Back to the Natureสมดุลชีวิต เศรษกิจแบบธรรมชาติ


สังคมกำลังจะขาดความสมดุล เพราะเรากำลังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบการตลาด มากกว่าเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ

 

 

ช่วงนี้ผมห่างหายจากการเขียนบันทึกใน GTK ไปนานทีเดียว นับจากบันทึกครั้งที่แล้วก็ประมาณเดือนหนึ่งพอดี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเรื่องงานประจำที่รุมเร้าเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องหลัก เพราะผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องของอารมณ์บรรยากาศล้วนๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบันทึกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต บรรยากาศในช่วง 1 เดือนที่ผ่านเป็นบรรยากาศการทำงานที่ผมคิดว่าชีวิตการทำงานไม่ค่อยมีความสุขซักเท่าไหร่ ทำงานไปวันๆ ไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เกิดความเบื่อหน่ายกับชีวิตการทำงานที่ต้องขายแรงงานเพื่อหาเงิน ได้มาแล้วก็ใช้ไป หมดไปกับสิ่งที่คิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตสำหรับการดำรงชีวิตในเมืองใหญ่

 

ชีวิตเหมือนหนูวิ่งปั่นล้อ เป็นวัฎจักรไม่มีที่สิ้นสุด ทำงาน หาเงิน กิน ใช้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเดินทาง กินเหล้า เที่ยว เหนื่อย การพักผ่อนไม่ใช่การพักผ่อนจริงๆ เพราะต้องใช้เงินทุกครั้ง ผมรู้สึกว่าทำไมคนเราต้องทำงานหาเงิน แล้วนำเงินมาแลกของปัจจัย 4 ทำให้เสียแรงงานทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ทำไมเราไม่ทำงานที่สามารถสร้างปัจจัย 4 ได้ด้วยตัวเราเอง ยิ่งมาอ่านหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ” ของ ดร. วันทนา ศิวะแล้ว ยิ่งทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สังคมกำลังจะขาดความสมดุล เพราะเรากำลังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบการตลาด มากกว่าเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพ

 

ภาพจาก http://www.suan-spirit.com/admin/productimg/p49img2.jpg

 

โลกและสังคมทุกวันนี้กำลังถูกเบียดเบียนจากความโลภของมหาอำนาจหรือบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเพียงไม่กี่ราย ที่รุมทึ้งทรัพยากรเพื่อความมั่งคั่งของตนเองและพวกพ้อง โดยจ้างพนักงานเข้ามาทำงานให้เพื่อแลกกับเศษเงินเพียงไม่กี่บาท เพื่อที่จะได้นำเงินเหล่านั้นไปซื้อหาปัจจัย 4 พื้นฐานที่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผมคิดว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ แต่ทุกอย่างก็เป็นเงินไปหมด ทุกวันนี้แม้แต่น้ำดื่มซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานสำหรับทุกคนยังต้องใช้เงินซื้อ อีกหน่อยอากาศที่เราหายใจคงต้องใช้เงินซื้ออีกเป็นแน่

 

ผมสังเกตว่าช่วงนี้ตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพ คอนโดมีเนียมผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คนแออัดกันอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ทำให้ผมสงสัยว่าเราจะหาอาหาร น้ำ มาเลี้ยงคนเหล่านี้ให้เพียงพอได้อย่างไร อาหารที่เลี้ยงคนเหล่านี้ต้องมีปริมาณมากมายมหาศาลมาก นั่นคือต้องมีการผลิตด้วยระบบอุตสาหหรรม ทำให้ผมคิดว่าอาหาร ที่กินเข้าเหมือนไม่ใช่อาหาร เพราะเป็นการผลิตเพื่อปริมาณในเชิงเดี่ยว ไม่มีความหลากหลาย อาหารธรรมชาติหายากและมีราคาแพง

 

 

ในสถานการณ์แบบนี้ ผมคิดว่าความเป็นคนบ้านนอก ที่ผมยังยึดไว้ในความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองสามารถที่จะบรรเทาปัญหานี้ได้บ้าง และยังมีความภูมิใจเล็กๆ ที่เกิดมาเป็นคนบ้านนอกได้เรียนรู้ภูมิปัญญาแบบบ้านๆ จากบรรพบุรุษอยู่บ้าง ดังนั้นการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ จึงเปรียบเหมือนการเติมพลังให้ชีวิตในการต่อสู้กับการดำเนินชีวิตในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างง่ายๆ ที่คนในเมืองหลวงส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสก็คือ การกินอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ บูรณาการตามฤดูกาล ถึงแม้ที่บ้านเกิดผมจะมีเนื้อที่เพียง 1ไร่ แต่ ใน 1 ไร่นั้น ก็มีทุกอย่างที่เป็นอาหารได้ ตามแนวคิด กินทุกอย่างที่ปลูกและขึ้นเอง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ทุกอย่างเด็ดและเก็บสดๆ จากต้น ไม่ต้องกังวลกับสารเคมีตกค้างหรือสารเร่งฮอร์โมนต่างๆ  ผมกล้าพูดได้ว่าแม้แต่เศรษฐีพันล้านในเมืองหลวงยังไม่มีโอกาสกินอาหารดีๆ อย่างบ้านผมได้ (รายละเอียดดูที่บันทึกก่อนหน้านี้ตาม Link นี้ เช่น http://www.gotoknow.org/blog/attawutc/222684 , http://www.gotoknow.org/blog/attawutc/255956 , http://www.gotoknow.org/blog/attawutc/414257 )

 

 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดผมคิดว่ามันยังไม่ถึงที่สุดจนกว่าจะกลับไปดำเนินชีวิตด้วยวิธีเหล่านี้ตลอดไป ไม่ต้องมาขายแรงงานในเมืองหลวง แล้วกลับไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว เหมือนกับนักท่องเที่ยวที่โหยหาธรรมชาติแบบ Home Stay ฉาบฉวย ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเป็นการยากพอสมควร ผมยอมรับว่าผมยังคงต้องใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกซักระยะ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมที่โหยหา ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ ดร. แสวง  รวยสูงเนิน Bloger ที่ผมแอบติดตามท่านมาตลอด (http://www.gotoknow.org/blog/sawaengkku)  ซึ่งได้หล่อเลี้ยงแนวคิดดังกล่าวไว้อย่างต่อเนื่อง

 

 

หมายเลขบันทึก: 446220เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท