ปฏิรูปการศึกษาไทย..แน่ใจว่าจะเป็นจริง


 

Journal entry  ครั้งที่ ๑

เรื่อง  ปฏิรูปการศึกษาไทย...แน่ใจว่าจะเป็นจริง

 

เรียน@  ท่านอาจารย์ประเสริฐที่เคารพรัก

 

หนูได้มีโอกาสในการที่จะศึกษาเอกสารเรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.

๒๕๕๒-๒๕๖๑) ” ซึ่งหลักใหญ่ใจความสำคัญคือการที่รัฐพยายามที่จะอุดช่องโหว่ทางการศึกษาภายหลังจากการที่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒  โดยมีนโยบายหลักๆ อยู่ ๓ ประการดังนี้ ๑. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย  ๒. โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ และ ๓. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและการจัดการ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถูกนำมาหยิบยกเพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาLL  ที่พบอันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานด้านการศึกษา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาซึ่งหนูขอนำเสนอและแสดงทัศนะในประเด็นต่างๆ  ดังนี้   

๑.การพัฒนาผู้เรียน/สถานศึกษา พบว่ามีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ประเมินของสมศ.จากการประเมินรอบแรกถึงร้อยละ ๖๕ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ..... ในข้อ ๑. หนูพบว่าเป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับแม้ว่า พรบ.๔๒ จะมุ่งเน้นความเสมอภาคทางการศึกษา อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ก็เป็นหลักสูตรแม่แบบที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทั้งประเทศจะต้องนำมาคิด วิเคราะห์และวางแผนการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติให้ได้ผล แต่ก็ปฏิเสธถึงคุณภาพไม่ได้ว่าโรงเรียนในชนบทห่างไกล คุณภาพจะด้อยกว่าโรงเรียนในเมืองหรือในเขตกรุงเทพ ทั้งนี้มีปัจจัยมากมายหลายประการทั้งความพร้อมของผู้เรียน การดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองรวมถึงการได้รับการศึกษาของผู้ปกครอง  ความพร้อมของสถานศึกษา ครูที่ยังขาดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ การขาดแคลนสื่อ อุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ที่จะคอยเสริมหนุนต่อการศึกษาที่แตกต่างของบุคคล ดังกล่าวจึงเป็นมูลเหตุปัจจัยที่ทำให้คุณภาพทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน

 

๒. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและการจัดการศึกษาและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งการกระจายอำนาจบริหารและการจัดการศึกษาจากส่วนกลางสู่เขตพื้นที่ทางการศึกษาและสถานศึกษา .......จากข้อสองถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๐ แล้วก็ตามแต่หน่วยปฏิบัติก็ยังไม่มีอิสระแท้จริงในการบริหารงานเท่าที่ควร โดยเฉพาะการถ่ายโอนสถานศึกษาสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งจากการที่เพื่อนของหนูที่เป็นครูประถม มัธยมก็พูดคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้และพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ส่วนมากไม่ต้องการโอนย้ายไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่น  เหตุผลคือ ไม่ยอมรับในมาตรฐานการดำเนินงานของผู้บังคับบัญชาที่จะเป็น นายกอบจ.  อบต. ต่างๆ อีกทั้งไม่เชื่อมั่นในความรู้โดยเฉพาะด้านการจัดการศึกษา อีกประการหนึ่งโรงเรียนที่สมัครใจโอนย้ายส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และเสียงสะท้อนจากเพื่อนหนูที่เป็นครูโรงเรียนสังกัด อบจ.บ่นว่ารู้สึก เครียด  กดดันที่ถูกคาดหวังที่สูงจากหน่วยงานต้นสังกัด อาจเนื่องด้วยเป็นครูอัตราจ้างพวกเขาจะถูกมอบหมายในภาระงานที่มาก เหน็ดเหนื่อย กลับบ้านไม่เคยก่อน ๕ โมงเย็นที่เป็นเวลาเลิกงานซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เหล่านี้กลายเป็นการบอกเล่าปากต่อปากและหนูคิดว่าทำให้เกิดทัศนคติด้านลบในการทำงาน ปัจจุบันนี้เพื่อนหนูพยายามทุกวิถีทางที่จะสอบเป็นข้าราชการที่อื่นๆ (และไม่อยู่ในสังกัด อบต./อบจ.)

  ๓. ด้านการขาดกำลังบุคลากรทางการศึกษาและการเงินเพื่อการศึกษา... เรียนอาจารย์ค่ะที่ผ่านมาพวกหนูจบการศึกษาทางด้านครูแต่โอกาสน้อยมากที่จะได้รับการสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะช่วงเวลาที่ยังไม่มีอัตราการเกษียณอายุราชการ และงบประมาณของแผ่นดินหรือแม้แต่การขาดแรงจูงใจในการทำงานด้านนี้ เพื่อนหนูรุ่นเดียวกันจบพร้อมกันสิบกว่าคน เลือกที่จะเป็นครูแค่สองคน (รวมทั้งหนู) เหตุผลคือ อาชีพครู เงินเดือนน้อยมากเมื่อเทียบกับอาชีพอีนๆ ซึ่งเมื่อแต่ละคนมีโอกาสในการทำงานอื่นๆ ที่รายได้ดีก็เลิกที่จะยึดอุดมคติที่กินไม่ได้ อีกประการหนึ่งก็สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนรัฐบาลทีก็เปลี่ยนนโยบายที..นี่คือความไม่ต่อเนื่องและไม่ได้คำนึงถึงปลายทางแทนที่มีการวางแผนให้ก้าวต่อไป กลับต้องหยุดและมองหาเส้นทางเดินอื่นๆ (เพราะรัฐบาลชุดไหนๆ ก็ชอบคิดใหม่ ทำใหม่..อะไรๆ ก็เลยไม่ได้เรื่องได้ราว..หนูจะติดคุกมั่ยเนี่ย !!)

เหตุผลเหล่านี้ทำให้หนูคิดว่าสิ่งที่ประสบพบเจอในช่วงที่ผ่านมาคือวิกฤติทางการศึกษาจริงๆ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและทางอ้อม ถึงแม้ว่าขณะนี้เรามองเห็นแสงสว่างรำไรในสายอาชีพที่ความพยายามในการยกระดับวิชาชีพครู การขึ้นเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ แต่ก็ยังต้องรอการพิสูจน์และที่สำคัญก่อนจะถึง พ.ศ.๒๕๖๑ ก็จะต้องมีการประเมินผลการปฏิรูปการศึกษา รอบหน้ากันอีกครั้ง ก็ขอกำลังใจให้ตัวเองและขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนครูอี่นๆ ที่ต้องสร้างพลังกาย พลังสติปัญญาให้เข้มแข็งและยืนหยัดอย่างมั่นคงในสายงานที่เรารักต่อไปค่ะ

 

 

 

                                                                                                                                จากลูกศิษย์ C&S’5            

        สุจิตรา ปันดี  ๕๔๒๕๓๙๑๐

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 447408เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท