"เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ"


Journal  ครั้งที่ 4

เรื่อง “เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ”

 

กราบเรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  มงคลที่เคารพรัก

 

                        ครั้งนี้ก็จะขอกล่าวในสิ่งที่หนูสนใจอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ทั้งนี้จากนิยามความหมายจากผู้ที่สนใจศึกษาทางด้านนี้และนิยามจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการจิตตปัญญาศึกษา กล่าวว่า “เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่บ่มเพาะความเปิดกว้างอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดรับต่อความหลากหลาย ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างกล้าเผชิญและละวางตัวตน การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีสติสัมปชัญญะ และน้อมนำเอาประสบการณ์มาสู่ใจอย่าง ใคร่ครวญ ซึ่งเป็นรากฐานของความรู้ที่แท้หรือปัญญาที่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งตามความ เป็นจริงเห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่งไม่คงที่ และนำสู่การตระหนักเห็นและละวางการยึดติดอัตตาตัวตน"

"กระบวนการเรียนรู้และบริบทที่เป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลต่อองค์ประกอบ หรือกระแสแห่งการพัฒนาจากจิตเล็กสู่จิตใหญ่ โดยหยั่งรากลงถึงฐานคิดเชิงศาสนา มนุษยนิยม และองค์รวมบูรณาการ"

"กระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ การศึกษาที่เน้นการพัฒนาด้านในอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึง คุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ เกิดความรักความเมตตา อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และสามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างสมดุล"

 

อีกทั้งท่าน อาจารย์ ดร.จุมพล พูนภัทรชีวิน (เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา)  ได้กล่าวถึง จิตตปัญญาศึกษา เป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทำนองเดียวกับคำว่าการศึกษาและการเรียนรู้ก็มีความหมายที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันจนบางครั้ง บางบริบท คำสองคำนี้ก็ใช้แทนกันได้  จากนิยามความหมายต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้หนูมองถึงการเรียนรู้ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ความน่าสนใจนี้จุดประกายเด่นชัดขึ้นจากการที่ได้มีประสบการณ์ในการเข้ารับการฝึกอบรมเรื่อง จิตตปัญญาศึกษา เมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมาแล้วนะคะ จากคนที่ไม่รู้ว่าเราต้องมาอบรมเรื่องนี้ทำไม  แล้วจะเอาไปใช้ได้อย่างไร และทำไมต้องใช้เวลาอบรมนานเกือบสิบวัน หนูจะขอบรรยายดังนี้  ตั้งแต่วันแรกจะต้องตื่นเช้าเพื่อจะทำโยคะ ทำกิจกรรมกลุ่ม คือการเปิดพื้นที่รับรู้ประสบการณ์คนอื่น ๆ จากที่ไม่เคยรู้จักกัน การพูดคุยกับคนที่พึ่งรู้จัก การสะท้อนคิด การเขียนบันทึก ล้วนเป็นกิจกรรมที่ไม่ค่อยอยากทำเท่าไหร่ ส่วนกิจกรรมที่หนูชอบคือ ผ่อนพักตระหนักรู้ โดยการนอนหลับพักผ่อนหลังอาหาร (ประมาณ 15-30 นาที) ปฏิบัติกิจกรรมทั้งวัน เป็นอย่างนี้ซ้ำๆ  กันทุกวัน แรก ๆ หนูคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ช่างน่าเบื่อหน่าย เราไม่เคยที่จะต้องรอฟังใครพูดเรื่องตัวเองนานๆ  แต่ผ่านไปประมาณวันที่เจ็ด ...หนูก็ได้คิด (อาจจะรับรู้ช้าไปซักหน่อย คนอี่นๆ เขาอาจจะตระหนักรู้เร็วกว่า)  ว่า....ทุกสิ่งทุกอย่างที่หนูได้เรียนรู้ทั้งหมด เกือบสิบวัน ทำให้กลับมาทบทวนได้แง่คิดอะไร หลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเองค่ะ สิ่งที่หนูได้ข้อคิดก็คือ

1) การที่เราได้ตั้งใจฟังคนอื่นพูดโดยที่เราไม่พูดแทรกแสดงความเห็น หรือถามคำถามทันที กลับทำให้เราเข้าใจคนที่พูดมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นหมายถึงการแสดงออกทางสีหน้า  แววตา ท่าทางร่วมไปกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่กำลังพูด   2) คนเรามักจะเลือกพูดเรื่องที่เป็นด้านดีของตนเองมากกว่าด้านมืดและมักจะพูดกับคนที่รู้จักมากกว่าคนที่พึ่งเคยรู้จัก  3) คนเรามักจะกลัวที่จะเข้าไปสัมผัสกับพื้นที่เสี่ยง เช่นการเข้าไปพูดคุยกับคนไม่รู้จัก แปลกหน้า ทั้งหมดที่รับรู้จึงทำให้หนูคิดว่าควรจะแก้ไข ปรับปรุงบุคลิกและทัศนคติของตัวเองบ้าง โดยการพยายามที่จะเปิดพื้นที่เข้าไปศึกษาสิ่งแวดล้อมรอบตัว ใหม่ๆ  อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลและสิ่งหนึ่งที่เป็นผลจากกระบวนการคิดนี้ นั่นก็คือการเรียนต่อปริญญาเอก ในสถานที่ใหม่ๆ เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม  บรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย หนูคิดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เราตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้ได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม สำหรับผู้ที่สนใจในแนวคิดนี้หนูคิดว่าก็คงจะต้องเปิดใจรับและเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างตั้งใจถึงจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์ค่ะ

 

 

                                                            ด้วยความเคารพรักอาจารย์อย่างสูง

น.ส.สุจิตรา ปันดี  54253910

ศิษย์สาขาหลักสูตรและการนิเทศ 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #journal
หมายเลขบันทึก: 447536เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2011 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท