จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังก้าวเดินไปทางไหน


สถานการณ์ความรุนแรงที่ครุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2547 ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยส่วนใหญ่ไม่มีความพึงพอใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ทำได้เพียงรอการกลับมาเป็นสังคมที่สงบสุขเหมาะแก่การทำมาหากินและลงทุน ที่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีแน่ชัดว่าจะบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นอยู่ได้ แล้วอนาคตพื้นที่นี้จะแก้ปัญหาและเดินหน้าพัฒนาอย่างไร

          ทิศทางสำคัญของการพัฒนาประเทศและพื้นที่ไกลปืนเที่ยงจากส่วนกลาง (ประเทศไทยพัฒนาโดยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเสมอ) กำลังกลับทิศ ด้วยเป็นกระแสร์ของการเติบโตภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เราเริ่มเห็นบทบาทของการเมืองภาคพลเมืองเข้ามามากขึ้น ทำให้มุมมองการพัฒนาอนาคตต้องกลับมาเริ่มจากท้องถิ่นที่เน้นการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเสนอรัฐบาลส่วนกลางให้รับฟังแนวคิดของคนที่อยู่ในท้องถิ่นและสัมผัสพื้นที่จริงมากกว่า ที่เห็นชัดในตอนนี้มีความคิดเรื่องการพัฒนา “ปัตตานีมหานคร” และ “หาดใหญ่มหานคร” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย สองมหานครนี้คงต่างจะการเสนอความคิดเรื่องเชียงใหม่มหานครและพัทยามหานครที่กำลังมาในกระแสร์เดียวกัน

          เรื่องของหาดใหญ่มหานครเพิ่งเริ่มจากการเสนอความคิดของเทศบาบนครหาดใหญ่และเทศบาลรอบๆ ที่อยู่ติดกัน 6 เทศบาลในช่วงเดือนที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วงการร่างความคิดจะรวมตัวกันเพื่อสร้างบริบทการเสนอรัฐบาลเพื่อกระจายอำนาจทางการบริหารให้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเมืองมากขึ้นกว่าไปกระจุกที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว ผู้เขียนขอนำความคืบหน้ามาแจ้งในโอกาสต่อไป

ร่างของปัตตานีมหานคร (ได้ร่างมาถึงฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554) มีคำขึ้นต้นของความคิด ที่น่าสนใจว่า “...เป็นความจริงที่ว่าประชาชนในระดับชุมชนฐานรากของจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบการเมืองการปกครองเท่าใดนัก หากแต่มองไปที่ความสุขสงบปลอดภัยของชุมชน การมีฐานะทางเศรษฐกิจที่พอมีพอกิน การมีฐานะทางสังคมที่ได้รับการปฏิบัติจากทุกฝ่ายด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมเฉกเช่นเดียวกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศ ตลอดจนการมีอิสระในการปฏิบัติศาสนกิจและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันไปได้อย่างสอดคล้องกับหลักความเชื่อทางศาสนาและวิถีวัฒนธรรมเป็นสำคัญ...” เอกสารฉบับนี้มีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางและมีการเปิดเวทีประชาคมใหญ่ๆ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาสม่ำเสมอ แต่ไม่ค่อยจะมีเวทีที่จังหวัดนราธิวาส หรือเป็นเพราะห้องประชุมที่เรามีอยู่ยังไม่ใหญ่พอ

          เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่ครุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2547 ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยส่วนใหญ่ไม่มีความพึงพอใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ทำได้เพียงรอการกลับมาเป็นสังคมที่สงบสุขเหมาะแก่การทำมาหากินและลงทุน ที่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีแน่ชัดว่าจะบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นอยู่ได้ แค่เพียงหวังว่าการตั้ง “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)” ที่มาจากตั้งแทนภาคประชาชน 49 คนจะช่วย “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” ที่จะทำงานในมิติของการพัฒนาพื้นที่ คู่กับ “กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)” ที่จะมีการจัดตั้ง “กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15)” ที่จะทำงานในมิติของการดูแลความมั่นคงและน่าจะมีกำลังพลพร้อมประจำถิ่นพร้อมในอีก 2 ปีข้างหน้ามากกว่าการใช้กำลังพลนอกถิ่นมาทำงาน

          เป็นที่น่าสนใจในสายตาประชาชนในจังหวัดชายแดนเสมอว่า “ปัญหาปากท้อง” ต้องมาก่อนหรือพัฒนาควบคู่กับ “ปัญหาสังคม” ส่วนใหญ่ยังทำงานและหารายได้เลี้ยงชีพในพื้นที่ แม้จะตระหนักถึงสถานการณ์ที่ต้องระวังตัวเสมอ โจทย์สำคัญที่จะต้องช่วยกันถามเราว่า “จะปล่อยสถานการณ์ในนราธิวาสเราเป็นอย่างนี่ต่อไปหรือ” คงจะมีเศรษฐกิจเหมือนหาดใหญ่ หรือจะให้สุไหงโก-ลกมีกำลังซื้อเหมือนด่านนอก ทั้งที่เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้เดียวกันไม่ได้ หลายคนหันมาถามว่าใครล่ะจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาของภาคเอกชนที่จะเสนอหรือเรียกร้องการส่งเสริมการลงทุน การเป็นเจ้าของธุรกิจใหม่ การแก้ปัญหาการขาดแรงงานของผู้ประกอบการและการแก้ปัญหาการว่างงานของประชาชน (ทั้งขาดแรงงานและว่างงานพร้อมๆ กัน) ที่สั่งสมมาตลอด 8 ปี และยังคงจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตได้อย่างไร

          หลายคนมองไปที่กลไกองค์การเอกชนที่มีกฎหมายรองรับ เช่น “หอการค้าจังหวัด” “สภาอุตสาหกรรมจังหวัด” “สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัด” “สภาองค์การชุมชนจังหวัด” “สภาเกษตรกรจังหวัด” เป็นต้น หรือกลไกการบริหารส่วนท้องถิ่นที่ทีภาคประชาชนของพื้นที่เข้าไปเป็นคณะบริหาร อันได้แก่ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” “เทศบาลเมือง (ทม.) / เทศบาลตำบล (ทต.)” (นราธิวาสยังไม่มีระดับเทศบาลนคร) ที่จะมาทำงานควบคู่กับภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ยังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไปอย่างช้าๆ

          อนาคตของการพัฒนาที่น่าสนใจในเวทีการระดมความคิดเพื่อร่างยุทธศาสตร์การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดโดย ศอ.บต. เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2554  มีคนร่วมประมาณ 120 คน (ไม่ได้นับว่ามีคนนราธิวาสสักกี่คนได้เข้าร่วม) และจะมีการทำร่างให้สมบูรณ์เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไปประมาณเดือนกันยายน 2554 เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จแล้ว มีทิศทางที่สำคัญ เช่น การมองการพัฒนาภูมิภาคควบคู่กับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ทั้งคนและสินค้า) ความต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการขอ ลด แลกแจกแถม การให้มีบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือในพื้นที่ การนำเสนอข่าวสารที่เป็นจริง การเปิดเวทีปัญญาชน (พุทธและมุสลิม) มาร่วมสานเสวนาหาทางออกร่วมกัน การสร้างโอกาสของคนในพื้นที่ การปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมไปสู่ยุติธรรมชุมชน การเคลื่อนบ้ายเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจการเกษตรฐานเดียวไปสู่การพัฒนาการผลิต การค้าและการบริการ การจัดการของภาคธุรกิจ การก้าวข้ามพ้นจากแดนศาสนาไปสู่ศาสนสัมพันธ์ การเตรียมระบบการศึกษาที่ดีที่ช่วยพัฒนาเยาวชนของพื้นที่ในอนาคต การแก้ไขปัญหายาเสพติด การคุ้มครองชีวิตและความปลอดภัยในอาชีพและการงาน เป็นต้น ซึ่งแผนยุทธศาสต์นี้จะเป็นการมองยาวและถอดมาเป็นการพัฒนาเป็นระยะ ตั้งแต่ ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (2 ปี) และระยะยาว (3 ปี) โดยมีมิติเวลามาช่วยในการกลั่นกรองการปฏิบัติการของแผนยุทธศาสตร์ตามแนวทางการจัดความสำคัญเร่งด่วน

          ข้อคิดสำคัญทิ้งท้ายว่า หากแผนยุทธศาสตร์นี้เสร็จแล้ว ใครจะเป็นคนทำ เราจะทิ้งให้การพัฒนานี้ขับเคลื่อนโดยรัฐแต่ฝ่ายเดียวหรือ องค์การภาคเอกชนและราชการส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนมีโอกาสไปทำงานพัฒนาร่วมกับภาครัฐจะเดินไปทางเดียวกันหรือไม่ !!!

หมายเลขบันทึก: 449832เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 03:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท