โทษของการสวมรองเท้าเข้าสู่ปูชนียสถาน


โทษของการสวมรองเท้าเข้าสู่ปูชนียสถาน

                                 คารโว  จ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

                             การแสดงความเคารพเป็นมงคลอันสูงสุด

          พระพุทธองค์ได้ตรัสเรื่องมงคลไว้ถึง  ๓๘  ประการ  หนึ่งใน ๓ ๘ นั้น  ก็คือความเคารพนั่น 

     เรื่องความเคารพนี้  ถึงขั้นที่พระองค์ยกไว้ในฐานะเป็นอุดมมงคลแล้ว นั่น แสดงว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยเทียวเดียว  เราทั้งหลาย คงเคยเห็นพระสงฆ์ก็ดี  อุบาสก อุบาสิกาก็ดี  ที่ท่านมีความเคารพอย่างแรงกล้าต่อปูชนียสถานต่างๆ  เช่น โบสถ์ วิหาร  เจดีย์ ต้นโพธิ์ เป็นต้น  ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อจิตใจเราอย่างยิ่ง 

     เคยดูสารคดีที่ถ่ายทำ ณ ประเทศพม่า  เห็นพระสงฆ์ ญาติโยม แสดงความเคารพต่อเจดีย์สถานต่างๆ ด้วยการถอดรองเท้าเดิน ณ บริเวณเจดีย์ที่เขาเคารพศรัทธา พร้อมทั้งช่วยกันทำความสะอาด อย่างน่าชื่นชม  จากภาพที่ปรากฎให้เห็นนั้น  พอหันมาดูประเทศเราบ้าง  ประเพณีนี้เริ่มจะห่างหายไป เพราะการกระทำสืบทอดต่อๆ กันมา โดยคนที่มีความมักง่ายประเภท  โดยคนที่ถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ประเภท  มีการสวมรองเท้าเข้าที่ปูชนียสถานบ้าง  สถานที่ศักดิ์บ้าง  โดยมิได้ยำเกรงแต่อย่างใด

     จากเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงกรรมของพระเจ้าพิมพิสาร  ที่ถูกช่างตัดผม (กัลบก) ใช้มีดโกนกรีดฝ่าเท้า  (ขุเรน  ผาเลตฺวา)  แล้วได้เอาเกลือและน้ำมันทาที่แผล (โลณเตเลหิ  มกฺเขตฺวา)  ยังไม่พอ ซ้ำยังนำเอาเท้าทั้งสองข้างมาอังที่ถ่านไม้ตะเคียน  (ขทิรงฺคาเรหิ  ปจถ)  คิดดูเอาเถิดท่านทั้งหลาย  ว่าทุกขเวทนาจะมากสักแค่ไหน  ยิ่งเฉพาะผู้สั่งการครังนี้มิใช่คนอื่นไกล  ก็คือลูกของตัวท่านเอง  ปวดกาย  ปวดใจ  แต่น่าอัศจรรย์  ท่านใช้ธรรมะบรรเทกข์ได้อย่างน่าฉงน  กรรมที่ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้รับอย่างนั้น  พระโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้  ดังปรากฎในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ปฐโม ภาโค  หน้าที่   ๓๙ บรรที่ ๒ นับลงว่า

         ราชา  กิร  ปุพฺเพ  คนฺธปุปฺผาทีหิ  ปูชนฏฺฐานเจติยงฺคเณ สอุปาหโน  อโหสิ ฯ  ภิกฺขุสงฺฆสฺส  นิสีทนตฺถาย  ปญฺญตฺตํ  กฏสารกํ  อโธเตหิ  ปาเทหิ  อกฺกมิ  ตสฺสายํ  นิสฺสนฺโทติปิ  วทนฺติ  ฯ

         เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า  ปุพฺเพ  เมื่อก่อน ราชา พระเจ้าพิมพิสาร  สอุปาหโน อโหสิ  ได้สวมรองเท้า  คนฺธปุปฺผาทีหิ  ปูชนฏฺฐานเจติยงฺคเณ  เสด็จดำเนินไปที่ลานพระเจดีย์ อันเป็นสถานที่ที่เขาบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้และของหอมเป็นต้น  ฯ  อโธเตหิ  ปาเทหิ  ทั้งที่พระบาทของพระองค์ยังได้ทรงล้าง  อกฺกมิ กลับเหยียบ  กฎสารกํ  เสื่อลำแพน  ภิกฺสงฺฆสฺส  นิสีทนตฺถาย  ปญฺญตฺตํ  ที่เขาปูลาดไว้เพื่อให้พระสงฆ์ได้นั่ง  พระโบราณาจารย์ได้สรุปลงด้วยคำว่า  ตสฺสายํ  นิสฺสนฺโท  การกระทำในครั้งนั้น เป็นผลกรรมที่พระองค์ได้รับในครั้งนี้

     เกล็ดกรรมเล็กน้อยที่นำมาเล่าให้ฟังนี้  เพื่อให้เราท่านทั้งหลายได้ตระหนักถึงสถานที่สำคัญที่ควรแสดงความเคารพออกอย่างไม่เคอะเขิน แม้จะเล็กน้อยก็ตาม  แต่ผลกรรมที่ได้รับ  กลับทุกข์ทรมานอย่างหาที่สุดมิได้  ฉะนั้น ท่านผู้ใดที่ได้มีพฤติกรรมไม่แสดงความเคารพต่อสถานที่  ก็ขอจงได้เปลี่ยนวิธีการใหม่  ให้ความเคารพกับปูชนียสถานทุกที่  นับว่าเป็นอุดมมงคลที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 446073เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2011 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท