Bolus tracking คือ อะไร


เมื่อการฉีดสารทึบรังสีเข้าร่างกายมีปัญหา บริษัทผู้ผลิตได้นำเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อพัฒนาโปรแกรมเกี่ยวกับการตรวจจับความเข้มข้นของสารทึบรังสีที่ไปยังตำแหน่งต่างๆในหลอดเลือดของร่างกาย แล้วนำค่าที่ได้มาใช้ประโยชน์

สวัสดีครับ

วันนี้ขอนำเสนอเรื่องที่มีคำถามจาก... ว่าที่รังสีแพทย์ ที่เข้ามาฝึกฝนและเรียนรู้ในห้องตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับ Bolus Tracking คืออะไร? ผมคิดว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจที่ผู้ใช้งานและผู้เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจ ซึ่งขอนำเสนอดังต่อไปนี้ ครับ

  

  

  

 

 

ที่มาของ Bolus Tracking

การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องสร้างภาพทางการแพทย์ โดยเฉพาะกับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) บางครั้งมีความจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) เข้าหลอดเลือด เพื่อ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสีขาวเทาดำ (Contrast) ในภาพที่สนใจศึกษาหรือวินิจฉัย ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพหรือรอยโรคได้ชัดเจนมากขึ้น

 

 

  

  

 

แต่ปัญหาหนึ่งที่มักจะพบคือ เมื่อมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในร่างกายผู้รับบริการ ความสามารถในการสแกน (Scan) ให้มีความสอดคล้องหรือสัมพันธ์กับช่วงเวลาและปริมาณของสารทึบรังสีเข้าสู่ตำแหน่งของอวัยวะที่สนใจได้มากที่สุดหรืออย่างเหมาะสม ทำได้แตกต่างกันในผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดหรือพยาธิสภาพต่างกัน

  

  

 

ตัวอย่าง ในผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดแตกต่างกัน เมื่อฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกายแล้ว สารทึบรังสีจะไปสู่เป้าหมายหรืออวัยวะที่สนใจของได้เร็วหรือช้าต่างกัน หากนักรังสีเทคนิคผู้ควบคุมเครื่อง กำหนดระยะเวลาสแกนหลังจากฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดที่เท่ากัน จะทำให้ภาพที่ปรากฏมีคุณภาพที่สามารถเอาไปวินิจฉัยโรคได้แตกต่างกัน

 

 

 

ภาพที่ 1 แสดงแผนภูมิเปรียบเทียบระยะเวลาที่สารทึบรังสีที่ผ่านเข้าไปในร่างกายในผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดแตกต่างกัน สำหรับการตรวจวินิจฉัยตับ เมื่อใช้เวลาสแกน จากเริ่มต้นถึงสิ้นสุด ในเวลาเดียวกัน (แท่งสี่เหลี่ยม) พบว่า ผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดสูง ได้รับการสแกนในช่วงเวลาที่สารทึบรังสีเข้าสู่ตับไปสู่ช่องท้องส่วนล่าง ล่าช้ากว่าตามความต้องการ ผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดปกติ ได้รับการสแกนในช่วงเวลาที่สารทึบรังสีเข้าสู่ตับ ตรงความต้องการ และ ผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดต่ำ ได้รับการสแกนในช่วงเวลาที่สารทึบรังสีเข้าสู่หัวใจ ทำให้ภาพที่ปรากฏของผู้รับบริการที่มีแรงดันเลือดสูงและแรงดันต่ำ ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ เนื่องจากสารทึบรังสีไหลผ่านช่วงอวัยวะที่สนใจในช่วงที่สแกนเร็วและล่าช้ากว่าความต้องการ

 

 

 

 

ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตเครื่องสร้างทางการแพทย์ จึงได้สร้างโปรแกรมพิเศษที่เรียกว่า Bolus tracking ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเครื่องมือสร้างภาพทางการแพทย์ ให้สามารถสแกนหรือสร้างภาพที่สอดคล้องสัมพันธ์กับระยะเวลาของการฉีดสารทึบรังสีที่ผ่านเข้าหลอดเลือดหรือเข้าสู่อวัยวะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีปริมาณสารทึบรังสีสูงที่สุด (peak enhancement) ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค

 

 

ภาพที่ 2 แสดงช่วงที่มีปริมาณสารทึบรังสีสูงที่สุด (peak enhancement) เข้าสู่อวัยวะที่ต้องการ (ในที่นี้ คือ ตับ) ได้สัมพันธ์กับระยะเวลาในการสแกนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดการสแกนตามที่ต้องการ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค

 

ชื่อของโปรแกรมพิเศษนี้ อาจจะมีชื่อเรียกใช้งานที่แตกต่างกันไปตามบริษัทผู้ผลิต เช่น

Siemens และ Philips เรียกว่า Care Bolus หรือ Bolus Tracking

Toshiba เรียกว่า Sure Start

GE healthcare เรียกว่า Smart Prep  

 

 

 

ตัวอย่างเทคนิคการตรวจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เอกสารที่ผมแสดงไว้ 


Bolus_tracking_Pet.pdf

 

 

สรุป

1. Bolus tracking คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาใช้ในการทำงานของเครื่องมือสร้างภาพทางการแพทย์ ที่ช่วยให้สามารถสแกนหรือสร้างภาพที่สอดคล้องสัมพันธ์กับระยะเวลาของการฉีดสารทึบรังสีที่ผ่านเข้าหลอดเลือดหรือเข้าสู่อวัยวะที่สนใจศึกษาในร่างกายผู้รับบริการ ในช่วงที่มีปริมาณสารทึบรังสีสูงที่สุด (peak enhancement) ตามที่ต้องการ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค

 

 

 

2. การกำหนดค่า Hound field unit ที่เหมาะสม สามารถช่วยให้การสแกนได้ภาพที่ดี ช่วยให้แสดงความแตกต่างกันของสีขาวเทาดำในภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ในการแยกความแตกต่างของพยาธิภาพที่ปกติและผิดปกติได้ดีขึ้น

 

 

 

3. ผู้ใช้งาน หรือผู้ควบคุมเครื่อง ควรทำความเข้าใจในขั้นตอนทำงาน เพื่อให้สามารถใช้เครื่องได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 448365เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2011 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2018 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท