วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่ รากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาระยะยาว


วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ประกอบด้วย ทักษะหลัก ๓ ด้าน คือ ทักษะรู้เท่าทัน ทักษะการใช้อย่างสร้างสรรค์ และ ทักษะด้านกติการพื้นฐาน

           ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านไอซีทีในประเทศไทย  พบว่าสังคมไทยมีสถานการณ์หลักๆ ๔ ด้าน คือ (๑) “ตื่นเต้น” กับการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นโยบายบรอดแบรนด์แห่งชาติ รวมทั้ง 3G การเปิดตัว iPad การใช้สมาร์ทโฟนในการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น facebook.com (๒) “ตื่นตัว” กับการให้ความสำคัญในการพัฒนาความรู้ในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ ต้องใช้เป็นมากกว่าที่จะใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนา (๓) สังคมไทยเคย “ตื่นตระหนก” กับปัญหาความเสี่ยงด้านเด็กกับไอซีทีทั้ง ๓ ด้าน คือ การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ พฤติกรรมการใช้ไอซีทีอย่างไม่เท่าทัน เช่น การถูกล่อลวง หรือใช้เพื่อทำร้ายผู้อื่น และ การใช้ไอซีทีมากเกินไปจนเข้าข่ายการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต เป็นต้น แต่สุดท้าย (๔) ในด้านการจัดการปัญหา กลับพบว่า  สังคมไทยเพียงแค่ “ตื่นตูม” กับการจัดการปัญหาข้างต้น การจัดการเน้นการจัดการเพียงแค่ความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็นการสร้างโอกาสในการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ โดยการจัดการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นการจัดการทีละส่วน ทีละเรื่องของแต่ละหน่วยงาน อีกทั้ง ไม่ได้มีความต่อเนื่องและมักจะขยับตามนโยบายทางการเมือง 
         ทั้งหมดข้างต้นเป็นสถานการณ์และการจัดการที่เกิดขึ้นแบบฉาบฉวย ไม่ได้ลงลึกไปถึงการสร้างวัฒนธรรมในการจัดการ เราจึงยังคงเห็นปัญหาเดิมย้อนกลับมาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว
        วันนี้เราจึงต้องเริ่มต้นกับการปฏิรูประบบการจัดการโดยเน้นแนวคิดเรื่อง “การสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่”  โดย วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ ประกอบด้วยทักษะหลักๆ ๓ ส่วนคือ การรู้เท่าทันสื่อใหม่ การใช้สื่อใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนา และ กติกาพื้นฐานในการใช้สื่อใหม่
      ทักษะแรก การรู้เท่าทันสื่อใหม่ เป็นการสร้างทักษะในที่จะรู้เท่าทัน และ รู้จักที่จะเลือกรับ เลือกบริโภคสื่อ ทั้ง (๑) การรู้เท่าทันในข้อมูลข่าวสาร เพื่อที่จะสามารถแยกแยะได้ว่าว่าข้อมูลใดไม่ปลอดภัย ข้อมูลใดสร้างสรรค์ ข้อมูลใดน่าเชื่อถือ ข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง รวมไปถึง ระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ ซึ่งเป็นทักษะในการแยกแยะว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับช่วงวัยใด (๒) การเท่าทันการสื่อสาร เป็นการรู้จัก และ เข้าใจรูปแบบของการสื่อสาร รูปแบบของการทำธุรกิจของสื่อ และ (๓) การเท่าทันเทคโนโลยี เพื่อรู้จักที่ละเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม รวมถึง รู้เท่าทันภัยที่จะมากับเทคโนโลยี 
     ทักษะที่ ๒ การใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ในทุกวันนี้เราเริ่มเห็นเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที ที่ใช้ไอซีทีเพื่อเครื่องมือในการพัฒนาทั้งตนเอง หมายถึง การรู้จักเลือกใช้เครื่องมือไอซีทีที่เหมาะสมกับประเภทของงาน รู้จักการบริหารจัดการเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 
        นอกจากนั้น ยังเริ่มเห็นเครือข่ายเด็กที่ใช้ไอซีทีเพื่อเครื่องมือในการพัฒนา ชุมชน และ สังคมใน ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก กลุ่มใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา โดยเฉพาะระบบ e learning เช่น นักเรียนจากโรงเรียนระยองวิทยาคม กลุ่มที่สอง ใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาการสื่อสารภาคพลเมือง เช่นนักข่าวจิ๋วไซเบอร์จากโรงเรียนสวนหม่อน จากจังหวัดโคราช หรือ นักข่าวกลุ่มเพื่อนหญิงจากจังหวัดเชียงราย กลุ่มที่สาม การใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนสังคม เช่น กลุ่มเด็กยิ้ม จากจังหวัดเชียงราย ที่ทำเว็บไซต์ www.dekyim.org เพื่อสื่อสารเรื่องราวของเด็กไร้สัญชาติว่าเป็นมนุษย์ที่สามารถทำความดีให้กับสังคมไทยได้เช่นกัน กลุ่มถัดมา ใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาซอฟท์แวร์ ทั้ง การพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ รวมไปถึง ซอฟท์แวร์เพื่อช่วยเหลือคนพิการ เป็นต้น และ สุดท้าย กลุ่มที่ใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น www.designiti.com ที่ใช้แนวคิดเรื่องการทำธุรกิจผนวกเข้ากับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดเว็บไซต์ที่นักออกแบบจะออกแบบเสื้อแล้วให้เครือข่ายช่วยกันโหวต แบบใดได้ผลิตจริงผู้ออกแบบก็จะได้ส่วนแบ่งจากการผลิต  
          ยังไม่นับกลุ่มเทพ ๔ องค์ที่เป็นเครือข่ายเด็กที่เล่นเกมแล้วสามารถใช้ความสามารถของตนเองผนวกเข้ากับความชอบเรื่องเกม ทั้ง “เทพนักเขียนวิจารณ์เกม” ที่ใช้ทักษะด้านการเขียน การอ่าน “เทพนักพัฒนาซอฟท์แวร์เกมคอมพิวเตอร์” ที่ใช้ทักษะด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ “เทพนักกีฬาเกมคอมพิวเตอร์” ที่มีตารางการฝึกการเล่นเกมไม่เกินวันละ ๓ ชั่วโมง “เทพนักบริหารชุมชนเกม” หรือ Game Master ที่รู้จักกันทั่วไปว่า GM ที่ต้องใช้ทักษะด้านการบริหารจัดการ 
       ทักษะที่ ๓ ทักษะความรู้ และ รู้ัจักการเคาพกติกาพื้นฐานในการใช้สื่อใหม่ ที่กำลังต้องการความชัดเจนในการก่อร่างสร้างความคิดและแนวปฎิบัติระหว่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น การเคารพผู้อื่น การไม่ทำร้ายผู้อื่น พูดง่ายๆก็คือ ศีล ๕ นั่นเอง และยังขยายรวมไปถึง วัฒนธรรมการแบ่งปันอย่างเคารพสิทธิ ซึ่งกำลังเติบโตมากในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือ ครีเอทีฟคอมมอน
       ภายใต้แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบและกลไกในการสนับสนุน ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการใน ๔ ส่วนประกอบกัน เริ่มจาก การขยายกลุ่มตัวอย่างความสำเร็จของทั้งเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที เครือข่ายเทพ ๔ องค์ ให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้น การจัดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเครือข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแนวร่วมในการทำงาน ต่อมาก็คือ การทำให้วัฒนธรรมสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตประจำวันของคนในสังคมผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ นอกจากนั้น ยังต้องมีการเร่งผลักดันระบบกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนให้เกิดการขยายผลทั้ง การพัฒนาเนื้อหา พัฒนาเครือข่าย พัฒนาความรู้ระหว่างเครือข่าย และ สุดท้าย การสร้างกลไกในการบริหารจัดการเพื่อความต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลไกในระดับท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทหลักในการสนับสนุนการทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมไปกับเครือข่ายทางสังคม และ กลไกในระดับกลาง อย่าง กสทช. เช่น อบจ มีนโยบายประจำในการสนับสนุนเด็กๆในพื้นที่ในการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ และทำงานร่วมกับ คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เป็นต้น
        เมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อนประเทศเกาหลีมีจุดยืนชัดเจนร่วมกันทั้งประเทศว่าจะเป็นผู้นำด้านสินค้าส่งออกเชิงวัฒนธรรม ทำให้เกาหลีแบ่งยุคของการจัดการด้านไอซีทีเป็น ๔ ยุค และนโยบายนี้ไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มจากการสร้างความเชื่อเพื่อทำให้เห็นความจำเป็นของการใช้ไอซีทีให้กับคนในเกาหลี ต่อมาจึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่อด้วย การพัฒนาเสถียรภาพในการใช้งานเพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ สุดท้าย คือระยะของการพัฒนาเรื่องการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการป้องกันภัย 
        ในขณะที่ไทยมีเพียง ๒ ยุคเท่านั้น คือ ยุคพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระโดดมาในยุคของการแก้ไขปัญหา เพราะนั้น เวลาที่เราต้องตามแก้ปัญหา เราจึงแก้ได้ยากกว่าเพราะเราเน้นการพัฒนาโครงสร้างมากกว่าที่จะสร้าง ความเชื่อมัน และเสถียรภาพในการใช้งานไอซีที จึงถึงเวลาที่สังคมจะกลับมามองเรื่อง วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่อย่างจริงจัง ที่ต้องเน้นการบริหารจัดการแบบมีจุดร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         เพื่อสร้าง”จุดร่วม” ในการจัดการปัญหา วันนี้ เรามีต้นทุนของเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที และ เครือข่ายเทพ ๔ องค์ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีวัฒนธรรมการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ และ สามารถนำมาซึ่งรายได้ทางเศรษฐกิจได้ด้วย ดังนั้น จุดร่วมประการสำคัญก็คือ การจัดทำนโยบายด้านการส่งเสริมการส่งออกด้านสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคมเพื่อนำมาซึ่งเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องของระบบการพัฒนา โดยใช้ต้นทุนเครือข่ายที่มีอยู่เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนา ทั้งการพัฒนาสังคม พัฒนาเครือข่าย พัฒนาระบบเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป
      จุดร่วมดังกล่าว ไม่ต้องสร้างนโยบายใหม่ เพียงแต่ดำเนินการภายใต้นโยบายที่มีอยู่แล้วระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนทางวัฒนธรรม ประกอบกับ แผนแม่บทด้านไอซีทีที่เน้นการพัฒนาคนและการรู้เท่าทัน และ ใช้กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อีกทั้ง กองทุนวิจัยเพื่อสาธารณะประโยชน์ ที่ กสทช และ ร่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 
      ต้นทุนเครือข่ายพร้อม ความรู้ก็พร้อม นโยบายก็มีอยู่ เหลือแค่เพียง ลงมือปฎิบัติจริงจังเสียที
หมายเลขบันทึก: 447689เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท