การบริหารคนเก่ง (Talent Management): ยุทธศาสตร์ประเทศไทย


ปัญหาของ Talent ในเมืองไทย คือ การหมกมุ่นในสาขาที่ตนเชี่ยวชาญ โดยขาดความเฉลียวใจว่า ความสำเร็จในยุคข้อมูลข่าวสารนั้น มีความแตกต่างจากในโลกอุตสาหกรรม นั่นคือ ในโลกที่อัดแน่นไปด้วยตัวเลือก ทั้งสินค้าและแรงงานนั้น ผู้ซื้อจะไม่ลงทุนค้นหาข้อมูลเพื่อเลือกเฟ้นคนเก่งที่สุด แต่จะเลือกคนเก่งระดับรองลงมาที่มีความสามารถในการสื่อสารเป็นเลิศ เนื่องจากบริษัทก็ต้องการคนเก่งที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนเก่งในแผนกอื่น เพื่อร่วมมือกันคิดค้นนวัตกรรมในการพิชิตคู่แข่งอย่างทันท่วงที

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

(www.siamintelligence.com)

 



นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประเทศใดที่สามารถครอบครองเทคโนโลยี
ประเทศนั้นย่อมมั่งคั่งร่ำรวย
โดยที่คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี
ย่อมไร้คุณค่าความหมาย

 

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันที่เป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร
เทคโนโลยีกลับมีบทบาทน้อยลงทุกที
เนื่องเพราะบริษัทคู่แข่งสามารถลอกเลียนแบบได้ในเวลาไม่นานนัก ที่สำคัญ
เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น โทรทัศน์ รถยนต์
ก็ได้เข้าสู่ยุคแห่งความอิ่มตัว ซึ่งการวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้า
อาจมีคุณค่าในสายตาผู้บริโภค
น้อยกว่าการออกแบบให้มีความหรูหราสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค

 

สินทรัพย์สำคัญของบริษัท
จึงไม่ได้ตกอยู่กับนักวิจัยเพียงไม่กี่คนที่ทุ่มเทเพื่อการคิดค้นเทคโนโลยี
แต่กลับขึ้นอยู่กับ “คนเก่ง”
ที่คอยขับเคลื่อนบริษัทให้พร้อมรับมือกับคู่แข่งในทุกแนวรบ
ทั้งในเชิงการตลาด การวิจัยผู้บริโภค การบริหารต้นทุน และกลยุทธ์
ทั้งหมดนี้มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จนยากที่บริษัทใดจะสามารถผูกขาดความสำเร็จไว้ได้
หากไม่มีคนเก่งที่คอยสร้างสรรค์นวัตกรรมให้อย่างต่อเนื่อง


Talent Management  จึงเป็นศาสตร์ใหม่
ที่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาใช้สำหรับองค์กรธุรกิจ ในการเฟ้นหา รักษา
และบริหารคนเก่ง ให้สามารถร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
เพื่อนำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จ


สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการนำแนวคิด TM มาประยุกต์ใช้ในองค์กร
แต่ก็ยังมีความสำเร็จไม่มากนัก
เนื่องจากยังติดกรอบคิดในแบบอุตสาหกรรมที่แข็งเกร็งและทุกอย่างต้องชี้วัด
ได้ จึงทำให้ยากที่จะนำมาใช้กับ Talent ซึ่งเป็นผลผลิตของยุคข้อมูลข่าวสาร
ที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูงกว่าได้


ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ก็คือ Talent Management ในระดับประเทศ
ซึ่งแน่นอนว่า คงมีบริษัทไทยไม่กี่แห่งที่สามารถดึงดูด Talent
จากต่างประเทศ เหมือนที่บริษัท IT จากอเมริกา เข้าไปเฟ้นหา Talent
ถึงในแผ่นดินจีน ดังนั้น บริษัทไทย จึงต้องยอมรับชะตากรรมที่จะต้องเฟ้นหา
Talent จากเมืองไทยอย่างไม่มีทางเลือก แต่ที่น่าเศร้าคือ Talent
ในเมืองไทยก็มีจำกัดมาก
โดยเฉพาะเมื่อถูกระบบการศึกษาไทยที่แสนคับแคบบั่นทอนความสามารถไปมากมาย


หากประเมินในบริบทประเทศไทยนั้น Talent Management
คงต้องเริ่มจากมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ “ทรัพยากรมนุษย์”
มีอิสรภาพสูงสุด เพราะในระดับมัธยมนั้น
ผู้ปกครองย่อมคาดหวังที่จะให้ลูกหลานทุ่มเทเวลาให้กับการพิชิตชัยในสนามสอบ
เอนทรานซ์ ขณะเดียวกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
บริษัทก็มุ่งหวังจะให้นักศึกษาเข้าทำงานในทันที
หากใครเว้นว่างเพื่อไปทดลองใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจส่วนตัว
ก็อาจถูกประเมินในแง่ลบจากตลาดแรงงาน


ยิ่งกว่านั้น ในบริบทประเทศไทย ยังไม่นิยมลาออกจากมหาวิทยาลัย
เพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจเหมือนในอเมริกา ยังไม่ต้องพูดถึงว่า
พ่อแม่มีค่านิยมที่จะส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ดังนั้น
นักศึกษาจึงสามารถทดลองทำในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาทักษะตนเองในการเป็น
Talent ได้ดีที่สุด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทองหรือเวลาว่าง


1. Inspiration


ปัญหาของ Talent ในเมืองไทย คือ การหมกมุ่นในสาขาที่ตนเชี่ยวชาญ
โดยขาดความเฉลียวใจว่า ความสำเร็จในยุคข้อมูลข่าวสารนั้น
มีความแตกต่างจากในโลกอุตสาหกรรม นั่นคือ ในโลกที่อัดแน่นไปด้วยตัวเลือก
ทั้งสินค้าและแรงงานนั้น
ผู้ซื้อจะไม่ลงทุนค้นหาข้อมูลเพื่อเลือกเฟ้นคนเก่งที่สุด
แต่จะเลือกคนเก่งระดับรองลงมาที่มีความสามารถในการสื่อสารเป็นเลิศ
เนื่องจากบริษัทก็ต้องการคนเก่งที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนเก่งในแผนกอื่น
เพื่อร่วมมือกันคิดค้นนวัตกรรมในการพิชิตคู่แข่งอย่างทันท่วงที


มหาวิทยาลัยจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของ “ทักษะการสื่อสาร”
โดยวางหลักสูตรให้นักศึกษามีหน่วยกิจที่เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ (Essay)
และการพูดที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ (Inspiration)
เพื่อให้คนที่ไม่ได้อยู่ในสาขาวิชานั้น
ตระหนักรับรู้ในความสำคัญและเนื้อหาสาระของวิชานั้นได้


วิธีนี้มีข้อดี คือ การช่วยลดต้นทุนในการเฟ้นหาคนเก่งของบริษัท
ไม่ให้หลงกลไปจ้างคนเก่งพูดแต่อ่อนคุณสมบัติเข้ามาในบริษัท เพียงเพราะว่า
Talent ขาดคุณประสบการณ์ในการสื่อสาร


ที่สำคัญ Talent ที่ฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างดีเยี่ยม
ย่อมเป็นคนมีเสน่ห์และมีเพื่อนฝูงมากมาย ดังนั้น Talent
จึงไม่หมกมุ่นแต่ในสาขาแคบๆของตน
หากแต่สามารถบูรณาการความรู้จากสาขาอื่นมาเสริมให้ความสามารถเฉพาะทางของตน
ยอดเยี่ยมและตอบสนองต่อความต้องการในตลาดได้ดียิ่งขึ้นด้วย


2. Network


ในประเทศไทย ที่ขาดแคลนเงินทุนและธุรกิจที่แตกต่างหลากหลายนั้น
ย่อมทำให้ความสามารถของ Talent ต้องถูกบีบแคบให้เหลือในไม่กี่สาขา
ทั้งที่ธรรมชาติได้บันดาลความสามารถของคนให้แตกต่างกันเพื่อร่วมกันสร้าง
สรรค์โลกให้งดงาม จึงไม่น่าแปลกใจว่า Talent
ในเมืองไทยจึงมีสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เนื่องเพราะ Talent
ในสาขาที่ไม่มีธุรกิจรองรับ
จะต้องกลายเป็นผู้ด้อยพรสวรรค์เพราะถูกบังคับให้ไปทำงานในสาขาที่ทำเงินได้
ดีกว่า


อย่างไรก็ตาม หากสามารถรวมตัวระหว่าง Talent
ในสาขาวิชาที่แตกต่างกันได้สำเร็จ
โดยเฉพาะการทักถอความเชื่อใจในความซื่อสัตย์และฝีไม้ลายมือผ่านการสร้าง
Network มาระดับหนึ่งแล้ว
ก็ย่อมสามารถรวมตัวกันเพื่อมาร่วมกันสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใน
ตลาดได้ โดยที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการเปิดบริษัทเพียงลำพัง
เนื่องจากเป็นการจ้างงานกันเองภายใน Network และยังมีการระดมทุนจากสมาชิกใน
Network ได้อีกด้วย


ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารที่เต็มไปด้วยเครื่องมือสื่อสารทั้งเว็บไซด์
ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ย่อมเอื้ออำนวยให้ Talent
สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนในหลากหลายสาขาวิชาชีพได้
โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงในบริษัทต่างๆ
ที่อาจนำไปสู่การได้รับคัดเลือกให้ทำงานในตำแหน่งที่ยอดเยี่ยม


มหาวิทยาลัยจึงอาจช่วยเหลือนักศึกษาในการสร้าง Network
ทั้งกับเพื่อนต่างสาขาและกับบุคคลภายนอก
โดยการเชิญนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
ผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพที่หลากหลาย และบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียง
เพื่อมาพบปะและพูดคุยกับนักศึกษาตลอดทั้งปี


3. Love


ในยุคข้อมูลข่าวสารนี้
การเป็นพนักงานธรรมดาในสาขาอาชีพยอดฮิตที่มีค่าเฉลี่ยรายได้สูงสุด
อาจทำเงินได้น้อยกว่าการเป็น Talent ในสาขาอาชีพธรรมดาก็เป็นได้ ดังนั้น
การทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงงานให้กับสาขาที่ตนเองรักและถนัด
ย่อมมีค่ามากกว่าการฝืนทนในสิ่งที่ไม่ถนัดเพราะคิดว่าทำเงินได้ดีกว่า



อย่างไรก็ตาม
พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเป็นคนที่เกิดในยุคอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีมากกว่า
Talent ย่อมยังยึดติดกับกรอบคิดแบบเดิม โดยลืมไปว่า Trend ได้เปลี่ยนไปแล้ว

จึงยังคงยัดเยียดให้ลูกหลานเข้าเรียนในคณะที่โด่งดังโดยไม่คำนึงถึงความถนัด
ของลูกหลาน


มหาวิทยาลัยย่อมมีส่วนช่วยเหลือในจุดนี้
โดยการเข้มงวดในมาตรฐานของแต่ละคณะ ไม่ปล่อยให้นักศึกษาสอบผ่านไปจนถึงปี
3-4 ได้
โดยกว่าที่นักศึกษาจะตระหนักว่าตนเองไม่ได้ถนัดหรือรักในสาขาที่เรียนเลยก็
ต้องเสียแรงงานและเวลาไปมากมาย


ที่สำคัญยังทำให้ ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงศักยภาพของลูกหลาน
และพร้อมจะเปิดทางให้เลือกในสิ่งที่ตนต้องการได้
เพื่อจะจบออกมาพร้อมกับความเป็น Talent ที่ทำเงินมหาศาลในสาขาที่ตนรัก


มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างค่านิยมให้นักศึกษาและผู้ปกครองเห็นว่า
“ความล้มเหลว” เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
โดยเฉพาะการถูกรีไทร์จากมหาวิทยาลัยเป็นความขมขื่นที่เล็กน้อยมาก
เมื่อเทียบกับชีวิตการแข่งขันในโลกธุรกิจที่โหดร้าย


ความกล้าที่จะล้มเหลวและความรักในสิ่งที่ทำ ย่อมเป็นคุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่ในการก้าวไปสู่ความเป็น Talent ชั้นแนวหน้าของสังคมไทย



 




 

หมายเลขบันทึก: 449124เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 02:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท