การแนะแนวการศึกษา


การแนะแนวการศึกษา (Educational Guidance)

ความหมายของการแนะแนวการศึกษา

การแนะแนวการศึกษา หมายถึง กระบวนการที่ช่วยให้เราเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สามารถแก้ปัญหาหรือตัดสินใจได้ถูกต้อง สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มความสามารถทุกด้าน และยังสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้อย่างมีสุขอีกด้วยคะ สรุปได้ว่า การแนะแนวการศึกษาเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ความสามารถ และความถนัดของแต่ละบุคคล การแนะแนวหมายถึง  

1.การแนะแนวในเรื่องสถานที่เรียนให้กับผู้ที่จะศึกษาต่อ
2.การแนะแนวในเรื่องการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อ
3.การแนะแนวในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในโรงเรียนได้ทุก ๆ ระยะ หรือทุก ๆ ตอน                                              

ดังนั้น การแนะแนวการศึกษาจึงครอบคลุมถึงการส่งเสริมความสามารถทางการเรียนทุกด้าน เช่นช่วยให้นักเรียนรู้จักวิธีการเรียน การศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม รู้จักหลักเกณฑ์ ในการเลือกวิชาเรียนหรือโปรแกรมการเรียนให้สอดคล้องกับความสามารถ ช่วยให้สามารถวางแผนด้านการศึกษาต่อในอนาคตได้  รู้แนวทางในการเลือกสถานที่เรียนต่อ รู้วิธีที่จะเตรียมตัวในการสอบคัดเลือกเข้าสถานศึกษาต่อ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพชีวิตภายในสถานศึกษาได้ งานแนะแนวเป็นงานบริการที่มุ่งให้ความช่วยเหลือนักศึกษาในด้านการพัฒนาตนเองโดยนำเอาความสามารถที่ตนเองมีอยู่มาใช้ในการพิจารณาอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ตลอดจนรู้ถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุขในชีวิต การแนะแนวนั้นเกิดขึ้นมาจากปัญหาและความต้องการต่างๆอาจมีลักษณะสัมพันธ์กันจนแยกจากได้ การแนะแนวการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรกของนักศึกษาที่เข้าสู่สถานศึกษา และดำเนินไปจนถึงการสิ้นสุดการเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพและการศึกษาต่อในระดับสูง ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กิจกรรมช่วยเหลือนักศึกษาด้านการเรียน คือ การให้ข้อสนเทศทางการเรียนการศึกษาต่อ การทำงานเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน การติดต่อขอรับทุนทางการศึกษาวารสารและหนังสือทางราชการแนะแนวทางการศึกษา ประการที่สอง การช่วยเหลื่อนักศึกษาด้านการปรับตัว ส่งเสริมทางด้านสติปัญญา ตลอดจนความเข้าใจในเรื่องความสามารถของตนเองให้สามารถตัดสินใจเพื่อมุ่งความสำเร็จทางด้านการศึกษา ความสามารถทั่วไป ความถนัดเฉพาะ ค่านิยม การค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลและนักศึกษาที่มีแนวโน้มของความเคลื่อนไหวด้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ทำให้มีความกระตือรือร้นในการเรียน ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการจัดบริการแนะแนวเพื่อแก้ปัญหาให้หมดไป

 

จุดมุ่งหมายของการจัดการบริการแนะแนว

                การแนะแนวมีความสำคัญมากจึงมีขอบข่ายที่กว้างขวาง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ดังนั้นความหมายในการจัดบริการแนะแนวจึงควรเน้นทั้งด้านการป้องกันปัญหา การแก้ปัญหาและการส่งเสริมพัฒนาการแก่บุคคล

                จุดมุ่งหมายของการแนะแนว คือ ทำให้บุคคลพัฒนาด้วยตัวเองอย่างดีที่สุดทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์สังคม และจิตใจและช่วยให้บุคคลช่วยเหลือตัวเองได้ในทุกเรื่อง เรียนรู้ที่จะดำรงอยู่อย่างมีความสุข

วัตถุประสงค์การแนะแนว
1. เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้รับข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนและสามารถเข้าใจคุณสมบัติของบุคคลที่จะศึกษาต่อ
 2. เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถปรับตนเองไห้เข้ากับการเรียนในแต่ละสาขาวิชา และวางแผนทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม                                                                                                                                                 3.เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของนักศึกษาทั้งทางร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์ และสังคม  ให้ไปได้ด้วยดี                                                                                                                                                                           4.เพื่อสร้างเสริมและแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักศึกษา  ให้เปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี  มีคุณภาพชีวิตที่พึงประสงค์และเป็นที่ยอมรับของสังคม                                                                                                                                               5.เพื่อช่วยเหลือ ดูแลนักศึกษาให้รู้สมรรถภาพของตนเอง  มองเห็นคุณค่าความสำคัญของตนเอง   มองเห็นชีวิตในอนาคต  รู้และปฏิบัติตนอย่างชาญฉลาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง  และสังคม

ประเภทของการแนะแนว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
              1.1) แนะแนวทางการศึกษา (Education Guidance) การแนะแนวทางการศึกษา เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทางด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการทราบถึงแนวทางการเข้ารับการศึกษา แนวโน้มของการศึกษา โอกาสของการศึกษาในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ สามารถเลือกแนวทางการศึกษา ได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถทางสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกประกอบอาชีพในอนาคต
             1.2) แนะแนวทางอาชีพ (Vocational Guidance) การแนะแนวทางอาชีพ เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของงานอาชีพ แนวทางและโอกาสของการประกอบอาชีพแต่ละอาชีพ การแนะแนวทางอาชีพ จะช่วยให้ผู้เรียน ผู้รับบริการรู้จักศึกษาโลกของงานอาชีพ รู้จักเตรียมตัวทางด้านอาชีพ และช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเลือกงานอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถวางแผนการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะทำให้ทำงานอาชีพได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และมีความสุขกับการทำงาน

                1.3) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว (Personal Social Guidance) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว เป็นกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการ ให้รู้จักปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น

การบริการแนะแนว                                                                                                                                                                               1) บริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล (Individual Inventory Service) หมายถึง การศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนทางด้านการศึกษา อาชีพ บุคลิกภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และจัดระบบแล้วจะทำให้ผู้แนะแนวได้รู้จักผู้เรียน และสามารถให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาได้อย่างถูกต้อง สามารถช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเข้าใจตนเอง และยอมรับตนเอง
                2) บริการสนเทศ (Information Service) หมายถึง การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากบริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงกับความต้องการ ในการส่งเสริม พัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
               3) บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ ความใกล้ชิด ความอบอุ่น ความมั่นใจ สติปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตัดสินใจ และเลือกได้อย่างฉลาด ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็น ซึ่งการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ลึกซึ้งอย่างเพียงพอ
                4) บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service) หมายถึง บริการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการตามที่ตัดสินใจเลือกไว้ เช่น ได้เรียนในวิชาหรือประกอบอาชีพที่เลือกไว้ เป็นต้น
               5) บริการติดตามและประเมินผล (Follow – up Service) จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินการติดตามผลผู้เรียนภายหลังจากที่ได้รับบริการแนะแนวไปแล้วว่าได้ประโยชน์มากน้อยเพียงไร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้จัดบริการแนะแนวได้ทราบว่าบริการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้น ได้ผลมากน้อยเพียงใด มีจุดเด่นอะไรบ้าง และมีจุดอ่อนที่จะต้องรีบปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

รูปแบบการให้บริการแนะแนว
       3.1) การให้บริการทางโทรศัพท์
       3.2) การให้บริการทางเครือข่าย Internet
       3.3) การให้บริการโดยสื่อเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์
       3.4) การให้บริการโดยสื่อประชาสัมพันธ์

 

        3.5) การให้บริการเป็นรายกลุ่ม-รายบุคคล
               3.5.1) ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ (Guidance Center)
               3.5.2) หน่วยงานแนะแนวเคลื่อนที่

 วิธีการขอรับบริการแนะแนว
        1. การติดตามผลจากระเบียนการเรียน
        2. การให้คำปรึกษาแบบรายบุคคลและรายกลุ่มทางการศึกษา
        3. การใช้แบบสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการเรียน โดยใช้วิธีการสอบถามนักศึกษาสอบถามอาจารย์
        4. การใช้แบบทดสอบความสมารถทางการเรียน
        5. การจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษาหรือชั่วโมงโฮมรูม
        6. การจัดแนะแนวหมู่โดยอภิปราย บรรยาย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการศึกษา

ประโยชน์ของการแนะแนว
การแนะแนวนับว่าเป็นการที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่ตลอดเวลา แนะแนวมีประโยชน์มากมาย ดังนี้
1.     ช่วยให้นักเรียนศึกษาหาความรู้อย่างถูกวิธี ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน
2.     ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนไปตามความถนัดของตนเอง สามารถเลือกวิชาตามความรู้ความสามารถของตนเอง
3.     ช่วยให้นักเรียนรู้จักคิด และร่วมกิจกรรมต่างๆ ไปตามความพอใจ และความสามารถของตนเอง
4.     ช่วยให้นักเรียนสามารถเลือกอาชีพไปตามความถนัดของตนเองอันจะเป็นแนวทางไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลในวิชาที่ตนเองเลือกเรียน
5.     ช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิดและปฏิบัติสิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง
6.  ช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่น
7.     ช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเอง รู้จักคิดและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง รู้จักวางแผนชีวิตในอนาคตและดำเนินชีวิตไปตามที่ตนเองต้องการ
8.     ช่วยให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว รู้จักและเข้าใจบุคคลอื่นได้ดี
9.     ช่วยให้นักเรียนเป็นคนที่มีเหตุผล รู้จักคุณค่าของตนเองและนำคุณค่าของตนเองไปใช้ประโยชน์
10.   ช่วยให้นักเรียนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ

 

ปรัชญาสำคัญของการแนะแนว

  1. มนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ  ลักษณะนิสัย  เจตคติ   ความรู้สึก   สภาวะของจิตและอารมณ์   ความสนใจ  ความสามารถ  ความถนัด  และสติปัญญา
  2. พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุ   มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป   และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
  3. มนุษย์ทุกคนย่อมมีปัญหา   มีความคับข้องใจและต้องการได้รับการช่วยเหลือ  
  4. มนุษย์มีศักดิ์ศรี  มีศักยภาพ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงยิ่ง จะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถสติปัญญาอย่างเต็มที่ หากได้รับการแนะแนวที่ถูกต้อง จะสามารถช่วยตนเองให้พัฒนาเจริญงอกงามถึงขีดสุดตลอดจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
  5. การแนะแนวยึดหลักเมตตาธรรม อาศัยความรัก ความหวังดีต่อกันยึดมั่นในความเป็นประชาธิปไตย  เคารพกันตามเหตุผลและร่วมมือประสานงานกัน
  6. การให้คำปรึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการแนะแนวยึดหลักการว่าช่วยให้เขารู้จักการปรับตัวและสามารถนำตนเองช่วยเหลือตนเองได้ในโอกาสต่อไป

การจัดบริการแนะแนวในโรงเรียน สรุปได้ดังนี้

1. การจัดการบริการแนะแนวทางการศึกษาจะต้องมุ่งให้ความช่วยเหลือนักเรียนทุกคนเนื่องจาก นักเรียน ทุกคนย่อมต้องการความช่วยเหลือจากโรงเรียนของตนเองและเป็นการบริการด้วยความเสมอภาคเป็นธรรมและเท่าเทียม

2. การจัดบริการแนะแนวจะต้องกระทำ อย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง คือจัดอย่างเป็นระบบมีระเบียบแบบแผน มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

3. ผู้ทำรายงานแนะแนวจะต้องยอมรับในความสามารถของนักเรียน คือต้องเข้าใจและยอมรับในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล     

4. การแนะแนวเป็นงานที่วางอยู่บนพื้นฐานกระบวนการ พฤติกรรมของบุคคลและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการของมนุษย์ ดังนั้นการแนะแนวจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและกลวิธีต่างทั้งที่เป็นแบบทดสอบและไม่เป็นแบบทดสอบ

   5. ผู้ทำงานต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคล นั่นคือจะต้องยอมรับว่านักเรียนแต่ละคนมีอิสภาพในการเลือกแนวทางชีวิตของตนเอง

ตัวอย่างการแนะแนวจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาตามความสนใจ ความถนัด และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน รูปแบบวิธีการและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จึงมีหลากหลายทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดจากความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีกระบวนการแนะแนวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนและประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รู้จักตนเองอย่างท่องแท้ รู้จักชุมชนแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง และมีข้อมูลข่าวสาร เพียงพอที่จะวิเคราะห์ และตัดสินใจกำหนดทางเลือกในการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม เจริญก้าวหน้า และสามารถพึ่งพาตนเองได้

ความหมายของการแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
          การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ รู้ถึงความสามารถ ความสนใจของตนเอง เข้าใจสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าตนเองควรจะศึกษาด้านใด ประกอบอาชีพอะไร หรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และมีความสำเร็จในชีวิต

หลักการแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
         1) การแนะแนวต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา หรือการให้บริการโดยสอดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือการให้บริการทุกกิจกรรม
         2) การแนะแนวเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือผู้ให้บริการทุกคนที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน และมีการประสานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาทุกคน โดยเฉพาะชุมชน

        3) การแนะแนวจะต้องจัดสำหรับผู้เรียนและผู้รับบริการทุกคนไม่ใช่จัดให้เฉพาะผู้เรียนหรือผู้รับบริการที่มีปัญหาเท่านั้น และต้องจัดให้คลอบคลุมทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และบุคลิกภาพ
        4) การแนะแนวต้องจัดอย่างต่อเนื่อง ควรมีแผนปฏิบัติการแนะแนวที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับปัญหาความต้องการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
       5 ) การแนะแนวควรมีข้อมูลและสารสนเทศ ที่ใช้ในการแนะแนวทุกด้านตรงตามความเป็นจริง และเป็นปัจจุบันซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้ตรงความต้องการ
       6) การแนะแนวจะต้องสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการนำตนเองและพึ่งตนเองได้
ขอบข่ายของการแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

 ข้อมูลนี้เป็นของคุณกชพร ควงประเสริฐ

คำสำคัญ (Tags): #092512
หมายเลขบันทึก: 447090เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2011 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท