ฟุตบอล กับ จ.อุบลฯ และ ม.อุบลฯ


ฟุตบอล จ.อุบลฯ ม.อุบลฯ

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลในต่างประเทศ อังกฤษ สเปน เยอรมัน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะเป็นแฟนบอลของทีมต่างๆ ในอังกฤษ  กีฬาฟุตบอลในต่างประเทศทำให้เราคนไทยได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง หากจะนำมาเปรียบกับคำขวัญกีฬาของไทยที่ว่า “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” แล้วนั้น ยิ่งทำให้เราคนไทยควรจะต้องทบทวนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุใดละครับ

ฟุตบอลของอังกฤษ เวลาที่นักกีฬาลงเล่นในสนามทุกคนเล่นภายใต้กติกาสากลที่กำหนดไว้ ทุกคนต่างรู้หน้าที่ของตนเองไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีม กองเชียร์ หรือใครตำแหน่งไหนก็ตาม  นักฟุตบอลเมื่อเล่นก็เล่นอย่างเต็มที่ การแข่งขันเสร็จสิ้นลง นักกีฬาเขารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป็นอย่างดี ทุกคนต่างจับมือกันขอโทษ แสดงความยินดีกับผู้ชนะ และประการสำคัญ หากมีสิ่งที่ใดที่พวกเราได้เล่นรุนแรงในเกมส์การแข่งขัน พวกเราต่างให้อภัยกันและกัน (ซึ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ หากเกี่ยวข้องกับผู้คนหมู่มากจะต้องมีกติกา มีการแข่งขัน เมื่อการแข่งขันจบลงแล้วจะต้อง  “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ให้ได้ ประเทศไทยของเราหากเป็นได้อย่างนั้น รับรองได้ว่าการพัฒนาด้านต่างๆ จะเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศอย่างแน่นอน)

กลับมาที่เมืองไทยประเทศไทยของเรา ฟุตบอลได้เข้ามีบทบาทเป็นอย่างมากในการพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถด้านฟุตบอล จังหวัดทุกจังหวัดล้วนมีทีมฟุตบอลประจำจังหวัดโดยอาจจะเป็นนักการเมือง หรือ ท่านผู้ว่าราชการ หรือ ผู้ที่มีฐานะดีและชอบกีฬาฟุตบอล  เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความสามัคคีในจังหวัดที่จะได้มีโอกาสร่วมกันสร้างนักฟุตบอลเยาวชนของจังหวัด ร่วมกันเชียร์ทีมฟุตบอลของจังหวัดตนเอง

ฟุตบอล กับ จ.อุบลฯ ของเราก็นับว่าโชคดีที่ตอนนี้ผู้ว่าราชการ (ท่านสุรพล สายพันธ์) เป็นประธานสโมสรฟุตบอลมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดความสามัคคี   ทั้งนี้ การพัฒนาทีมฟุตบอลประจำ จ.อุบลฯ แบบบูรณาการ อาจจะพิจารณายึดหลักการ ดังนี้

หลักการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เมือง ๔ นคร (นครแห่งเทียน นครแห่งธรรม นครแห่งการพัฒนา และนครแห่งการฮักแพง) โดยการพัฒนาทีมฟุตบอลประจำจังหวัดจะทำให้เกิดเป็น "นครแห่งการพัฒนา (กีฬาฟุตบอล)" และ "นครแห่งการฮักแพง (สามัคคีกันช่วยกันเชียร์ทีมฟุตบอลของชาวอุบลฯ)" และใช้ UBON model ในการพัฒนาฟุตบอล

U = Unity คือ เอกภาพ หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมฟุตบอล เป็นความสมัครสมานสามัคคีกันของทีมฟุตบอลจังหวัดอุบลราชธานีทั้งนักกีฬา ผู้สนับสนุน กองเชียร์

 B = Beautify คือ ทำให้เกิดความสุข หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้เล่นผู้แข่งขัน ผู้สนับสนุน กองเชียร์

 O = Opportunity คือ โอกาสที่ดีที่สุด หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่ใช้โอกาสในการทำประตูคู่แข่งขันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผู้สนับสนุนกองเชียร์ก็มีส่วนร่วมในการทำประตู กล่าวคือ การเชียร์ที่สร้างสรรค์และมีพลัง  อีกทั้ง การให้โอกาสที่ดีๆ สำหรับลูกหลานชาวอุบลราชธานีได้มีโอกาสในการเล่นฟุตบอลและพัฒนาฟุตบอล

 N = Never-ending คือ การไม่ยอมหมดสิ้น หมายถึง การเล่นฟุตบอลที่ทั้งทีม (ไม่ว่าจะผู้เล่น ผู้ฝึกสอน ผู้สนับสนุน กองเชียร์) จะไม่มีเวลาที่หมดสิ้นความหวังในการทำประตูของทีมคู่ต่อสู้ เราพร้อมที่ไปสู่เป้าหมายของชัยชนะ กล่าวคือ เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชน

โดยมีวิธีการเบื้องต้น

๑. ปรับเปลี่ยนนโยบายแนวความคิดที่จะใช้นักเตะต่างชาติ ควรจะลดจำนวนนักเตะต่างชาติแล้วหันมาหานักศึกษาที่เป็นลูกหลานคนอุบลฯ หรือกำลังศึกษาที่จังหวัดอุบลฯ เพื่อจะได้ให้เขาเหล่านั้นที่รักกีฬาฟุตบอลได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองออกมา ซึ่งอาจจะใช้เวลาแต่ก็คงสามารถดำเนินการได้ เพราะอุบลราชธานีเป็นนครแห่งการพัฒนา เราจะต้องมีการพัฒนา

 ๒. อาจจะต้องให้ทุกๆ ฝ่ายของจังหวัดอุบลราชธานีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาฟุตอบอลโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะพิจารณาเป็นประธานสโมสร โดยมีที่ปรึกษาเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดอุบลราชธานี (ทุกท่าน) สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี (ทุกท่าน) อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี (ทุกท่าน) ส่วนคณะกรรมการพัฒนาควรจะให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กล่าวคือ ทุกภาคส่วนควรจะต้องเข้ามาช่วยกัน ใครมีอะไรก็มาช่วยกัน เน้นการมีส่วนร่วมในได้มากที่สุด ซึ่งจะตรงกับนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อง นครแห่งการฮักแพง  (ซึ่งขณะนี้ ประกาศจังหวัดอุบลราชธานี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาค ดิวิชั้น ๒ จังหวัดอุบลราชธานี โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน และ เป็นประธานสโมสร ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษา  ประกอบด้วย ส.ว.(ทุกท่าน) ส.ส.(ทุกท่าน) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒๒ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี นายกเทศมนตรีทุกแห่ง นายกสมาคมชาวอุบลราชธานี)

๓. อาจจะต้องพิจารณาจัดหาเงินทุนในการพัฒนาเป็นกองทุน ซึ่งคิดว่าหากเราคนอุบลฯ ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะสามารถทำได้ ภายชื่อว่า “คนอุบลฯ คนละบาท” อันจะเหมือนกันเมื่อครั้งในอดีตที่คนอุบลฯ ได้ร่วมกันคนละบาทในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูล

ฟุตบอล กับ ม.อุบลฯ นับว่าเป็นเรื่องควรจะพิจารณาให้ความสำคัญ เพราะ ม.อุบลฯ เป็นสมบัติของชาติเป็นสถาบันการศึกษาที่พัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน ซึ่งการพัฒนาด้านกีฬาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษาให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการที่จังหวัดอุบลราชธานีได้พิจารณาให้ใช้สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นสนามเหย้าสำหรับทีมฟุตบอลของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีข้อดี ดังนี้

๑.    เป็นการส่งเสริมกีฬาฟุตบอลให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งนี้ในปัจจุบันนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นนักฟุตบอลของทีมฟุตบอลจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๔ คน อันจะทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีโอกาสพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพได้ในอนาคต

๒.    เป็นการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในกีฬาฟุตบอล เนื่องจาก เมื่อทีมฟุตบอลประจำจังหวัดอุบลราชธานีใช้สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นสนามเหย้า ทำให้ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสฝึกซ้อมร่วมกันอันเป็นการเพิ่มศักยภาพของนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยได้เป็นทีมสำรองมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันโค้กคัพ อันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขัน

๓.    เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากในการแข่งขันแต่ละครั้งจะเป็นการแข่งขันกับจังหวัดต่างๆ ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาของจังหวัดต่างๆ ได้เห็นความสำคัญที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสนับสนุนการกีฬาฟุตบอล

๔.    เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ฝ่ายสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เนื่องจากการแข่งขันในแต่ละครั้งมีนักข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มาทำข่าวการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ทั่วประเทศได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีส่งเสริมการกีฬาฟุตบอล

๕.    เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (โดยสามารถนั่งชมในที่นั่งฝั่งตรงข้ามคณะกรรมการจัดการแข่งขัน) ทำให้นักศึกษาได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องของกีฬาฟุตบอล

๖.    เป็นการดำเนินการ CSR (Corporate Social Responsibility) ด้านกีฬาเพื่อตอบสนองกลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่น และนักศึกษา อันจะทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็น USR (University Social Responsibility)

อย่างไรก็ดี เมื่อมีข้อดีตามข้างต้นก็ย่อมจะมีข้อเสียเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอ คือ การใช้สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นสนามเหย้าอาจจะทำให้มหาวิทยาอุบลราชธานีต้องสนับสนุนด้านกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา  ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่เป็นเม็ดเงิน

ครับ เป็นเรื่องของ “ฟุตบอล กับ จ.อุบลฯ และ ม.อุบลฯ” เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลของทีมจังหวัดอุบลราชธานี เราก็น่าจะพิจารณาการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่าย ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงคิดว่า การประชาสัมพันธ์อาจจะดำเนินการดังนี้

๑.    ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ในจังหวัดอุบลราชธานีได้เข้าร่วมชมฟุตบอล ณ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยนั่งด้านกระถ่างคบเพลิง ทั้งนี้ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อ Internet  (Web, Blog, Facebook, Guideubon.com อื่นๆ) สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (เทศบาล ตำบล) ในจังหวัดอุบลราชธานี

๒.    ประสานให้ชมรมเชียร์ (ชมรม หรือ สโมสร) ของโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีโอกาสแสดงความสามารถด้านการเชียร์ ณ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๓.    จัดงานการแข่งขันฟุตบอลกับนักกีฬาสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ในวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ โดยทีมดาราช่อง ๓ กับ ทีมกองเชียร์ และ VIP ของจังหวัดอุบลราชธานี เวลา ๑๖.๓๐ น. หลังจากนั้นชมการแสดง Concert ช่อง ๓ สัญจร เวลา ๑๘.๓๐ น. ณ สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๔.    จัดงานการแข่งขันฟุตบอลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๔ พรรษา มหาราชา ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยเวลา ๑๙.๐๐ น. ผู้คนชาวจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกันจุดเทียนชัยพระถวายพระพร และหลังจากนั้นชมการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมจังหวัดอุบลราชธานีกับทีมเมืองทองยูไนเต็ดหรือทีมอื่นๆ

 “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” หากสามารถปลูกฝังให้เยาวชนไทยของเราได้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้โดยผ่านกีฬาฟุตบอล รับรองว่าประเทศไทยของเราจะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 

สามารถอ่านบทความ เกี่ยวกับ  UBON model 

หมายเลขบันทึก: 447036เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2011 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท