การศึกษาไทยดีจริง ๆ


คุณภาพ

การศึกษาไทยดีจริง ๆ หรือ

          การศึกษาของประเทศไทยพิจารณาให้ดีๆ  ย่ำอยู่กับที่  ก้าวหน้า  หรือร้าหลัง  กันแน่เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน    คือว่าไปเจอบทความน่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศไทยเปรียบเทียบการศึกษา ของประเทศลาว เวียดนาม มาเลย์  ประเทศใกล้ๆ เรา ลงในผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2549 บรรยายโดย ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี มศว.
         เราเห็นว่าเป็นบทความให้แง่คิดที่น่าสนใจเพราะปกติ คนไทยชอบมอง และเปรียบเทียบการศึกษาของเราแต่กับ อเมริกา หรืออังกฤษ เพราะเห็นว่าเค้าดีกว่าเรา โดยลืมมองไปว่า ประเทศข้างๆเราซึ่งมี พื้นฐานหลายด้านคล้ายๆ เราเขาก็มีแนวทางพัฒนาระบบการศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
         ในสังคมไทยปัจจุบันคงกล่าวได้ว่า หากมีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ทุกคนเชื่อว่านั่นคือแนวทางที่ถูกต้องที่จะทำให้ชาติไทยสามารถ พัฒนาและยืนอยู่ภายใต้กระแสการพัฒนาโลกาภิวัตน์ที่กำลังกระหน่ำซ้ำซัดประเทศไทยอย่างที่เป็นอยู่ และมีความเป็นเจริญเท่าเทียมกับชาติที่เราเชื่อว่าเขาเจริญแล้ว ภายใต้กระบวนการปฏิรูปที่ดูจะก้าวกระโดด   บางครั้งก็ดูจะเป็นดาบสองคมที่ต้องมีการตั้งมั่นและทำความเข้าใจให้ดีเพราะไม่เช่นนั้น การเตรียมการเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยก็สามารถ เกิดเป็นจุดบั่นทอนปัญญาของชนชาติไทยได้เช่นกัน หลายๆ ครั้งเมื่อกล่าวการปฏิรูปการศึกษา ก็มีการกล่าวอ้างเสมอว่า การศึกษาไทยนั้นแพ้  เวียดนามอย่างไม่ติดฝุ่น ซึ่งแรกๆ ก็ดูเป็นคำถามที่น่าตระหนกตกใจเป็นที่สุด แต่ถึงตอนนี้แล้ว ดูจะเป็นคำถามซ้ำซากที่น่าเบื่อมาก เพราะว่าความตระหนก และตื่นเต้นในความพ่ายแพ้ทางการศึกษาของไทยที่มีต่อเพื่อนบ้าน นักวิชาการไทยไม่เคยอธิบายสาเหตุของความพ่ายแพ้ว่ามันเกิดจากอะไร และใครคือผู้เชี่ยวชาญที่จะอธิบายเรื่องดังกล่าวได้ นี่คือสิ่งที่น่าจะมีคำตอบมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
การกำหนดปรัชญาการศึกษาชาติ 
          ในการจัดการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน ในที่นี้ผู้บรรยาย  ได้ให้ตัวอย่างกรณีการจัดการศึกษาของประเทศลาว  มาเลเซีย และประเทศสังคมนิยมเวียดนาม เป็นหลัก    เพราะอย่างน้อยคงจะพอเป็นอุทาหรณ์ทางการศึกษาได้บ้าง  ในกรอบการจัดการศึกษาของชาติที่เราคิดว่าเขาล้าหลังกว่าชาติไทย   แต่ทุกวันนี้เรากลับเชื่องช้ากว่าชาติอื่นๆ การปิดปัญญาตนเองด้วยความโง่เขลา ยังคงพอที่จะพัฒนาได้ แต่หากความโง่เขลาที่เกิดจากการหลงติดยึดความคิดตัวเองของนักการเมืองและนักการศึกษาหัวนอก(บ้าน) คงเป็นเรื่องลำบากยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในวันนี้
          ในการจัดการศึกษาของชาติไทยในอดีตสมัยที่ยังมีวิทยาลัยครูสำหรับไว้เป็นที่สร้างและเพาะบ่มจิตวิญญาณของความเป็นครู  มีความชัดเจนในเรื่องปรัชญาการศึกษา การจัดการศึกษาสมัยใหม่ของไทยที่เริ่มมาครั้งรัชกาลที่ 4 และมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าหลวงฯ ถือว่าเป็นการจัดการศึกษา "อย่างไทย" ที่ชัดเจน เพราะสมัยนั้นเป็นการเตรียมชาติให้เข้าสู่อารยะเยี่ยงประเทศตะวันตก ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงเป็นการคัดคนเข้าสู่ระบบอย่างตะวันตก และที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างสำนึกของคนทุกภาคให้มีความเป็น " ไทย " ให้มากที่สุดเพื่อที่จะต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมในสมัยนั้น แต่จะอย่างไรก็ตามการเตรียมตัวสมัยนั้นทิฐิทางปัญญาชาติ   ดูจะไม่หนาเยื่องปัจจุบัน การจัดการก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะรีบจัดการศึกษาในระบบ "สามวันดอกไม้บาน"อย่างที่กำลังทำอยู่ ? นักการศึกษาไทยสมัยต่อมาก็มองปัญหาการศึกษาอย่างเข้าใจ โดยเฉพาะสมัย มล.ปิ่น มาลากุล เข้าดูแลเรื่องการศึกษาของชาติไทย ซึ่งบทกลอน

บทหนึ่งที่ท่านได้ถักทอเอาไว้ซึ่งสามารถสะท้อนอุดมการณ์ทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี คือ :- 

                            กล้วยไม้    ออกดอกช้า  ฉันใด
                            การศึกษา  ก็เป็นไป  ฉันนั้น
                            กล้วยไม้ออกดอก  คราใด  งามเด่น
                            การศึกษาเฉกเช่น  เสร็จสิ้น  สวยงาม

            จะอย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อนักการศึกษาหัวนอก(บ้าน)พยายามแยกส่วนทางการศึกษา โดยมองการศึกษาคือ      การเรียนจากตำราในห้องสี่เหลี่ยม โดยลืมไปว่าการศึกษาที่แท้จริงนั้นคือ กระบวนการถ่ายทอด "ความเป็นคน" จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เพื่อการรักษาเผ่าพันธุ์ของตนเอง ดังนั้นเมื่อโรงเรียนถูกแยกออกมาจากวัดจากชุมชน กระบวนการเกี่ยวข้องทางภูมิปัญญาของสังคมถึงหดหายไปด้วย ดังนั้นการศึกษายุคใหม่จึงสามารถสร้างได้แต่ความเก่งทางปัญญา แต่ไม่รู้คุณค่าของตนเองและไร้รากแก้วของความเป็นคนในที่สุด 
            ในการถ่ายทอดกระบวนทัศน์ทางสังคม ไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อการสืบสานสังคมนั้น การกำหนดปรัชญาการศึกษาจึงถือว่าสำคัญยิ่งต่อการ กำหนดยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ   ประเทศข้างเคียงของเรา อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในอดีตทิศทางทางการศึกษา ภายใต้ปรัชญาที่ชัดเจนว่า นักเรียนจะต้อง เฮียนให้เก่ง หมายถึงเรียนต้องเป็นเลิศ  เส็งให้ได้ หมายถึงเมื่อเรียนเก่งแล้วจะต้องสามารถสอบผ่านตามขั้นตอน นำใช่ให้เป็น หมายถึง นักเรียนต้องสามารถนำเอาวิทยาการที่เรียนไปใช้กับชีวิตจริงให้ได้  และในวันนี้ที่ สปป.ลาว พรรคและรัฐ ได้กำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนว่า ประชาชนจะหายโง่ และพ้นจากความอดอยากหิวโหยได้ก็เพราะการมี "ปัญญา" ดังนั้นในการประชุมพรรคครั้งล่าสุดจึงได้ทุ่มงบประมาณลงไปกับการพัฒนาปัญญาชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด
            ในส่วนประเทศมาเลเชีย รัฐภายใต้การนำของ ดร.มหาเทียร์ ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งแล้วถึงความชัดเจนในจุดยืนของมาเลเซีย ภายใต้ความพร้อมทางความคิดของผู้นำ การกำหนดนโยบายทางการศึกษาเพื่อการก้าวให้ทันโลก มาเลเซียได้กำหนด โครงการ " Smart School" และ "Electronic Class" เพื่อรองรับโลกของ  เทคโนโลยี ซึ่งนั่นไม่ใช่การก้าวกระโดดทางการศึกษา แต่เป็นการจัดการศึกษาที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ต่อเนื่องและที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดการศึกษาของมาเลเซียเป็นการปฏิรูปที่ถูกจุด  นั่นคือ การปรับฐานการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี และมีผลตรงต่อนักเรียน ไม่ใช่การขี่ม้าชมเมืองอย่างบ้านเราทำอยู่ (นโยบายหรู แต่ดูแล้วทำไม่ได้เพราะเป็นเพียงแค่นโยบายของกูมิใช่ของครู)   ส่วนของประเทศสังคมนิยมเวียดนาม เราต้องมองให้ชัดในเรื่องของประวัติศาสตร์ ชาติ และสำนึกของคนเวียดนาม ทั้งนี้เพราะนักวิชาการไทยเราก็ดูจะมักง่ายเกินไปในการที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ? และที่ซ้ำร้ายก็คือการมีฐิทิทางปัญญาที่ชอบมองประเทศรอบข้างว่าด้อยกว่าตนเองมาโดยตลอด จึงทำให้เรา เสียโอกาสทางปัญญาในการที่จะเรียนรู้ความคิดของคนในชาติต่างๆ เหล่านั้น แล้วนำมาสังเคราะห์อย่างถ่องแท้และรู้เท่าทัน  จุดนี้ต่างหากที่เป็นแนวทางปัญญาที่คนไทยเราต้องทำให้ติดในสันดารดิบของสังคมให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นได้เพียงต้นไม้ที่มีเพียงเปลือกแต่ขาดแก่นของกระบวนการสร้างปัญญา ในการจัดการศึกษาของประเทศสังคมนิยมเวียดนาม เราต้องยอมรับว่า ด้วยการที่เวียดนามถูกถ่ายทอดกระบวนทัศน์ทางสังคมที่เป็นทั้งตะวันออกและตะวันตก นั่นหมายความว่า กระบวนทัศน์ทางสังคมที่เป็นตะวันออกนั้น เวียดนามได้รับเอาจารีตอย่างจีนเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน จนแทบแยกไม่ออกว่าอะไรคือจีนอะไรคือรากเหง้าเวียดนามที่แท้จริง แต่นิสัยทางสังคมที่เป็นคนชอบคิด ชอบบันทึกและชอบจินตนาการจนกลายเป็นปรัชญาทางสังคมนับว่าเวียดนามได้แบบอย่างที่ดีไม่น้อยจากจีน
            ในส่วนกระบวนทัศน์ทางสังคมที่เป็นทั้งตะวันตกนั้น ก็คงสังเกตได้ไม่ยาก เพราะเมื่อจีนพ้นจากการมีอิทธิพลเหนือเวียดนาม ฝรั่งเศสก็ได้เข้ามาปกครองต่อร่วมร้อยปี ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า การจัดกระบวนคิดอย่างฝรั่งที่เป็นเหมือนพันธนาการอันสำคัญยิ่งที่ฝรั่งถ่ายทอดเอาไว้ จึงเป็นผลดีต่อความเป็นเวียดนาม ดังจะเห็นจากเอกสารตำราต่างๆ ที่เกี่ยวกับ อินโดจีน จึงออกมาจากเมืองไฮฟอง ฮานอย ทั้งสิ้น เพราะที่นั่นคือที่ตั้งของสถาบันฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ และมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ซึ่งกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติของเวียดนามในปัจจุบัน จากฐานทางสังคมที่เกิดจากการหลอมรวมความเป็นตะวันออกและตะวันตกเอาไว้ในความเป็นเวียดนาม ดังนั้น วิธีคิดในมิติสากลจึงดูจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะภายหลังจากการประชุมใหญ่พรรคคอมมูนิสต์เวียดนาม  ครั้งที่ 6 กับนโยบายการเปิดประเทศ จึงทำให้เวียดนามกลายเป็นมังกรน้อยที่ผงาดได้อย่างสมบูรณ์ หรือแม้แต่ในเวทีการเมืองระดับภูมิภาคเวียดนามเพิ่งเริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกอาเชียน แต่วันนี้การช่วงชิงการเป็นผู้นำดูเหมือนว่าเวียดนามสามารถ ช่วงชิงบทบาทดังกล่าวได้อย่างชัดเจน 
              หากมองในเรื่องการศึกษาในปัจจุบัน ปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ซึ่งอยู่ภายนอกตัวตนของความเป็นเวียดนามแล้วก็คือ การมีหนังสือราคาถูกให้ได้อ่าน ความสามารถในการเชื่อโยงสภาวะผู้นำอย่างประธานโฮ จี มินท์ ได้อย่างกลมกลืน ในการสร้างสำนึกชาติ และนี่คือสุดยอดของการทำงานที่ลงตัว ระหว่างนโยบายพรรคและรัฐ นักวิชาการ 
                หากมองย้อนหลังไปเมื่อร่วมทศวรรษ สิ่งหนึ่งที่ผู้บรรยาย ตั้งข้อสังเกตเอาไว้   เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ หรือที่คนภายนอกรู้จักในนาม Truong Dai Hoc Tong Hop Ha Noi ณ กรุงฮานอยแล้ว ก็คือ 1 ).เรื่องการศึกษา และ 2).ระบบคิดในความเป็นชาติ แต่เรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวคนไทยเกินไปในสมัยนั้น  แต่มาวันนี้วันที่เรากำลังหันกลับไปมองระบบการศึกษาของเวียดนามอย่างมีคำถามพื้นฐานในใจว่าทำไมประเทศเขาพัฒนาระบบการศึกษาเขาได้รวดเร็วขนาดนั้น และนักการศึกษาไทยก็มองเห็นเพียงระบบการจัดการศึกษา ? ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของนักการศึกษาไทยก็ได้ ? และทำไม ? ต้องมองว่าการให้ความสนใจต่อระบบการจัดการศึกษาของเวียดนามอย่างเดียว คือ ความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อมุมมองในความสำเร็จทางการศึกษาของเวียดนาม ? ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นมีที่มาที่ไปดังนี้คือ
ระบบการศึกษากับความเกี่ยวเนื่องในนโยบายของพรรค  
              ในการมองระบบการศึกษาของเวียดนามสิ่งสำคัญที่สุดเราคงต้องดูนโยบายและทิศทางในการกำหนดแนวทางของพรรคคอมมิวนีสต์เวียดนาม ว่าเขาคิดอย่างไร ? และต้องการอย่างไร ?เพราะนั่นคือ ภาพสะท้อนที่แท้จริงที่ถือว่าเป็นตัวตนของความเป็นเวียดนาม ซึ่งเรื่องดังกล่าวเราสามารถติดตามได้ในช่วงมีการประชุมใหญ่พรรคฯ ราวๆ ปลายปีของทุกปี ซึ่งในระยะดังกล่าวคงไม่ใช่ว่าเราจะเห็นเพียงระบบการศึกษา แต่เราจะมองเห็นระบบคิดและความต้องการที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างทันเหตุการณ์ แต่จะอย่างไรก็ตามหากเป็นผู้รู้ในเรื่องเวียดนามศึกษาบ้าง เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนไปอีกว่า แนวทางของพรรคคอมมิวนีสต์เวียดนาม นั้น ไม่เคยทิ้งแนวทางที่ประธานโฮ จี มินท์ หรือลุงโฮได้สั่งสอนเอาไว้เลย ?  ดังนั้นสมการในการที่จะเข้าใจในระบบการศึกษาของเวียดนาม เราต้องเข้าใจว่าฐานะความคิดนั้นถูกตรึงเอาไว้ด้วยข้อเท็จจริงเชิงนโยบายถึงสามชั้นคือ หนึ่งวิธีคิดของประธานโฮ จี มินท์ สอง คือแนวคิดของพรรคคอมมิวนีสต์เวียดนาม และสามคือแนวนโยบายของกระทรวงการศึกษาและฝึกอบรม
คำถามวันนี้ต่อระบบการศึกษาบ้านเรา

               ที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ) ซึ่งเดินทางไปดูงานที่เวียดนาม และมาเลเซียกลับมา ท่านเข้าใจระบบดังกล่าวแล้วหรือยัง ? เพราะจากคำสัมภาษณ์ของเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ) ดูจะมั่นใจมากในการที่จะต่อสู้กับเวียดนามในเรื่องคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ? หากทำตัวให้เป็นแก้วที่ยังพร่องน้ำบ้าง การดูงานครั้งนี้อาจจะได้เห็นอะไรที่ดีและมีคุณค่ามากกว่านี้ ?
แนวคิดของพรรคกับความเกี่ยวเนื่องแนวคิดของประธานโฮ จี มินท์  
                ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วว่าในการที่จะเข้าใจระบบการศึกษาของเวียดนาม อย่างน้อยที่สุดสมการสามชั้นที่กล่าวมาแล้วต้องเข้าใจ สิ่งที่ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ แนวคิดของประธานโฮ จี มินท์ ซึ่งเป็นสมการที่หนึ่ง ทั้งนี้เพราะประเทศเวียดนามสามารถต่อสู้จนได้เอกราชมาเท่าทุกวันนี้ก็ด้วยการนำพาของประธานโฮ จี มินท์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อลุงโฮ ดังนั้นหลักคำสอนและแนวทางที่ลุงโฮ ได้ให้ไว้จึงถือว่าเป็นแนวทางที่พรรคคอมมิวนีสต์เวียดนาม และประชาชนต้องปฏิบัติ

               หากมองให้ลึกแล้ว เมื่อเวียดนามสามารถปลดปล่อยชาติจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศทางตะวันตกได้และสถาปนาประเทศเป็นประเทศสังคมนิยม ลุงโฮ ได้กล่าวถึงเรื่องการศึกษาเอาไว้อย่างมีวิสัยทัศน์ว่า ภัยวันนี้ของประเทศเวียดนาม ไม่ใช่ภัยจากจักวรรดิ์นิยมตะวันตกแล้ว แต่ภัยที่สำคัญวันนี้ของเวียดนามก็คือภัยโง่ หรือการไม่รู้หนังสือของคนเวียดนามนั่นเอง ?    และเมื่อเราหวนมาดูแนวปรัชญาการศึกษาของไทยที่แต่ละรุ่นของคณะรัฐบาลที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเถลิงอำนาจ มิได้เห็นถึงความสำคัญของความต่อเนื่องทางการศึกษาของประชาชนเป็นหลักเลยแม้แต่น้อย  ต่างตั้งหน้าตั้งตาเปลี่ยนระบบที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆเขาได้วางรากฐานเอาไว้เสียใหม่   ของฉันดีกว่า ของฉันทันสมัยกว่า บ้างก็ไปยกเอาของเขามาทั้งแท่ง โดยไม่ศึกษาถึงภูมิหลังของเขาว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ประชาชนของเขามีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติอย่างไร  ทั้งหมดนี้พอจะคะเนดูได้จากความคิดตื้นๆ  ว่า  ก็เพื่อผลประโยชน์ยังไง  คิดกันเอาเองนะ แค่เปลี่ยนแบบเรียนใหม่เท่านั้น  นักเรียนก็ต้องจ่ายเงินซื้อแบบเรียนใหม่กันทั่วประเทศ  เงินเท่าไหร่ละ  นักเรียนโง่  ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ติดอันดับก็ต้องหันมาเรียนในมหาวิทยาลัยของเอกชน  ซึ่งมีแค่เงินอย่างเดียวก็สามารถเดินเข้าไปเรียนได้อย่างสบายๆแล้ว จะจบไม่จบเรื่องของท่าน   ฉันไม่สน  และเป็นที่น่าสังเกตอันว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด   และนักศึกษาที่เข้าไปเรียนก็มีค่านิยม ทางวัตถุมากกว่า ความนิยมสร้างสติปัญญาให้กับตัวเอง  ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความด้อยคุณภาพทางการศึกษา  กลายเป็นพลเมืองที่ไม่มีคุณภาพ (โง่)  อยากจะได้อะไรก็ใช้เงินทุ่มซื้อไม่มีเงินซื้อก็หาวิธีโกงเขา  ปัญหาเป็นลูกโซ่นานัปการ   แก้ไม่หมดหรอกตราบใดที่ประเทศไทยยังเป็นกันเช่นนี้สุดท้ายก็โดนเขาหลอกไปจนไม่มีประเทศจะอยู่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่เขาเคยโดนกันมาแล้ว  และต้องเริ่มต่อสู้กันใหม่กล่าจะได้ความเป็นไทกลับมาต้องสูญเสียครูชนชั้นมันสมองไปมิรู้เท่าไหร่  คิดแล้วน่ากลัวจริงๆ

                     ยังมิสายเกินไปน่ะค่ะที่จะช่วยกันทำนุบำรุงประชาชนให้เป็นคนฉลาดมีความรู้คู่คุณธรรมตามแบบที่คนไทยครูไทยรุ่นก่อนๆที่เขาทำกันมาช้านาน  อย่าตกเป็นทาสนักคิดนักวิชาการโง่ๆมักง่าย  และ เห็นแก่ตัวพียงไม่กี่คนเลย

 

 

หมายเลขบันทึก: 448361เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2011 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับบทความที่คุณนำเสนอ เพราะถ้ามองแล้วประเทศของเรายังล้าหลังอยู่มากสำหรับการจัดการศึกษา มองลงไปในระดับเชิงประจักษ์จะเห็นว่าการประเมิน ของ สมศ.รอบสามที่กำลังประเมินกันอยู่นี้ หลายโรงเรียนทำกันเกือบตายครูแทบไม่ได้ทำอะไรเลยยุ่งแต่กับการจัดเตรียมหาหลักฐานเพื่อประกอบตัวบ่งชี้ แสดงได้ว่าการศึกษาของไทยส่วนใหญ่แล้วผู้บริหารระดับสูงไปลอกเลียนของเขามาเกือบทั้งดุ้น ไม่ได้มองในบริบทของเมืองไทย รัฐบาลใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นไม่ทราบว่านโยบายการศึกษาเดินไปในทิศทางไหน เหนื่อยกับการจัดการศึกษาของไทยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท