เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนองไทยเดิม ตอนที่ ๒๔ เพลงไทยสากลที่มีชื่อบ่งชี้ทำนอง “นกขมิ้น”


เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองเพลงนกขมิ้นมีหลายเพลงทั้งประเภทลูกกรุงและลูกทุ่ง แต่ที่ตั้งชื่อบ่งชี้ทำนอง “นกขมิ้น” มี ๒ เพลง คือเพลงชื่อเดียวกันที่พูลศรี เจริญพงษ์ ขับร้องเพลงหนึ่ง และที่อุดม เขียนเอี่ยม ทัศนัย ชอุ่มงาม ธานินทร์ อินทรเทพ และนักร้องอีกหลายคนขับร้องไว้อีกเพลงหนึ่ง
 
เพลงนกขมิ้น (ไทยเดิม)
 
เพลงนกขมิ้นเป็นเพลงเก่า อัตรา ๒ ชั้น มี ๓ ท่อน ไม่ทราบนามผู้แต่ง ปรากฏอยู่ในเพลงช้าเรื่องนกขมิ้น ตามประวัติมีว่าเพลงนกขมิ้นเดิมมี ๒ เพลงคือเพลงนกขมิ้นตัวผู้และนกขมิ้นตัวเมีย แต่ที่เป็นที่รู้จักกันคือเพลงนกขมิ้นตัวผู้ โดยครูเพ็ง ครูดนตรีสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นผู้แต่งขยายเพลงนกขมิ้นตัวผู้จากอัตรา ๒ ชั้นเป็น ๓ ชั้น และสอดแทรกการร้องและเป่าปี่เพิ่มเข้าไปในเพลงเดิม ที่เรียกว่า “ว่าดอก” (เช่นร้องว่า “ดอกเอ๋ย เจ้าดอกขจร นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนที่ไหนเอย” ปี่จะเป่าเลียนเสียงดอกเอ๋ย...ค่ำแล้วจะนอนที่ไหนเอย” จำนวน ๑-๒ จบ)
 
 
นกขมิ้นยังเป็นเพลงกล่อมเด็กภาคกลางอีกด้วย http://www.4shared.com/audio/D2NHZO1j/02_02.htm
 
เพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองเพลงนกขมิ้นมีหลายเพลงทั้งประเภทลูกกรุงและลูกทุ่ง แต่ที่ตั้งชื่อบ่งชี้ทำนอง “นกขมิ้น” มี ๒ เพลง คือเพลงชื่อเดียวกันที่พูลศรี เจริญพงษ์ ขับร้องเพลงหนึ่ง และที่อุดม เขียนเอี่ยม ทัศนัย ชอุ่มงาม ธานินทร์ อินทรเทพ และนักร้องอีกหลายคนขับร้องไว้อีกเพลงหนึ่ง
 
เพลงนกขมิ้น (ไทยสากล) เพลงที่ ๑
 
เพลงนกขมิ้น (ไทยสากล) เพลงที่ ๑ ทำนองนกขมิ้น ๒ ชั้น พูลศรี เจริญพงษ์ ขับร้องแบบไทยเดิม (มีเอื้อน) โดยนำเนื้อร้องมาจากเพลงนกขมิ้น ๒ ชั้น ใช้ดนตรีสากล
 
“โอ้เจ้านกขมิ้นเอย (เออ...เอย) เชิญเจ้าผินบินจู่ (เออ...เอย) มาสู่เหย้าเอย
นอนในกรงทอง (เออ...เอย) ของเรา จะคอยเฝ้าถนอม (เออ...เอย) กล่อมนอน
มิให้เจ้ามี (เออ...เอย) ที่โศกเศร้า จะโลมเล้าเจ้าขมิ้นเหลืองอ่อนเอย
(เออ...เอย) ดอกเอ๋ย เจ้าดอกรักซ้อน เชิญเจ้าผินบินจร มาสู่ที่นอนเรียมเอย”
 
 
เพลงนกขมิ้น (ไทยสากล) เพลงที่ ๒
 
เพลงนกขมิ้น คำร้อง-ทำนองโดยพยงค์ มุกดา (พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๕๕๓ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ด้านการประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง พ.ศ. ๒๕๓๔) แต่งไว้เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ขณะที่มีท่านมีอายุเพียง ๑๘ ปีเท่านั้น)  เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง “ในป่าแก้ว” เพลงนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ โดย ธานินทร์ อินทรเทพ เป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียง
 
ครูพยงค์ มุกดา แต่งเพลงนกขมิ้น โดยทั้งชื่อเพลงและเนื้อร้อง ล้วนได้แนวคิดมาจากเพลงนกขมิ้น ๓ ชั้น (ซึ่งนำเนื้อร้องมาจากวรรณคดีเรื่องกากีคำกลอน ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า “เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำลงแล้วเจ้าจะนอนที่รังไหน นอนไหนก็นอนได้ สุมทุมพุ่มไม้ที่เคยนอน ลมพัดมาอ่อนอ่อน  เจ้าก็ร่อนไปตามลมเอย ดอกเอ๋ยเจ้าดอกขจร นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนไหนเอย”) ส่วนทำนองคงดัดแปลงทำนองมาจากบางส่วนของเพลงนกขมิ้น ๓ ชั้น โดยเฉพาะตอน “ว่าดอก”
 
สำนวนไทย “นกขมิ้น” หรือ “นกขมิ้นเหลืองอ่อน” ที่หมายถึง “การร่อนเร่พเนจร ค่ำไหนนอนนั่น” คงมีมาตั้งแต่โบราณ แต่ชัดเจนขึ้นก็ด้วยเพลงนกขมิ้นของครูพยงค์ มุกดา เพราะเพลงนี้ดังมากเหลือเกิน ต่อมาเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖) เขียนกลอน “นกขมิ้น” ทำให้ความหมายของสำนวน “นกขมิ้น” มีความสมบูรณ์ที่สุด
 
“เขาคลอขลุ่ยครวญเสียงเพียงแผ่วผิว              ชะลอนิ้วพลิ้วผ่านจากมานหมอง
โอดสะอื้นอ้อยอิ่งทิ้งทำนอง                             เป็นคำพร้องพริ้งพรายระบายใจ
โอ้ดอกเอ๋ยเจ้าดอกขจร                                        นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะนอนไหน
ค่ำลงแล้วแนวพนาและฟ้าไกล                         เจ้านอนได้ทุกเถื่อนท่าไม่อาทร
แล้วหวนเสียงเรียงนิ้วขึ้นหวิวหวีด                  เร่งอดีตดาลฝันบรรโลมหลอน
ถี่กระชั้นสั่นกระชากใจจากจร                          ระเรื่อยร่อนเร่มาเป็นอาจิณ
โอ้ใจเอ๋ยอ้างว้างวังเวงนัก                                  ไร้แหล่งพักหลักพันจะผันผิน
เพิ่มแต่พิษผิดหวังยังย้ำยิน                 ระด่าวดิ้นโดยอนาถแทบขาดใจ
ข้าเคยฝันถึงฟ้ากว้างกว่ากว้าง                           ฝันถึงปางทับเปลี่ยวเรี่ยวน้ำไหล
ถึงช่อเอื้องเหลืองระย้าคาคบไม้                       ในแนวไพรนึกเหมือนเป็นเพื่อนเนา
รู้รสแรงแห่งทุกข์และสุขสิ้น                            บนแผ่นดินแผ่นเดียวเปลี่ยวและเหงา
จิบน้ำใจจนทั่วเจียนมัวเมา                 ไร้ร่มเงารังเรือนและเพื่อนตาย
เขาเคลียนิ้วเนิบนุ่มเสียงทุ้มพร่า                       เหมือนหวนหาโหยไห้น่าใจหาย
เจ้าขมิ้นเหลืองอ่อนนอนเดียวดาย                   จะเหนื่อยหน่ายหนาวน้ำค้างที่กลางดง
เสียงฉับฉิ่งหริ่งรับขยับเร่ง                                จะพรากเพลงเพื่อนยินสิ้นเสียงส่ง
เขาเบือนนิ้วผิวแผ่วแล้วราลง                            เสียงนั้นคงเน้นครางอย่างห่วงใย
เจ้าดอกเอยดอกขจรอาวรณ์ถวิล                        นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะนอนไหน
เขาวางขลุ่ยข่มน้ำตาว้าเหว่ใจ                            ตอบไม่ได้ดอกหนาข้าคนจร”
(เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  "คำหยาด")
 
เนื้อร้องเพลงนกขมิ้น (ไทยสากล) เพลงที่ ๒ มีหลายเวอร์ชั่น ที่อุดม เขียนเอี่ยม ขับร้อง มีความแตกต่างไปจากเวอร์ชั่นที่ทัศนัย ชอุ่มงาม ขับร้อง และเมื่อธานินทร์ อินทรเทพ ขับร้อง ก็มีการแตกเพลงเป็น ๒ เพลง คือ เพลงนกขมิ้นตอนที่ ๑ และเพลงนกขมิ้นตอนที่ ๒
 
เพลงนกขมิ้น ตอนที่ ๑
“ค่ำคืน ฉันยืนอยู่เดียวดาย เหลียวมองรอบกาย มิวายจะหวาดกลัว มองนภามืดมัว สลัวเย็นย่ำ ค่ำคืนเอ๋ย (ฮัม)
ยามนภาคล้ำไปใกล้ค่ำ ยินเสียงร่ำคำบอก เจ้าช่อไม้ดอกเอ๋ย เจ้าดอกขจร นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนไหนเอย เอ๋ยเล่านกเอย
อกฉัน ทุกวันเฝ้าอาวรณ์ เหมือนคนพเนจร ฉันนอนไม่หลับเลย หนาวพระพายพัดเชย อกเอ๋ยหนาวสั่น สุดบั่นถอน (บั่นทอน) (ฮัม)
ยามนี้เราหลงทางกลางค่ำ ยินเสียงร่ำคำบอก เจ้าช่อไม้ดอกเอ๋ย เจ้าดอกขจร ฉันร่อนเร่พเนจร ไม่รู้จะนอนไหนเอย เอ๋ยโอ้หัวอกเอย”
 
เพลงนกขมิ้น ตอนที่ ๒
“บ้านใด หรือใครจะเอ็นดู รับรองอุ้มชู เลี้ยงดูให้หลับนอน นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำไหนนอนนั่น อกฉันหมอง (ฮัม)
ทนระกำช้ำใจ ยามค่ำ ยินเสียงร่ำน้ำตก โอ้หัวอกเอ๋ย โอ้อกอาวรณ์ ฉันไร้คู่ร่วมคอน ต้องฝืนนอนหนาวเอย เอ๋ยโอ้หัวอกเอย
เมื่อมอง หมายปองก็แลเห็น หวิวในใจเต้น เหมือนเป็นเพียงแต่มอง เหมือนพบรังจะครอง แต่หมองเกรงที่ หวั่นจะมีเจ้าของ (ฮัม)
ฟังสำเนียงเสียงเพลงครวญคร่ำ ใครหนอร่ำคำบอก เจ้าช่อไม้ดอกเอ๋ย เจ้าดอกขจร นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำนี้จะนอนไหนเอย เอ๋ยนอนที่นี่เอย”
 
 
วิพล นาคพันธ์
๒๓  มิถุนายน  ๒๕๕๔
 
หมายเลขบันทึก: 445549เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2011 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท