ระบบกฎหมาย และการลงโทษที่สอดคล้องกับพระวินัย และกฎหมายคณะสงฆ์


พระวินัย คือ กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดและการกระทำผิดในครั้งต่อไปของพระภิกษุ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยในกรณีที่พระภิกษุรูปนั้น ๆ กระทำผิดที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธศาสนาของพระองค์มัวหมอง ทำให้พุทธศาสนิกชนขาดศรัทธาที่จะทำนุบำรุง และขาดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพระองค์ จึงทรงบัญญัติข้อห้ามไว้เพื่อป้องปรามพระภิกษุรูปอื่นที่จะละเมิดและกระทำผิดในอนาคตเช่นนั้นอีก พระองค์จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นบังคับก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น จะบัญญัติพระวินัยเพื่อลงโทษพระภิกษุรูปนั้น ๆ หลังกระทำผิดแล้ว เพื่อไม่ให้ภิกษุรูปอื่นยึดถือเป็นเยื้องอย่างในการกระทำผิดต่อไป แต่ในยุคต่อมา จนถึงยุคปัจจุบัน การจะควบคุมพระภิกษุ สามเณร ที่ละเมิดพระวินัย โดยอาศัยพระวินัยอย่างเดียวมาควบคุมลงโทษคงไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาควบคุมพฤติกรรมของพระภิกษุที่ละเมิดพระวินัยและกฎหมายต่อไป

ระบบกฎหมาย และการลงโทษที่สอดคล้องกับพระวินัย และกฎหมายคณะสงฆ์

 

   หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในตอนแรกที่ยังมีพระภิกษุน้อยอยู่ การปกครองก็ไม่สู้ต้องการเท่าไรนัก สาวกทั้งปวงได้ประพฤติตามปฏิปทาของพระศาสดา และเข้าใจพระศาสนาทั่วถึง ครั้นภิกษุมีมากขึ้นโดยลำดับกาลและกระจายกันอยู่ ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นหมู่เดียวกัน การปกครองก็ต้องการมากขึ้นตามกัน คนเราที่อยู่เป็นหมวดหมู่จะอยู่ตามลำพังไม่ได้เพราะมีอัธยาศัยต่างกัน มีกำลังไม่เท่ากัน ผู้มีอัธยาศัยหยาบและมีกำลังมาก ก็จะข่มเหงคนอื่น คนสุภาพและมีกำลังน้อย ก็จะอยู่ไม่เป็นสุข เหตุนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงตรากฎหมายขึ้น ห้ามปรามไม่ให้คนประพฤติในทางที่ผิด และวางโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดไว้ด้วย นอกจากนี้ในหมู่หนึ่งๆเขาก็ยังมีธรรมเนียมสำหรับประพฤติอีก เช่นในสกุลผู้ดี เขาก็มีธรรมเนียมสำหรับคนในสกุลนั้น ในหมู่ภิกษุก็จำต้องมีกฎหมายและขนบธรรมเนียม สำหรับป้องกันความเสียหายและชักจูงให้ประพฤติงามเหมือนกัน พระศาสดาทรงตั้งอยู่ในที่เป็นพระธรรมราชาผู้ปกครอง และทรงตั้งอยู่ในที่เป็นสังฆบิดรผู้ดูแลภิกษุสงฆ์ พระองค์จึงได้ทรงทำหน้าที่ทั้ง ๒ ประการนั้น คือทรงพุทธบัญญัติเพื่อป้องกันความเสียหาย และวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ด้วยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง อย่างเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินทรงตราพระราชบัญญัติ อีกฝ่ายหนึ่งทรงตั้งขนบธรรมเนียมซึ่งเรียกว่า อภิสมาจาร เพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม ดุจบิดาผู้เป็นใหญ่ในสกุลฝึกปรือบุตรของตนในขนบธรรมเนียมของสกุลฉะนั้น

  พระพุทธบัญญัติและอภิสมาจารทั้ง ๒ นี้ รวมเรียกว่า พระวินัย พระวินัยนี้ ท่านเปรียบเหมือนด้ายร้อยดอกไม้ อันควบคุมดอกไม้ไว้ไม่ให้กระจัดกระจาย เพราะเหตุรักษาสงฆ์ให้ตั้งอยู่เป็นอันดี  อีกอย่างหนึ่งคนที่บวชเป็นภิกษุจากสกุลต่างๆ สูงบ้าง กลางบ้าง ต่ำบ้าง มีพื้นเพต่างกันมาแต่เดิม มีน้ำใจต่างกัน หากจะไม่มีพระวินัยปกครอง หรือไม่ประพฤติตามพระวินัย จะเป็นหมู่ภิกษุที่เลวทรามไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาและเลื่อมใส ถ้าต่างรูปประพฤติตามพระวินัยอยู่แล้ว จะเป็นหมู่ภิกษุที่ดี นำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส[1]

พระวินัยหรือพุทธบัญญัติ[2] หมายถึง ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และวิธีดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณี

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)[3] ได้กล่าวถึงความหมายอย่างง่าย ๆ ของพระวินัย ออกเป็น ๒ อย่างคือ

ก. การฝึกให้มีความประพฤติและความเป็นอยู่เป็นระเบียบแบบแผน หรือ การบังคับควบคุมตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผน รวมทั้งการใช้ระเบียบแบบแผนต่าง ๆ เป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคน และกิจการของหมู่ชน

ข. ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่วางลงไว้เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานสำหรับใช้ฝึกคน หรือใช้บังคับควบคุมคน ตลอดจนเป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคนและกิจการของหมู่ชนให้เรียบร้อยดีงาม

พระวินัย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ

     ๑) อาทิพรหมจริยกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณา (อำนาจปกครองของพระพุทธเจ้า หรืออำนาจปกครองฝ่ายพุทธจักร) เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายของพระภิกษุและวางโทษผู้ล่วงละเมิด โดยปรับอาบัติสถานหนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่ความผิด และให้พระสงฆ์สวดทุกครึ่งเดือน เรียกว่า “พระปาฏิโมกข์”

     ๒) อภิสมาจาริกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาท และความประพฤติความเป็นอยู่อันดีงามของพระภิกษุ อันนำมาซึ่งความเคารพศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน

พระวินัยกำหนดอาบัติไว้ดังนี้

    ๑) ปาราชิก ๔ เป็นอาบัติหนัก ถ้าภิกษุล่วงละเมิดแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุ คือ เสพเมถุน ลักทรัพย์มีมูลค่าตั้งแต่ ๕ มาสก (มาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท) ขึ้นไป ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน

    ๒) สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ แก้ไขได้ เช่น เจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน มีความกำหนัดจับต้องกายหญิง มีความขุ่นเคือง แล้วกล่าวหาภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล เป็นต้น

    ๓) อนิยต ๒ คำว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน เป็นอาบัติที่ยังไม่แน่นอนระหว่างปาราชิกกับสังฆาทิเสสหรือปาจิตตีย์ ซึ่งพระวินัยธรจะต้องวินิจฉัย มี ๒ ข้อคือ ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง และภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง

    ๔) นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เป็นอาบัติเบา แก้ไขได้ ด้วยการแสดงหรือการปลงที่เรียกว่า แสดงอาบัติหรือปลงอาบัติ เช่น ภิกษุทรงอติเรกจีวร (ผ้าส่วนเกินจากไตรจีวร) ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทรงเกิน ๑๐ วันก็อาบัติ ภิกษุรับประเคนเภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยแล้ว เก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วัน เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้เกิน ๗ วันต้องอาบัติ เป็นต้น

    ๕) ปาจิตตีย์ ๙๒ เป็นอาบัติเบา แก้ไขได้ ด้วยการแสดงหรือการปลง เช่น พูดปด ด่าภิกษุ นั่งในที่แจ้งกับหญิงสองต่อสอง หลอกภิกษุให้กลัวผี เป็นต้น

    ๖) ปฏิเทสนียะ ๔ เป็นอาบัติเบา เป็นอาบัติที่จะพึงแสดงคืน เช่น ภิกษุรับของเคี้ยวของฉันจากมือของภิกษุณีที่มิใช่ญาติด้วยมือของตนมาบริโภค เป็นต้น

    ๗) เสขิยวัตร ๗๕ เป็นวัตรที่ภิกษุ จะต้องศึกษา อันเป็นธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียกหรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ เช่น พึงสำเหนียกว่าเราจักนุ่งห่มให้เรียบร้อย เราจักไม่พูดเสียงดัง เราจักไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน เป็นต้น

 

๑. การลงโทษตามบทบัญญัติของพระวินัย

 

ระดับโทษของอาบัติในพระวินัย มี ๓ สถาน[4] คือ

              ๑) โทษสถานหนัก หรือ ครุโทษ แก้ไขไม่ได้ เรียก “อเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติปาราชิก ภิกษุต้องแล้ว (ล่วงละเมิดแล้ว) ขาดจากความเป็นภิกษุอย่างเดียว จะกลับมาบวชใหม่อีกไม่ได้

              ๒) โทษสถานกลาง หรือ มัชฌิมโทษ แก้ไขได้ เรียก “สเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุต้องเข้าแล้วต้องอยู่กรรม คือจะต้องอยู่ปริวาสให้ครบตามจำนวนวันที่ปกปิดนับตั้งแต่วันต้องอาบัติ และประพฤติมานัตอีก ๖ ราตรี จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้

              ๓) โทษสถานเบา หรือ ลหุโทษ แก้ไขได้ เรียก “สเตกิจฉา” เหมือนข้อ ๒ แต่เบากว่า เพราะเมื่อภิกษุต้องแล้ว เพียงแสดงอาบัติที่ต้องนั้นต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ก็พ้นจากอาบัตินั้นได้ อาบัติเหล่านี้ ได้แก่ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต

โทษของอาบัติจัดประเภทเป็นคู่ ๆ ได้แก่

    ๑) โทษเกี่ยวกับมีเจตนา และไม่มีเจตนา ได้แก่ สจิตตกะ อาบัติที่เกิดโดยมีเจตนาเป็นเหตุ คือเป็นไปพร้อมกับจิตหรือเจตนา และอจิตตกะ อาบัติที่เกิดโดยไม่มีเจตนาเป็นเหตุ คือไม่คิดจะทำหรือไม่มีเจตนาที่จะทำ

    ๒) โทษของอาบัติในความหมายของอาบัติหนัก อาบัติเบา ได้แก่ ครุกาบัติ คือ อาบัติหนัก มี ๒ ประเภท คือ (๑) ประเภทแก้ไขไม่ได้ เรียกว่า “อเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติปาราชิก

(๒) ประเภทแก้ไขได้ เรียกว่า “สเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส และลหุกาบัติ คือ อาบัติเบา แก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ นำความผิดของตนมาแสดงให้เพื่อนภิกษุรับทราบ เรียก “สเตกิจฉา” ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภาษิต

    ๓) โทษของอาบัติในความหมายอาบัติชั่วหยาบและไม่ชั่วหยาบ ได้แก่ ทุฏฐุลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุไม่ควรประพฤติ ได้แก่อาบัติปาราชิก และสังฆาทิเสส แต่ในบางกรณีท่านหมายเอาเฉพาะอาบัติสังฆาทิเสส เช่น พูดเกี้ยวหญิง จับต้องกายหญิง และเจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมา เป็นต้น และอทุฏฐุลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ เป็นอาบัติเบา มีโทษเล็กน้อย และกิริยาที่ล่วงละเมิดไม่หยาบคาย เช่น ภิกษุฉันอาหารที่ยังไม่รับประเคน เป็นต้น

    ๔) โทษของอาบัติในความหมายว่ามีส่วนเหลือ และไม่มีส่วนเหลือ ได้แก่ อนวเสสาบัติ คือ อาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือ เมื่อภิกษุต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่ อาบัติปาราชิก และสาวเสสาบัติ คืออาบัติที่มีส่วนเหลือ เมื่อภิกษุต้องแล้ว แม้จะมีความผิดต้องโทษ คือเป็นอาบัติแต่ก็ยังคงเป็นภิกษุอยู่ เมื่อแสดงอาบัติแล้ว ก็พ้นจากโทษนั้น ๆ

    ๕) โทษของอาบัติในความหมายว่า แสดงคืนได้และแสดงคืนไม่ได้ ได้แก่ เทสนาคมมินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน และอเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง

    ๖) โทษของอาบัติในความหมายว่า ทำคืนได้และทำคืนไม่ได้ ได้แก่ อปฏิกรรม อาบัติที่ภิกษุต้องแล้วไม่สามารถทำคืนได้ หรือแสดงอาบัติให้หายได้ ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ คืออาบัติปาราชิก และสปฏิกรรม อาบัติที่ภิกษุต้องเข้าแล้วสามารถทำคืนได้ คือหลุดพ้นจากอาบัตินั้น ๆ ได้

    ๗) โทษของอาบัติในความหมายว่า ทำเอง และใช้ให้ผู้อื่นทำ ได้แก่ สาณัตติกะ อาบัติที่ภิกษุต้องเพราะสั่งผู้อื่นทำ เช่น สั่งให้ผู้อื่นลักทรัพย์ เป็นต้น และอาณัตติกะ อาบัติที่ภิกษุต้องเฉพาะที่ทำเอง ไม่ต้องเพราะสั่งผู้อื่นทำ อาบัติบางสิกขาบท ภิกษุทำเองจึงต้องอาบัติ ใช้ให้บุคคลอื่นทำตนเองไม่ต้องอาบัติ อาบัติบางสิกขาบท ภิกษุทำเองก็ต้องอาบัติ และใช้ให้ผู้อื่นทำก็ต้องอาบัติเช่นกัน

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)[5] ได้กล่าวถึง วินัยบัญญัติ ในฐานะที่เป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายของสังคมไว้อย่างน่าสนใจว่า

“วินัยบัญญัติของสงฆ์มิใช่ศีลในความหมายแคบ ๆ อย่างที่มักเข้าใจกันง่าย ๆ แต่ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไปที่เรียกว่าชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ เริ่มตั้งแต่กำหนดคุณสมบัติ สิทธิ หน้าที่ และวิธีการรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ชุมชนคือสงฆ์ การดูแลฝึกอบรมสมาชิกใหม่ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำกิจการสงฆ์พร้อมด้วยคุณสมบัติและหน้าที่ที่กำหนดให้ ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา จัดทำ เก็บรักษา แบ่งสรรปัจจัย ๔ เช่น ประเภทต่าง ๆ ของอาหาร ระเบียบการรับและจัดแบ่งส่วนอาหาร การทำจีวรและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจีวร ประเภทของยา การปฏิบัติต่อภิกษุอาพาธ ข้อปฏิบัติของคนไข้และผู้รักษาพยาบาลไข้ การจัดสรรที่อยู่อาศัย ข้อปฏิบัติของผู้อยู่อาศัย ระเบียบการก่อสร้างที่อยู่อาศัย การดำเนินงานและรับผิดชอบในการก่อสร้าง การจัดผังที่อยู่อาศัยของชุมชนสงฆ์คือวัดว่า พึงมีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอย่างใดบ้าง ระเบียบวิธีดำเนินการประชุม การโจทหรือฟ้องคดี ข้อปฏิบัติของโจทก์ จำเลยและผู้วินิจฉัยคดี วิธีดำเนินคดีและตัดสินคดี การลงโทษแบบต่าง ๆ ฯลฯ ว่าโดยสาระ วินัยก็ได้แก่ ระบบแบบแผนทั้งหมดสำหรับหมู่ชนหนึ่ง ที่จะให้หมู่ชนนั้นตั้งอยู่ได้ด้วยดี สามารถมีชีวิตอยู่ตามหลักของตน และสามารถปฏิบัติกิจดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงเกี่ยวกับการปกครอง การบริหาร การศาล นิติบัญญัติ การเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดเท่าที่ชุมชนตลอดถึงประเทศชาติจะตกลงใช้ปฏิบัติเป็นทางการ โดยตราไว้เป็นธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ”

 

             ๒. ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย

 

          พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ[6] กล่าวถึงความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ไว้ดังนี้

          ประการที่ ๑ พระวินัยคืออายุของพระพุทธศาสนา ในคราวก่อนที่จะเริ่มทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปะได้ปรึกษากับพระเถระผู้เข้าร่วมทำสังคายนาแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า จะดำเนินชำระสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนาพระวินัยจัดว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระศาสนาชื่อว่ายังดำรงอยู่ ดังนั้น จึงขอสังคายนาพระวินัยก่อน

ประการที่ ๒ พระวินัยเป็นด้ายร้อยเรียงลักษณะนิสัย/พฤติกรรมของคนไว้ในกรอบเดียวกัน พุทธประสงค์ในการประกาศพระศาสนา ในเชิงจริยศาสตร์สังคมมี ๒ ประการ คือ  

(๑) กำจัดความคิดแบ่งแยกทางสังคม

(๒) กระตุ้นเตือนให้มนุษย์คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าภายในตน

พระพุทธองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาในพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าประสงค์จะบวชเป็นพระภิกษุ ภิกษุณีก็บวชได้ โดยไม่จำกัดว่าจะเกิดในตระกูลใด วรรณะใด และเมื่อประสงค์จะพัฒนาตนก็มีโอกาสพัฒนาได้เต็มที่ ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติ ไม่มีใครบันดาลให้ใครได้ สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ผู้อื่นจะให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้

ด้วยพุทธประสงค์อย่างนี้ จำเป็นต้องมีพระวินัยไว้เป็นกฎเกณฑ์ควบคุมดูแล เพราะธรรมดาคนที่มาจากสังคมหลากหลาย ย่อมมีลักษณะนิสัย และพฤติกรรมต่างกันอยู่แล้ว
          ประการที่ ๓ ความมีคุณค่าและความเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมของพระวินัย ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง เห็นได้จากพุทธประสงค์ ๑๐ ประการในการบัญญัติพระวินัย คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลดีงาม เพื่อปิดกั้นอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน เพื่อบำบัดอาสวะอันจะบังเกิดในอนาคต เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย

วัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ กล่าวโดยสรุปคือ (๑)เพื่อความเรียบร้อยดีงามของสังคมสงฆ์  (๒) เพื่อความสบายใจของสังคมคฤหัสถ์ และ(๓) เพื่อพระพุทธศาสนาโดยตรง

ประเด็นนี้หมายถึง เมื่อมีพระวินัยเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ความสามัคคี ความผาสุกย่อมเกิดขึ้น สังคมมีมาตรการในการที่จะตัดสินลงโทษคนผิดชัดเจน กำจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และป้องกันความเสื่อมเสียอันจะเกิดในอนาคต ในส่วนของประชาชนคฤหัสถ์ แม้จะไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เมื่อเห็นภาพการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมเกิดความเลื่อมใส ส่วนผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเห็นภาพแห่งการประพฤติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ ย่อมมีความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น อันว่าความเลื่อมใสนี่แหละทำให้จิตใจเย็นสบาย ไม่อึดอัดไม่ขัดเคือง

ประการที่ ๔ พระวินัยสร้างหลักประกันให้บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากที่พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ ๕ ประการแห่งความเป็นผู้มีศีล คือ (๑) ได้โภคทรัพย์กองใหญ่ (๒) ชื่อเสียงดีงามขจรไป (๓) เป็นผู้องอาจในที่ประชุมชน (๔) ไม่หลงตาย คือ ตายไปอย่างมีสติ (๕) เมื่อตายไป ย่อมไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์

ประการที่ ๕ ความเป็นกฎเกณฑ์และความมีคุณค่าทางสังคมของพระวินัย เห็นได้จากประเด็นต่อไปนี้

คำว่า วินัย ในที่นี้หมายถึงศีล ๒ ส่วน คือ (๑) ศีลที่มาในพระปาติโมกข์ของภิกษุ ๒๒๗ ข้อและศีลของภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ (๒) ศีลที่มานอกพระปาติโมกข์อีกจำนวนมาก ศีลมีอรรถะลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานดังนี้

๑. ลักษณะของศีล คือความเป็นรากฐาน

๒. รสของศีล คือ กำจัดความทุศีล หรือคุณที่หาโทษมิได้

๓. ปัจจุปัฏฐานของศีล คือความสะอาด

๔. ปทัฏฐานของศีล คือ หิริและโอตตัปปะ

ประเด็นที่ ๑ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่มีรากฐานแข็งแกร่ง

ประเด็นที่ ๒ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมที่ไร้ทุกข์โทษ

ประเด็นที่ ๓ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมสะอาด

ประเด็นที่ ๔ สังคมแห่งศีลธรรมเป็นสังคมแห่งความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว

          กล่าวโดยสรุป สังคมต้องมีวินัย วินัยแบ่งตามกลุ่มของผู้ปฏิบัติ มี ๒ อย่าง คือ

          ๑. อาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับคฤหัสถ์ การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือกุศลกรรมบถ ๑ จัดเป็นอาคาริยวินัยหรือวินัยของคฤหัสถ์ ซึ่งเมื่อชายหญิงถือปฏิบัติทั่วถึงกันแล้ว ชื่อว่าป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิต เพราะเป็นเหตุนำความสงบสุขมาให้ทั้งแก่ตนและแก่หมู่คณะ

          ๒. อนาคาริยวินัย กรอบควบคุมวิถีชีวิต แนวทางประพฤติสำหรับสามเณร สามเณรี สิกขมานา พระภิกษุและภิกษุณี เช่น ศีล ๑ มีเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นข้อต้น เว้นจากการับทองและเงินเป็นข้อสุดท้าย ปาติโมกขสังวรศีล อินทริย-สังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจยสันนิสิตศีล

          พระพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่แสดงไว้ บัญญัติไว้ จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไป

 

        ๓. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

 

          พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เป็นพระราชบัญญัติที่ตราไว้ในพุทธศักราช ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวข้อกับการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

          ๑. กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ตามมาตรา ๘ ความว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม”

          ๒. กำหนดให้มีมหาเถรสมาคม เป็นคณะกรรมการบริหาร มีองค์ประกอบตามมาตรา ๑๒ ความว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่รูป และไม่เกินแปดรูป เป็นกรรมการ”

          ๓. กำหนดการปกครองคณะสงฆ์ โดยมีมาตรา ๒๐ กล่าวถึงการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามกำหนดในกฎมหาเถรสมาคม มาตรา ๒๑ แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ออกเป็น ภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล และให้มีพระภิกษุผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับดังนี้ (มาตรา ๒๒) เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล

          ๔. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ ตามความผิดของพระภิกษุสามเณรที่ละเมิดพระธรรมวินัย โดยมีการกำหนดลงโทษสุงสุดคือสละสมณเพศ

 

กล่าวโดยสรุป พระวินัย คือ กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดและการกระทำผิดในครั้งต่อไปของพระภิกษุ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยในกรณีที่พระภิกษุรูปนั้น ๆ กระทำผิดที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธศาสนาของพระองค์มัวหมอง ทำให้พุทธศาสนิกชนขาดศรัทธาที่จะทำนุบำรุง และขาดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพระองค์ จึงทรงบัญญัติข้อห้ามไว้เพื่อป้องปรามพระภิกษุรูปอื่นที่จะละเมิดและกระทำผิดในอนาคตเช่นนั้นอีก พระองค์จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นบังคับก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น จะบัญญัติพระวินัยเพื่อลงโทษพระภิกษุรูปนั้น ๆ หลังกระทำผิดแล้ว เพื่อไม่ให้ภิกษุรูปอื่นยึดถือเป็นเยื้องอย่างในการกระทำผิดต่อไป แต่ในยุคต่อมา จนถึงยุคปัจจุบัน การจะควบคุมพระภิกษุ สามเณร ที่ละเมิดพระวินัย โดยอาศัยพระวินัยอย่างเดียวมาควบคุมลงโทษคงไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาควบคุมพฤติกรรมของพระภิกษุที่ละเมิดพระวินัยและกฎหมายต่อไป

 

 



[1] กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. วินัยมุข เล่ม ๑. (กรุงเทพมหานคร: มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๓), หน้า ๘-๙.

[2]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑-๔.

[3]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙, หน้า ๔๔๙-๔๕๐.

[4]พระครูกัลยาณสิทธืวัฒน์, พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยให้ถูกต้อง, หน้า ๕.

[5] พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙, หน้า ๔๔๘-๔๔๙.

[6] สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, พระมหา. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๗๙-๘๒.

หมายเลขบันทึก: 450041เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2011 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สุรินทร์ เปี่ยมสอาด

เจ้าอาวาสตบศรีษะพระลูกวัดด้วยความโมโหมีความผิดส๔านใดใครรู้ช่วยตอบที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท