อะไรที่ทำให้หลุดออกจาก "ทาน-ศีล-ภาวนา"


ช่วงนี้จะเป็นสภาวะที่ข้าพเจ้าได้ครุ่นคิดในเรื่องของศรัทธา...และความงมงาย

หลายๆ อย่างที่ปรากฏเข้ามาในชีวิตทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และย้อนมองกลับเข้าในตนเอง...

ได้แต่รำพึงในตนเองว่า

นี่ก็กลับมาจากอินเดียได้สัปดาห์กว่าแล้ว
สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ท่านเน้นย้ำบอกทางเราคือ ในเรื่องศรัทธา
และหลวงปู่พูดเปรยๆ ก่อนไปว่า "ดูวัดให้ดูฐาน ดูสมภารให้ดูพระลูกศิษย์"
ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ใจของข้าพเจ้าจะระลึกถึงหลวงปู่และคำเทศน์สอนเสมอ
เพราะการเดินทางไปเช่นนี้โอกาสของการที่ใจเราจะเป๋ หรือออกนอกหลักมีสูง
หากว่าเรามีศรัทธาไม่มั่นคงพอ
การไปครั้งนี้ได้เรียนรู้หลายอย่าง มีคุณค่ามากสำหรับข้าพเจ้า
ลงใจยิ่งนักต่อเส้นทางแห่งมรรคที่พระพุทธองค์ท่านเมตตาสอนไว้
ได้เจอบททดสอบใจ และการถูกทดสอบต่อความมั่นคงในหลักที่ยึดนั่นก็คือ ธรรม...
 
ได้เห็นพระที่มีปฏิปทาที่ดูเหมือนจะน่าเชื่อถือแต่ถ้าหากเราขาดปัญญาเราจะลงใจต่อพระเหล่านี้
แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าใช้เป็นกรอบในการพิจารณาตามที่ปัญญามีคือ...ศีลของพระครบไหม หากไม่ครบก็คือจบเลย
เรื่องอย่างอื่นหรือการปฏิบัติอย่างอื่นก็ไม่ใช่ตามแนวทางของพระพุทธองค์แล้ว
ความเป็นพระนั้นสำคัญที่ศีลและการปฏิบัติภาวนาเพื่อหนทางการพ้นทุกข์...ซึ่งหลวงปู่ท่านจะย้ำเสมอ และท่านยังให้โอกาสเราได้ฝึกฝนและบ่มเพาะเรื่องศีลตามแนวทางที่ถูก
และยิ่งพระที่เราได้ร่วมเดินทางไปด้วยไปเน้นการฝึกในสิ่งที่พระพุทธองค์ท่านทรงห้ามไว้
หรือจะฝึกก็ไม่ควรที่จะมาพูดอวด แก่นแท้ของพุทธศาสนาคือท่านสอนเรื่องปัญญา ให้เห็นทุกข์อันเป็นไปตามจริง (อริยสัจจสี่)
 
การเดินทางครั้งนี้ "สติ" เป็นเรื่องสำคัญมาก
ปัญญาไม่เกิดก็ต้องประคองสติไปก่อน
วันที่ข้าพเจ้าโดนพระอาจารย์ดุเอา ทำให้ได้สติ ได้ปัญญาพิจารณาว่าหลวงปู่ให้มาอินเดียทำไม
ไม่ใช่การมาเที่ยว แต่มาพิจารณาเพิ่มศรัทธาลงไปในใจของเรา
พอคิดได้เช่นนี้ ตั้งสติให้มากไม่คล้อยตามสิ่งที่มาทำให้เราไขว้เขว
มุ่งมั่นยึดหลักคำสอนของครูบาอาจารย์
การได้เที่ยวก็คือ กำไร

แต่การได้รู้ซึ้งถึงความหมายของชีวิตและการเกิดตลอดจนการดำรงอยู่นี่สิ
คือ...บทเรียนที่ยิ่งใหญ่...
 
ศรัทธาที่ข้าพเจ้ามีต่อองค์หลวงปู่และพระอาจารย์ไม่เคยสั่นคลอน
ไม่ใช่ความงมงาม หากแต่ท่านคือ ต้นแบบของการสอนให้เรารู้ว่าชีวิตที่มีอยู่นี้พึงทำอย่างไร
การเดินทางไปอินเดียครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ซึ้งว่า ความเป็นหนึ่งเดียว เป็นอย่างไร
ว่าอย่างไรว่าตามกัน ทำให้หันมาทบทวนว่าตลอดที่ผ่านมา ไม่ว่าพระอาจารย์ท่านว่าอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่เคยขัด
นอกจากบางครั้งไม่เข้าใจก็จะมีการเรียนถามกึ่งถกหาข้อสรุป เพราะสิ่งที่ท่านว่านั้นผ่านการไตร่ตรองและพิจารณาแล้ว และที่สำคัญท่านเป็นแบบอย่างของผู้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ได้อย่างซาบซึ้งใจ
 
ส่วนผู้คนต่างๆ ก็ยังคงเป็นนักเดินทางที่ยังไม่เจอหลัก...
ยังฝึกฝนตนเองไม่ได้ หากว่าฝึกฝนตนเองได้ก็คงไม่สูบบุหรี่หรือติดกาแฟ หรือรับภัตราหารหลังเที่ยง
 
ทุกๆ อย่างต้องใช้ปัญญาพิจารณา...
ไม่งั้นเราจะหลงได้ง่าย

ข้าพเจ้าได้ใคร่ครวญต่ออีกว่า อะไรที่ทำให้ผู้คนมีจิตใจที่ยังไม่มั่นคงหรือมุ่งมั่น  ส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากความหวาดกลัว ซึ่งความหวาดกลัวนั้นมาจากความไม่รู้ การไม่รู้นี่แหละนำเราไปสู่มิจฉาทิฐิหรือความเห็นที่ผิดเพี้ยนไป ...

ข้าพเจ้ามักบอกต่อผู้คนและกัลยาณมิตรต่างๆ ว่า หลักแห่งธรรมที่พระพุทธองค์ท่านเมตตาสอนนั่นก็คือ เรื่องทุกข์...นอกหลักนี้ก็คือไม่ใช่ แก่นที่ท่านเมตตาให้เราเพียรภาวนาก็คือ ความจริงแห่งชีวิตไม่ว่าจะเป็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย...นั่นล้วนเป็นทุกข์

แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ผู้คนไม่เข้าไม่ถึงในคำสอนเหล่านี้ ...

นั่นน่ะก็น่าจะสืบเนื่องมาจาก "ชีวิต" ที่ปราศจากการให้ทาน การรักษาศีล และชีวิตไม่เคยภาวนา ผู้คนจึงตกลงไปในบ่วงแห่งความลุ่มหลงอันงมงายได้ง่าย และคล้อยไปตามอารมณ์อันคุกรุ่นด้วยโทสะ โมหะ และราคะตัณหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ความหวาดกลัวทำให้เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับกิเลสที่มีอยู่ในใจเรา...

ทำให้เราขาดซึ่งสติพิจารณาชีวิตไม่ว่าจะเป็น "ทาน ศีล หรือแม้แต่การภาวนา"...การก้าวเข้าไปสู่ความเริ่มต้นของมรรคแปดนั้นทำได้ยาก หากว่าเราไม่พยายามฝืดหรือฝืนตน

"ความศรัทธาคือ การฝืนในตนเอง มักมีบางสิ่งคอยเหนี่ยวรั้งให้เราหลุดออกจากศรัทธาและตกไปอยู่ในความหลุ่มหลงอันละเอียด"

...

๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 448776เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2011 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท