็นวันนั้นผมเองค่อนข้างที่จะถามบ่อยกว่าเพื่อนจนคุณหมอบัญชาแซวว่า ผมเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ประมวล  แต่ผมเองก็ได้คำตอบที่ทำให้เข้าใจมากขึ้น เมื่อมาพบบัญฑิตจึงไม่รีรอที่จะขอความรู้  ผมได้อ่านหนังสื่ออาจารย์ประมวลเขียน เรื่อง “เดินสู่อิสระภาพ” เล่มแรก (ปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 12) ความหนา 504 หน้า ตอนนั้นหน้าปกสีฟ้าอ่อน  ดังนั้น ผมจึงมีข้อมูลเพียงพอที่จะถามอาจารย์ในเชิงลึกมากขึ้น และมีหลายคำถามมาก (หากอยู่เพียงลำพังผมคงจะถามมากกว่านี้) คำตอบของอาจารย์เรื่องหนึ่งที่กระแทกใจมาก  คือ เรื่องการไม่พกเงินติดตัวระหว่างการเดินทาง อาจารย์ให้คำตอบว่า เงินเป็นเครื่องหมายที่ทำให้คนรู้สึกมั่นใจ  อบอุ่น  และปลอดภัย และหากไม่มีเงินทุกคนจะกลัวกันมาก กลัวอด  กลัวตาย แต่อาจารย์พิสูจน์(ให้ตัวเองรู้ว่า) ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งมายา แต่สิ่งที่ทำให้มั่นคงคือจิตใจ อาจารย์ต้องการกระเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มจิตใจให้เข้าถึงแก่น  ผมจำได้ว่าตอนนั้นเมื่ออ่านจบและวางหนังสือลง ผมรู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ (คิดอย่างนั้นจริงๆ) และหลังจากนั้นเพื่อนฝูงก็จะเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของผมเป็นระยะๆ และอะไรที่ผมรู้สึกว่า กลัวผมก็จะรีบพุ่งชนอย่างไม่ลังเล แม้กระทั้งการทำอะไรที่เสี่ยงๆ ทำให้ผมก้าวพ้นจากความกลัวไปได้  แต่ 3- 4 ปีมานี้  กำลังความคิดมันเริ่มอ่อนหล้า  ความอาจหาญทางวิชาการลดลง จนครั้งนี้ที่เข้ารับการกระตุ้นอีกครั้ง และผมเองเริ่มตั้งเข็มทิศ  และสัญญาว่าจะเข้มงวดกับตัวเองให้มาก

วันสุดท้ายของการอบรม  ผู้จัดกระบวนการอบรมได้นิมนต์พระอาจารย์จ่อย วัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี  มาให้ข้อคิดและให้ผู้เข้าอบรมได้ซักถามเกี่ยวกับชีวิต ความดี  ความงาม   พร้อมนำพาฝึกสติ  ระดมกลุ่มย่อย และท้ายสุดท่านได้นำพาเดินเข้าไปสู่ห้องชิมลางนิพพาน พร้อมกับให้ทุกคนปล่อยวางความรู้สึกบางอย่าง ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ.....             

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 450066เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2011 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท