มองสามก๊กผ่านเลนส์นักบริหารอย่าง ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์


มองสามก๊กผ่านเลนส์นักบริหารอย่าง ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

เรือลำน้อย ลอยคว้าง กลางสมุทร
เปรียบประดุจ ขาดหางเสือ เรือจึงเร่
ถูกคลื่นซัด ใกล้อับปาง กลางทะเล
ให้หันเห ไร้จุดหมาย และปลายทาง

เช่น เดียวกันกับการทำธุรกิจก็ย่อมต้องการผู้นำที่มีทิศทางการบริหารคนและบริหาร งานที่ดีแล้ว แม้สถานการณ์ต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาจะเป็นเช่นไร ก็คงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนถึงเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

ได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่อง อ่านสามก๊ก ถกบริหาร ของคุณ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CEO บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เขียนเล่าด้วยการเปรียบเทียบลักษณะของตัวละครในสามก๊กกับการบริหารธุรกิจใน ชีวิตประจำวันได้อย่างลึกซึ้ง หยิบยกหลักการพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารที่มีในหนังสือหลายเล่ม อาทิ การซื้อใจลูกน้อง เรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ภาวะผู้นำ เป็นต้น มาประกอบการบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครในเรื่องสามก๊กทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ ตามมาจากการบริหารในลักษณะต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หนังสือเล่มนี้ได้ เปรียบเทียบยุคสมัยแห่งสามก๊ก กับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน กล่าวคือ มองการทำสงครามเหมือนกับการทำธุรกิจ มีการเปรียบเทียบสไตล์การบริหารงานของผู้นำองค์กร 3 คน 3 สไตล์ ซึ่งถ้าเราได้อ่านแล้วย้อนกลับมามองรูปแบบการบริหารของผู้นำในปัจจุบัน ก็จะยิ่งเห็นความสำคัญของผู้นำมากขึ้น หากผู้นำขาดทักษะในการบริหารงานและบริหารคนที่เหมาะสม องค์กรก็คงจะไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ในวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาดี ที่ผู้บริหารควรจะหันกลับมามองตัวเองเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง วิสัยทัศน์ที่ช่วยให้สามารถบริหารธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้

เล่าปี่ ผู้นำจ๊กก๊ก
ลักษณะเด่นของตัวละครตัวนี้ คือ
1.เน้นการบริหารงานด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม
ใน ยุคสมัยสามก๊ก คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจวิธีการที่ใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ แต่เล่าปี่เลือกวางตัวอยู่ในคุณธรรมอย่างสม่ำเสมอ เล่าปี่จึงชนะใจมวลชน เป็นที่สรรเสริญของคนทั่วแผ่นดิน แม้ว่าเล่าปี่จะให้เงินเดือนสวัสดิการน้อยกว่าก๊กอื่น แต่ลูกน้องดีๆ มีความสามารถ เช่น ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย จูล่ง ก็ไม่คิดตีจาก ลักษณะการบริหารของเล่าปี่สะท้อนให้เราเห็นว่า ความยากลำบากในการสร้างธุรกิจจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่การสรรหาทีมงานคุณภาพเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรักษาคนเก่งๆ เหล่านั้นให้อยู่กับเราได้นานๆ
วาระสุดท้ายของเล่าปี่ยังได้แนะวิชาการปกครองชั้นสูง ถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จทางด้านคุณธรรม ให้แก่ลูกชายว่า
“อย่าเห็นว่าเป็นเพียงความผิดเล็กน้อย จึงได้กระทำ
อย่าเห็นว่าเป็นเพียงความดีเล็กน้อย จึงไม่กระทำ
ด้วยคุณธรรมอันประเสริฐเท่านั้น จึงจะชนะใจผู้คนทั้งปวง”
2.เลือกใช้คนเป็น
เล่า ปี่มักสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมทีม เพราะองค์กรจะเจริญก้าวหน้าไปไม่ได้เลย หากปราศจากการสร้างเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ละเลยคนเก่าที่มีความสามารถ
3.ใช้หลักการกระจายอำนาจ (Empowerment)
การ กระจายอำนาจการบริหารของเล่าปี่จะเห็นได้จากกรณีของขงเบ้ง แม้ขงเบ้งจะมีอายุห่างจากเล่าปีกว่า 20 ปี แต่ก็ให้อำนาจในการบริหารและตัดสินใจได้อย่างอิสระ โดยตนเองทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และสนับสนุนการทำงาน จะเข้ามาแทรกแซงก็ต่อเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างทีมงานเท่านั้น

โจโฉ ผู้นำวุยก๊ก
ลักษณะเด่นของตัวละครตัวนี้ คือ
1.เน้นเรื่องการบริหารคน
โดย เฉพาะการคัดเลือกคนที่มีความสามารถ จัดคนเก่งให้เหมาะกับงานต่างๆ ที่มอบหมาย โดยถือคติที่ว่า “ไม่ว่าแมวขาวแมวดำ จับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี” เป็นการใช้คนแบบไม่คำนึงถึงภูมิหลัง คือดูที่ความสามารถกันจริงๆ ดังนั้นในวุยก๊ก จึงเต็มไปด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพทั้งสิ้น
2.การประเมินผลงานด้วย Result Oriented
การ ประเมินผลงานของโจโฉวัดกันที่ผลลัพธ์ (Result Oriented) ดังนั้นคนที่จะเป็นลูกน้องโจโฉได้ ต้องมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลาเพราะหากอยู่นิ่งเมื่อไหร่ ก็จะถูกผู้มีความสามารถกว่าทำความดีความชอบแซงหน้าไป แต่ด้วยเหตุที่ต้องการผลสำเร็จเป็นสำคัญนี่เอง ทำให้โจโฉต้องติดภาพคนเหี้ยมโหดไปโดยปริยาย
3.การรู้นิสัยและความสามารถของลูกน้อง
สิ่ง นี้เป็นสิ่งที่โจโฉแสดงให้เห็นว่า การมีลูกน้องเก่งเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ คนเป็นหัวหน้าจำเป็นต้องรู้จักลูกน้องอย่างลึกซึ้ง และจัดสรรหน้าที่ให้เหมาะสมกับความสามารถ จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้บริหารที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง
4.มีนิสัยเป็นกันเอง
ซึ่ง เป็นส่วนที่ช่วยให้โจโฉประสบความสำเร็จทางการเมือง เพราะการวางมาดเคร่งขรึมมากเกินไป อาจสร้างความกดดันและความหวาดระแวงให้ลูกน้อง ยามทำงานโจโฉเคร่งเครียดจริงจัง ยามบ้านเมืองปกติมีนิสัยขี้เล่น อารมณ์ขัน พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณในการบริหารงานบริหารคน เหล่านี้คือเสน่ห์ของโจโฉ
5.มีจิตวิทยาในการจัดการลูกน้องสูง
ยก ตัวอย่างกรณี ครั้งเมื่อเอาชนะอ้วนเสี้ยวในศึกกัวต๋อ โจโฉยึดจดหมายลับที่ลูกน้องเขียนไปสวามิภักดิ์ต่ออ้วนเสี้ยวได้มากมาย แต่โจโฉกลับสั่งให้คนนำจดหมายไปเผาทิ้ง ไม่เปิดอ่านแม้สักฉบับเดียว ถือเป็นการซื้อใจลูกน้อง ผลก็คือโจโฉได้ใจลูกน้องกลับมามากมาย นี่คือจิตวิทยาของผู้มีวิสัยทัศน์

ซุนกวน ผู้นำง่อก๊ก
ลักษณะเด่นของตัวละครตัวนี้ คือ
1.เน้นการระดมความคิดของบุคคลากรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
การ ประชุมงานในแต่ละครั้ง ซุนกวนจะระดมสมองจากทั้งขุนนางเก่าและขุนนางใหม่ โดยให้ทุกฝ่ายนำข้อมูลเหตุผลมาวิพากษ์วิจารณ์และถกประเด็นกันเพื่อหาข้อสรุป ที่ดีที่สุด โดยท้ายที่สุดแล้วซุนกวนจะนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจ นโยบายสำคัญต่างๆ
2.วัดคนที่ความสามารถ ไม่ถือรุ่น ไม่ถืออายุ
แม้ ลกซุนจะเป็นเพียงที่ปรึกษาปลายแถว แต่เมื่อซุนกวนรู้ถึงความสามารถที่อยู่ภายใน ก็กล้าที่จะมอบตำแหน่งสำคัญให้ลกซุนบัญชาการรบเพื่อต้านทัพเล่าปี่จนได้รับ ชัยชนะอย่างเด็ดขาด
3.รู้จุดเด่นจุดด้อยลูกน้อง ส่งเสริมการพัฒนาตนเอง
ซุน กวนรู้จุดอ่อนของลูกน้อง และจะพูดจูงใจให้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ จะเห็นได้จากกรณี ลิบอง ที่ซุนกวนเห็นว่าเป็นคนที่มีศักยภาพ แต่ที่บ้านฐานะยากจนขาดโอกาสศึกษาเล่าเรียน จึงให้โอวาทเพื่อให้ใส่ใจการอ่านตำรา จนสามารถสนทนาวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองได้ดี
4.การไว้ใจลูกน้องอย่างมั่นคง
แม้ จะมีขุนนางบางคนที่ชอบใส่ร้ายจูกัดกิ๋นว่าเคยสนิทสนมและอาจสมรู้ร่วมคิดกับ ศัตรู แต่ซุนกวนก็ยังคงให้ความไว้วางใจจูกัดกิ๋น ไม่หลงเชื่อตามคำยุแยงของขุนนางเหล่านั้น
5.ยอมรับคำตำหนิจากลูกน้อง
ซุน กวนยอมรับความผิดของตนเองอย่างตรงไปตรงมา แม้จะมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ไม่เคยโยนความผิดให้ลูกน้องเลย
แม้ว่าก่อนการขึ้นเป็นกษัตริย์ของ ซุนกวน จะไม่วางมาดเจ้านาย ให้เกียรติและเชื่อมั่นในตัวลูกน้อง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ภายหลังการขึ้นครองราชย์กลับกลายเป็นคนดื้อรั้นเอาแต่ใจ หลงคำเยินยอ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวคนเดียว เป็นการบั่นทอนความมั่นคงของง่อก๊ก และนับวันเสื่อมถอยลงทุกที


เปรียบเทียบลักษณะเด่นของตัวละครต่างๆ ที่เหมือนและต่างกัน
1.เรื่อง การสร้างทีมงานที่มีคุณภาพ ทั้งโจโฉและเล่าปี่ต่างตระหนักในความสำคัญของการมีทีมงานที่ดี แต่ต่างกันที่วิธีการดึงคนเข้ากลุ่ม กล่าวคือ โจโฉใช้วิธีการให้รางวัล และผลประโยชน์ แต่เล่าปี่ให้ใจลูกน้อง
2.แนวทางการบริหารของซุนกวนเป็น แบบที่มีคณะกรรมการระดมสมอง ซึ่งต่างจากโจโฉและเล่าปี่ที่รวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง กล่าวคือ โจโฉเป็นแบบผู้นำเผด็จการ และเล่าปี่ มีขงเบ้งเป็น CEO ซึ่งแนวทางของซุนกวนนั้นเป็นการบริหารแบบหลายหัวดีกว่าหัวเดียว แต่ทั้งนี้การระดมสมอง เพื่อทำให้เกิดมุมมองหลากหลายในการปฏิบัติ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและวิจารณญาณของผู้นำด้วย
3.ด้านการบริหารคน โจโฉบริหารแบบ ยึดหลัก "แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ" ส่วนเล่าปี่ยึดหลักการเลือกคนดีมีคุณธรรมมาร่วมอุดมการณ์ ซึ่งแนวทางการบริหารแบบโจโฉนั้น ต้องยอมรับว่าระยะสั้นอาจได้ผลดี มีการแข่งขันกันในองค์กร เพราะวัดคนที่ผลงาน แต่ในระยะยาวอาจเสียหายได้ เพราะแต่ละคนจะเน้นเป้าหมายระยะสั้น ลูกน้องไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรอย่างแท้จริง ยึดเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก

จากลักษณะเด่นของตัวละครสามก๊กที่หยิบยกขึ้นมาข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า ผู้บริหารในเรื่องสามก๊กมีลักษณะต่างๆ ดังนี้
การบริหารคน
1.เลือกใช้คนเป็น (เล่าปี่)
2.เน้นเรื่องการบริหารคน (โจโฉ)
3.การประเมินผลงานด้วย Result Oriented (โจโฉ)
4.การรู้นิสัยและความสามารถของลูกน้อง (โจโฉ)
5.มีนิสัยเป็นกันเอง (โจโฉ)
6.มีจิตวิทยาในการจัดการลูกน้องสูง (โจโฉ)
7.วัดคนที่ความสามารถ ไม่ถือรุ่น ไม่ถืออายุ (ซุนกวน)
8.รู้จุดเด่นจุดด้อยลูกน้อง ส่งเสริมการพัฒนาตนเอง (ซุนกวน)
9.การไว้ใจลูกน้องอย่างมั่นคง (ซุนกวน)
10.ยอมรับคำตำหนิจากลูกน้อง (ซุนกวน)
การบริหารงาน
11.เน้นการบริหารงานด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม (เล่าปี่)
12.ใช้หลักการกระจายอำนาจ (Empowerment) (เล่าปี่)
13.เน้นการระดมความคิดของบุคลากรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ (ซุนกวน)

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 448307เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2011 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท