มะละกอกับบทบาทยาแผนไทย


มะละกอมีสรรพคุณในการแก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ถ่ายพยาธิ ขับประจำเดือน แก้โรคระดู ยาบำรุงธาตุ

มะละกอกับบทบาทยาแผนไทย

                 หลายวันมานี้มีความรู้สึกว่าอยากกินมะละกอเหลือเกิน หากเป็นสมัยเด็กๆ ที่อยู่บ้านไร่กับปู่ยาแล้ว ก็คงไปปีนต้นมะละกอเพื่อเด็ดมะละกอสุกมาผ่าแล้วใช้ช้อนควักกินให้อิ่มเปรมเลย แต่มาตอนนี้ก็ต้องพึ่งแม่ค้าตลาดสะพานดำแล้วหล่ะ ซึ่งก็ได้มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์มาแทนพันธุ์แขกดำ และพันธุ์พื้นเมือง จึงลองสืบค้นดูสิว่ามะละกอมีอะไรดีนักหนาบ้าง ตอนนี้คงเสนอเกี่ยวกับข้อมูลมะละกอโดยทั่วไป และ บทบาทของมะละกอในฐานะยาแผนไทยครับ ดังนี้

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carica papaya Linn.

ชื่อวงศ์ : CARICACEAE

ชื่อสามัญ : Papaya, Papayo, Pawpaw, Tree Melon

ชื่ออื่น : มะก้วยเทศ, แตงตัน (เหนือ), หมักหุ่ง, บักหุ่ง, บักกอ (อีสาน), ลอกอ(ใต้), แตงต้น(สตูล), ก้วยลา(ยะลา), มะเต๊ะ(ปัตตานี)

ลักษณะ : เป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน สูง 3 - 6 เมตร ลำต้นตั้งตรงไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นกลวง ไม่มีแก่น ผิวขรุขระเป็นร่องตามยาว ต้นอวบน้ำ มียางขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับรอบต้นบริเวณยอด ใบรูปฝ่ามือเว้าเป็นแฉกลึก 7 แฉก ขนาดใหญ่ ดอก มีหลายประเภท คือดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อ ดอกตัวเมียและดอกสมบูรณ์เพศเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อ 2 - 3 ดอก สีนวล ผลเป็นผลสด รูปยาวรี ทรงกระบอก หรือกลม ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียว เนื้อสีขาว เมื่อแก่หรือสุกเต็มที่ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม เนื้ออ่อนนุ่ม เมล็ดมีสีดำ หรือสีน้ำตาลดำ มียางสีขาวข้นตามลำต้น

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล ราก ก้านใบ และยาง

สรรพคุณ ขนาดและวิธีใช้ : แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ถ่ายพยาธิ ขับประจำเดือน แก้โรคระดู ยาบำรุงธาตุ     

  • แก้ธาตุไม่ปกติ แก้โรคกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แก้ร้อนใน รับประทานผลมะละกอ ขับพยาธิเส้นด้าย และช่วยขับลม  
    • ใช้ยางสดของมะละกอดิบ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมไข่ไก่ 1 ฟอง ทอดกินตอนเช้าขณะท้องว่าง
    • ใช้ยางสดมะละกอดิบ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำร้อน 3-4 ช้อนโต๊ะ กินครั้งเดียวจนหมดเมื่อครบ 2 ชั่วโมง กินน้ำมันละหุ่ง 2-3 ช้อนชาตาม กินติดต่อกัน 2 วัน
    • ใช้เมล็ดมะละกอแก่ ๆ สด หรือ แห้ง 1-2 ช้อนชา คั่วแห้งบดละเอียด เติมน้ำผึ้งพอสมควร กินติดต่อกัน 2-3 วัน
  • พิษตะขาบต่อย  ให้กรีดลูกมะละกอดิบ เอายางที่ไหลซึมออกมานั้นป้ายลงที่แผล ซึ่งถูกตะขาบต่อย อาการปวดจะดีขึ้น
  • ลดความดันโลหิต  เอารากมะละกอตัวผู้ (เอารากทางทิศตะวันออก ตัดหัวปลายรากทิ้งเสีย) 1 กำมือ กับสารส้ม (ก้อนขนาดเท่าหัวแม่เท้า) 1 ก้อน ต้มน้ำพอควร ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2-3 ครั้ง มีสรรพคุณลดความดันโลหิตสูง ให้เป็นปกติ ได้ผลดี
  • แก้เมาสารหนู  เอาลูกมะละกอต้มเอาน้ำกิน ก็จะหาย
  • รักษาแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง  เอาใบต้นมะละกอสดมากน้อยตามต้องการ ล้างสะอาด ตำให้แหลก พอกบริเวณที่เป็นแผล รักษาแผลเน่าเปื่อยเรื้อรังได้ผลดี
  • แก้แผลอักเสบ  เอายางมะละกอ (ที่กรีดออกจากลูกมะละกอ) นำมายัดไส้เต็มบาดแผลที่ถูกตะปูตำ มีสรรพคุณป้องกันการอักเสบ ไม่เกิดปวดบวม ได้ผลดี
  • ระบายท้องแก้ท้องผูก  รับประทานผลมะละกอสุกบ่อยๆ ทำให้ท้องไม่ผูก จะไม่เป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก
  • แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  เอารากต้นบานไม่รู้โรย สีขาว 1 กำมือ กับรากมะละกอตัวผู้   1 กำมือ สับเป็นท่อนใส่หม้อดิน ต้ม น้ำ 1 เอา 1 ใช้น้ำยารับประทาน 1 แก้วกาแฟ เพียงครั้งเดียว มีสรรพคุณแก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ผลชะงัด
  • แก้โรคปวดฟัน  เอาเปลือกต้นมะละกอกับเกลือทะเล ใส่ หม้อดิน ต้มน้ำพอควร เคี่ยวให้เดือดนานสักครู่หนึ่ง ใช้น้ำยาอมเวลา เช้า-เย็น โรคปวดฟันจะหายภายใน 3 วัน เคยใช้รักษาได้ผลดีชะงัด
  • รักษาโรคหูด เอายางมะละกอ นำมาทาที่หัวหูด วันละครั้ง 3-5 วัน หัวหูดจะหลุดไป ได้ผลดีชะงัด แก้อาการปวดบวม แก้ไขข้ออักเสบ โดยนำใบสดมาตำพอกปิดที่แผล

ข้อควรรู้ : ยางจากผลดิบ สามารถนำมาใช้ย่อยเนื้อสัตว์ให้เปื่อยได้ และใช้ผสมในเครื่องสำอางลบรอยฝ้าและจุดด่างดำบนใบหน้า

อ้างอิง http://muaykung18.exteen.com/20090719/entry-13

 

แล้วต่อๆ ไป จะรวบรวมบทบาทของมะละกอในบทบาทอื่นๆ มาให้อ่านเล่นๆ กันนะครับ ได้ประโยชน์อย่างไรอย่าลืมแบ่งปันและเล่าสู่กันฟังนะครับ….

 

:).

คำสำคัญ (Tags): #มะละกอ#ยาแผนไทย
หมายเลขบันทึก: 447860เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท