ระบบสืบพันธ์เพศชาย


ระบบสืบพันธ์เพศชาย

ระบบสืบพันธุ์

การสืบพันธุ์ เป็นกระบวนการผลิตสิ่งมีชีวิตในอันที่จะแพร่ลูกหลานและดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้ โดยต่อมใต้สมองภายใต้การควบคุมของสมองใหญ่จะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นต่อมเพศในชายและหญิงให้ผลิตฮอร์โมนเพศ ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปสู่ความหนุ่มสาวพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้ ต่อมเพศในชายคือ อัณฑะ ส่วนในหญิงคือ รังไข่

8.1 ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

ระบบสืบพันธุ์เพศชายประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้

 

รูปที่ 8.1 อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศชาย

 

1. อัณฑะ (Testis) เป็นต่อมเพศชองชายทำหน้าที่ผลิตตัวอสุจิ (Sperm) และสร้างฮอร์โมนเพศชาย อัณฑะมี 2 ข้าง ภายในประกอบด้วยหลอดสร้างตัวอสุจิ (Somniferous tubules) มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ ขดเรียงกันอยู่มากมาย ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ นอกจากนั้นภายในอัณฑะยังมีเซลล์ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชายเพื่อควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดเครา เป็นต้น

อัณฑะบรรจุอยู่ภายในถุงอัณฑะ (Scrotum) ซึ่งทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส (ประมาณ 34 องศาเซลเซียส) ให้เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของตัวอสุจิ

2. หลอดเก็บตัวอสุจิ (Epididymis) เป็นที่พักของตัวอสุจิที่สร้างจากหลอดสร้างหลอดอสุจิ หลอดเก็บตัวอสุจิจะอยู่ด้านบนของอัณฑะต่อเชื่อมกับหลอดนำตัวอสุจิ

รูปที่ 8.2 ตัวอสุจิ

3. ท่อนำตัวอสุจิ (Vas deferens) อยู่ต่อจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ

4. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงตัวอสุจิ (Seminal vesicle) อยู่ต่อจากหลอดนำตัวอสุจิ ทำหน้าที่สร้างสารอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอสุจิ ได้แก่ น้ำตาลฟรักโทส วิตามินซี โปรตีนโกลบูลิน และสร้างของเหลวเพื่อทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ

5. ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) อยู่บริเวณตอนต้นของท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างสารที่เป็นเบสอ่อน ๆ เข้าไปในท่อปัสสาวะปนกับน้ำเลี้ยงตัวอสุจิเพื่อลดความเป็นกรด เพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะสมสำหรับตัวอสุจิ

6. ต่อมคาวเปอร์ (Cowper’s gland) อยู่ใต้ต่อมลูกหมาก ทำหน้าที่สร้างน้ำเมือกหล่อลื่นในท่อปัสสาวะ เพื่อให้ตัวอสุจิเคลื่อนตัวได้สะดวกและเร็วขึ้น

การสร้างตัวอสุจิและการหลั่งน้ำอสุจิ มีรายละเอียดดังนี้

เริ่มจากหลอดสร้างตัวอสุจิซึ่งอยู่ภายในอัณฑะสร้างตัวอสุจิออกมา ถูกนำไปพักไว้ที่หลอดเก็บตัวอสุจิ จนตัวอสุจิแข็งแรงพร้อมที่จะปฏิสนธิ แล้วถูกลำเลียงไปตามหลอดนำตัวอสุจิเพื่อนำไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ เมื่อถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำอสุจิ น้ำอสุจิจะถูกขับออกมาทางท่อปัสสาวะและออกจากร่างกายตรงปลายสุดของอวัยวะเพศชาย ซึ่งต่อมลูกหมากจะหลั่งสารเข้าผสมกับน้ำเลี้ยงตัวอสุจิเพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมกับตัวอสุจิ และต่อมคาวเปอร์จะสร้างเมือกหล่อลื่นในท่อปัสสาวะเพื่อให้ตัวอสุจิเคลื่อตัวได้เร็วขึ้น

โดยทั่วไปเพศชายจะเริ่มสร้างตัวอสุจิเมื่ออายุประมาณ 12-13 ปี และสร้างไปจนตลอดชีวิต การหลั่งน้ำอสุจิออกมาแต่ละครั้งจะมีของเหลวออกมาเฉลี่ยประมาณ 3-4 ลูกบาศก์เซนติเมตร และมีตัวอสุจิเฉลี่ยประมาณ 350-500 ล้านตัว ซึ่งปริมาณน้ำอสุจิและตัวอสุจิอาจแตกต่างไปตามความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย เชื้อชาติ และสภาพแวดล้อม สำหรับชายที่เป็นหมันจะมีตัวอสุจิน้อยกว่า 30-50 ล้านตัวต่อ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือมีตัวอสุจิที่ผิดปรกติมากกว่าร้อยละ 25 ตัวอสุจิเมื่อออกจากร่างกายจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในมดลูกของเพศหญิงจะอยู่ได้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง

8.2 ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วย

1. รังไข่ (Ovary) มีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยาวประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร หนา 1 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 2 – 3 กรัม และมี 2 อัน อยู่บริเวณปีกมดลูกแต่ละข้าง ทำหน้าที่ดังนี้

1.1 ผลิตไข่ (Ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง โดยปรกติไข่จะสุกเดือนละ 1 ใบ จากรังไข่แต่ละข้างสลับกันทุกเดือน และออกจากไข่ทุกรอบเดือนเรียกว่า การตกไข่ ตลอดช่วงชีวิตของเพศหญิงปรกติจะมีการผิตไข่ประมาณ 400 ใบ คือเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี ถึง 50 ปี จึงหยุดผลิต เซลล์ไข่จะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง

1.2 ร้างฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่

1) เอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากฟอลลิเคิล ทำหน้ามี่ควบคุมเกี่ยวกับมดลูก ช่องคลอด ต่อมน้ำนม และควบคุมการเกิดลักษณะต่าง ๆ ของเพศหญิง เช่น เสียงแหลมเล็ก ตะโพกผาย หน้าอกและอวัยวะเพศขยายใหญ่ขึ้น เป็นต้น

2) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากคอร์ปัส ลูเทียม ทำงานร่วมกับเอสโตรเจนในการควบคุมเกี่ยวกับการเจริญของมดลูก การเปลี่ยนแปลงเยื่อบุมดลูกเพื่อเตรียมรับไข่ที่ผสมแล้ว

 

รูปที่ 8.3 แสดงอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

2. ท่อนำไข่ (Oviduct) หรือ ปีกมดลูก (Fallopian) เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างรังไข่ทั้งสองข้างกับมดลูก ภายในกลวง มีเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนาดปรกติเท่ากับเข็มถักไหมพรหม ยาวประมาณ 6 – 7 เซนติเมตร หนา  1 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของไข่ที่ออกจากรังไข่เข้าสู่มดลูก โดยมีปลายข้างหนึ่งอยู่ใกล้กับรังไข่เรียกว่า ปากแตร (Funnel) บุด้วยเซลล์ที่มีขนสั้น ๆ ทำหน้าที่พัดโบกไข่ที่ตกลงมาจากรังไข่ให้เข้าไปในท่อนำไข่ ท่อนำไข่เป็นบริเวณที่อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่

3. มดลูก (Uterus) มีรูปร่างคล้ายผลชมพู่ หรือรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับลง กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 – 8 เซนติเมตร หนาประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ภายในกระดูกเชิงกราน ระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับทวารหนัก ภายในเป็นโพรง ทำหน้าที่เป็นที่ผังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตของทารกในครรภ์

4. ช่องคลอด (Vagina) อยู่ต่อจากมดลูกลงมา ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก เป็นทางออกของทารกเมื่อครบกำหนดคลอด และยังเป็นช่องให้ประจำเดือนออกมาด้วย

การตกไข่ (Ovulation) คือการที่ไข่สุกและออกจากรังไข่ผ่านสู่ท่อนำไข่ในช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน ถ้านับวันแรกที่มีประจำเดือนเป็นวันที่ 1 การตกไข่จะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 13 – 15

การมีประจำเดือน (Menstruation) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่แสดงให้ทราบว่าเด็กหญิงนั้นได้เจริญเต็มที่พร้อมที่จะมีลูกได้

 

รูปที่ 8.4 แสดงระยะการมีประจำเดือน

การมีประจำเดือนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในมดลูกในรอบเดือน โดยภายในรังไข่แต่ละข้างจะมีไข่อ่อนที่ยังไม่เจริญเต็มที่อยู่มากมาย ไข่อ่อนแต่ละใบจะมีฟอลลิเคิลหรือถุงไข่ (Follicle) หุ้มไว้ รังไข่จะผลิตไข่สลับข้างกันและผลิตเดือนละครั้ง ครั้งละหนึ่งใบ ในการผลิตไข่แต่ละครั้งจะมีฟอลลิเคิลเจริญเติบโตมาหลายถุง แต่จะมีเพียงถุงเดียวเท่านั้นที่ไข่อ่อนเจริญเต็มที่ ส่วนใหญ่จะฝ่อไป เมื่อไข่อ่อนเจริญเต็มที่จะหลุดออกจากรังไข่ลงสู่ช่องท้องที่เรียกว่า ตกไข่ เมื่อมีการตกไข่แล้วจะเกิดเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาแทนที่บริเวณที่มีการตกไข่ เรียกเนื้อเยื่อใหม่ว่า คอร์ปัส ลูเทียม (Corpus luteum) ขณะที่ฟอลลิเคิลกำลังเจริญเติบโตเต็มที่จะมีการสร้างเอสโตรเจนไปกระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกหนาขึ้นด้วย เมื่อไข่ตกจากรังไข่แล้ว ซากฟอลลิเคิลซึ่งยังคงเหลืออยู่ในรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเพศหญิงอีก

ชนิดหนึ่งขึ้นมาคือ โปรเจสเตอโรน ซึ่งจะทำให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว หลังจากนั้นไข่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ท่อนำไข่ลงสู่มดลูกตามลำดับ ขณะที่อยู่ในท่อนำไข่ถ้ามีการผสมหรือการปฏิสนธิเกิดขึ้นระหว่างไข่กับตัวอสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย ไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนที่ลงไปฝังตัวที่ผนังมดลูก แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและทารกต่อไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่มีการผสมเกิดขึ้นไข่จะฝ่อและสลายตัวไป เยื่อผุผนังมดลูกจะเสื่อมและลอกหลุดจากผนังมดลูก พร้อมทั้งมีเลือดไหลปนออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเรียกว่า ประจำเดือน หลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกแล้วก็จะมีครั้งต่อไปอีกทุกเดือน โดยในรอบเดือนต่อไปเมื่อไข่ใบใหม่สุกและตกมาจากรังไข่ ถ้าไม่ได้รับการปฏิสนธิก็จะเกิดประจำเดือนเช่นเดียวกันอีก

โดยปรกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 12 ปี ขึ้นไป และจะมีทุกเดือนไปจนถึงอายุประมาณ 50 ปี รอบของการมีประจำเดือนแต่ละเดือนแตกต่างกันไปในแต่ละคนโดยทั่วไปประมาณ 28 วัน (ระหว่าง 21 – 35 วัน) ช่วงระยะของการมีประจำเดือนแต่ละครั้งประมาณ 3 – 6 วัน ซึ่งร่างกายจะสูญเสียเลือดไปประมาณ 60 – 90 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อการมีประจำเดือนแต่ละครั้ง ดังนั้นผู้หญิงจึงควรได้รับโปรตีนและธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนเพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไป

ในแต่ละเดือนประจำเดือนอาจจะมากหรือน้อยก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจของแต่ละบุคคล อารมณ์และความวิตกกังวลต่าง ๆ ก็มีผลให้การหลั่งฮอร์โมนของสมองใหญ่ผิดปรกติ ซึ่งจะไปมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมองทำให้รอบเดือนมาไม่ปรกติ และในบางคนก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างมีประจำเดือนอาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะ เมื่อล้า หงุดหงิด ปวดท้อง เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นอาการปรกติที่เกิดขึ้นโดยไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ามีอาการผิดปรกติเกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมาเร็วหรือช้าเกินไป มีนานกว่าปรกติหรือมากกว่าปรกติ หรือไม่มีประจำเดือนเลย ควรไปพบแพทย์

นักเรียนสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์แล้วจึงไม่มีการตกไข่อีก สาเหตุที่เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วไม่มีการตกไข่อีก เป็นเพราะว่าร่างกายมีกลไกปรับระดับฮอร์โมน โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้คือ ในแต่ละเดือนฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากต่อมใต้สมองจะทำหน้าที่กระตุ้นให้ไข่สุก ขณะเดียวกันฟอลลิเคิลก็จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นและส่งออกสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนจะไปกระตุ้นให้ผนังมดลูกสร้างเยื่อบุเตรียมรับไข่ที่ได้รับการผสม ฟอลลิเคิลจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมามีผลให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากต่อมใต้สมองออกมา ทำให้เกิดการตกไข่ขณะเดียวกันฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจำทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างเยื่อบุผนังมดลูกเพื่อเตรียมรับไข่ที่ได้รับการผสม

ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสม ระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดลง และ FSH จะเพิ่มขึ้นทำให้ไข่สุกอีกครั้งเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป แต่ถ้าไข่ได้รับการผสมแล้วฝังตัวที่ผนังมดลูกระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะยังสูง ด้วยเหตุนี้หญิงมีครรภ์จึงไม่มีการตกไข่อีก

การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ และการคลอด

 

รูปที่ 8.5 การปฏิสนธิ

การปฏิสนธิเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดในกระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ การปฏิสนธิในคนมิได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการร่วมเพศ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตกไข่เกิดขึ้นพอดีในเพศหญิง

การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นเมื่อเมื่อหญิงย่างเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มมีประจำเดือน โดยมีไข่สุกและออกจากรังไข่แล้วไข่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ท่อนำไข่ ในขณะนี้ถ้ามีการร่วมเพศจำนวนอสุจิของชายจำนวนหลายล้านตัวจะแหวกว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกจนถึงท่อนำไข่ และจะมีอสุจิเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เข้าผสมกับไข่ที่

 

รูปที่ 8.6 แสดงการเจริญของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว

บริเวณท่อนำไข่ตอนปลายใกล้กับรังไข่ได้ เมื่อตัวอสุจิตัวหนึ่งสามารถเข้าผสมกับไข่ได้แล้วเยื่อหุ้มเซลล์ของไข่จะหนาขึ้น ทำให้ตัวอสุจิตัวอื่น ๆ ไม่สามารถเข้ามาผสมได้อีก และภายในเวลา 10 – 12 ชั่วโมง นิวเคลียสของตัวอสุจิจะรวมเข้ากับนิวเคลียสของไข่เกิดการปฏิสนธิขึ้น การปฏิสนธิจึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์

ภายหลังการปฏิสนธิประมาณ 30 – 37 ชั่วโมง ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วซึ่งเรียกว่าไซโกต (Zygote) จะเริ่มแบ่งเซลล์จาก 1 เซลล์ เป็น 2 เซลล์ จาก 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ แล่แบ่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นกลุ่มเซลล์ กลุ่มเซลล์ดังกล่าวนี้จะเคลื่อนที่ไปยังผนังมดลูกซึ่งหนาตัวขึ้นเพื่อเตรียมการรองรับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสม และภายในเวลา 6 – 7 วัน กลุ่มเซลล์ก็จะฝังตัวบริเวณผนังมดลูก กลุ่มเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงถึงระยะนี้เรียกว่า เอ็มบริโอ (Embryo) หรือ ตัวอ่อน อย่างไรก็ตามในบางกรณีซึ่งไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปฝังตัวที่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่มดลูก เช่น บริเวณช่องท้อง บริเวณปีกมดลูก ซึ่งเรียกว่า ท้องนอกมดลูก การท้องนอกมดลูกมีผลทำให้ผู้เป็นแม่มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจมีอันตายถึงชีวิตได้

เมื่อตัวอ่อนมาฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วในระยะนี้จะมีการพัฒนาอวัยวะพิเศษของตัวอ่อน อวัยวะนั้นก็คือ รก (Placenta) ซึ่งมีลักษณะเป็นร่างแหหลอดเลือดหนา รกจะทำหน้าที่ดูดซึมอาหารและออกซิเจนจากผนังมดลูกแม่ส่งมาเลี้ยงตัวอ่อน และเป็นช่องทางขับถ่ายของเสียของตัวอ่อนด้วย

หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วก็จะมีการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ และเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเรื่อย ๆ ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

 

ตารางที่ 8.1 แสดงขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในระหว่างการตั้งครรภ์

อายุ (สัปดาห์)

ลักษณะของทารก

การเจริญเติบโต

3

 

เริ่มมีหัวใจ สมอง และไขสันหลัง

4

 

เริ่มมีตา ปุ่มแขนขา หัวใจเจริญมากขึ้น

5

 

อวัยวะต่าง ๆ เจริญมากขึ้น

6

 

เริ่มมีหู

7

 

เริ่มมีเพดานในช่องปาก

8

 

เริ่มปรากฏอวัยวะเพศภายนอก เริ่มมีอวัยวะต่าง ๆ เหมือนคน กระดูกภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงจากกระดูกอ่อนเป็นกระดูกแข็ง เอ็มบริโอระยะนี้เรียกว่า ฟีตัส (Fetus)

12

 

ฟีตัสเริ่มมีการเคลื่อนไหวส่วนแขน ขา อวัยวะหายใจเริ่มปรากฏแต่ยังไม่ทำหน้าที่ เริ่มเห็นรอยนิ้วมือ นิ้วเท้า กลืนของเหลวในถุงน้ำคร่ำได้ ระบบขับถ่ายเจริญอย่างรวดเร็ว

16

 

ฟีตัสมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น มีการเจริญของกระดูกแข็ง

20 – 36

 

ฟีตัสมีการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้น ระบบประสาทมีการเจริญมาก มีไขเคลือบทั่วตัว และอวัยวะต่าง ๆ เจริญเติบโตเกือบเต็มที่

38

 

ฟีตัสเจริญเติบโตเต็มที่

ขณะที่ทารกเจริญอยู่ในครรภ์ ทารกจะอาศัยอยู่ในถุงน้ำครำซึ่งช่วยป้องกันทารกจากอันตรายต่างๆ ได้ดี และทารกจะได้รับอาหารและอากาศโดยผ่านทางรก ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับมดลูกของแม่มีหลอดเลือดจากแม่มาเลี้ยงบริเวณรกนี้มากมาย หลอดเลือดจากรกจะเชื่อมต่อกับตัวทารกทางสายสะดือ ดังนั้นรกจึงเป็นทางผ่านเข้าออกของอาหาร อากาศ ของเสียจากทารกอยู่ตลอดเวลา

 

รูปที่ 8.6 ทารกในครรภ์

นอกจากอาหารและอากาศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและรอดชีวิตของทารกในครรภ์แล้ว อารมณ์ของผู้เป็นแม่ขณะตั้งครรภ์ก็มีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วย ดังนั้นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์นอกจากจะต้องบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงโดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ งดเว้นสิ่งเสพย์ติดทั้งหลายแล้วยังต้องทำจิตใจให้แจ่มใสอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อทารกที่อยู่ในครรภ์จะได้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะเดียวกันผู้ที่กำลังจะเป็นพ่อก็ควรให้ความเอาใจใส่และทะนุถนอมน้ำใจของผู้ที่จะเป็นแม่ด้วย

 เมื่อทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์จนกระทั่งมีอายุประมาณ 38 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน หรือ 280 วัน นับจกวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งถือเป็นช่วงครบกำหนดคลอด รกจะเริ่มเสื่อมสลายตัว ทารกเตรียมพร้อมที่จะคลอด และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวแม่โดยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อผนังมดลูกบีบตัว ประกอบกับการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้องทำให้ปากมดลูกเปิด ถุงน้ำคร่ำแตก มดลูกบีบตัวอย่างแรงดันให้ทารกออกมาทางช่องคลอด โดยปรกติส่วนของศีรษะของทารกจะโผล่ป่านปากช่องคลอดออกมาก่อน หลังจากทารกคลอดออกมาแพทย์ผู้ทำการคลอดจะต้องผูกสายสะดือให้แน่นทั้งด้านตัวแม่และด้านตัวลูกก่อนที่จะตัดสายสะดือ เพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดจากตัวแม่และตัวลูก หลังจากทารกคลอดออกมาประมาณ 10 – 15 นาที มดลูกจะบีบตัวให้รกหลุดออกมา

 ภายหลังจากการคลอดต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม และต่อมาจากนั้น 2 – 3 วัน มารดาจะมีน้ำนมซึ่งมีลักษณะขุ่นเล็กน้อยสีค่อนข้างเหลือง เรียกว่า น้ำนมน้ำเหลือง ซึ่งมีส่วนผสมต่างจากน้ำนมธรรมดาตรงที่มีไขมันน้อยกว่าหรือไม่มีไขมันเลย น้ำนมน้ำเหลืองนี้เป็นน้ำนมชุดแรกที่มารดาผลิตขึ้น มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูงมากเหมาะสำหรับทารก หลังจากนั้นประมาณวันที่ 3 – 4 หลังคลอด จึงมีการผลิตน้ำนมธรรมดา

เมื่อเราเปรียบเทียบน้ำนมวัวซึ่งเป็นน้ำนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถใช้เลี้ยงทารกแทนน้ำนมแม่ได้ กับน้ำนมแม่จะพบส่วนประกอบที่แตดต่างกันดังแสดงในตารางต่อไปนี้

 

ตารางที่ 8.2 เปรียบเทียบส่วนประกอบของน้ำนมแม่กับน้ำนมวัว

ส่วนประกอบที่สำคัญ

ความเข้มข้นเฉลี่ย (กรัม/100 ซม3)

น้ำนมแม่

น้ำนมวัว

น้ำ

88.7

87.5

น้ำตาล

7.0

4.8

ไขมัน

3.8

3.7

โปรตีน

1.2

3.3

แร่ธาตุ

0.2

0.7

 จากตารางถึงแม้ว่าน้ำนมวัวจะมีส่วนประกอบหลายอย่างที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าน้ำนมแม่ก็ตาม แต่แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้เป็นแม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่มากกว่าน้ำนมวัว ทั้งนี้เพราะน้ำนมแม่มีข้อดีหลายประการ คือ

1. น้ำนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของทารก และยังเหมาะต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ด้วย ปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำนมแม่ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าน้ำนมวัวแต่ก็เป็นโปรตีนที่สามารถย่อยและดูดซึมเข้าไปใช้ได้หมด ถ้าทารกระยะ 2 – 3 เดือนแรกได้รับโปรตีนมากเกินไป ตับจะเปลี่ยนโปรตีนที่มีเกินพอให้เป็นยูเรียไนโตรเจน ทำให้ระดับยูเรียไนโตรเจนในเลือดสูงขึ้นและจะขับออกทางไตทำให้ไตต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดภาวะไตโตได้ ฉะนั้นปริมาณโปรตีนที่มีมากเกินไปในน้ำนมวัว อาจทำให้ทารกที่กินน้ำนมวัวมีอาการดังกล่าวได้

2. น้ำนมแม่ไม่มีโปรตีนชนิดที่เรียกว่าเบต้าแลคโตโกลบูลิน (b - Lacto globulin) ซึ่งโปรตีนชนิดนี้พบมากในน้ำนมวัว และเชื่อว่าเป็นต้นต่อสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในทารกและเด็กที่ดื่มน้ำนมวัว

3. น้ำนมแม่มีกรดไขมันที่จำเป็น ได้แก่ กรดไลโนเลอิก ซึ่งมีปริมาณมากในน้ำนมแม่คือ 8 – 10 % ของไขมันทั้งหมด ในขณะที่น้ำนมวัวมีประมาณ 2 % เท่านั้น

4. น้ำนมแม่มีเอนไซม์ไลเพสอยู่ด้วย เอนไซม์นี้เมื่อได้รับการกระตุ้นจากเกลือน้ำดีจะช่วยให้การย่อยและการดูดซึมไขมันในน้ำนมดีกว่านมผสม

5. ในน้ำนมแม่มีแล็กโทสสูงกว่าน้ำนมวัว ประโยชน์ของการมีแล็กโทสสูงก็คือ ทำให้ทารกที่ดื่มน้ำนมแม่มีอุจจาระเป็นกรด ทำให้การถ่ายอุจจาระเป็นปรกติมีสีเหลืองทองและมีกลิ่นเป็นกรด ต่างจากการดื่มน้ำนมวัวซึ่งทำให้อุจจาระแข็ง สีซีดและมีกลิ่นเหม็น

6. การดื่มน้ำนมแม่ประหยัด สะดวก สะอาดและปลอดภัย เพราะไม่ต้องซื้อ และตัดปัญหาเรื่องความสะอาดของขวดนม จุกนม และอุปกรณ์ในการเตรียมนมผสม เพียงแต่เช็ดหัวนมให้สะอาดด้วยผ้าหรือสำลีชุบน้ำเป็นอันใช้ได้ เพราะการเตรียมหรือการผสมน้ำนมมักจะทำไม่ถูกต้องหรือไม่สะอาด จึงเป็นเหตุให้ทารกเกิดโรคท้องเสียและโรคขาดสารอาหารตามมา ซึ่งโรคท้องเสียในทารกต่ำกว่า 1 ปี เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ทารกวัยนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือทำให้ทารกต้องตายไป

7. น้ำนมแม่มีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อทารกที่ได้รับการเลี้ยงด้วยน้ำนมแม่จะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีการเจ็บป่วยเป็นโรคติดเชื้อน้อยโดยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาในทารกคือ โรคท้องเสีย โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหูน้ำหนวก ทั้งนี้เพราะน้ำนมแม่สะอาด น้ำนมแม่มีเม็ดเลือดขาวซึ่งคอยทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย น้ำนมน้ำเหลืองจะมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า นอกจากนี้น้ำนมแม่มีสารที่ทำให้เกิดภูมิต้านทาน และมีสารที่สามารถฆ่าเชื้อโรคอย่างอ่อน ๆ (Lysoxyme) ซึ่งช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

8. น้ำนมแม่มีผลต่อสภาวะจิตใจ จะมีผลดีทั้งแม่และลูก การให้ลูกดูดนมทำให้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สบายใจและภาคภูมิใจทั้งแม่และลูก

9. การให้ลูกดูดนมแม่เป็นผลดีต่อตัวแม่เอง แม่ที่ให้นมลูกเต็มที่จะมีภาวะขาดประจำเดือนประมาณ 8 – 12 เดือน หลังคลอด ซึ่งเปรียบเทียบกับแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองจะมีภาวะขาดประจำเดือน 2 – 4 เดือน ซึ่งประโยชน์ในด้านนี้คือช่วยในการวางแผนครอบครัวโดยแม่ที่ให้น้ำนมลูกเมที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในระยะประมาณ 7 เดือนหลังคลอด ซึ่งช่วยไม่ให้ตั้งครรภ์ถี่เกินไป อย่างไรก็ตามแม่ที่ต้องการให้มีลูกป่างหรือไม่มีลูกอีกต่อไปควรจะหาวิธีคุมกำเนิดโดยวิธีอื่น ๆ ซึ่งได้ผลแน่นอนกว่า นอกจากนี้การที่ทารกดูดนมแม่จะช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งจะช่วยให้มดลูกหดตัวเข้าช่องเชิงกรานได้ดีอีกด้วย ดังนั้นผู้เป็นแม่จึงควรกระตุ้นการหลั่งน้ำนมให้ลูกดูด และควรเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตนเองอย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือประมาณ 6 เดือนหลังคลอด

ความผิดปรกติของการตั้งครรภ์

ชีวิตของคนเราจะเริ่มก่อตัวอยู่ภายในโพรงมดลูกของแม่ และจะเจริญขึ้นทีละน้อย ๆ โดยอาศัยอาหารที่มาจากเลือดของแม่ทางสายสะดือ ทารกจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในท้องของแม่จนครบ 9 เดือน จึงจะเจริญเต็มที่ และคลอดออกมาเป็นทารกตัวเล็ก ๆ ที่สมบูรณ์แข็งแรงและน่ารัก แต่ถ้าสภาพของการตั้งครรภ์ผิดไปจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น การตั้งครรภ์ยังไม่ทันถึง 7 เดือน ก็มีเหตุบังเอิญหรือเหตุจำเป็นต้องคลอดออกมาเสียก่อน หรือแม่มีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวอยู่นานเป็นผลให้ทารกในท้องเจริญเติบโตไม่ได้ หรืออาจเป็นเพราะลูกในท้องที่ก่อตัวอ่อน ๆ อยู่นั้นมีความพิการเป็นต้น ก็ถือว่าเป็นความผิดปรกติของการตั้งครรภ์และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ได้ ความผิดปรกติของการตั้งครรภ์ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่

ท้องนอกมดลูก

ท้องนอกมดลูก คือการที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไปฝังตัวอยู่ที่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่มดลูก เช่น บริเวณช่องท้อง บริเวณปีกมดลูก ซึ่งเป็นผลให้ผู้ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง

การท้องนอกมดลูกมักจะดำเนินไปไม่ตลอดถึงครบกำหนดคลอด วนมากจะพบว่ามีการแท้งหลุดออกมา หรือการแตกของท่อนำไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในช่องท้อง ดังนั้นหากมีอาการเช่นนี้เกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันทีเพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ฝาแฝด

ตามปรกติในรอบเดือนหนึ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะมีกลไกภายในที่ควบคุมให้มีการเจริญและตกไข่รอบละ 1 ใบ จึงทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์และคลอดทารกได้ครั้งละ 1 คนเท่านั้น แต่ในบางกรณีก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์และคลอดทารกได้มากกว่า 1 คนในคราวเดียวกัน ซึ่งจดเป็นความผิดปรกติของการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ทารกที่คลอดในลักษณะนี้เรียกว่า ฝาแฝด (Twins) ฝาแฝดแบ่งตามสาเหตุของการเกิดมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

1. ฝาแฝดร่วมไข่ หรือ ฝาแฝดแท้ (Identical Twins) เป็นฝาแฝดที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกันหมด แต่รูปร่างลักษณะนี้อาจจะกลับข้างกันจากซ้ายเป็นขวาและจากขวาเป็นซ้ายได้ เป็นเพศเดียวกันเสมอ มีเลือดหมู่เดียวกัน มีนิสัยใจคอและความสามารถคล้ายกันมากเมื่อได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมเดียวกัน

ฝาแฝดร่วมไข่เป็นฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันผสมกับอสุจิเพียงตัวเดียว ขณะที่กำลังเจริญเติบโตเป็นเอ็มบริโอในระยะแรก ๆ มีการแบ่งตัวออกเป็น 2 ส่วน และแยกออกจากกัน แต่ละส่วนมีการเจริญเติบโตต่อไปภายในมดลูกจนเป็นทารก และคลอดออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ในบางครั้งเอ็มบริโอมีการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนแต่ไม่แยกจากกันโดยเด็ดขาด เมื่อเจริญเติบโตและคลอดออกมาก็จะได้ทารกที่มีอวัยวะบางส่วนติดกัน ฝาแฝดในลักษณะนี้ต่อมาเรียกว่า แฝดสยาม (Siamese Twins) ฝาแฝดร่วมไข่ในลักษณะนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาผ่าตัดแยกออกเป็น 2 คน เฉพาะรายที่เห็นสมควรเท่านั้น ตัวอย่างฝาแฝดร่วมไข่ที่มีอวัยวะบางส่วนติดกัน เช่น

 

รูปที่ 8.7 แสดงการเกิดฝาแฝดแบบฝาแฝดร่วมไข่

แฝดอิน – จัน มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เอ็ง – ชาง เป็นแฝดสยามคู่แรก เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2354 แฝดอิน – จัน มีส่วนหน้าอกติดกัน และมีอวัยวะภายใน คือ ตับ เป็นเนื้อเดียวกัน แฝดอิน – จัน เกิดและมีชีวิตในช่วงเวลาที่วิชาศัลยแพทย์ไม่เจริญ จึงไม่มีแพทย์ผู้ใดกล้าทำการผ่าตัดแยกออกจากกันได้ ถึงแม้แฝดอิน – จัน จะมีชีวิตผ่านการอบรมมาแบบเดียวกันแต่อุปนิสัยไม่เหมือนกัน คือคนหนึ่งชอบกินเหล้า เมื่อเมาแล้วจะอาละวาด ส่วนอีกคนหนึ่งไม่กินเหล้า มีนิสัยโอบอ้อมอารี แฝดอิน – จัน ใช่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศมีครอบครัวและลูกหลานสืบสกุลมาจนถึงปัจจุบันมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดนใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) แฝดอิน – จันถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2417 รวมอายุได้ 63 ปี

แฝดทิวา – ราตรี (น้องปู – น้องเป้) เป็นแฝดร่วมไข่อีกคู่หนึ่งซึ่งเอ็มบริโอแบ่งเป็น 2 ส่วน แต่ไม่แยกจากกันโดยเด็ดขาด และแพทย์สามารถผ่าตัดแยกออกเป็น 2 คนได้สำเร็จเมื่อวันที่16 มิถุนายน 2525 โดยคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

2. ฝาแฝดต่างไข่ หรือ ฝาแฝดเทียม (Fraternal Twins) เป็นฝาแฝดที่มีรูปร่างลักษณะอาจไม่เหมือนกันเลย เป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศ และอาจมีเลือดหมู่เดียวกันหรือคนละหมู่ก็ได้ ฝาแฝดต่างไข่นี้จึงมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะทางพันธุกรรมเทียบได้กับพี่น้องท้องเดียวกันเท่านั้น นอกจาการนี้ฝาแฝดต่างไข่ยังอาจมีอุปนิสัยใจคอและความสามารถแตกต่างกันอีกด้วย

 

รูปที่ 8.8 แสดงการเกิดฝาแฝดแบบฝาแฝดต่างไข่

ฝาแฝดต่างไข่ เป็นฝาแฝดที่เกิดเนื่องจากมีไข่สุกพร้อมกันมากกว่า 1 ใบ จากรังไข่ข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และไข่แต่ละใบจะผสมกับตัวอสุจิแต่ละตัว เกิดการปฏิสนธิขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันได้เอ็มบริโอเจริญอยู่ภายในมดลูกด้วยกัน แต่แยกรกกันและทารกจะคลอดออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน ฝาแฝดต่างไข่อาจคลอดออกมาครั้งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปขึ้นอยู่กับจำนวนไข่ที่สุกพร้อมกันว่ามีกี่ใบ

การแท้งและการคลอดก่อนกำหนด

ความผิดปรกติของการตั้งครรภ์นอกจากจะทำให้เกิดฝาแฝดในลักษณะต่าง ๆ แล้วยังทำให้เกิดผลอื่น ๆ เช่น การแท้ง การลอดก่อนกำหนด เป็นต้น

การแท้ง หมายถึง การที่ทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ หรือทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัม

การแท้งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ พบประมาณร้อยละ 10 – 15 ของการตั้งครรภ์ อาการ

หมายเลขบันทึก: 447349เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท