มรรค ๑๐ ปฏิรูปประเทศไทย


ชำเลืองไปเห็นข้อความบนปกหลังของหนังสือ “ร้อยฝันวันฟ้าใหม่” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ว่า “คนไทย ประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ขอให้เราได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของเราเท่านั้น”

หนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ หนาเพียง ๒๔ หน้า ที่ได้รับมาจากเวทีวิชาการหนึ่ง มีรูปลายเส้นที่เขียนด้วยดินสอดำเป็นภาพหัวรถจักร มีตัวอักษรบอกชื่อหนังสือว่า “ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูประบบอุดมศึกษา” มองต่ำลงไปปรากฎชื่อผู้เขียนว่า “ประเวศ วะสี”

หนังสือแบ่งเป็นบทย่อย ๆ ไว้ ๕ บท แต่ละบทมีความเชื่อมโยงกันจากภาพรวมของปัญหาที่ประเทศไทยของเรากำลังประสบอยู่ แล้วค่อย ๆ ร้อยเรียงกันไปสู่ทางออกของปัญหานั้น

ผู้เขียนใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็อ่านหนังสือเล่มนี้จบ อดไม่ได้ที่จะพลิกกลับอ่านใหม่อีกรอบ

ข้อความในบทที่ ๔ ที่มีชื่อบทว่า “จินตนาการใหม่ ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย ร่วมสร้างประเทศไทย” ช่างน่าคิดยิ่งนัก

“ประเทศไทยมีทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย และมีศักยภาพที่จะสร้างสุขภาวะของคนทั้งมวลหรือสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ถ้าเรามีจินตนาการใหม่หรือมีความฝันใหญ่ (Big Dream) ร่วมกัน มองเชิงระบบและโครงสร้างและร่วมสร้าง”

คำว่า “ประเทศที่น่าอยู่ที่สุด” ได้ถูกอธิบายไว้ในลำดับถัดมาว่าอาจมีลักษณะ ๕ ประการ คือ เป็นประเทศแห่งความพอเพียง เป็นประเทศแห่งความดี เป็นประเทศแห่งความงาม เป็นประเทศแห่งปัญญา และเป็นประเทศแห่งสุขภาวะ

ที่ใช้คำว่า “อาจ” เพราะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายไว้ว่า “ประเทศไทยน่าอยู่อย่างไร” เป็นเรื่องที่คนไทยควรจะสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมและปรับปรุงเพิ่มเติมได้อีกเรื่อย ๆ ซึ่งก็หมายถึงอาจจะมีลักษณะอื่นเติมอีกก็ได้

มรรค ๑๐ หรืออาจเรียกว่า “ยุทธศาสตร์” ที่มุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมนั้น

๑.      สร้างจิตสำนึกใหม่

๒.      สร้างสัมมาอาชีพเต็มพื้นที่

๓.     สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

๔.      สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ

๕.      สร้างธรรมาภิบาลในทางการเมือง การปกครอง ระบบความยุติธรรมและสันติภาพ

๖.      สร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้า

๗.     สร้างสมดุลของสิ่งแวดล้อมและการทำงาน

๘.      สร้างระบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล

๙.      สร้างการวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ

๑๐. สร้างระบบการสื่อสารที่ผสานการสร้างสรรค์ทั้งหมด

มรรคทั้ง ๑๐ ไม่ได้แยกอยู่เดี่ยว ๆ จับมรรคใดมรรคนั้นก็แล่นไปถึงอีก ๙ มรรค เพราะมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

หากตั้งคำถามว่ายากไหมที่จะแปลงสิ่งเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นกับคำว่า “ยาก” และ “ยากมาก” เสียด้วย

แต่หากคิดอย่างไตร่ตรอง “มันต้องยากซิ” เพราะถ้า “ง่าย” ป่านนี้ประเทศไทยเราคงไม่เกิดวิกฤติแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน แล้วจะปล่อยให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพแบบนี้หรือ

ชำเลืองไปเห็นข้อความบนปกหลังของหนังสือ “ร้อยฝันวันฟ้าใหม่” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ว่า “คนไทย ประเทศไทยไม่เป็นรองใคร ขอให้เราได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของเราเท่านั้น”

นี่คือคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น….

(หมายเหตุ เขียนต้นฉบับเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒)

หมายเลขบันทึก: 450016เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2011 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท