ตัวอย่างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนแบบ PAT


"ไข่มดแดง"

แม่ปุ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอแม่พริก พื้นที่รอบชุมชนมีป่าอุดมสมบูรณ์ วัดได้จากมดแดงที่ทำรังอยู่ตามต้นไม้ใกล้แหล่งน้ำ “ไข่มดแดง” จึงมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนมาช้านาน ทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค การสร้างความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวและชุมชนในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี “ไข่มดแดง” เป็นรายได้หลักของครอบครัว/ชุมชนที่มีความเป็นอยู่แบบพอเพียง เป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง แต่ละวันแต่ละครอบครัวจะเก็บ "ไข่มดแดง" ได้ประมาณ 2 – 3 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 200 – 300 บาท

การดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนเรื่อง “ไข่มดแดง”  รูปแบบ PAT ของชุมชนตำบลแม่ปุ โดยครูเอ นายกฤษณะ บุตรโส มีดังนี้

P - PARTICIPATION
มีส่วนร่วมในการประชุมของชุมชนเรื่อง “ไข่มดแดง” เพื่อหาแนวทางดูแลการเก็บไข่มดแดง

1. การเก็บไข่มดแดงในป่าของชุมชนในตำบลแม่ปุ ที่ประชุมได้ตกลงแบ่งเขตพื้นที่สำหรับดูแลและเก็บ “ไข่มดแดง” อย่างชัดเจน แต่ละชุมชนจะมีพื้นที่รับผิดชอบและจะไม่ล้ำเขตกัน ทั้งนี้คนในชุมชนจะดูแลรับผิดชอบพื้นที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อรักษาพื้นที่ป่าให้มีความสมบูรณ์

2. ดูแลพื้นที่ด้วยการห้ามคนนอกพื้นที่เข้ามาเก็บ เนื่องจาก “ไข่มดแดง” คือ “รายได้หลัก" ของแต่ละครอบครัวในชุมชน และเพื่อป้องกันไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกชุมชน

3. ตลาดนอกหมู่บ้านมีความต้องการ “ไข่มดแดง” มาก เนื่องจากนิยมนำมาประกอบอาหาร ทำให้มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 - 300 บาท เป็นรายได้หลักและเงินออมประจำปีของแต่ละครอบครัว

สรุปผลการประชุมร่วมกันของชุมชน คือ ช่วยกันดูแลป่าและป้องกันไฟป่า ด้วยการแบ่งพื้นที่ดูแลรักษาป่าให้สมบูรณ์ เพื่อให้มีจำนวนไข่มดแดงเพิ่ม ช่วยสร้างรายได้และเงินออมให้ครอบครัว/ชุมชน

A – ACTION
การมีส่วนร่วมร่วมด้วยการปฏิบัติ เห็นได้จาก

1. ผู้นำชุมชนร่วมกับชุมชน ร่วมกันรับผิดชอบดูแลป่าและพื้นที่เก็บไข่มดแดงตามที่ได้ตกลงแบ่งเขตพื้นที่ ป้องกันไฟป่าและการบุกรุกจากคนนอกชุมชน โดยให้แต่ละกลุ่มบ้านประมาณ 10 ครัวเรือน รับผิดชอบพื้นที่ตามที่กำหนดไว้

2. ชุมชนให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาป่า ด้วยการตั้งเวรยามสอดส่องคนแปลกหน้าระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มดแดงจะมีตัวอ่อนและดักแด้ รวมถึงตัวเต็มวัยของวรรณะสืบพันธุ์เพศเมียที่ชาวบ้านเรียกว่า “แม่เป้ง”

3. ครู กศน.และชุมชนได้เรียนรู้เรื่องมดแดงร่วมกัน ครู กศน.ได้เรียนรู้วิธีการเก็บ “ไข่มดแดง” และชุมชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของ “มดแดง” จากครู กศน. เรียนรู้การประเมินผลแบบมีส่วนร่วมจากสภาพจริงจากกรณีการช่วยกันดูแลป่าตามพื้นที่ร่วมกันกำหนด การตั้งเวรยามทำให้ป่ามีความสมบูรณ์ ไม่เกิดไฟป่าและชุมชนได้ผลประโยชน์จาก “ไข่มดแดง”

T– TRANSACTION
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของครู กศน.และชุมชน เห็นได้จาก

1. การถ่ายทอดความรู้ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกันด้วยภูมิปัญญา ซึ่งภูมิปัญญาคือ องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเลือกสรร เรียนรู้ปรุงแต่งและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัย

2. การเก็บไข่มดแดงจะทำในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม เป็นช่วงที่มีไข่มากหรือ “ไข่ขอ” เป็นไข่ขนาดใหญ่ซึ่งเมื่อฟักออกมาเป็นตัวจะได้ “แม่เป้ง” แต่ละครอบครัวจะเก็บได้ประมาณวันละ 2 – 3 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 200 ถึง 300 บาทขึ้นอยู่กับช่วงเวลา เงินที่ได้ดังกล่าวเป็นเงินออมของแต่ละครอบครัว เป็น “รายได้หลัก” จากวิถีชีวิตของชุมชน

3. วิธีเก็บไข่มดแดง แต่เดิมชาวบ้านใช้ขี้เถ้าโรยในภาชนะที่ใช้สอยไข่มด แต่ในขี้เถ้ามีสิ่งสกปรกปะปนอยู่ทำให้เสียเวลาล้าง อีกวิธีหนึ่งคือใช้ไฟลนให้มดแดงตาย ทำให้จำนวนมดแดงลดลง ต่อมาชาวบ้านมีการสังเกตและพูดคุยกับหมู่บ้านอื่นและนำวิธีใหม่ที่ได้รับรู้มาทดลองโดยใช้แป้งมันแทนขี้เถ้าและไฟ การใช้แป้งมันทำให้แยกมดแดงที่ร่วงลงกระสอบถุงปุ๋ยออกจากไข่ได้โดยไม่ต้องฆ่ามดแดง มดแดงที่เหลือจึงสามารถออกไข่ให้ชาวบ้านได้เก็บต่อไปอีก ชาวบ้านในชุมชนจึงใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน เป็นการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างชาวบ้าน ชุมชนและครู กศน.

4. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนอื่น เช่น วิธีสอยไข่มดแดง หากใช้ถังพลาสติกแทนตะกร้า จะช่วยให้เก็บไข่มดแดงง่ายกว่า เพราะมดแดงจะลื่นและไต่ออกมาได้ยาก

5. ชาวบ้าน/ชุมชน ได้เรียนรู้ชีวิตของมดแดงด้านวิชาการจากครู กศน.

6. ครู กศน. (ครูเอ) นำเรื่อง “ไข่มดแดง” ที่ได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชน ไปจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ เช่น ด้านชีววิทยา (ชีวิตของมดแดง) ด้านความสามัคคีคือพลัง (การสร้างรังของมดแดง) ด้านคณิตศาสตร์ (รายได้ เงินออม การทำบัญชีครัวเรือน) และได้เป็นกรณีศึกษาของสำนักงาน กศน.ในการถอดบทเรียนการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครู กศน.

หมายเลขบันทึก: 445567เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2011 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ  เคยไ้ด้มีโอกาสพบกับ อ.กฤษณะ บุตรโส กศน.ตำบลแม่พริก เมื่อครั้งมาถอดบทเรียนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่กลุ่มเป้าหมาย กศน. ที่อยุธยา ชื่นชมในการทำงานของครู กศน. ที่สามารถใ้ช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ครู กศน. ค่ะ  

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากค่ะ ถ้ายังไง จะโทรไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ

ต้องขอบคุณท่านรองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดลำปาง ดร.อินทราณี อินทรารัตน์ พร้อมทั้งคุณครู กศน.แม่พริกทุก ๆ ท่านที่ร่วมกันสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในสังคมและประเทศไทยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท