ระบบนิเวศป่าไม้


ระบบนิเวศป่าไม้

ระบบนิเวศแบบป่าไม้

           ป่าไม้อาจแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ป่าไม้ผลัดใบ(Deciduous forest) และป่าไม้ไม่ผลัดใบ(Evergareen forest)

            1. ป่าไม้ผลัดใบ
           คือ ป่าไม้ที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ต่างผลัดใบหมดในฤดูแล้งและเริ่มผลิใบใหม่ในต้นฤดูฝน ป่าไม้ผลัดใบในเขตอบอุ่น พบเขตฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปทั้งหมด บางส่วนของญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ปริมาณฝนตก 30-60 นิ้วต่อปี ภูมิอากาศโดยทั่วไปอยู่ในระดับปานกลาง ฤดูร้อนและฤดูหนาวของแต่ละปีแตกต่างกันมาก พืชที่พบได้แก่ ต้นโอ๊ค ฮัคคอรี เชสท์นัท พืชดังกล่าวมีใบกว้างพื้นป่าปกคลุมด้วยไม้พุ่มและไม้ล้มลุก สัตว์ที่พบได้แก่ สุนับจิ้งจอก สกั๊ง แรคคูน ตุ่น หนูผี กวางเวอร์จิเนีย
ป่าไม้ผลัดใบเขตร้อน เช่น ป่าไม้ในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่
          
         1.1 ป่าเบญจพรรณ หรือ ป่าผสมผลัดใบ (Mixed deciduous forest) มีอยู่ทั่วไปตามภาค ต่าง ๆ ของประเทศ ที่เป็นที่ราบหรือตามเนินเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ระหว่าง ๕๐-๖๐๐ เมตร ดินเป็นได้ตั้งแต่ดินเหนียว ดินร่วน จนถึงดินลูกรัง ปริมาณน้ำฝนไม่เกิน ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร ต่อปี เป็นสังคมพืชที่มีความหลากหลายทางมวลชีวะมากสังคมหนึ่ง พรรณไม้จะผลัดใบมากในฤดูแล้ง เป็นเหตุให้พรรณไม้เหล่านี้มีวงปีในเนื้อไม้หลายชนิด พรรณไม้ขึ้นคละปะปนกัน ที่เป็นไม้หลักก็มี สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พฤกษ์ถ่อน ตะเคียนหนู หามกราย รกฟ้า พี้จั่น และไผ่ขึ้นเป็นป่าหนาแน่น ต้นไม้ที่เด่นของป่าเบญจพรรณ คือ ต้นไผ่

         1.2 ป่าแพะ หรือ ป่าแดง หรือ ป่าโคก (Dry dipterocarpus forest) ป่าชนิดนี้เกิดที่ราบสูงและตามสันเขาที่เป็นดินปนทราย หรือปนกรวด ลักษณะของป่าค่อนข้างเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายมักมีลำต้นเล็ก เตี้ย ไม้พื้นล่างมักเป็นหญ้าแฝกหรือไม้พุ่ม

         2. ป่าไม้ไม่ผลัดใบ
         คือ ป่าไม้ที่มีต้นไม้มีใบเขียวชอุ่มตลอดปี ไม่มีระยะเวลาสำหรับผลัดใบที่แน่นอน เมื่อใบเก่าร่วงหล่นไปใบใหม่ก็ผลิออกมาแทนที่ทันที แบ่งออกเป็น 6 ชนิด คือ
 


         2.1 ป่าสนหรือป่าสนเขา(coniferous forest หรือ Pine forest)
เป็นป่าที่พบทั่วไปตามภูเขาที่สูงกว่า 700-1,000 เมตร อยู่ระหว่างเส้นรุ้ง 50-60 องศาเหนือ เช่น บริเวณ อลาสกา แคนาดา สแกนดิเนเวีย ไซบีเรีย และบางส่วนของประเทศไทย ส่วนบริเวณป่าสนในแถบซีกโลกเหนือ อาจมีชื่อเรียกได้อีอย่างหนึ่งว่า ไทกา(Taiga) สภาพอากาศบริเวณที่มีความเย็นสูง(ช่วงฤดูร้อนสั้นแต่ช่วงฤดูหนาวยาว) ฝนตกค่อนข้างมาก การสลายตัวของสารเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดดินแบบพอดซอล(Podsol) คือมีสภาพเป็นกรดและขาดธาตุอาหารเนื่องจากมีอัตราการชะล้างสูง แม้กระนั้นผลผลิตในรอบปีของป่าสนก็ยังมีอัตราค่อนข้างสูงยกเว้นในช่วงอุณภูมิต่ำ


          2.2 ป่าดิบชื้น หรือป่าดงดิบ (Tropical rain forest หรือ Tropical evergreen forest) มีอยู่ตามภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศ ที่มีระดับสูงตั้งแต่ระดับเดียวกันกับน้ำทะเล จนถึงระดับ ๑๐๐ เมตร มีปริมาณน้ำฝนตกไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ มิลลิเมตร ต่อปี พรรณไม้ที่ขึ้นมีมากชนิด เช่น พวกไม้ยางต่าง ๆ พืชชั้นล่างจะเต็มไปด้วยพวกปาล์ม หวาย ไผ่ต่าง ๆ และเถาวัลย์นานาชนิด


          2.3 ป่าดิบภูเขา (Hill evergreen forest)
เป็นป่าดงดิบที่พบอยู่บนภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างจาก
ป่าดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ไม่มีพันธุ์ไม้วงศ์ยางแต่มีพันธุ์ไม้จำพวกพญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี และไม้ก่อชนิดต่าง ๆ ไม้ชั้นรองได้แก่ ส้มแปะ หว้า ไม้ชั้นล่างเป็นพวกไม้พุ่มรวมทั้งข้าวดอกฤาษี มอส สามร้อยยอด เป็นต้น


          2.4 ป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง (Mangrove forest หรือ Littoral forest)
เป็นป่าน้ำทะเลท่วมถึงพบตามชายฝั่งที่เป็นแหล่งสะสมดินเลนทั่ว ๆ ไป นับเป็นเอกลักษณ์น้อยชนิดและขึ้นเป็นกลุ่มก้อน เท่าที่สำรวจพบมี ๗๐ ชนิด พรรณไม้หลักมีโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่เป็นพื้น นอกนั้นเป็นพวกแสม ไม้ถั่ว ประสัก หรือพังกา โปรง ฝาก ลำพู-ลำแพน เป็นต้น ผิวหน้าดินเป็นที่สะสมของมวลชีวภาพ ถอบแถบน้ำ ปรงทะเล และจาก เป็นต้น

         2.5 ป่าพรุและป่าบึงน้ำจืด (Swamp forest)
เป็นป่าตามที่ลุ่มและมีน้ำขังอยู่เสมอ พบกระจายทั่วไปและพบมากทางภาคใต้ อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเลเป็นส่วนมาก เป็นป่าอีกประเภทหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เท่าที่มีการสำรวจพบว่ามีพรรณไม้ไม่น้อยกว่า ๔๗๐ ชนิด และในจำนวนนี้เป็นชนิดที่พบครั้งแรกของประเทศถึง ๕๐ ชนิด ปริมาณน้ำฝนระหว่าง ๒,๓๐๐-๒,๖๐๐ มิลลิเมตร ต่อปี พรรณไม้หลักมีพวกมะฮัง สะเตียว ยากา ตารา อ้ายบ่าว หว้าน้ำ หว้าหิน ช้างไห้ ตีนเป็ดแดง จิกนม เป็นต้น พืชชั้นล่างเป็นพวกปาล์ม เช่น หลุมพี ค้อ หวายน้ำ ขวน ปาล์มสาคู รัศมีเงิน กระจูด เตยต่าง ๆ เป็นต้น

          2.6 ป่าชายหาด (Beach forest)
เป็นป่าที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีดินเป็นกรวด ทราย และโขดหิน พรรณไม้น้อยชนิด และผิดแผกไปจากป่าอื่นอย่างเด่นชัด ถ้าเป็นแหล่งดินทรายจะมีพวกสนและพรรณไม้เลื้อยอื่น ๆ บางชนิด ถ้าดินเป็นกรวดหิน พรรณไม้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกระทิง ไม้เมา หูกวาง และเกด เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 446683เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท