ครูยุคใหม่..ในอนาคต ค.ศ. 2030


Journal  ครั้งที่ 2

เรื่อง ครูยุคใหม่..ในอนาคต  ค.ศ. 2030

 

กราบเรียน          ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  มงคลที่เคารพรัก

 

                        เนื่องด้วยการที่หนูได้มีโอกาสแปลวารสารที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูยุคอนาคตคือปี ค.ศ.2030  จึงเป็นการจุดประกายความคิดให้อยากที่จะศึกษาค้นคว้าให้ละเอียด ลึกซึ้งมากขึ้นเพื่อไขความกระจ่างจึงได้ค้นคว้าและอ่านเจอ บทสรุปในเรื่อง Teaching 2030 ของ Barnett Berry ที่มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์กับแวดวงการศึกษา อีกทั้งหนูซึ่งเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่เรียนครูก็จะได้เตรียมพร้อมที่จะถ่ายทอดแนวคิดให้กับนักศึกษาและก้าวทันไปกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า แนวความคิดนี้มีประเด็นหลักๆ อยู่ 3 ประการ ดังนี้

1.ผู้เรียนสามารถใช้ระบบการสื่อสารไร้สาร เทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ  ในกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลาซึ่งจะตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการเรียนรู้ และครูในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเรียนการสอน สามารถให้คำปรึกษาและมีเครื่องมือวัดความสามารถของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ครูจะได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมกับวิชาชีพซึ่งแตกต่าง ทั้งนี้ครูจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเรียนให้ผู้เรียนเป็นอย่างดีและรับประกันคุณภาพของผู้เรียนด้วยมาตรฐานผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่รู้จัก 3. พลังการขับเคลื่อนกลุ่มครูยุคอนาคตที่เรียกตัวเองเป็น “teacherpreneur” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการสอนในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะเป็นครูนักการศึกษา,เป็นนักวิจัยทางด้านนโยบายและแผนงาน,เป็นผู้ประสานงานร่วมกันหน่วยงานหรือองค์กรในชุมชนและเป็นสมาคมทางวิชาชีพครู เหล่านี้คือบทบาทของครูที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            จะเห็นว่ามุมมองความคิดทางการศึกษาของนักการศึกษาของตะวันตกค่อนข้างที่จะมองทิศทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม พวกเขาไม่ได้มองเพียงแค่นโยบายหรือแผนการทำงานเท่านั้นแต่เท่าที่หนูได้อ่านในเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับครูในยุคอนาคต พวกเขาได้ตระหนักถึงสิ่งที่ผู้เรียนควรเรียนรู้ในโลกไร้พรมแดนที่เป็นการเรียนรู้รอบโลก (global marketplace) ใน 4 ประเด็น คือ 1.การติดต่อสื่อสาร (communication) คือการที่ผู้เรียนควรใส่ใจเรียนรู้ในภาษาที่สอง  2.การทำงานร่วมกัน (collaboration )การที่ผู้เรียนสามารถจบการศึกษาและออกไปทำงานยังหลากหลายประเทศโดยที่ไม่มีอุปสรรคทางวัฒนธรรมขององค์กร  3. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ(critical thinking) คือการที่ผู้เรียนสามารถไตร่ตรองและมีระบบการคิดที่เฉียบคม ทั้งนี้เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการแสวงหารูปแบบการคิดที่เหมาะสมกับตนเอง  4.การคิดแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์(creative problem solving) คือการหาวิธีการแก้ไขอุปสรรคของการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อย่างหลากหลายมิติและสร้างสรรค์โดยสมบูรณ์

             ฉะนั้นทั้งสภาพการณ์ของโลกในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ มลภาวะ ความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติหลายๆ สิ่งประเด็นที่น่าสนใจในมุมมองความคิดของหนูก็คือการที่ครูตระหนักถึงปัญหาและหาทางแก้ไขโดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน  อีกทั้งมีหน่วยงานที่รับรองมาตรฐานครูหรือที่เรียกว่าสมาคมวิชาชีพ (professional guilds) ซึ่งมีองค์ประกอบด้านการหล่อหลอมวิชาชีพครูด้วยมาตรฐานที่สูงและการขยายทักษะทางวิชาชีพทั้งในประเทศและทั่วโลก

อาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากที่จะทำแต่ ณ ขณะนี้ประเทศไทยเราก็ริเริ่มการ

จัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนโดยมีทิศทางก้าวไปสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการกำหนดหลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า “หลักสูตร world class” และต่อยอดไปในระดับอุดมศึกษาที่ได้กำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ  (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF:HEd) ซึ่งมีการเทียบโอนการศึกษาให้สามารถศึกษาต่อต่างประเทศและเมื่อสำเร็จการศึกษาก็มีโอกาสประกอบอาชีพที่ต้องแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างเท่าเทียมเหล่านี้หนูคิดว่าจะเป็นบันไดก้าวแรกๆ  ที่ประเทศไทยจะเตรียมความพร้อมและมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อความก้าวหน้าของอนาคตของประเทศเรา

 

 

จากลูกศิษย์สาขาหลักสูตรและการนิเทศ   

        น.ส.สุจิตรา ปันดี  54253910



คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 447409เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท