ปฏิรูปชุมชนด้วยสมัชชาสุขภาพ


“ผมทำงานง่ายขึ้นเยอะเลย เพราะประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการจะตระหนักถึงเรื่องสุขภาพของตนเองมากขึ้น หน่วยงานรัฐและ อปท.ในตำบลก็ทำงานเชื่อมโยงกัน เป็นทีม มุ่งสู่เป้าหมายที่เกิดขึ้นจากการช่วยกันคิดร่วมกัน”

ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ผ่านไปไม่นาน ผู้อ่านคงได้รับทราบการเคลื่อนไหวของประเทศที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การที่รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้แต่งตั้งกลไกระดับชาติขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกปฏิรูปประเทศไทย จำนวน ๒ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการปฏิรูป โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรี (นายอานันท์ ปันยารชุน) เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการทั้ง ๒ คณะนี้ จะทำงานคล้ายฝาแฝดกัน คือต้องไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายร่วมคือ การเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น

เครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ “สมัชชา” ที่จะเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมให้ได้มาซึ่งข้อเสนอเพื่อการปรับเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการจัด “สมัชชา” กระจายไปยังทุกพื้นที่ในไม่ช้านี้ อย่างไรก็ตาม คำว่า “สมัชชา” ไม่ใช้คำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะได้นำคำนี้มาใช้กันมานานนับสิบปี แต่ในช่วง ๒ – ๓ ปี ที่ผ่านมานี้มีการนำคำนี้ไปบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีการบัญญัติใช้คำว่า “สมัชชาสุขภาพ” และได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็น “กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม”

ซึ่งต้องบอกว่า สมัชชาสุขภาพไม่ใช่เวทีสาธารณะหรือเวทีวิชาการที่องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ นิยมจัดกัน เพราะสมัชชาสุขภาพต้องมีการจัดประชุมอย่างเป็นระบบ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม ต้องเป็นเวทีที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมเรียนรู้ ต้องเป็นเวทีที่ใช้ปัญญา (ความรู้) ผนวกเข้ากับความสมานฉันท์ (ความรัก) ต้องมีเป้าหมายเพื่อให้ได้นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี ต้องมีเป้าหมายเพื่อการนำนโยบายสาธารณะไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยนโยบายสาธารณะที่กล่าวถึงนี้ครอบคลุมนโยบายในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับกระทรวง กรม จังหวัดและพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้านหรือชุมชนด้วย

ในระดับคำบล มีตัวอย่าง อปท. หลายแห่งที่มีการนำ “สมัชชาสุขภาพ” มาใช้ในการทำงานของตน อาทิ ที่ จังหวัดพิจิตร มี อบต. ไม่น้อยกว่า ๑๒ แห่ง ที่นำกระบวนการนี้มาใช้เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถึงกับมีการประกาศเป็น “วันประกาศอิสรภาพจากสารเคมี” เลยทีเดียว 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้เกิดขึ้นที่เทศบาลตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีการใช้เครื่องมือนี้มาใช้เพื่อจัดทำธรรมนูญสุขภาพของชาวชะแล้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย” เลยทีเดียว 

“ผมทำงานง่ายขึ้นเยอะเลย เพราะประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการจะตระหนักถึงเรื่องสุขภาพของตนเองมากขึ้น หน่วยงานรัฐและ อปท.ในตำบลก็ทำงานเชื่อมโยงกัน เป็นทีม มุ่งสู่เป้าหมายที่เกิดขึ้นจากการช่วยกันคิดร่วมกัน”

เป็นเสียงสะท้อนจาก “สุชาติ ชัยกิจ” หมออนามัยแห่งตำบลชะแล้ จังหวัดสงขลา

นอกเหนือจากตัวอย่างทั้ง ๒ จังหวัดข้างต้น ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีการนำ “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ในการพัฒนางานเพื่อลด “ทุกข์” ให้กับคนในพื้นที่ ก็หวังว่าตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะสามารถจุดประกายมายังทุกท่านในการที่จะเรียนรู้และพัฒนา “สมัชชาสุขภาพ” ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายที่ตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นถือเป็นการปฏิรูปชุมชนที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ และยังถือว่าเป็นการหนุนเสริมการปฏิรูปประเทศไทยของกลไกระดับชาติ ๒ คณะที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นด้วย

หมายเลขบันทึก: 449955เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท