Nonkhoon
ทิพย์ประมวล เหมียว จันใด

การสานต่อ " เรื่องเล่า"


งานมหกรรมคุณภาพ สสจ.ศรีสะเกษ

การประกวดผลงานวิชาการประเภทเรื่องเล่า 

Narrative  Medicine )

จังหวัดศรีสะเกษ    ประจำปี  2553

วันที่  7  กันยายน   2553

 

 

 

            เป็นครั้งแรกที่ฉันก้าวเข้ามาสู่เป็นกรรมการ การประกวด  Narrative  Medicine  ระดับจังหวัด  หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าใคร ๆ ก็เป็นได้  แต่สำหรับฉันมันคือหนึ่งความภาคภูมิใจที่ฉันได้นำความรู้ความสามารถที่ได้ไปฝึกอบรมกับท่านอาจารย์  ดร.โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์   มาใช้ประโยชน์และต่อยอดให้เกิดเรียนรู้กับอีกหลาย ๆ โรง พยาบาล   เพราะที่ผ่านฉันเป็นเพียงวิทยากรตามโรงพยาบาลต่าง ๆที่สนในเรื่องเล่าเป็นพิเศษเท่านั้น   สำหรับครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งท่านมา  เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่จังหวัดศรีสะเกษมีการเพิ่มประเภทการประกวดจากเดิมที่มีแค่  3  รายการ  อันได้แก่  Poster  Presentation , Oral Presentation                และนวัตกรรม  ส่วนเรื่องเล่าคือน้องใหม่ของการประกวดในปีนี้  แม้จะมีเพียง  22  อำเภอ  แต่จำนวนเรื่องที่ส่งเข้าประกวดมีทั้งหมด  102  เรื่อง  นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่าแม้เรื่องเล่าจะเป็นเรื่องใหม่แต่หลายๆ โรงพยาบาลก็ให้ความสนใจและส่งเรื่องเข้าประกวดอย่างล้นหลาม   ในที่สุด  20  เรื่องที่ผ่านการคัดเลือกก็ต้องเข้ามาเล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆให้คณะกรรมการได้ซึมซับดุจดังพบเจอเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวเอง

            พิธีเปิดเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา  09.00  น.  โดยท่านนายแพทย์วันชัย  เหล่าเสถียร  รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ  ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดพร้อมให้โอวาท  นอกจากนี้ทีมผู้จัดยังได้เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนนอกวงการสาธารณสุขมาร่วมวิพากษ์วิจารณ์และให้ข้อเสนอแนะในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป  ซึ่งการนี้ถือว่าผู้จัดได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ทั้งสามท่าน อย่างดี

บรรยากาศภายในห้องประชุมใหญ่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน  ไม่น่าเชื่อว่าการประกวดการเล่าเรื่องจะมีคนนั่งฟังมากขนาดนี้  เมื่อท่านประธานให้โอวาทเสร็จก็เริ่มด้วยการเล่าเรื่องโดยผู้ผ่านการคัดเลือกในแต่ละระดับ

ระดับสถานีอนามัย 

1. เพราะหนู.........ไม่อาจลิขิตชีวิตตนเอง   โดยศูนย์สุขภาพชุมชนสิ  อ.ขุนหาญ แม้จะเป็นการเล่าเรื่องครั้งแรกแต่ก็สามารถเปิดตัวละครออกมาราวกับนักเขียนมืออาชีพ 

“  ซีบอน  เด็กหญิงอายุประมาณ 2 ขวบ  ผิวสีหมึก รูปร่างผอมบาง  ผมหยิกหย๋อง  สวมเสื้อยืดสีฟ้าตัวเก่า ๆ กางเกงขาสั้นสีเทา  แววตาดูเศร้าหมองแต่ก็ซ่อนเร้นด้วยความเฉลียวฉลาด  มักจะมายืนจดๆจ้องๆมองของเล่นและขนมหลากสี   ที่ถูกจัดวางไว้หน้าร้านขายของชำ และเฝ้ามองผู้คนผ่านไปมาทุกเช้าที่บริเวณหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง …..”

           เป็นไงละ........นี่แค่เริ่มต้น  คนแรกที่เริ่มเล่าเรื่องก็ทำเอากรรมการอึ้งไปตามๆ กันเลย  แต่ที่ฉันชอบคงเป็นเพราะการนำทุกคนเข้าสู่เรื่องเล่าด้วยกลอนอันไพเราะ  บวกกับน้ำเสียงที่ใครๆได้ยินก็ต้องบอกว่า  ช่างเสนาะหูซะเหลือเกิน

2.  ลมหายใจที่เลือกกายไม่ได้   โดยสถานีอนามัยคลี่กลิ้ง   อ.ศิลาลาด  อาจจะ   เนื่องมาจากการเล่าเรื่องโดยใช้ภาษาท้องถิ่นที่ผู้เล่าถนัด  จึงทำให้เจ้าตัวเล่าเพลินจนเลยเวลาที่คณะกรรมการกำหนด       แต่เรื่องเล่าก็ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงวีถีชีวิตของคนอีสานได้อย่างแท้จริง

3.  ลูกดีๆ เอาไว้ให้หมอ   โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลปราสาทเยอ   อ.ไพรบึง  ที่แอบมอบน้อยหน่าสด ๆ ให้คณะกรรมการก่อนเปิดเรื่อง   แต่ขอบอกว่าในฐานะกรรมการเราไม่อาจเพิ่มคะแนนให้ท่านเพียงเพราะน้อยหน่าเพียงหนึ่งลูก  แต่ถ้าหลายลูกก็ไม่แน่  55555555………

แต่บทสรุปสุดท้ายคือคำตอบของเรื่องราวทั้งหมด

“ สิ่งสุดท้ายที่ชายชราผู้หนึ่งได้ฝากให้หมอนามัยไว้เป็นข้อคิด  โดยไม่มีรูปแบบและไม่มีแผนการสอน ว่า.......ถ้าเรามีศรัทธาในการให้ และมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเหมือนคุณตาสุบรรณ์ที่จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ  แต่ความสุขที่เราจะได้รับ คงจะเป็นสิ่งตอบแทนที่หาซื้อไม่ได้จากห้างไหนๆ และเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เพราะมันจะอยู่ในความทรงจำที่เก็บไว้ในใจเสมอ ”

ขอบคุณเพื่อนร่วมงาน  :  ที่ทำให้มีโอกาสมาเล่าสิ่งเล็กๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หมออนามัยคนนี้

ขอบคุณตาสุบรรณ์  :  ผู้ป่วยแผลเบาหวาน   ผู้มอบเรื่องราวน้อยหน่าลูกดีๆ เอาไว้ให้หมอ  และนี่คือน้อยหน่าแสนวิเศษ   ที่สอนหมออนามัยคนหนึ่งให้รู้จักการให้มากขึ้น   ซึ่งเป็นการสอนที่แยบยลอย่างหาที่เปรียบมิได้  สอนให้หมออนามัยรู้จัก  "การให้ด้วยหัวใจ"  อย่างแท้จริง

ขอบคุณความตาย  :  ที่สอนให้คนเห็นค่าของคนมากขึ้น   

สิ้นเสียงพูดของเจ้าของเรื่องเล่า  เสียงตบมือก็ดังสนั่นหวั่นไหว  แม้เพียงแค่คำขอบคุณยังทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนถึงการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

4.  ชีวิตนี้.......มีความหวัง    โดยสถานีอนามัยเมืองแคน  อ.ราษีไศล  การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีน้องชายเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว  และแม่  หญิงชราผู้มีสามีติดการพนันแม้จะไม่มีข้าวกินก็ยังขอให้ได้เล่นการพนัน  แต่สุดท้ายลูกชายคนโตที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์ทางด้านร่างกายมากกว่าคนอื่นจากที่ไม่เคยสนใจครอบครัว  หลังจากที่เจ้าหน้าได้เข้าไปพบเจอ  ก็เกิดจุดพลิกผันของชีวิตทำให้เขาคิดได้และกลับมาดูแลพ่อ – แม่  น้องทั้งสองคน

5.  รักที่พูดไม่ได้    โดยสถานีอนามัยหนองไฮ  อ.เมือง   หญิงชราอายุ  75  ปี  ดุแลลูกๆที่เป็นใบทั้ง  5  คน   หนำซ้ำลูกคนแรกนอกจากจะเป็นใบแล้วยังตาบอดอีกต่างหาก  ........ฮื่อๆ.....ฮื่อๆ......เรื่องนี้ทั้งเศร้าและรันทด  ......ยิ่งตอนผู้เล่านำเสนอภาพบ้านของหญิงชราผู้นี้ยิ่งทำให้ฉันเกิดคำถามกับตัวเองว่า.....นี่เหรอคือบ้านของคนที่อยู่ในชุมชนเมือง   บ้านที่ห่างไกลจากถนนลาดยางประมาณ  500  เมตร  มีเส้นทางแคบ ๆ เพียงทางเดียวที่จะใช้ในการเดินทางเข้า –ออก  พื้นเป็นดินที่มีน้ำขังเฉอะแฉะ  บางจุดเป็นโคลนตมยากแก่การสันจร  หากต้องเดินทางเข้าไปคงต้องสวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันโรคฉี่หนูด้วยแน่ๆ  น่าเสียดายไม่วันนี้ฉันไม่สามารถขอรูปบ้านหญิงชราผู้นี้มาให้ดูได้  ไม่งั้นคงเห็นภาพที่ชัดเจนมากกว่านี้ 

           นี่เป็นเพียง  5  เรื่องที่ผ่านการคัดเลือกในระดับสถานีอนามัยโดยคณะกรรมการเท่านั้น  คราวหน้าจะนำเรื่องเล่าที่ผ่านการคัดเลือกในระดับโรงพยาบาลขนาด  30 เตียงมาให้อ่านละกันนะค่ะ  รับรอง!!! สนุกไม่แพ้ระดับสถานีอนามัยแน่นอน

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 447898เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2011 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท