แนวทางป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางด้านงานเขียน : ประเด็นที่ 1 “รายงาน”


ต่อยอดจากบันทึกเรื่อง แนวทางการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ : การแบ่งปันข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นๆ ของ คุณมะปรางเปรี้ยว


 

การละเมิดลิขสิทธิ์ทางวิชาการที่มีปัญหาและเห็นบ่อยที่สุดคือ ลิขสิทธิ์ทางด้านงานเขียน แต่ถ้าจะพูดกันให้ครอบคลุมก็ต้องว่ากันในเรื่องของการบรรยาย การพูด การเสวนา และอย่างยิ่งการ “จัดกระบวนการ” ด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเรื่องของการ “เลือกปฏิบัติ” เดี๋ยวเด็กจะย้อนเอาได้ว่า “ดูซิผู้ใหญ่ก็ยังทำ”

แต่ถ้าจะเริ่มต้นจากงานเขียนซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัด (มีหลักฐาน) และมีปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน ข้าพเจ้าก็มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม หลักดังนี้
1. กลุ่มเด็กนักเรียน กลุ่มผู้ใหญ่นักเรียน
2. กลุ่มคนทำงาน กลุ่มนักวิชาการ
3. กลุ่มผู้บริหาร ในระดับองค์กรและระดับประเทศ

Large_pp186


1. กลุ่มเด็กนักเรียน กลุ่มผู้ใหญ่นักเรียน
ปัญหาสำคัญสำหรับเด็กในวัยเรียน ก็เป็นดังเช่นที่คุณมะปรางเปรี้ยวได้เขียนไว้ในบันทึก   ... ซึ่งถ้าจะให้พูดกันตรง ๆ แล้ว เหตุเกิดขึ้นมาจาก “ครู”

ครูเป็นคนสั่ง...!
“นักเรียนทุกคน วันนี้ไปทำรายงานเรื่องนี้มานะ ให้เวลาทำหนึ่งสัปดาห์  ถึงกำหนดแล้วเข้าเล่มให้เรียบร้อย วางไว้บนโต๊ะคุณครู...”

ระบบการศึกษาไทยตั้งแต่เด็กเริ่มย่างเท้าก้าวสู่ระดับ “มัธยมศึกษา” เด็ก ๆ ก็จะได้รับวิชาความรู้เรื่อง “รายงาน”

ต้นเหตุที่มาของ “รายงาน” นี้ น่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอนของต่างประเทศ ที่เน้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจัดสรรอุปกรณ์ในการค้นคว้าให้ หลัก ๆ คือ ห้องสมุด ซึ่งบรรจุหนังสือไว้มากมาย และในปัจจุบันยุคดิจิตอล ก็กลายเป็นห้องสมุดคอมพิวเตอร์...

บรรพบุรุษ บรรพชน คนทางการศึกษาที่ไปร่ำไปเรียนศึกษาหาวิชาความรู้จากต่างประเทศ ก็น่าจะนำเทคนิคนี้มาเผยแพร่ เพราะพิสูจน์กับตนเองแล้วว่า เป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ผล คือ การศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองนั้น รู้มาก รู้หลากหลาย รู้ลึกกว่าที่ฟังคุณครูบรรยาย จึงได้นำเทคนิคนี้มาขยายให้ขจรขยายทั่วเมืองไทย

 Large_resize_of_dsc05812

หลักการไม่ผิด ผิดที่คนปฏิบัติ...!
ดังเช่นโวหารทางการบริหารที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินมาว่า “ทฤษฎีเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น เติบโตที่อเมริกา แล้วก็มาตายที่เมืองไทย”

ทฤษฎีเรื่องรายงาน หรือการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองนี้ก็เช่นกัน แนวคิด หลักการ เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่อุปนิสัยของนักเรียนเราบางคนก็ยังไม่สามารถอาศัยพลังจากหลักการนี้

จึงส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมม Copy & Past ซึ่งอดีต ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ ก็ต้องนั่งคัด นั่งลอกกันจนปากกาหมดเป็นแท่ง ๆ ต่อมาก็เริ่มมีพิมพ์ดีด ก็พิมพ์กันจนกล้ามนิ้วขึ้น แต่สมัยนั้นก็ยังถือว่าดี เพราะอย่างน้อย ก็ผ่านมือ ผ่านตา ถึงแม้ว่าจะผ่านหัวสมองบ้างไม่ผ่านมาก็ถือว่าได้คุณค่ามากกว่ายุค “คอมพิวเตอร์”

ยุคคอมพิวเตอร์เป็นยุคที่อาจารย์ clipboard คือ copy ผ่านหัวสมองเทียม หรือ Micro processer ในเครื่อง เสร็จก็มาวางบนโปรแกรมสำเร็จรูปทางด้านงานเอกสาร ไม่ว่าจะเป็น Word หรือ Note pad จากนั้นก็ใช้ฝีมือจัดรูปแบบ ตกแต่ง จากนั้นก็สั่ง “พิมพ์” บางครั้งก็แทบไม่ผ่านหู ผ่านตานักเรียนเลย 

Large_pp189

ในประเด็นนี้ข้าพเจ้าของแยกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ที่จะพูดถึงเรื่องแนวทางแก้ไข  คือประเด็นเรื่อง “ความรู้” และประเด็นเรื่อง “ลิขสิทธิ์”

ประเด็นที่ 1 เรื่อง “ความรู้”
ก่อนอื่นต้องทำใจยอมรับว่าการให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพีอทำ “รายงาน” นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้

เพราะถ้าคิดว่าไม่มีประโยชน์ แนวทางแก้ไขก็ง่ายมาก คือ สั่งให้ครูและอาจารย์ทั่วประเทศงดเว้นการสั่งให้เด็กทำรายงาน เหมือนสั่งห้ามครูให้ใช้ไม้เรียวตีเด็ก

แต่ถ้าหากยอมรับว่า “รายงาน” มีประโยชน์ เราก็ต้องมาหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาต่อไปว่า เราจะทำอย่างไรให้เด็กได้รับประโยชน์จากรายงานนั้น

Large_econ234

สำหรับความคิดเห็นของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) มีดังนี้


1. ครูต้องอ่าน
คุณครูต้องอ่านรายงานของเด็กนักเรียนทุกคน คนหน้า ทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร เพราะถ้าอ่านแล้วก็จะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ใครทำมาอย่างไร จะได้ให้คะแนนและแนะนำเพื่อใช้ในการแก้ไขถูกต้อง


เพราะบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการเขียนรายงานต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องการเรียงลำดับเรื่อง อีกคนมีปัญหาเรื่องการสรุปความ อีกคนมีปัญหาเรื่องการอ้างอิง สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องแนะนำแก้ไข เพื่อให้เด็กมีหลักการและแนวทางในการปรับปรุงเพื่อการ “พัฒนา”

Large_econ0220


2. สอนก่อนสั่ง เลิกใช้หลักของการ “สั่งสอน” (สั่งก่อนสอนทีหลัง)

 
ก่อนที่ครูจะสั่งให้เด็กไปทำรายงาน ต้องสอนวิธีการทำให้ละเอียด ว่าควรจะหาจากที่ใดบ้าง เทคนิควิธีการค้นหา อ่าน สรุปความ คัดลอก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องของการอ้างอิงทำอย่างไร ในส่วนนี้ครูต้องรู้ ต้องเก่ง คือตนเองทำถูกก่อน ถึงจะสอนเด็กได้

เพราะถ้าจะหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเด็กรู้หรือบอกแค่ว่า “หามาจากไหน อ้างอิงมาด้วยนะ” แบบนี้ ครูผิด เพราะครูสอนไม่ดี ถ้าเด็กทำมาได้ดีก็แสดงว่าเด็กเก่งกว่าครู

3. ลดส่วนนำและส่วนคัดลอก เพิ่มส่วนแนวความคิด
การกำหนดสัดส่วนคะแนนของเล่มรายงานถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าหากใช้หลักการเดิมคือ เล่มหนา ปกสวย เพราะบ้านรวย การทำงานก็เข้ารูปแบบเดิม

แต่ถ้าหากคุณครูกำหนดชัดเจนว่า ใน 100 แต้มของรายงาน แบ่งออกเป็นส่วนที่คัดลอกบวกปกและความสวยงาม 10 แต้ม อีก 90 แต้มเป็นการสรุป วิพากษ์ วิจารณ์ โดยใช้แนวความคิดของตนเอง เด็กก็จะมีแนวทางในการทำอย่างชัดเจนว่า ควรจะมุ่งให้ความสำคัญที่ส่วนใด หรืออาจจะแถมแต้มพิเศษสำหรับคนที่อ้างอิงมาอย่างถูกต้อง ถูกหลักการ เป็น “รางวัล” พิเศษ สักสิบแต้มยี่สิบแต้ม เพื่อที่จะสร้างนิสัยการเป็นนักวิชาการดีในอนาคตก็ “ไม่ผิดกติกา...”

Large_econ022

 

เรื่องนี้ต้องพูดรวมถึงผู้ใหญ่นักเรียนด้วย จะว่าแต่เด็กนักเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวอย่างให้เด็กดู

ผู้ใหญ่ที่ไปเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ต้องทำให้ดี ทำให้เป็นตัวอย่างและคุณครูในระดับบัณฑิตศึกษาก็ต้อง “อ่าน” รายงานของเด็กทุกคน ทุกตัวอักษรเป็นตัวอย่างด้วย เพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งสามารถลบล้างคำสบประมาทที่บางคนเคยพูดเย้าแหย่คุณครูว่า “ให้ทำตามสิ่งที่ครูสั่ง อย่าทำตามสิ่งที่ครูทำ...”

แนวทางการแก้ไขสำหรับเรื่องรายงานนี้ สรุปได้สั้น ๆ ว่า “ตัวอย่างดี ๆ อยู่ที่ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ดี วิชาการดี ผู้ใหญ่แย่การศึกษาและวิชาการล้มเหลว...”

Large_resize_of_econ017


ประเด็นที่ 2 เรื่อง “ลิขสิทธิ์”
สำหรับแนวทางแก้ไขเรื่องของลิขสิทธิ์ คือ ให้ย้อนกลับไปอ่านประเด็นที่ 1 แล้วทำให้ได้ ทำให้ดี...


และแถมท้ายประเด็นในเรื่องของแนวทางการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางเว็บไซด์ นั้น ก็คือหลักการง่าย ๆ คือ "ให้ย้อนกลับไปอ่านประเด็นที่ 1 "เรื่องความรู้..."

เพราะการทำรายงานก็คือ "การจัดการความรู้ (Knowledge Management)" ที่เด็กนักเรียนและผู้ใหญ่นักเรียนสามารถไปค้นคว้าหา Explicit Knowledge แล้วนำมาสกัดสังเคราะห์เป็น Tacit Knowledge ในเบื้องต้นของตนเอง...

Large_resize_of_dscn3504

หมายเลขบันทึก: 447573เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2011 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ส่วนตัวหนูเองแล้วเห็นด้วยนะค่ะ กับ 3 ขั้นตอนหลักที่เราจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจถึงการหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการอ้างอิง ไม่ว่าจะทำรายงาน หรือการนำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อค่ะ

ขอบคุณมากๆ นะค่ะ ที่เขียนบันทึกต่อยอดค่ะ ^_^

เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องทำให้เด็กเข้าใจ และไม่เข้าใจอย่างเดียว จะต้องทำให้เด็ก "ทำ" ได้ด้วย

ครูดีนั้นยังไม่พอ สุดยอดครูดีคือสามารถทำให้เด็กเป็นคนดี โดย "ทำความดี"

ดังนั้น คนที่เป็นครูจึงต้องมีความวิริยะ อุตสาหะ เข้าใจอุปนิสัยของเด็ก มีอุบาย เทคนิค มีวิชาที่จะทำให้เด็กทำในสิ่งที่ถูกต้อง

สำหรับในเรื่องการเขียน การหาข้อมูล การทำรายงานนั้น ถ้าครูสั่งงานแล้วก็ต้องสอนวิธีการทำให้ละเอียด ต้องตรวจ ต้องเช็ค

ทำไมเด็กถึงทำได้ ทำไมถึงทำไม่ได้ ทุกอย่างต้องสะกัดออกมา วิเคราะห์ สรุป เรียนรู้ พัฒนาการสอนของตนเอง เพื่อที่จะนำไปใช้กับลูกศิษย์รุ่นต่อ ๆ ไป

สำหรับการชี้เฉพาะเจาะจงลงไปเรื่อง การแบ่งปันข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นๆ และการนำเสนอรายงานทาง Internet นั้น นอจากจะเป็นหน้าที่ของครูหรืออาจารย์ที่สั่งงานโดยตรงซึ่งจะต้องสอนวิธีการหา วิธีการอ้างอิง และวิธีการนำเสนอให้ถูกต้องแล้ว "ระบบพี่สอนน้อง" เป็นสิ่งที่สำคัญ

ยกตัวอย่างใน Learners.in.th เราจะต้องใช้ระบบพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน

เพราะเด็กวัยรุ่น ไม่ค่อยเชื่อครูสอน ไม่ฟังพ่อแม่ เขาเชื่อเพื่อน เชื่อรุ่นพี่เขามากกว่า

ดังนั้น ถ้าหากเราสร้างวัฒนธรรม "พี่สอนน้อง" ขึ้นมาได้ ก็จะช่วยทำให้ระบบวิชาการไทยเข้มแข็งขึ้น

แต่ทว่า พี่ก็ต้องทำถูกนะ ถ้าพี่ทำผิดก็สอนน้องผิด ๆ

หรือไม่เด็กอาจจะแอบมาดูใน Gotoknow เห็นครูทำถูก เด็กก็ทำถูก แต่ถ้าเห็นครูทำผิด อันนี้ก็ไม่ต้องไปโทษใคร

ถ้าเราจะสอนเด็กให้เอาเยี่ยง เอาอย่าง เรานั้นคือผู้ใหญ่ก็ต้องทำให้ถูกต้อง

สุดท้ายก็มาสรุปได้หลัก 2 เรื่อง คือ

1. ครู "สอน" ก่อน "สั่ง"

2. ครู ผู้ใหญ่ รุ่นพี่ ทำให้ถูก เด็กจะได้ทำตาม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท