พื้นที่จัดการตนเอง


นี่คือเหตุการณ์ที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ที่คนในสังคมลุกขึ้นมารวมตัวกันเสนอทางออกเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าทิศทางนี้แหละที่คนในสังคมไทยต้องการ และก็เชื่อมั่นว่าความเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานตามทิศทางนี้จะค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้นตามลำดับ

“พ.ศ. ๒๕๐๔ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร…”

ผมเชื่อว่าบทเพลงผู้ใหญ่ลีข้างต้น ยังคงคุ้นหูคนไทยรุ่นวัยกลางคนขึ้นไปอยู่ เนื้อเพลงบ่งบอกหรือสะท้อนวิถีการทำงานในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นยุคการพัฒนาที่ต้องรอคำสั่งการจากทางการ แล้วถ่ายทอดลงไปจนถึงหมู่บ้าน ซึ่งคนในพื้นที่จะเข้าใจความหมายในคำสั่งการหรือไม่ ก็จะมีการพยายามอธิบาย ถูกบ้างผิดบ้าง ก็ว่ากันไป

วิธีการทำงานแบบนี้ ถูกนำมาเรียกเสียใหม่ว่า “ท๊อปดาวน์” หรือ “บนลงล่าง” ซึ่งวิธีคิดแบบนี้จะใช่ว่าเกิดในยุคนั้นและสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่มันยังคงดำรงอยู่จวบจนถึงทุกวันนี้

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล และแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันไป แต่วิธีการทำงานแบบเดิม ๆ ยังคงอยู่ วิธีการทำงานแบบเดิม ๆ นั้น จึงไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ บางครั้งยังไปทำให้ปัญหาในพื้นที่เกิดความยุ่งยากมากขึ้นเสียอีก

แนวคิดการทำงานแบบ “ล่างขึ้นบน” จึงกลายมาเป็นแนวคิดใหม่ที่ผู้คนในพื้นที่ต้องการนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของตน ไม่ต้องมารอคำสั่งการจากข้างบน

มี ๓ เหตุการณ์ระดับชาติที่เกิดขึ้นที่มาสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว

เหตุการณ์แรก มาจากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ เมื่อปลายปี ๒๕๕๓ สมาชิกจากทั่วประเทศได้มีมติร่วมกันเสนอให้เร่งดำเนินการใน “นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” โดยเสนอให้มีการสร้างกลไกร่วมในชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ ทั้งแผนชุมชน แผนท้องถิ่น แผนอำเภอและแผนจังหวัด โดยกำหนดว่ากลไกนี้ต้องมีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชนกับภาคประชาสังคมรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐

เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นในเวทีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๔ เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ทบทวนบทบาทภารกิจของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพื่อลดความทับซ้อนและซ้ำซ้อนเพื่อปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่นให้เป็นการปกครองตนเองของประชาชนอย่างแท้จริง เสนอให้เร่งรัดการถ่ายโอนภาคกิจและสนับสนุนงบประมาณให้ อปท. ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๐ และให้ อปท.ร่วมกับองค์กรชุมชนทุกรูปแบบกำหนดนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนกลไกภาคประชาชนให้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ ติดตาม กำกับและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว

และเหตุการณ์ที่สาม คือเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ ๑ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ สมาชิกสมัชชาได้มีฉันทามติให้มี “การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดยเสนอให้มีการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ และมติสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปข้างต้นอย่างเร่งด่วน และยังเสนอให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ ที่มีสัดส่วนของผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนสภาท้องถิ่น ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น ตัวแทนจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าสองในสาม และที่สำคัญก็คือได้เสนอให้สร้างช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมกำกับและรับรองผลการกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่ และให้คนท้องถิ่นมาเป็นบุคลากรภายใต้การบริหารงานบุคคลของ อปท. ด้วย

นี่คือเหตุการณ์ที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ที่คนในสังคมลุกขึ้นมารวมตัวกันเสนอทางออกเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าทิศทางนี้แหละที่คนในสังคมไทยต้องการ และก็เชื่อมั่นว่าความเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานตามทิศทางนี้จะค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้นตามลำดับ

และผมก็เชื่อมั่นว่าอีกไม่นานจะมีการแต่งเพลงใหม่ขึ้นมาแทนเพลงผู้ใหญ่ลี ไปในทำนองที่ให้คนจากข้างบนลงไปเรียนรู้การทำงานในพื้นที่ข้างล่างออกมาให้ฟังกันในเร็ววันนี้

หมายเลขบันทึก: 449842เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท