มาจุดประกายความคิดเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ (Distributed Leadership)” กันเถอะ


มาจุดประกายความคิดเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ (Distributed Leadership)” กันเถอะ

มาจุดประกายความคิดเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ (Distributed  Leadership)”  กันเถอะ

 

         ในยุคปัจจุบัน นักวิจัยและผู้รับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษา ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องตรงกันว่า  แนวคิดเดิมที่เชื่อว่า ผู้นำองค์กรต้องเป็นผู้ที่เก่งกล้าสามารถโดดเด่นเหนือคนอื่นอยู่คนเดียวหรือที่เรียกกันว่า  Heroic leader  นั้น กลายเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย  ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมาย ทำให้ภารกิจที่ต้องบริหารจัดการและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้เหมาะสมกับยุคนี้เต็มไปด้วยความสลับซับเพิ่มเป็นทวีคูณตามไปด้วย  จนเกินกำลังความสามารถของผู้นำเพียงคนเดียวที่จะรับมือได้  ดังนั้นจึงมีความเชื่อค่อนข้างกว้างขวางว่า  ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องมี การกระจายภาวะผู้นำ (Distributed Leadership)  จากอาจารย์ใหญ่ที่เป็นผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวให้กระจายภาวะผู้นำไปยังผู้รับผิดชอบระดับรองๆ ตลอดถึงครูทุกคนของโรงเรียน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้มีโอกาสใช้ศักยภาพและความเป็นผู้นำของตนร่วมกันขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่ความสำเร็จได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น  ซึ่งถือเป็นการสร้างพลังเพิ่มพิเศษ หรือ Synergy  ให้แก่โรงเรียนโดยรวม

         อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในหลักการและความหมายของคำว่า การกระจายภาวะผู้นำ หรือ Distributed Leadership ในทัศนะบุคคลต่างๆยังค่อนข้างหลากหลาย  ขาดความชัดเจน ตลอดจนยังเป็นเรื่องใหม่ที่มีผลงานวิจัยอยู่ในวงจำกัด และมักเป็นคำอธิบายกว้างๆ เช่น

          James Spillane (2006). กล่าวว่า  การกระจายภาวะผู้นำ หรือ Distributed Leadership มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ภาวะผู้นำร่วม (Shared Leadership) แต่เป็นวิวัฒนาการของแนวคิดที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ ซึ่งเปลี่ยนไปจากการให้ความสำคัญต่อผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว  ไปสู่ภาวะผู้นำที่กระจายไปยังบุคคลอื่นทั่วทั้งองค์การ ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ต่อกันแบบโครงข่ายใยแมงมุมของภาวะผู้นำ (Web of Leadership)

          Riley (2000).  ให้ทัศนะว่า การกระจายภาวะผู้นำ หรือ Distributed Leadership เป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ (Network of relation) ระหว่าง คน  โครงสร้าง  และวัฒนธรรม  มากกว่าที่จะเป็นภาวะผู้นำของบุคคลเดียวที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน

         Fullan (2001). เชื่อว่า  ผู้นำที่ดีต้องสร้างผู้นำที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับขององค์การ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำสถานศึกษา ที่จะต้องเตรียมผู้นำรุ่นต่อไป (Next generation) ไว้รองรับความต้องการของโรงเรียนในอนาคต โดยแนวคิดการกระจายภาวะผู้นำ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในกระบวนการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้แก่สถานศึกษา

         Raelin (2004). กล่าวว่า การกระจายภาวะผู้นำ หมายถึงสถานะการณ์หรือบริบทขององค์การที่มีผู้นำหลายคน (Multiple leaders) ที่ต่างหมุนเวียนเข้ามารับบทบาทความเป็นผู้นำ ในส่วนงานที่ตนถนัดหรือมีความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแนวคิดเหมาะสมกับการทำงานเป็นทีมแบบ  ทีมงานที่บริหารจัดการเบ็ดเสร็จในตนเอง หรือ Self-Managed Team, (SMT).

          Wheatley, (1999:24). ให้ทัศนะว่า  แนวคิดที่ดีที่สุดเมื่อพูดถึงภาวะผู้นำ ก็คือควรมองในแง่พฤติกรรม (Behavior) มากกว่าด้านบทบาท (Role)หรือตำแหน่ง (Position)ของบุคคลที่ลดหลั่นตามลำดับในโครงสร้างแบบเก่าขององค์การ  และไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่คาดหวังว่าต้องแสดงภาวะผู้นำได้ดีในทุกสถานการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ภาวะผู้นำมิใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งองค์การ  โดย Morrison (2001a) กล่าวเพิ่มเติมว่า  การกระจายของภาวะผู้นำดังกล่าว ทำให้บางครั้งบทบาทของผู้นำอาจทับซ้อนกัน หรืออาจเสริมต่อกัน และสามารถเลื่อนไหลจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ตลอดเวลา

          ดังนั้น ภายใต้ความเชื่อที่หลากหลายดังกล่าว  ทำให้เกิดรูปแบบของการเป็นผู้นำที่กระจายภาวะผู้นำออกมาหลายรูปแบบ  เช่น ถ้าตีความอย่างแบบง่ายๆ  ก็จะพบพฤติกรรมการกระจายภาวะผู้นำของอาจารย์ใหญ่ ที่มีการมอบหมายงานที่เป็นภาระรับผิดชอบโดยตรงบางด้านของตนให้แก่ครูหรือบุคลากรคนอื่นของโรงเรียน  กล่าวคือ อาจารย์ใหญ่อาจมอบงานด้านธุรการให้ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่รับผิดชอบแทน  ดังจะพบเห็นได้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณงานและโครงสร้างซับซ้อน มักมีการแต่งตั้ง “อาจารย์ใหญ่ย่อยๆ (Sub-principals)” ขึ้นเป็นผู้นำรับผิดชอบในแต่ละช่วงชั้นการศึกษาของโรงเรียน  หรืออาจารย์ใหญ่อาจมอบหมายงานด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้บุคคลต่างๆหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามารับผิดชอบ เป็นต้น

          จากความเชื่อที่ว่า  ใครก็ตามล้วนมีภาวะผู้นำอยู่แล้วในตัวเองและสามารถที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำของตนได้มากยิ่งขึ้นถ้าได้รับโอกาสที่เอื้ออำนวย  ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่อง การกระจายภาวะผู้นำ หรือ

Distributed Leadership จึงมักนำมาใช้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน โดยผู้นำสถานศึกษามักจะใช้วิธีการกระจายงานและกระจายภาวะผู้นำออกไปยังบุคคลที่ตนไว้วางใจและเชื่อในความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆให้รับผิดชอบแทนตน จึงเกิดมีผู้นำต่างๆเกิดขึ้นตามมา เช่น ผู้นำวางแผนและพัฒนาหลักสูตร ผู้นำบริหารงานธุระการทั่วไป ผู้นำจัดตารางสอนตารางเรียน ผู้นำด้านพัฒนาวิธีสอน ผู้นำด้านการจัดทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้  ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT  ผู้นำด้านชุมชนสัมพันธ์

ผู้นำเฉพาะแต่ละกลุ่มสาระวิชา และผู้นำด้านการวัดและประเมินผลการเรียน เป็นต้น  โดยผู้นำย่อยเหล่านี้

จะสร้างทีมงานแบบ   Self-Managed Teamsของตนขึ้นมารองรับ ส่วนผู้นำสถานศึกษาก็จะทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงทีมงานเหล่านี้เข้าด้วยกันอีกทอดหนึ่ง

          แม้ว่า หลักการของการกระจายภาวะผู้นำ  จะปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เกี่ยวกับองค์การโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นนิยามของคำว่า ภาวะผู้นำที่ถือว่า เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของครูทุกคนในโรงเรียนก็ตามแต่มิได้หมายความว่าเป็นการลดความสำคัญของบทบาทผู้นำสถานศึกษาหรืออาจารย์ใหญ่แต่ประการใด เป็นแต่เพียงปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว ผู้นำสถานศึกษาจะไม่ใช่เป็น          “ผู้ทำงานหลัก หรือ Chief doer” อีกต่อไป หากแต่ทำหน้าที่เป็น “สถาปนิกด้านภาวะผู้นำขององค์การ  (Architect of organizational leadership)” โดยอยู่ในฐานะเป็น “ผู้นำของบรรดาผู้นำ หรือ

Leader of Leaders” ของโรงเรียนอีกต่อหนึ่ง ที่มีหน้าที่หลักคือ การประสานงานและช่วยทักทอให้ทีมงานของบรรดาผู้นำย่อยเหล่านั้นให้เข้ามาเชื่อมโยงกันแบบโครงสร้างใยแมงมุม (Web structure) ให้ทำงานที่ประสานและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ผู้นำสถานศึกษาจึงต้องมีบทบาทเสมือนผู้นำการแสดง   ของวงดนตรีขนาดใหญ่ซึ่งต้องแสดงพฤติกรรมที่เรียกว่า Concertive Action เพื่อให้ผู้เล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นประสานเสียงกันอย่างพร้อมเพรียงตามบทบาทและสถานการณ์ที่แต่ละคนรับผิดชอบ ส่วนอีกบทบาทหนึ่งของผู้นำสถานศึกษา ก็คือ ควรใช้อำนาจโดยตำแหน่ง (Position power)เท่าที่จำเป็น แต่ควรปรับเปลี่ยนและใช้อำนาจดังกล่าวไปเพื่อการเป็น “ผู้เอื้ออำนวย (Facilitator)” ให้การปฏิบัติภารกิจของทีมงานของผู้นำย่อยต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุผลดีทั้งงานภาพย่อยและภาพรวมของโรงเรียน รวมทั้งการมีบทบาทเป็น ผู้ฝึกสอนแนะนำ (Coach) เป็น ครูสอนงาน (Teacher) และเป็น พี่เลี้ยง (Mentor) ที่คอยช่วยเหลือแนะนำการทำงานและพัฒนาความเป็นผู้นำให้แก่ทีมงานตลอดจนผู้นำในทุกระดับทั่วทั้งโรงเรียน

จากการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยจำนวนมากของนักวิชาการที่กล่าวถึงการกระจายภาวะผู้นำหรือDistributed Leadership พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจควรแก่การพิจารณาต่อไปหลายประการ ได้แก่

 

1.  การกระจายภาวะผู้นำ (Distributed Leadership) มีความหมายมากกว่าการมอบหมายงานให้ปฏิบัติแทน (Delegating) แต่เป็นวิธีการที่เชื่อว่าน่าจะดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยปลดปล่อย (Release) ศักยภาพ (Potential) ความเชี่ยวชาญ (Expertise) ความคิด (Idea) และความเพียรพยาม (Effort) ในการทำงานของทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยช์สูงสุดต่อองค์การ

2.  การกระจายภาวะผู้นำ  สามารถใช้ได้ดีกับสถานการณ์ที่องค์การต้องเผชิญกับปัญหา (Problems) ภาวะภัยคุกคาม (Threats) และภาวะการเปลี่ยนแปลง (Change)  ทั้งนี้เพราะแนวปฏิบัติดังกล่าว ก่อให้เกิดการคิดร่วมกัน จึงมักได้ข้อยุติที่เป็นความคิดดีๆร่วมกันของทีมงาน ซึ่งสมาชิกพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้แนวคิดดังกล่าวเป็นความจริงขึ้นมา

3.  ในสภาพแวดล้อมที่มี “การกระจายภาวะผู้นำ” เชื่อว่า การกระทำที่ผิดพลาด (Mistake) มักนำไปสู่การค้นพบวิธีการใหม่ๆที่มีคุณค่าตามมาเสมอ

4.  การกระจายภาวะผู้นำ  มิได้หมายความว่าทุกคนต้องเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ถือว่าแต่ละคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตน ที่สามารถระดมลงสู่การแก้ปัญหาและนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจสุดท้ายได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น

5.  การกระจายภาวะผู้นำ  เป็นวิธีการที่ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้นำจากการมีพฤติกรรมแบบ “ข้าเก่งคนเดียว” ไปให้ความสำคัญต่อการทำงานแบบทีมงานมากขึ้น ซึ่งสมาชิกมีโอกาสได้แสดงภาวะผู้นำและยังเป็นการสร้างพลังเพิ่มพิเศษ (Synergy) ให้แก่องค์การอีกด้วย

6.  การกระจายภาวะผู้นำ  เป็นแนวทางที่มุ่งเน้นเรื่อง ความร่วมมือ (Cooperation)  และสร้างความไว้วางใจ (Trust)ต่อกัน  แทนที่แนวคิดเก่าที่มุ่งการแข่งขัน (Competition) เอาชนะกันระหว่างหน่วยงานย่อยๆในองค์การจนบ่อยครั้งเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

7.  การกระจายภาวะผู้นำ  เป็นการมอบอำนาจความรับผิดชอบตัดสินใจ (Empowered)  ให้กับทุกคน เพื่อให้คนเหล่านั้นปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ทำงานอย่างมีความหมาย  (Meaning)และเกิดประสิทธิผล (Effectiveness)

8.   ภายใต้บรรยากาศของ “การกระจายภาวะผู้นำ”  ถือว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคน มีความหมายและมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การ เพราะต้องร่วมกันทำงานแบบทีมกับผู้อื่นและได้ร่วมใช้ภาวะผู้นำในกระบวนการทำงานนั้น

9.  องค์การที่ยึดแนวทาง “การกระจายภาวะผู้นำ” เชื่อว่า ผู้นำสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งและทุกสถานการณ์ทั่วทั้งองค์การ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ภาวะผู้นำของบุคคลเกิดจากพฤติกรรมของการปฏิบัติงานรับผิดชอบอย่างมีคุณภาพ (Quality of practice) เป็นสำคัญ มิได้มาจากการที่ใครมีตำแหน่งสูงกว่า (Organizational position) หรือมีอำนาจเหนือกว่าใครแต่ประการใด

10. ในองค์การที่ยึดแนวทาง “การกระจายภาวะผู้นำ” เชื่อว่า ภาวะผู้นำของแต่ละบุคคลไม่ได้เป็นความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในลักษณะตามสายบังคับบัญชาที่ลดหลั่น (Hierarchical relations)ของแนวคิดองค์การแบบเดิม จึงไม่ยึดหลักการใช้อำนาจเพื่อการบังคับสั่งการ (Power imposing) แต่เป็นความสัมพันธ์เชิง “การแบ่งปันอำนาจ หรือ การใช้อำนาจร่วมกัน” เป็นสำคัญ โดยความเป็นผู้นำของบุคคลสามารถสับเปลี่ยนหมุนเวียนจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งไปตามแต่ละตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

11. สถานศึกษา น่าจะเป็นองค์การในอุดมคติที่เหมาะต่อการประยุกต์ใช้แนวคิด “การกระจายภาวะผู้นำ”ทั้งนี้เพราะเป็นองค์กรที่สมาชิกทุกคนต้องใช้ความรู้และสร้างความรู้ (Knowledge)ในกระบวนการประกอบวิชาชีพของตน โดยที่ครูซึ่งเป็นสมาชิกองค์การมีหลักปฏิบัติต่อกันด้วยวัฒนธรรมทางวิชาการ หรือ Collegial culture และครูแต่ละคนมักให้ความเคารพนับถือในการปฏิบัติวิชาชีพของคนอื่นในฐานะของการเป็นผู้นำ อีกทั้งครูต้องใช้ภาวะผู้นำของตนในระหว่างการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนอยู่แล้วอีกด้วย

12. ในองค์การแห่งการเรียนรู้ (หรือโรงเรียนแห่งการเรียนรู้) จำเป็นต้องกระจายทั้งภาวะผู้นำและความรู้(Distributed leadership and knowledge)  ดังนั้น องค์การแห่งการเรียนรู้ จะต้องควบคู่ไปกับการมีการกระจายภาวะผู้นำ เสมอ (Lakomski, 2000)

13.  นักวิชาการบางคนให้ทัศนะว่า การกระจายภาวะผู้นำ จะเป็นรูปแบบภาวะผู้นำแห่งอนาคต

(Distributed Leadership is the leadership model of the future.)

 

          จากประเด็นต่างๆที่บ่งบอกถึงแนวคิด “การกระจายภาวะผู้นำ” ที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าเป็นแนวคิดที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลายทฤษฎีและแนวคิดด้านภาวะผู้นำที่นิยมใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น

Shared Leadership, Facilitative Leadership, Empowerment Leadership, Democratic Leadership, Delegated Leadership,  และ Dispersed Leadership เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีแนวคิดและค่านิยมร่วมกัน อันได้แก่เรื่อง การให้มีส่วนร่วมของสมาชิก  การมอบอำนาจความรับผิดชอบในการตัดสินใจ  การกระจายงานให้ปฏิบัติแทน การเอื้ออำนวยความสะดวก การนำด้วยแนวทางแบบประชาธิปไตย  การให้คุณค่าและการนับถือในความสามารถของผู้อื่น  เป็นต้น  ซึ่งเป็นแนวคิดและเป็นหลักการสำคัญยิ่งที่น่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ แม้ว่าเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ หรือ Distributed Leadership” ยังเป็นเรื่องใหม่และยังขาดความชัดเจนถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีภาวะผู้นำหนึ่งก็ตาม แต่แนวคิด หลักการ ความเชื่อและค่านิยมของเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ” นับได้ว่าเป็นกระแสหลักด้านภาวะผู้นำมีคุณค่าเหมาะสมกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องการพลวัตของภาวะผู้นำเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนงานและองค์การ  โดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ท่ามกลางบริบทอันซับซ้อนของสังคมขณะนี้  ให้สู่ความสำเร็จตามเจตจำนงของการปฏิรูปการศึกษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

…………………………………………………..

 

                                                                         รศ. สุเทพ  พงศ์ศรีวัฒน์

  http://suthep.cru.in.th/leadership33.doc

หมายเลขบันทึก: 448728เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2011 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท