บทบาทขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมในต่างประเทศ


ปัจจัยที่ส่งเสริมให้องค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง คือ การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นถึงการวิเคราะห์ปัญหาผลประโยชน์โดยรวมมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 10 ที่บัญญัติว่า “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด”

         

ทศพนธ์ นรทัศน์[*]

 

บทนำ

องค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  มาตรา 89 “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ องค์ประกอบที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งมีผู้กล่าวไว้ว่าการเกิดขึ้นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย เป็นแนวคิดที่นำมาจากสภาเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาฯ จึงควรศึกษาบทบาทการทำงานขององค์กรสภาที่ปรึกษาฯ ในต่างประเทศ เพื่อเป็นกรณีศึกษา ดังนี้

1)    สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Le conseil d’economique et social de France)

2)    สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์(Le Conseil Economique et Social du Pays - Bas)

3)    สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชรัฐลักเซมเบิร์ก (Le conseil economique et social du Grand-Duche de Luxembourg)

แม้ว่าชื่อขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผู้เขียนจึงกำหนดชื่อเรียกโดยย่อขององค์กรเหล่านี้ว่า “สภาที่ปรึกษาฯ”

 

1. สาธารณรัฐฝรั่งเศส

          สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Le conseil d’economique et social de france) เป็นคณะกรรมการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ให้คำปรึกษาตามอำนาจรัฐ ในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม โดยจะทำงานร่วมกับตัวแทนจากหลากหลายอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการสนับสนุนและมีส่วนร่วมในนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล รวมทั้งยังมีอำนาจในการตรวจสอบ และ
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับใช้นโยบายและเทคนิคใหม่ๆในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

บัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส คริสตศักราช 1958  “หมวด 11 สภาเศรษฐกิจและสังคม  มาตรา 69 ในกรณีที่รัฐบาลร้องขอสภาเศรษฐกิจและสังคมอาจให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐบัญญัติ
ร่างรัฐกำหนด หรือร่างรัฐกฤษฎีกา รวมทั้งร่างรัฐบัญญัติของสมาชิกรัฐสภาที่ได้เสนอต่อสภาเศรษฐกิจและสังคม  สมาชิกสภาเศรษฐกิจและสังคมคนใดคนหนึ่งอาจได้รับมอบหมายให้ไปชี้แจงต่อที่ประชุมของสภาใด
สภาหนึ่งเกี่ยวกับความเห็นของสภาเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อร่างรัฐบัญญัติของรัฐบาลหรือร่างรัฐบัญญัติของสมาชิกรัฐสภาที่ได้เสนอต่อสภาเศรษฐกิจและสังคม

มาตรา 70 รัฐบาลอาจขอความเห็นจากสภาเศรษฐกิจและสังคมในทุกปัญหาที่มีลักษณะในทางเศรษฐกิจหรือสังคมได้ แผนงานทุกแผนงานหรือร่างรัฐบัญญัติทุกฉบับที่มีลักษณะทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมจะต้องนำเสนอต่อสภาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อขอความเห็น  และมาตรา 71 องค์ประกอบของสภาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”

1.1  องค์ประกอบ

สภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 231 คน ซึ่งมาจากผู้แทน 18 กลุ่ม คือ

               1) กลุ่มการเกษตร

               2) กลุ่มงานหัตถกรรม

               3) กลุ่มสมาคมต่างๆ

      4) กลุ่มสมาพันธ์แรงงานประชาธิปไตยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

      5) กลุ่มสมาพันธ์ผู้บริหารแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

      6) กลุ่มสมาพันธ์คนทำงานคริสเตียนแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

      7) กลุ่มสมาพันธ์คนทำงานทั่วไปแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

      8) กลุ่มสมาพันธ์ผู้ใช้แรงหนักแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

      9) กลุ่มความร่วมมือ

      10) กลุ่มสมาคมวิชาชีพในเขตการปกครอง,เขตดินแดนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

      11) กลุ่มบริษัทเอกชน

      12) กลุ่มรัฐวิสาหกิจ

      13) กลุ่มสมาพันธ์การศึกษาแห่งชาติ

      14) กลุ่มให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์

      15) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

      16) กลุ่มอาชีพอิสระ

      17) กลุ่มการรวมตัวของสมาคมครอบครัว

      18) กลุ่มชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ และกลุ่มการออมเพื่อที่อยู่อาศัย

สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยมีวิธีการในการแต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่แตกต่างกัน คือ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จำนวน 163 คน ใน 231 คนจะได้รับการแต่งตั้งโดยองค์กรวิชาชีพทางสังคมต่าง ดังนี้

1) ตัวแทนจากสหภาพแรงงานลูกจ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 69 คน

2) ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพ ซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัทเอกชน อุตสาหกรรม การค้า หัตถกรรมและการเกษตร และอาชีพอิสระต่างๆ รวม 65 คน

3) ตัวแทนจากองค์กรประสานงานความร่วมมือ และองค์กรสาธารณกุศล รวม 19 คน

4) ตัวแทนจากสมาคมครอบครัว รวม 10 คน

5) บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล รวม 68 คน โดยมาจาก

5.1) บุคคลผู้ได้รับการเสนอโยองค์กรที่ปรึกษาซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐวิสาหกิจ,กลุ่มสมาคมชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ รวม 17 คน

5.2) ตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพในเขตปกครองละเขตดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส รวม 9 คน

5.3) ตัวแทนของกลุ่มการออมเพื่อที่อยู่อาศัย รวม 2 คน

5.4) บุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี โดยในแต่ละปีจะมีการแต่งตั้งสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิครั้งละ 36 คน

1.2 อำนาจหน้าที่

1) ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล และร่วมจัดทำโครงสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม

2) ประสานงาน ส่งเสริมให้มีการเจรจาระหว่างสมาชิก การเจรจาระหว่างองค์กรวิชาชีพทางสังคม (Organization Socioprofessionelles)

3) มีส่วนร่วมในการกระจายข่าวเกี่ยวกับนโยบายของประชาคม

ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถที่จะนำเอาปัญหาหรือข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมที่ได้จากสภาที่ปรึกษาฯ ไปใช้ในการแก้ปัญหา และในทางกลับกันสภาที่ปรึกษาฯ ก็สามารถที่จะนำเอาปัญหาเหล่านั้นจากรัฐบาลมาพิจารณาได้เองเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพ

ส่วนข้อคิดเห็น รายงาน และการศึกษาปัญหาต่างๆ ของสภาที่ปรึกษาฯจะถูกส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อสภาสูงและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งการนำเสนอต่อสภาสูงและ
สภาผู้แทนราษฎรนั้นจะมีการแต่งตั้งผู้แทนของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อทำหน้าที่ในการรายงานข้อคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาฯต่อสภาทั้งสอง ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นต่างๆของสภาที่ปรึกษาจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบต่อไป

1.3 รูปแบบการบริหารงาน

การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นนั้น สภาที่ปรึกษาฯ จะมีสำนักงานซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์การบริหารงานของสภาที่ปรึกษาฯ ดังนี้

1)    การบริหารองค์กร

สำนักงานซึ่งเป็นองค์การบริหารงานของสภาที่ปรึกษาฯ จะมีประธานสภาที่ปรึกษาฯ
ทำหน้าที่บริหาร ส่วนคณะทำงานจะถูกเลือกโดยสภาที่ปรึกษาฯ ในแต่ละครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ทุก 2 ปี และในช่วงกึ่งหนึ่งของวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คณะทำงานจะมาจากการแต่งตั้งระหว่างกลุ่มงานของสภาที่ปรึกษาฯและสภาที่ปรึกษาฯจะให้สัตยาบัน หรือให้การรับรองหลังจากที่มีความตกลงกัน ซึ่งจำนวนของคณะทำงานจะต้องไม่เกิน 1 คน ต่อ 1 กลุ่มทำงาน เว้นแต่กลุ่มทำงานนั้นจะได้รับความเห็นชอบจากประธานให้มีจำนวนมากกว่าที่กำหนดได้

          ทั้งนี้ ในแต่ละคณะทำงานประกอบด้วย ประธานที่ปรึกษาและสมาชิกอีก 18 คน ซึ่งมาจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มตามที่กล่าวมาแล้ว

สำหรับการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง 231 คนนั้น จะแบ่งการทำงานออกเป็น
9 หน่วยงาน ได้แก่

                         1) หน่วยงานด้านกิจการพิเศษ

                         2) หน่วยงานด้านแรงงาน

                         3) หน่วยงานด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น และการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ใช้สอย

                         4) หน่วยงานด้านคุณภาพชีวิต

                         5) หน่วยงานด้านการคลัง

                         6) หน่วยงานด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ

                         7) หน่วยงานที่เกี่ยวกับการผลิต ค้นคว้าวิจัย และ เทคโนโลยี

                         8) หน่วยงานด้านอาหารและการเกษตร

                         9) หน่วยงานด้านปัญหาและเงื่อนไขที่กำหนดสภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ยังมีหน่วยงานพิเศษ 1 หน่วยงานคือ “คณะกรรมการพิเศษตามแผนงาน” (Une commissionspeciale du Plan) ซึ่งเป็นสมาชิกของหน่วยงานจะประกอบด้วยตัวแทนของแต่ละหน่วยงานทั้ง 9 หน่วย หน่วยงานละ 1 คน

หน่วยงานทุกหน่วยจะจัดประชุมหารือกันในแต่ละสัปดาห์ และจะมีการประชุมสภาที่ปรึกษาฯซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของทุกหน่วยงานในวันอังคารที่ 2 และที่ 4 ของทุกเดือน เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ และสรุปเป็นข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญในสำนักงานของสภาที่ปรึกษาฯ คือ เลขาธิการของสำนักงาน

 

 

 

 

2)    วิธีการทำงาน (Methode de travail)

แต่ละเรื่องที่คณะที่ปรึกษาให้คำปรึกษานั้นจะมาจากการร้องขอของรัฐบาล หรือจะเป็นการเสนอให้คำปรึกษาจากสภาเองก็ได้ และในทั้ง 2 กรณี สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ จะแต่งตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเตรียมศึกษาปัญหา หรือให้ความเห็นเรื่องนั้นๆ

หน่วยงานและคณะกรรมการพิเศษจะแต่งตั้งผู้รายงาน (Rapporteur) สำหรับรายงานผลการศึกษาในแต่ละเรื่อง หลังจากที่คณะกรรมการได้ให้ความเห็นและทำเป็นรายงาน นอกจากนี้คณะกรรมการพิเศษสามารถที่จะกำหนดกรอบการศึกษาปัญหาต่างๆ โดยได้รับความเห็นชอบคณะทำงานผู้บริหารของสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ และสำหรับการกำหนดกรอบปัญหาการศึกษาในแต่ละเรื่องนั้น คณะกรรมการพิเศษจะรวบรวมเอกสารที่จำเป็น และยังสามารถเสนอชื่อบุคคลผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยการประชุมจะเป็นไปโดยไม่เปิดเผยก็ได้

รัฐสภาจะลงความเห็นในปัญหาต่างๆ จากการเสนอของผู้รายงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยคณะรัฐมนตรีสามารถที่จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าได้ และสามารถที่จะเข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในองค์กรนั้นๆ ได้ การประชุมจะเป็นไปโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน สื่อมวลชนสามารถเข้าร่วมฟัง และมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูล

ส่วนความเห็น รายงาน และการศึกษาข้อมูลต่างๆของสภาที่ปรึกษาฯ จะได้รับการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งเผยแพร่ลงในเว็บไซต์

ขั้นตอนการทำงานของสภาที่ปรึกษาฯในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นและพิจารณาศึกษากรณีของสภาที่ปรึกษาเองมี 6 ขั้นตอน ดังนี้

(1) การยื่นเรื่องของรัฐบาลต่อสำนักงานคณะที่ปรึกษาฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • เรื่องที่บังคับให้ต้องยื่นให้สภาที่ปรึกษาให้ความเห็น ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ เค้าโครงร่างเศรษฐกิจ กฎหมายที่เกี่ยวกับการคลังของรัฐ
  • เรื่องที่รัฐบาลสามารถเลือกเพื่อเสนอให้สภาที่ปรึกษาให้ความเห็น ซึ่งได้แก่
    ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

(2) เมื่อทำการยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะที่ปรึกษาฯ แล้ว สำนักงาน ก็จะดำเนินการ ดังนี้

  • รับเรื่องเข้าเพื่อพิจารณาภายใน
  • เลือกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไปรับพิจารณา
  • กำหนดระยะเวลาในการทำงาน

(3) ในกรณีที่เป็นเรื่องที่สภาที่ปรึกษาฯ สามารถให้ความเห็นหรือศึกษากรณีดังกล่าวได้เองโดยไม่ต้องมีการยื่นเรื่องจากรัฐบาลนั้น เมื่อสภาที่ปรึกษาฯ จะพิจารณาเรื่องใด สภาที่ปรึกษาฯ จะต้องกำหนดกลุ่มทำงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว กลุ่มทำงานหรือหน่วยงานนั้นจำต้องดำเนินการ ดังนี้

  • แต่งตั้งผู้รายงาน
  • ประชุมเพื่อค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  • รับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
  • เตรียมทำรายงานและเตรียมร่างความเห็นต่างๆ
  • ลงความเห็นครั้งสุดท้าย

(4) กลุ่มทำงานหรือหน่วยงานจะยื่นเรื่องต่อสภาที่ปรึกษาฯเต็มคณะเพื่อ

  • เสนอการแปรญัตติ หรือแก้ไขโครงการข้อเสนอในรัฐสภา
  • รายงานผลของคณะที่ปรึกษาฯ
  • เปิดอภิปรายทั่วไป
  • การเข้าร่วมของรัฐมนตรีต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล

(5) เมื่อเรื่องผ่านสภาที่ปรึกษาฯ เต็มคณะแล้วก็จะส่งกลับมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อจะนำไปพิจารณาแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงส่งเรื่องไปยังรับสภาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อ

  • ให้ผู้รายงานที่ได้รับแต่งตั้งตอบข้อซักถามในสภาที่ปรึกษาฯ เต็มคณะ
  • ลงคะแนนเสียงเพื่อรับรองญัตติ
  • ชี้แจงเหตุผลของการลงคะแนน
  • ลงคะแนนเสียงรับรองครั้งสุดท้าย

(6) เมื่อการดำเนินการผ่านขั้นตอนทั้ง 5 ขั้นตอน ข้างต้น สภาที่ปรึกษาฯ จะส่งเรื่องให้รัฐบาล รัฐสภา และเปิดเผยเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน โดยการตีพิมพ์ลงในสื่อ สิ่งพิมพ์ ออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยในแต่ละปีสภาที่ปรึกษาฯ จะมีรายงานการศึกษาในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ไม่น้อยกว่าปีละ 28 เรื่อง

 

2. ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

          สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Conseil Economique et Social du Pays - Bas) หรือเรียกย่อๆว่า SER ซึ่งเป็นภาษาดัชต์ (Sociaal Economische Raad) เป็นองค์กรหลักในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติและนานาชาติแก่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และเป็นตัวแทนสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ว่าจ้างและลูกจ้าง

          SER เป็นองค์กรอิสระจากอำนาจรัฐ และ ได้รับงบประมาณจากบริษัทต่างๆ โดย รวบรวมความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมตามความต้องการของรัฐบาล รวมทั้งปัญหาที่ SER เห็นว่า
มีความสำคัญ นอกจากนั้นยังเป็นองค์กรที่คอยควบคุมดูแล ความสัมพันธ์ของกลุ่มอาชีพ 2 กลุ่ม อันได้แก่ ความสัมพันธ์ของกลุ่มสหวิชาชีพต่างๆ และความสัมพันธ์ของกลุ่มอาชีพตามกฎหมายมหาชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคต่างๆ ของเนเธอร์แลนด์

SER ยังมีส่วนร่วมในการบังคับใช้ และดูแลให้บุคคลเคารพกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยสหภาพผู้ประกอบการ การจัดตั้งบริษัท และกฎหมายว่าด้วยอาชีพ นายหน้าขายประกัน

          2.1 องค์ประกอบ

สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (SER) จะประกอบด้วยสมาชิก ทั้งหมดจำนวน 33 คน โดยมีที่มาจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนายจ้าง กลุ่มลูกจ้าง ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรกลางของนายจ้างและสหภาพแรงงาน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และเป็นอิสระจากรัฐบาล โดยในแต่ละกลุ่มมีจำนวน ดังนี้

  • กลุ่มตัวแทนนายจ้างหรือผู้ประกอบการ 11 คน
  • กลุ่มตัวแทนลูกจ้างหรือกลุ่มผู้ทำงาน 11 คน
  • กลุ่มตัวแทนสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งจากสถาบันพระมหากษัตริย์ 11 คน

ทั้งนี้ สมาชิกทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น จะมากลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้

                   2.1.1 กลุ่มผู้จ้างงานหรือผู้ประกอบการ

                             สมาชิกซึ่งมาจากกลุ่มผู้จ้างงานหรือผู้ประกอบการรวม รวม 11 คน จะมาจากผู้แทนกลุ่มองค์การทางเศรษฐกิจหลัก 3 องค์การ คือ

1) ผู้แทนกลุ่ม VNO – NCW (สมาพันธ์บริษัทแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และสมาพันธ์ผู้ประกอบการชาวคริสต์แห่งเนเธอร์แลนด์)

                             2) ผู้แทนกลุ่ม PME (สมาพันธ์ผู้ประกอบการบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางแห่งเนเธอร์แลนด์กลุ่ม KNOV และ NCOV)

                             3) ผู้แทนกลุ่ม LTO (สมาพันธ์องค์กรการเกษตร ผู้ปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้แห่งเนเธอร์แลนด์)

                   2.1.2 กลุ่มตัวแทนลูกจ้างหรือกลุ่มผู้ทำงาน

สมาชิกซึ่งมาจากกลุ่มลูกจ้างหรือกลุ่มผู้ทำงาน รวม 11 คน จะมาจากผู้แทนองค์การด้านแรงงานที่สำคัญของประเทศ ได้แก่

1) ผู้แทนสหพันธ์แรงงานชาวเนเธอร์แลนด์(FNV)

2) ผู้แทนสมาพันธ์ผู้ทำงานชาวคริตส์แห่งชาติ (CVN)

3) ผู้แทนสหพันธ์ผู้ทำงานระดับกลางและระดับสูง (MHP)

                  

2.1.3 สมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากสถาบันพระมหากษัตริย์

                             สมาชิกซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์มาจากผู้เชี่ยวชาญอิสระส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาเศรษฐกิจ การเงิน นิติศาสตร์ หรือสังคมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และไม่ขึ้นต่อรัฐบาล

                             นอกจากสมาชิกทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ในการประชุมของสมาชิกจะมีผู้แทนคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย โดยจะได้เข้าร่วมประชุมกับ SER ในฐานะผู้สังเกตุการณ์ ซึ่งเป็นการประชุมแบบเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน นอกจากนี้ยังเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการและกลุ่มทำงานซึ่งเป็นการประชุมลับ โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป็นข้าราชการพิเศษในสาขาเฉพาะการประชุมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ

2.2 อำนาจหน้าที่

สภาที่ปรึกษาฯ แห่งเนเธอร์แลนด์มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่ การให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลและรัฐสภา การควบคุมดูแลกลุ่มต่างๆตามกำหมายมหาชน และการสนับสนุนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯโดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล และรัฐสภา ภารกิจที่สำคัญที่สุดของ SER คือ การให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและการพัฒนาอย่างยั้งยืน อัตราการจ้างงานสูงสุด และการกระจายรายได้ที่เหมาะสม

นอกจาก SER จะมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลแล้ว ในทางกลับกัน SER อาจได้รับคำปรึกษาจากรัฐบาลได้เช่นกัน

การแสดงข้อคิดเห็นของ SER โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งนโยบายเศรษฐกิจและสังคม ข้อคิดเห็นหรือข้อพิจารณาต่างๆ นั้น จะถูกนำเสนอในสภาเมื่อมีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นของ SER จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและสังคม ในสาขาต่อไปนี้

  • นโยบายระยะสั่นเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจและกลไกการตลาด
  • ประกันสังคม
  • กฎหมายแรงงานและกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท (Droit des societes)
  • การให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
  • ความสอดคล้องของตลาดแรงงานกับการศึกษา
  • นโยบายของยุโรป
  • การจัดสรรที่ดินใช้ประโยชน์และการเข้าครอบครองพื้นที่
  • ข้อบังคับเกี่ยวกับตลาดการค้า
  • การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • นโยบายผู้บริโภค

2) การควบคุมกลุ่มต่างๆตามกำหมายมหาชน (Controle des groupements de droit public) กฎหมายว่าด้วยการจัดการสภาพทางเศรษฐกิจ กำหนดให้ SER มีหน้าที่ตรวจตราดูแลกลุ่มวิชาชีพและ
สหวิชาชีพต่างๆ ตามกฎหมายมหาชน และองค์กรต่างๆซึ่งมีประมาณ 40 หน่วยงาน และเป็นที่รู้จักในนาม PBO (organization professionelle de droit public หรือองค์กรวิชาชีพในกฎหมายมหาชน) SER จัดเป็นองค์กรสูงสุดเหนือองค์กรสุดสูงเหนือองค์กรดังกล่าว คือ สามารถตัดสินใจก่อตั้ง หรือล้มเลิกกลุ่มอาชีพต่างๆ
ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในสภาที่ปรึกษาฯทั้งฝ่ายที่มาจากกลุ่มนายจ้างและกลุ่มลูกจ้าง

3) การปรับใช้กฎหมาย แม้ว่าการประกาศใช้และการปรับใช้ (Application)กฎหมายจะเป็นอำนาจของรัฐแต่ SER ก็ได้รับหน้าที่ในการสนับสนุนให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับหน้าที่ของ SER ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยอาชีพนายหน้าขายประกัน กฎหมายจัดตั้งบริษัท และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการควบโอนบริษัท

การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนั้น SER จะมีเลขาธิการเป็นผู้ตระเตรียมเรื่องต่างๆเพื่อนำเสนอต่อ SER องค์กรจะมีคณะทำงานทั้งสิ้นประมาณ 160 คน โดยมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ให้แก่ SER

คณะเลขานุการ แบ่งการดำเนินงานออกเป็นฝ่ายและหน่วยงานดังนี้

(1) ฝ่าย แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ ฝ่ายงานกิจการเศรษฐกิจ ฝ่ายกิจการสังคม และฝ่ายงานบริหาร

(2) หน่วยงานกลาง แบ่งออกเป็น 3 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานด้านการเงิน การคลัง หน่วยงานด้านบริหารและทรัพยากรมนุษย์ และหน่วยงานด้านสื่อและสารสนเทศ

(3) หน่วยงานภายใน มีหน่วยงานเดียว ได้แก่ หน่วยงานภายในบำรุงรักษาพัสดุ

กิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงาน SER จะต้องมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบและเป็นอย่างดี เพื่อให้ภาระงานต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี โดยมีวิธีการเลือกใช้วิธีการบริหารอย่างเหมาะสม มีคณะกรรมการและเลขาธิการเป็นผู้ประสานงาน

ก) ที่ปรึกษาด้านบริหาร SER จะมีคณะที่ปรึกษาด้านการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมและดำเนินงานตามภาระที่ได้รับมอบหมาย โดยมีการประชุม (แบบเต็มองค์ประชุม) ในวันศุกร์ที่ 3 ของแต่ละเดือน วาระการประชุมประกอบด้วยการตรวจสอบและร่างข้อเสนอหรือข้อคิดเห็นเพื่อนำมาเสนอต่อคณะรัฐบาล
ซึ่งข้อคิดเห็นต่างๆนั้นจะได้มาก่อนล่วงหน้าจากการประชุมกันในกลุ่มคณะกรรมการหรือจากกลุ่มทำงาน และในกรณีที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้รับความเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์ก็จะต้องมีการบันทึกความเห็นแย้งหรือความเห็นที่แตกต่างนั้นลงในเอการที่จะนำเสนอด้วย

ทั้งนี้ การประชุมของคณะที่ปรึกษาเป็นการประชุมแบบเปิดเผยต่อสาธารณชน

ข) คณะกรรมการ (les commissions) SER ประกอบด้วยคณะกรรมการและกลุ่มทำงานขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมและดำเนิการตามภาระงานต่างๆ เช่นเดียวกับคณะที่ปรึกษา (le Conseil) คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยกลุ่มต่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เชี่ยวชาญอิสระ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ประธานคณะกรรมการมาจากบุคคลในคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์

 

3. ราชรัฐลักเซมเบอร์ก

          ราชรัฐลักเซมเบอร์กมีองค์กรให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลในปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

          3.1 องค์ประกอบ

สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชรัฐลักเซมเบอร์ก (Le conseil economique et social du Grand-Duche de Luxembourg) ประกอบด้วยกลุ่มตัวแทนในภาคต่างๆในจำนวนเท่าๆ กัน โดยเป็นตัวแทนจากกลุ่มภาคสังคมส่วนหนึ่ง และอีกส่วนมาจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งสมาชิกของสภาที่ปรึกษาฯจะมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล กล่าวคือสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มนายจ้าง และตัวแทนกลุ่มลูกจ้างมาจากแผนข้อกำหนดของรัฐ

การจัดวาระภายในกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างนั้น จะถูกกำหนดโดยพระราชกำหนด (Reglement Grand Ducal) และนำมาใช้กำหนดวาระระหว่างกลุ่มผู้แทนด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความสมดุลของกลุ่มตัวแทนด้วย โดยภายในกลุ่มอาจมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 8 ปี ซึ่งนานพอที่จะปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์

3.2 อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ อาจแบ่งเป็นบทบาทในด้านการให้คำปรึกษา และหน้าที่ ดังนี้

3.2.1 บทบาทด้านการให้คำปรึกษา

สภาที่ปรึกษาฯ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1996 และมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1986 โดยเป็นองค์กรที่ปรึกษาส่วนกลางและถาวรของ
คณะรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังเป็นผู้กำหนดกรอบการเจรจาต่อรองระหว่างองค์กร การวางแผนงานด้านวิชาชีพ และการเสนอทางออกร่วมกันให้กับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเงินระดับชาติ

ในส่วนของสถานะของสภาที่ปรึกษาฯนั้น เนื่องจากสภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรให้คำปรึกษา ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯ จึงเป็นหน่วยงานเบื้องต้นที่พิจารณาปัญหาโดยรวมไปจนถึงการตัดสินใจใน
ขั้นสุดท้าย อันเป็นงานของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่า สภาที่ปรึกษาฯเป็นองค์กรที่มีบทบาทวางแผนงานอนาคตและกลั่นกรองข้อเสนอแนะต่างๆ โดยจุดมุ่งหมายประการแรกของสภาที่ปรึกษาฯ
ก็คือ การเป็นผู้ประสานองค์ประกอบทางเศรษฐกิจหลักๆ 2 ส่วน อันได้แก่ เงินทุนและการทำงาน (le capital et le travail)ซึ่งมักเป็นองค์ประกอบที่ขัดแย้งกัน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมเป็นหลัก สภาที่ปรึกษาฯ
จึงมีหน้าที่สร้างความมั่นใจให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในการนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมทั้ง เป็นผู้ประสานงานระหว่างบุคลากรด้านวิชาชีพ (ผู้ประกอบการ) โดยเฉพาะในการเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหา

สภาที่ปรึกษาฯ มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นถึงการวิเคราะห์ปัญหาผลประโยชน์โดยรวมมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง

3.2.2 ภาระหน้าที่

ภาระหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ ได้รับการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายจัดตั้ง โดยกำหนดบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯให้เป็นศูนย์กลางในการเจรจาระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายระดับชาติและนโยบายในระดับสหภาพยุโรปโดยมีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การเจรจาระดับชาติ
  • เรื่องที่สืบเนื่องจากการเจรจาในกลุ่มสหภาพยุโรป
  • การวางนโยบายระดับชาติ โดยเฉพาะในส่วนของสหภาพยุโรปที่มาจากการประชุมในกลุ่มผู้ประกอบการ (เศรษฐกิจและสังคมจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างความชัดเจน เสนอแนวทางแก่รัฐบาลในการประสานให้แต่ละฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ)
  • การวางนโยบายเศรษฐกิจหลักในขั้นต่างๆ โดยสภาสหภาพยุโรป
  • จัดการประชุมระหว่างผู้แทนที่ปรึกษาระดับชาติจากลักเซมเบอร์ก คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของดินแดนที่มีพรหมแดนร่วมกัน คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจร่วมของกลุ่มเศรษฐกิจแบบ
    เบเนลักซ์ และคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมยุโรป

 

เปรียบเทียบบทบาทองค์กรสภาที่ปรึกษาฯ ต่างประเทศ กับประเทศไทย

          จากบทบาทขององค์กรสภาที่ปรึกษาฯ ในต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะการดำเนินงานบางประการที่คล้ายคลึงกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ ดังนี้ ดูบทความฉบับเต็มที่ http://www.researchgate.net/file.BlogFileLoader.html?id=19860&key=d922b4e12c5b0259bf

หมายเลขบันทึก: 447670เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท