นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครองฯ


นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครองฯ

รัฐบาลไทย

๑. นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร

           การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นไปโดยราบรื่น สะท้อนความต้องการของประชาชน แต่สถานการณ์ทางการเมือง และการบริหารในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดวิกฤติในศรัทธาของประชาชนดังนั้น เพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเมืองและการบริหาร รัฐบาลจึงกำหนดนโยบาย ดังนี้
           ๑.๑ สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร เพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยเน้นความสำคัญที่ให้ประชาชนเข้ามา มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญในทุกระดับ
           ๑.๒ เสริมสร้างมาตรการในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ ทั้งในภาคการเมืองและภาคราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ส่งเสริมองค์กรอิสระและประชาชน ในการตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน โดยการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
           ๑.๓ จัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมือง ที่เสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรมทางการเมืองวัฒนธรรมและการเรียนรู้ใหม่ทางการเมือง โดยการจัดตั้ง "สภาพัฒนาการเมือง" ให้เป็นองค์กรหลักในการจัดทำและดำเนินการให้แผนแม่บทพัฒนาการเมือง ประสบความสำเร็จรวมทั้งทำหน้าที่ประสาน ติดตาม กำกับการดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาการเมือง ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสนองตอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
           ๑.๔ จัดทำแผนแม่บทการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติ การใช้เครื่องมือสื่อสารของรัฐ เพื่อใช้ประโยชน์สารธารณะ และประโยชน์ ต่อการศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน รวมทั้งการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการเน้นการทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระของ การปฏิรูปการเมือง
           ๑.๕ ส่งเสริมเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ เพื่อจัดระบบสื่อภาครัฐสื่อภาคเอกชนและสื่อชุมชนให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง
           ๑.๖ ส่งเสริมบทบาทขององค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้มีบทบาทควบคู่กับองค์กรภาคราชการในการพัฒนาศักยภาพของประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่มีความเข้มแข็งสามารถพิทักษ์ปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์ของตนและสังคมไทย
           ๑.๗ มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดองค์กรภาครัฐ ให้สอดคล้องกับทิศทางการนำพาประเทศ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมมีความเข้มแข็ง และประชาชนมีความสุขด้วยการดำรงชีพตามปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้การรับราชการมีความเป็นมืออาชีพ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำรงชีพอย่างพอเพียง มีมโนสุจริต ตลอดจนมีสมรรถนะขีดความสามารถในการให้บริการประชาชน ตามแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
           ๑.๘ สนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง ตามครรลองระบบประชาธิปไตย เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเอง และปกครองตนเองได้ ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น

 

คำสำคัญ (Tags): #บริหาร 5
หมายเลขบันทึก: 449179เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท