ป่าชายเลน


ป่าชายเลน

ความรู้พื้นฐาน เรื่องทั่วไป เกี่ยวกับป่าชายเลน 


          ป่าชายเลน หมายถึง กลุ่มสังคมพืชซึ่งขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลในเขตน้ำทะเลลงต่ำสุดและน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พบได้ในบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และเกาะ ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำเค็มในมหาสมุทรและน้ำจืดจากแผ่นดิน รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้พืชที่ขึ้นในป่าชายเลนมีลักษณะทางสรีรวิทยาและการปรับตัวทางโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ได้ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไม้สกุลโกงกาง (Rhizophoraceae) เป็นสำคัญ และมีไม้สกุลอื่นขึ้นปะปน

          ระบบนิเวศป่าชายเลน (Mangrove ecosystem) เป็นระบบนิเวศที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อ (Ecotone) ระหว่างผืนแผ่นดินกับพื้นน้ำทะเลในเขตร้อน (Tropical region) และกึ่งร้อน (Subtropical region) ของโลก ซึ่งมีป่าชายเลนขึ้นอยู่ เป็นระบบที่นำเอาทรัพยากรน้ำ ดิน และแร่ธาตุต่างๆ จากบกและทะเลมาปรุงแต่งให้เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและคุณค่าสูง ขณะเดียวกันตัวเองจะทำหน้าที่เป็นป้อมปราการที่คอยปกป้องและรักษาไว้ซึ่งความสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหาร (Food chain) ของมวลมนุษย์ชาติอย่างยั่งยืน ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาลและมีความสำคัญต่อมนุษย์หลายรูปแบบ คุณประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การใช้ประโยชน์จากไม้ชายเลนเพื่อเผาถ่าน เนื่องจากต้นไม้ป่าชายเลนปลูกง่ายและโตเร็ว จึงมีรอบการตัดเร็วกว่าป่าบกหลายเท่า ไม้ในป่าชายเลนนอกจากใช้เผาถ่านแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ คือ ใช้เป็นไม้ฟืน ไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง ทำแพปลา อุปกรณ์ประมง และเฟอร์นิเจอร์ ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งทำมาหากินของคนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลโดยอำนวยปัจจัยการดำรงชีพหลายประการ เช่น ไม้สำหรับใช้กับอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เปลือกไม้บางชนิดใช้ย้อมแหอวนเพิ่มความทนทาน น้ำผึ้งจากรังผึ้งในป่าชายเลน ผลของต้นจากกินเป็นของหวาน ใบจากใช้มวนยาสูบและมุงหลังคา ตัวหนอนและสัตว์น้ำเป็นอาหารที่สำคัญ พืชหลายชนิดใช้เป็นยารักษาโรค เช่น เหงือกปลาหมอ ตาตุ่ม นอกจากนี้ชาวบ้านยังประกอบอาชีพการประมงชายฝั่งโดยการจับสัตว์น้ำในป่าชายเลนอีกด้วย

           ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเลที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เมื่อได้รับความเสียหายจากพายุ ป่าชายเลนช่วยลดความรุนแรงจากพายุไม่ให้บ้านเรือนชายฝั่งต้องเสียหาย คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลจึงมักปลูกไม้ชายเลนไว้เป็นแนวหนาทึบเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงจากคลื่นลม ในขณะเดียวกันป่าชายเลนยังทำหน้าที่ดักกรองสิ่งปฎิกูล และสารก่อมลพิษต่างๆ ที่ไหลปนมากับน้ำไม่ให้ลงสู่ทะเล ตะกอนต่างๆ จะถูกซับไว้รวมถึงคราบน้ำมันจากเครื่องยนต์เรือและที่รั่วไหลก็จะถูกดูดซับไว้เช่นกัน

           ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ หาอาหาร และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น กุ้ง ปูทะเล หอยนางรม ปลากระบอก ปลากะรัง นอกจากนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารของท้องทะเล เป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยการย่อยสลายซากพืชเป็นอินทรีย์สารที่มากถึง 1 ตันของน้ำหนักแห้งต่อขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศอื่นอย่างใกล้ชิดทั้งปะการังและหญ้าทะเล

           ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่ค่อนข้างจะมีลักษณะเป็นเอกภาพ เนื่องจากป่าประเภทนี้ขึ้นอยู่เฉพาะในแถบร้อน และอยู่ตามชายฝั่งทะเลระหว่างบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด องค์ประกอบและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศป่าชายเลนประกอบด้วยส่วนที่เป็นโครงสร้างของระบบนิเวศและส่วนที่เป็นหน้าที่หรือกิจกรรมของระบบนิเวศ

           โครงสร้างส่วนที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ พวกอนินทรีย์ เช่น ธาตุอาหาร แร่ธาตุ น้ำ ส่วนพวกอินทรีย์ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ โครงสร้างส่วนที่มีชีวิต ประกอบด้วย ผู้ผลิต คือพวกที่สร้างอาหารได้เอง เช่น สาหร่ายและพืช ผู้บริโภค ไม่สามารถสร้างอาหารได้ต้องพึ่งพาอาศัยผู้ผลิต เกิดการถ่ายทอดพลังงานเป็นห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมีหลายระดับ คือ กลุ่มกินพืชเป็นอาหาร เช่น แพลงก์ตอน กุ้ง ปู หอย กลุ่มที่กินสัตว์เป็นอาหาร เช่น ปลา นก และกลุ่มที่กินทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่ มนุษย์ ผู้ย่อยสลาย ได้แก่ พวกจุลินทรีย์ ทำหน้าที่ย่อยซากพืช ซากสัตว์ที่ตายลง เกิดเป็นธาตุอาหารวนเป็นวัฏจักรคืนสู่ดินเพื่อประโยชน์ต่อผู้ผลิตต่อไป

           พันธุ์ไม้ในป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ในพื้นที่ป่าชายเลน มีความหลากหลายและมีชนิดของพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศในแต่ละแห่ง แต่ส่วนมากแล้วจะพบมากในบริเวณดินโคลนตามริมฝั่งทะเล แม่น้ำ ลำคลอง เกาะ ทะเลสาบ และอ่าวที่มีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญคือ บริเวณดังกล่าวมักจะไม่มีคลื่นลมแรง สำหรับประเทศไทยจะพบได้ในบริเวณจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออก ภาคกลาง และในแถบจังหวัดภาคใต้ พันธุ์ไม้ที่สำคัญบางชนิดที่ขึ้นอยู่ในป่าชายเลนแบ่งออกตามวงศ์และสกุลต่างๆ ดังต่อไปนี้
               1. สกุลโกงกาง ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่
               2. สกุลไม้ประสัก ได้แก่ พังกาหัวสุม ประสัก ถั่วดำ ถั่วขาว และรุ่ย 
               3. สกุลไม้โปรง ได้แก่ โปรงแดง และโปรงขาว
               4. สกุลไม้แสม ได้แก่ แสมทะเล แสมขาว แสมดำ และสำมะง่า
               5. สกุลไม้ลำพู ลำแพน ได้แก่ ลำพูทะเล ลำแพน และลำแพนหิน หรือลำแพนทะเล
               6. สกุลไม้ตะบูน ได้แก่ ตะบูนขาว ตะบูนดำ และตะบัน
               7. สกุลไม้ฝาด ได้แก่ ฝาดแดง และฝาดขาว
               8. สกุลเหงือกปลาหมอ ได้แก่ เหงือกปลาหมอดอกสีฟ้าหรือนางเกรง และเหงือกปลาหมอดอกสีขาว
               9. สกุลไม้ตีนเป็ด ได้แก่ ตีนเป็ดทะเล และตีนเป็ดน้ำ
             10. หงอนไก่ทะเล
             11. ตาตุ่มทะเล
             12. เล็บนาง 
             13. แคทะเล
             14. มังคะ
             15. เทียนทะเล
             16. จาก 
             17. ไม้พื้นล่างในป่าชายเลน ถ้าหากเป็นพื้นที่มีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เสมอๆ มักจะไม่ค่อยพบ แต่หากบริเวณนั้นมีตะกอนมาทับถมจนระดับสูงขึ้นกลายเป็นที่ดอนขึ้นมา มักจะมีพันธุ์ไม้ล่างขึ้นอยู่ ได้แก่ ปรงทะเล ต้นเหงือกปลาหมอดอกสีขาว ปอทะเล โพธิ์ทะเล และเป้ง เป็นต้น 
             18. กล้วยไม้ในป่าชายเลน ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี มีลักษณะเด่นในเรื่องของสีและรูปร่างของดอกที่จะนำไปผสมพันธุ์ ที่สำคัญมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ รองเท้านารีสีขาว รองเท้านารีเหลืองตรัง รองเท้านารีจังหวัดกระบี่ รองเท้านารีม่วงสงขลา และรองเท้านารีช่องอ่างทอง
             19. พันธุ์ไม้ผลัดใบในป่าชายเลน พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังปรากฏว่ามีพันธุ์ไม้ผลัดใบบางชนิดปะปนอยู่ด้วย ได้แก่ ไม้ตาตุ่มทะเล ตะบันหรือตะบูนดำ ลำแพน เป็นต้น

           สัตว์ที่พบในป่าชายเลน ได้แก่ ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลากระบอก ปลากะพง ปลานวลจันทร์ ปลากะรัง ปลาตีน เป็นต้น นอกจากนี้มีกุ้งประมาณ 15 ชนิด ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ กุ้งกระเปาะหรือกุ้งกระต่อม ปูที่พบมีประมาณ 7 สกุล 54 ชนิด ที่สำคัญได้แก่ ปูแสม ปูก้ามดาบ ปูทะเลหรือปูดำ หอยที่พบในป่าชายเลนมีหอยฝาเดียวไม่น้อยกว่า 17 ชนิด เช่น หอยดำ หอยขี้นก หอยขี้กา หอยจุ๊บแจง เป็นต้น ส่วนหอยสองฝาอีกหลายชนิด เช่น หอยนางรม หอยเยาะ หอยแมลงภู่ เป็นต้น สัตว์ปีกที่พบในป่าชายเลนมีทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่นมากกว่า 100 ชนิด เช่น นกยางควาย นกยางกรอก นกหัวโต เหยี่ยว เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีไม่น้อยกว่า 39 ชนิด ที่พบทั่วไปได้แก่ ค้างคาว ลิงกัง นาก แมวป่า สัตว์เลื้อยคลานอีกอย่างน้อย 25 ชนิด รวมทั้งงูชนิดต่างๆ กิ้งก่า เต่า จระเข้ เป็นต้น นอกจากนี้มีแมลงชนิดต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 38 ชนิด เช่น ผีเสื้อชนิดต่างๆ หนอนผีเสื้อ หนอนกอ แมลงปีกแข็ง ยุง ริ้น และเพลี้ย เป็นต้น สำหรับบริเวณรอยต่อระหว่างป่าชายเลนและป่าบกในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย จะมีสัตว์กลุ่มกุ้ง-ปูชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แม่หอบ (Thalassina anomala) ซึ่งขุดรูและสร้างมูลดินสูงที่ปากรูขนาดต่างๆ กัน รูของสัตว์ชนิดนี้จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลท่วมไม่ถึง อินทรียวัตถุในดินซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ชนิดนี้จะถูกย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารพืชและสัตว์ นับได้ว่าแม่หอบมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของป่าบริเวณที่เป็นรอยต่อ หรือที่เรียกว่า Ecotone เป็นอย่างมาก

           ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมวลมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมากมาย โดยมีรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งจำแนกได้ดังนี้
               ประโยชน์ทางตรง
              1. ที่อยู่อาศัย ไม้จากป่าชายเลนใช้สร้างบ้านเรือน สะพาน และการก่อสร้างอื่นๆ สำหรับกิจกรรมการเกษตรและการประมง เป็นต้น
              2. พลังงาน ป่าชายเลนจะให้ผลผลิตในรูปของไม้ฟืนและไม้เผาถ่านที่ให้ความร้อนสูง 
              3. อาหาร โคลนตมในป่าชายเลนจะเป็นที่อยู่อาศัยของแหล่งผลิตอาหารโปรตีนที่สำคัญอันได้แก่ หอย ปู และบริเวณที่เป็นป่าชายเลนยังเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลาก่อนเติบใหญ่ออกสู่ท้องทะเล
              4. ยารักษาโรค ป่าชายเลนเป็นแหล่งของสมุนไพรหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคภัยต่างๆ
              5. สารเคมีและอื่นๆ พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนหลายชนิดสามารถนำมากลั่นเอาสารเคมีที่มีประโยชน์เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆได้หลายชนิด เช่น แทนนิน แอลกอฮอล์ กรดน้ำส้ม และน้ำมันดิน เป็นต้น รวมทั้งของป่าบางชนิด เช่น กล้วยไม้ รังผึ้ง ฯลฯ
              ประโยชน์ทางอ้อม
             1. ด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเล
                  • ป่าชายเลนเป็นแนวกำบังภัยธรรมชาติ เช่น ป้องกันลม พายุมรสุมและป้องกันการพังทลายของดินตามแนวชายฝั่งทะเล 
                  • ป่าชายเลนช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน เช่น รากหายใจ รากดูดอาหาร และรากค้ำยันจะทำหน้าที่คล้ายตะแกรงตามธรรมชาติคอยกลั่นกรองสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มากับกระแสน้ำ ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองและชายฝั่งทะเลสะอาดขึ้น
                  • ป่าชายเลนช่วยทำให้แผ่นดินบริเวณชายฝั่งทะเลงอกขยายออกไปในทะเล รากของต้นไม้ในป่าชายเลนนอกจากจะช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษแล้ว ยังทำให้ตะกอนที่แขวนลอยมากับน้ำตกทับถมเกิดเป็นแผ่นดินงอกใหม่ ขยายออกไปในทะเลเกิดเป็นหาดเลนอันเหมาะแก่การเกิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้เป็นอย่างดี 
             2. ด้านระบบนิเวศวิทยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสมดุลในตัวของมันเอง ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็จะส่งผลให้ระบบความสัมพันธ์นี้ถูกทำลายและเกิดผลเสียตามมา ตัวอย่างเช่น หากพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุก จำนวนสัตว์น้ำลดลงตามและอาจก่อให้เกิดการเน่าเสียของน้ำ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนที่นับว่าส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน ของประเทศไทยที่ผ่านมาประกอบด้วยรูปแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้ 
                    1. การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนใหญ่เกิดจากการทำนากุ้ง ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีมีการทำลายพื้นที่ป่าชายเลนอย่างกว้างขวาง จากการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศพบว่าประมาณร้อยละ 64.3 ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกทำลายเกิดจากธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
                    2. การทำเหมืองแร่ พื้นที่ป่าชายเลนมีการทำเหมืองแร่กันอย่างกว้างขวางมานานแล้ว โดยเฉพาะเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ดีบุกซึ่งจะพบมากในจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต 
                    3. การเกษตรกรรม พื้นที่ป่าชายเลนส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรเนื่องจากปัญหาดินเค็มจากน้ำทะเลท่วมถึงและอาจมีผลทำให้เกิดดินเปรี้ยวในภายหลัง ซึ่งนับว่าไม่คุ้มกับการลงทุนและทำให้พื้นที่ป่าชายเลนที่มีค่าต้องสูญเสียไป อย่างไรก็ตามยังคงมีพื้นที่บางส่วนที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ในการเกษตรกรรม 
                    4. การขยายตัวของแหล่งชุมชน การพัฒนาแหล่งชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนพบเห็นได้ในหลายจังหวัดเช่น จังหวัดชลบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่จะพัฒนาในรูปแบบของนิคมสหกรณ์การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การสร้างสถานที่ศึกษาและสถานที่ราชการ ตลอดจนการถมที่และการทิ้งขยะมูลฝอย เป็นต้น
                    5. การสร้างท่าเทียบเรือ อดีตในป่าชายเลนมีการสร้างท่าเทียบเรือกันมากและจะมีโครงการขยายมากขึ้นในอนาคตในท้องที่จังหวัดชายฝั่งทะเล การสร้างท่าเทียบเรือในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนเท่าที่ทำมาแล้วคือ ในจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา และสตูล
                    6. การสร้างถนนและสายส่งไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดถนนจากตัวเมืองผ่านพื้นที่ป่าชายเลนไปยังท่าเทียบเรือหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล 
                    7. การอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านับว่ายังมีน้อยในพื้นที่ป่าชายเลน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมประมง เช่น โรงงานทำปลาป่น โรงงานทำกุ้งแห้ง เป็นต้น 
                    8. การขุดร่องน้ำ แม้จะมิได้กระทำในพื้นที่ป่าชายเลนโดยตรง แต่ในบริเวณเส้นทางเดินเรือหรือร่องน้ำที่ผ่านป่าชายเลน เมื่อมีการขุดร่องน้ำเรือขุดจะพ่นดินเลนหรือทรายที่ขุดลอกจากบริเวณท้องน้ำลงไปในพื้นที่ป่าชายเลน
                    9. การทำนาเกลือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนาเกลือได้ดำเนินการอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ
                  10. การตัดไม้เกินกำลังผลิตของป่า เนื่องจากในปัจจุบันความต้องการใช้ถ่านและฟืนมีเป็นจำนวนมาก และประกอบกับมีการเผาถ่านที่ผิดกฏหมายเป็นจำนวนมาก ทำให้ป่าชายเลนหลายแห่งเสื่อมสภาพและมีความสมบูรณ์ต่ำ

                ป่าชายเลนของประเทศไทยนั้น ขึ้นกระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว พบว่า ในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,227,647 ไร่ และลดลงในปี พ.ศ. 2539 เหลือพื้นที่ป่าเพียง 1,047,390 ไร่ แต่ต่อมาหลังจากที่มีโครงการปลูกป่าในหลายพื้นที่เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนที่สูญเสียไป ซึ่งทำให้ในปี พ.ศ. 2543 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนเหลืออยู่ 1,525,997.67 ไร่ สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการปลูกป่าฟื้นฟูในพื้นที่ป่าชายเลนของโครงการฟื้นฟูนิเวศป่าชายเลน เทอดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา ประกอบด้วย พื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกจะทำการปลูกขึ้นมาใหม่และพื้นที่ป่าชายเลนที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ จะทำให้การปลูกและปรับปรุงสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา

คำสำคัญ (Tags): #ป่าชายเลน
หมายเลขบันทึก: 447727เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท