นมผสม VS นมแม่


ในภาพรวมของประเทศหากมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ประเทศชาติเราจะประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลได้ถึงปีละ ๕๑ ล้านบาท และลดการนำเข้านมผลเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปีทีเดียว

หากหลับตานึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก คงยังจำอ้อมกอดอันอบอุ่นบนอกในอ้อมแขนของแม่ได้ แม่โอบกอดเราอย่างเบามือ เห่กล่อม พัดวี ยุงริ้นไม่ให้ต้องผิวกาย ทะนุถนอมกล่อมเกลาด้วยความรัก น้ำเสียงของแม่ อ้อมกอดของแม่อบอุ่น ช่วยให้ลูกน้อยอุ่นใจ ผ่อนคลาย รู้สึกปลอดภัย และหลับใหลอย่างเป็นสุข

ยามลูกน้อยร้องไห้โยเยบ่งบอกแม่ว่าหิว แม่ก็จะบรรจงประคองลูกน้อยให้รับน้ำนมที่ขับออกมาจากเต้าที่พร้อมจะให้ลูกน้อยได้ดูดกินอย่างทะนุถนอม

ผมคิดว่าภาพทำนองนี้ได้ห่างหายไปจากสายตาของผู้คนในสังคมยุคปัจจุบัน

ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน ด้วยเหตุผลว่าเรื่องนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นระเบียบวาระหนึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร

ผมศึกษาข้อมูลที่ทีมวิชาการได้จัดทำขึ้น รู้สึกสนใจเป็นอย่างยิ่ง บางข้อมูลผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ข้อมูลยืนยันว่า “นมแม่” คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก การได้รับนมแม่จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็ก ลดอัตราการเจ็บป่วยและการตายจากโรคท้องเสีย ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ ลำไส้เล็กอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคภูมิแพ้ และที่สำคัญ “นมแม่” จะส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคมและจิตใจของตัวเด็กอีกด้วย  

นอกจากจะส่งผลดีต่อตัวทารกแล้ว ยังส่งผลดีต่อตัวแม่ด้วย โดยจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และที่สำคัญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและแม่ นำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดความอบอุ่นของครอบครัวให้เกิดขึ้นด้วย

อีกมุมหนึ่งข้อมูลบ่งบอกถึงผลกระทบที่เกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ว่าทารกที่กินนมผสมจะมีโอกาสเจ็บป่วยมากกว่าเด็กที่กินนมแม่ เด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสมองของทารก นอกเหนือจากการมีค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวเพิ่มขึ้นแล้ว

ในภาพรวมของประเทศหากมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ประเทศชาติเราจะประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลได้ถึงปีละ ๕๑ ล้านบาท และลดการนำเข้านมผลเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปีทีเดียว

เหตุผลที่แม่หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผสมมาจากหลายสาเหตุ ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้วิถีชีวิตการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ผู้หญิงต้องทำงานมากขึ้น ทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย เป็นต้น และสาเหตุหนึ่งมาจากการตลาดของนมผงนั่นเอง

ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการตลาดสำหรับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยออกหลักเกณฑ์ออกมาควบคุมมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ แต่จากการตรวจเฝ้าระวัง พบว่า ยังมีการละเมิดหลักเกณฑ์ในสัดส่วนที่สูงมาก ทั้งในรูปของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้กลยุทธ์จูงใจทุกรูปแบบ การแจกตัวอย่างหรือการให้เป็นของขวัญปีใหม่ มีการติดต่อโดยตรงไปยังหญิงที่ตั้งครรภ์ บางครั้งใช้สถานพยาบาลเป็นที่โฆษณาและแจกตัวอย่างนมผงเลยก็มี

ข้อเรียกร้องที่ถูกยกร่างขึ้นมีความต้องการยกระดับการควบคุมการตลาดของอาหารเด็กและทารกจากการเป็นเพียงหลักเกณฑ์ขึ้นเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ให้มีการสร้างเสริมจิตสำนึกแก่สังคมให้หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเอาจริงเอาจัง ที่สำคัญต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบที่ขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการขยายเวลาการลาให้ยาวขึ้นเป็น ๑๘๐ วัน เป็นต้น

ผมถือโอกาสนี้บอกกล่าวมายังผู้อ่านให้การสนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องนี้ด้วย ผมยังจำคำพูดหนึ่งที่ดังขึ้นในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้

“ใครเลี้ยงลูกด้วยนมผง คือแม่ที่จงใจฆ่าลูก”

เสียงนี้ยังก้องหูผมถึงทุกวันนี้อยู่เลย

หมายเลขบันทึก: 449985เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท