20 เทคนิคบันไดสู่ความเป็นผู้นำ


ภาวะผู้นำ

20 เทคนิคบันไดสู่ความเป็นผู้นำ

1.ต้องรู้จักตนเองเป็นอย่างดี

                ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องรู้จักตนเอง รู้ว่าผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชามีความคาดหวังอะไร และคิดอย่างไรกับตนเอง ผู้นำที่พยายามสอบถามข้อมูลป้อนกลับในการทำงานตนจากแหล่งต่างๆจะเป็นผู้ที่เข้าใจและสามารถปรับปรุงพฤติกรรมต่างๆ ของตนเองและจะกลายเป็นผู้นำที่ดีในที่สุด

2.พัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง

                ผู้นำที่ดีต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง เมื่อทำผิดหรือเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ต้องยอมรับในความเป็นจริง เพราะแม้แต่ผู้นำที่ดีที่สุดก็เคยทำผิดพลาด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำที่ดีจะเผชิญหน้ากับความผิดพลาดในครั้งนั้น และแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นโดยเร็วที่สุดพร้อมกับหาหนทางป้องกันไม่ไห้เกิดการผิดพลาดซ้ำขึ้นอีก

3.ต้องใจกว้างและไม่เห็นแก่ตัว

                การที่จะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องรู้จักใช้อำนาจอย่างถูกวิธี รู้วิธีในการกระจายอำนาจของตนให้แก่ผู้อื่นรวมถึงให้เวลาในการทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองด้วย

4.ฟังให้เป็น...เป็นผู้ฟังที่ดี

                โดยปกติแล้วผู้นำส่วนใหญ่มักจะคิดว่า “ตนจะพูดอะไรต่อไป” มากกว่า “ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ (Deep Lisining)”  ซึ่งนั้นจะทำให้ผู้นำไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีและมีศักยภาพได้ เพราะ “การฟัง” แตกต่างจาก “การได้ยิน” ดังนั้น ทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งของผู้นำคือ ฟังอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้นำจะต้องพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ฟังจับประเด็นในสิ่งที่ฟังให้ดีและให้ถูกจุดนอกจากนั้นต้องไม่ขัดจังหวะในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่

5.เชื่อในสัญชาตญาณของตน

                เมื่อผู้นำรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลหรือมีอะไรทำให้รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ผู้นำต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง หยุดแล้วลองย้อนกลับมาดูในเรื่องที่กังวลนั้นอย่างใส่ใจเพื่อความสมบูรณ์ถูกต้อง สัญชาตญาณของผู้นำนับเป็นสิ่งพิเศษที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างประสบการณ์และทักษะความรู้ของตัวผู้นำ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่สัญชาตญาณของผู้นำช่วยให้องค์กรผ่านพ้นวิกฤตไปได้

6.เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด

                ผู้นำที่ดีต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดมากกว่ายึดติดกับความสำเร็จของตนในอดีต เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้นำควรต้องเรียนรู้เพื่อไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำ

 

7.รู้จักเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ

                ผู้นำจะต้องเปิดรับผู้ที่เสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้แก่องค์กร เพราะแนวคิดของคนเหล่านี้จะนำความก้าวหน้ามาสู่องค์กรหรือหน่วยงานได้อย่างแท้จริง ในปัจจุบันสิ่งที่องค์กรต้องการคือความคิดดีๆจากพนักงาน มีคนเคยกล่าวไว้ว่าใน 50 ความคิด ถ้ามีเพียง 1 ความคิดที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กรหรือหน่วยงานได้ก็นับได้ว่าคุ้มค่าที่สุดแล้ว

8.ต้องมีความเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยว

                โดยปกติผู้นำในระดับสูงที่มีศักยภาพที่ดีต้องการข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญเพียงแค่ 60% เท่านั้น ก็เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างรอบคอบของเขา ดังนั้นการตัดสินใจโดยที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมากเกินไปไม่ได้หมายความว่าเป็นการตัดสินในที่ดีและถูกต้องเสมอไป ซึ่งในทางกลับกันนั่นอาจจะทำให้การตัดสินใจล่าช้าและไม่ทันการณ์ก็เป็นได้

9.กล้าหาญ

                มีผู้นำมากมายที่ไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือควรทำ ไม่กล้าแม้แต่จะคัดค้านผู้อื่นในสิ่งที่รู้ว่าผิด ผู้นำที่มีศักยภาพต้องมีความกล้า กล้าพูด กล้าตัดสินใจ ต้องเป็นคนนำเสนอแนวคิด และกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิด รวมทั้งกล้าจะรับผิด และกล้าที่จะลงโทษผู้กระทำผิด

10.ยืนหยัดรับคำวิจารณ์

                ต้องยอมรับคำวิจารณ์ ผู้นำต้องเข้าใจว่า คำวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นในองค์กร เงยหน้ารับคำวิจารณ์และหลีกเลี่ยงการต่อต้านหรือปกป้องตนเองจากคำวิจารณ์เหล่านั้น ต้องไม่คิดเครียดแค้นหรือแก้แค้นเพื่อตอบโต้กับผู้ที่มาวิจารณ์ เพราะจะส่งผลเสียต่อผลการปฏิบัติงานทางที่ดีควรปรับทัศนคติโดยคิดว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นเป็นการติเพื่อก่อแล้วนำปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

11.ปฏิบัติงานโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน

                ผู้นำไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องตั้งเป้าหมายในระยะยาว เพื่อสร้างแนวทางการดำเนินงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและหน่วยงานหรือองค์กรของตน เพราะไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนทำงานในระดับใดย่อมต้องการที่จะทราบว่าพวกเขากำลังทำอะไร กำลังเดินไปในทิศทางใด และทำไปเพื่อเป้าหมายหรือผลลัพธ์ใด

12.อย่าทำให้ผู้อื่นเสียเวลาโดยไร้ประโยชน์

                โดยปกติแล้วสิ่งที่ผู้นำควรใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ คือ ต้องคำนึงว่านโยบายที่ออกมาจากผู้นำนั้นต้องไม่เป็นสิ่งที่ทำให้ขั้นตอนการทำงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงมือไป ดังนั้นในระหว่างการทำงานผู้นำควรใส่ใจที่จะถามคำถามกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตนว่า “มีนโยบายหรือขั้นตอนที่ผม/ดิฉันกำหนดมาและทำให้พวกคุณเสียเวลาหรือทำงานล่าช้าลงไปหรือไม่” ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่คงไม่กล้าที่จะตอบคำถามนี้ แต่หากมีเพียงสักคนที่ตอบคำถามด้วยความจริงใจนั่นจะเป็นเสมือนแนวทางที่ช่วยให้ผู้นำสามารถเรียนรู้และเติบโตเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำที่ดีได้ต่อไป

13.ให้ความสำคัญกับทุกคนที่ทำงานเพื่อเรา

                ผู้นำจำเป็นต้องให้ความใส่ใจกับทีมงานทุกคน ต้องรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดบ้างที่เป็นผู้สร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น และเลือกที่จะยกย่องชื่นชมพวกเขาอย่างจริงใจ อย่าละเลยคนที่ทำงานปิดทองหลังพระ

14.อย่าส่งสัญญาณว่า “กำลังไม่ไว้ใจ”

                ผู้นำที่ชอบพูดว่า “ผม/ดิฉันไม่ต้องการเรื่องเซอร์ไพรส์” หรือ “แจ้งให้ผม/ดิฉันทราบก่อนที่คุณจะลงมือทำอะไร” หรือ “ในช่วงที่ผม/ดิฉันไปพักร้อน ผม/ดิฉันจะโทรหาคุณทุกเช้าเพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวของงานที่คุณทำ” คำพูดต่างๆเหล่านี้กำลังทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณรู้สึกว่า “ผู้นำกำลังไม่ไว้ใจในศักยภาพของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนอยู่” ข้อความเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกับความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งทำให้พวกเขากังวล ขาดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง และอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

15.ใส่ใจกับความล้มเหลว

                ผู้นำส่วนใหญ่จะพยายามพูดถึงแต่ผลงานที่ประสบผลสำเร็จเพื่อทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกดีใจและชื่นชม ในขณะที่พยายามซ่อนหรือปกปิดปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่พฤติกรรมที่ถูกต้องในการเป็นผู้นำที่ดี เพราะการซ่อนหรือปกปิดปัญหาอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งที่รุนแรงและนำมาซึ่งความล้มเหลวในการบริหารงานในอนาคตได้

16.พัฒนาทักษะการเป็นผู้นำให้แข็งแกร่ง

                คุณไม่ควรหยุดการพัฒนาแม้แต่วินาทีเดียว การหยุดพัฒนาเปรียบเสมือนการก้าวถอยหลัง ดังนั้น ผู้นำที่ดีจึงควรที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ รวมถึงทักษะการจัดการและการบริหารงานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น คุณต้องเป็นผู้ที่สามารถบริหารเวลาได้ดี ต้องมีความรอบคอบ ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดแม่ยำ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด

17.ทำความเข้าใจกันระหว่างผู้นำและผู้ใต้บังคับบัญชา

                การเป็นผู้นำที่ดีคุณต้องเข้าใจสไตล์ที่แตกต่างกันของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน พร้อมทั้งปรับสไตล์ของตนเองให้เข้ากับผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละสไตล์ ในทางกลับกัน คุณต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เรียนรู้และเข้าใจในตัวตนของคุณด้วยเช่นกัน คุณต้องบอกพวกเข้าในสิ่งสำคัญที่คุณเป็น รวมทั้งชี้แจงในสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้คุณชอบหรือไม่ชอบผู้ใต้บังคับบัญชาจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและรู้จักตัวตนของผู้นำตั้งแต่เริ่มต้น

18.ต้องไม่มุ่งเน้นแต่เรื่องของผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว

                ผลลัพธ์ที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่ไม่ใส่ใจกับระบบขั้นตอนต่างๆ หรือแนวทางการปฏิบัติงานระหว่างทางเลยอาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดอันใหญ่หลวงได้ ดังนั้นผู้นำที่ดีควรจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนหรือวิธีการดำเนินการในระหว่างทางอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดปัญหาขึ้นจะได้สามารถแก้ไขได้ทันการณ์ ซึ่งแนวทางและขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลโดยตรงต่อผลลัพธ์ที่ดีให้อนาคตแล้วทีมงานของคุณจะรักในความจริงใจ และความตรงไปตรงมาของคุณ

19.รู้จักปล่อยวาง

                มีผู้นำมากมายที่กังวลมากจนเกินไปและเคร่งเครียดตลอดเวลาเพื่อที่จะทำให้ได้ผลงานที่ดีและเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา พวกเขาไม่เคยคิดที่จะปล่อยวาง ซึ่งสิ่งนี้มักจะทำให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่ตึงเครียดซึ่งจะส่งผลโดยตรงไปยังบุคคลรอบข้างและผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำที่ดีสามารถแสดงความโกรธและความเครียดได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตนและปล่อยวางบ้างในเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่และความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้

20.ระวังเรื่องของ “การขู่”

                ผู้นำที่กระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการขู่จะไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่ว่าผู้นำจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตามการเป็นผู้นำที่ดีย่อมต้องสัมพันธ์กับการเป็นนักวางแผน นักการบริหาร นักจิตวิทยา และในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาที่ดีด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ผู้นำต้องหมั่นฝึกฝนและรู้จักพัฒนาตนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้พร้อมสำหรับอนาคตของคุณ

 

 

บทความโดย กนกวรรณ แก้วฟ้า APM Group

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 446343เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท