พลวัตเพลงลูกทุ่ง : นวัตกรรมแห่งท้องถิ่น


ลมหายใจของเพลงลูกทุ่ง

          บทเพลงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมมนุษย์  มีที่มาจากชีวิตมนุษย์ และเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น  บทเพลงจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  มนุษย์สร้างสรรค์บทเพลงขึ้นมาเพื่อตอบสนองความรู้สึกนึกคิด หรือแรงบันดาลใจที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมในสังคมของตน   

          เพลงลูกทุ่งนับเป็นประจักษ์พยานถึงพลังสร้างสรรค์ดังกล่าว  มีวิวัฒนาการและเอกลักษณ์ของตนเอง สะท้อนให้เห็นลักษณะของคนไทย สังคไทยอย่างกว้างขว้าง ลุ่มลึก และด้วยลีลาอันหลากหลาย  เป็นเพลงที่ซึมลึกอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่อดีต  เพราะคนไทยเป็นคนในสังคมเกษตรกรรม  เพลงลูกทุ่งหลายเพลงได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมไทย  บางเพลงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทย  บางเพลงเป็นหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของประเทศ  บางเพลงเป็นที่รวมของภูมิปัญญาท้องถิ่น

          “เพลงลูกทุ่ง” มีวิวัฒนาการมาจากเพลงพื้นบ้าน พื้นเมืองหรือเพลงชาวบ้าน  แม้ว่าจะนำเครื่องดนตรีของตะวันตกมาใช้บรรเลงทำนอง  แต่เนื้อหาหรือแก่นใจความของเพลงลูกทุ่งก็ยังคงสะท้อนให้เห็นลักษณะของคนไทยหรือสังคมไทย  อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง  จึงอาจถือได้ว่า “เพลงลูกทุ่ง” คือเพลงพื้นเมืองยุคใหม่

          เพลงลูกทุ่งถือกำเนิดมาเป็นระยะเวลานานเท่ากับเพลงไทยสากล  เนื่องจากแต่เดิมยังไม่มีการแยกประเภทเพลงไทยสากลออกเป็นลูกทุ่งและลูกกรุง  ถือว่าเป็นเพลงกลุ่มเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม  ปรากฏว่าในยุคแรกมีนักร้องเพลงไทยสากลที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่งนิยมร้องเพลงที่มีสาระบรรยายถึงชีวิตชาวชนบท ชีวิตหนุ่มสาวบ้านนา และความยากจน  ชาวบ้านเรียกเพลงกลุ่มนี้ว่า “เพลงตลาด” หรือ “เพลงชีวิต” ส่วนเพลงลูกกรุง เรียกว่า “เพลงผู้ดี” นักร้องที่ร้องเพลงแนวตลาดในระยะแรก เช่น คำรณ  สัมบุณณานนท์, ก้าน แก้วสุพรรณ, ชัยชนะ บุณยโชติ, ทูล  ทองใจ, ผ่องศรี  วรนุช, ศรีสอางค์  ตรีเนตร ฯลฯ  

          สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมห่างชาติ  ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการและสัมมนาเรื่องเส้นทางเพลงลูกทุ่ง  (๒๕-๒๖ มิ.ย.๒๕๓๓ ณ หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) สรุปได้ว่า  แต่ก่อนวิชาดนตรีไม่ใช่เป็นอาชีพ  เป็นหน้าที่ของไพร่และทาสที่ผูกพันกับขุนนางและเจ้านายที่จะต้องฝึกฝนเพื่อบำรุงมูลนายในรั้วในวัง  ต่อมาก็นำมาประกอบวิธีทางศาสนา พิธีทางชีวิต  ประกอบการแสดงแล้วจึงเริ่มขับกล่อม  จนกลายมาเป็นดนตรีพื้นเมือง  เป็นเพลงพื้นเมืองแล้วกลายมาเป็นเพลงลูกทุ่งที่ได้เอาเพลงพื้นเมืองของแต่ละภาคมาประยุกต์  บางเพลงก็ใช้ภาษาถิ่นเข้ามาประกอบอยู่ในบทเพลง  คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ถูกนำมาใช้แปลหนังเพลงอเมริกันเรื่อง “Your Cheating  Heart ” เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗  นับแต่นั้นมาคำว่า เพลงลูกทุ่งก็ติดอยู่ในความรู้สึกของคนฟังเพลงโดยหมายถึง เพลงที่ร้องแบบง่ายๆ สนุกสนาน ท่วงทำนองมีเรื่องราวที่โน้มน้าวให้นึกถึงบรรยากาศของทุ่งนา ป่าเขา  ทำนองของเพลงลูกทุ่งเปิดรับท่วงทำนองต่างๆ เช่น ไทย ฝรั่ง จีน อินเดีย ตลอดจนเพลงพื้นบ้าน เช่น ลำตัด แหล่ อีแซว ฯลฯ

          ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงเกิดคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” โดย อ.จำนง  รังสิกุล  สมัยเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม  เป็นผู้ตั้งขึ้นเมื่อจัดรายการๆ หนึ่งที่ตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” แล้วมอบให้ประกอบ  ไชยพิพัฒน์ ดำเนินรายการนำเสนอเกี่ยวกับเพลงตลาด เพลงลูกทุ่งที่ถือกันว่าเป็นเพลงแรกได้แก่  เพลง “โอ้เจ้าสาวชาวไร่” แต่งโดยครูเหม  เวชกร  ขับร้องโดยคำรณ  สัมบุณณานนท์

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้มีพระราชดำรัสถึงเพลงลูกทุ่ง ว่า  “...เนื้อร้องเพลงลูกทุ่งมักจะสะท้อนภาพชีวิตจริงของคน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  การเกิดสงคราม  ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างเป็นอย่างดี  ใช้ภาษาที่เรียบง่าย เข้าใจง่ายและจำง่าย  ฟังแล้วไม่ต้องแปลความหมาย  เหนือไปกว่านั้นเพลงลูกทุ่งยังสรรหาคำที่กระทบกระเทียบเปรียบเปรย  มีสำนวนกระแนะกระแหนเจ็บๆ คันๆ ...เพลงลูกทุ่งนั้นได้บันทึกเหตุการณ์ของบ้านเมืองและสังคมไทยไว้อย่างดีเยี่ยม ทุกสภาพการณ์และทุกอารมณ์  ดังนั้นการฟังเพลงลูกทุ่งไม่ควรฟังเพื่อการบันเทิงเพียงอย่างเดียว  แต่ควรจะต้องฟังและศึกษาไปพร้อมกันด้วย...” 

          ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมทย์  ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งว่า  “...เพลงลูกทุ่งเป็นประจักษ์พยานแสดงให้เห็นถึงความแข็งในวัฒนธรรมของคนไทย  ซึ่งวัฒนธรรมไทยนั้นเป็นวัฏธรรม (Dynamism) ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยโดยไม่เสียพื้นฐานหรือความเป็นตัวของตัวเอง  เพลงลูกทุ่งจึงเป็นเพลงไทยในสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน  ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก...”

          สรุปได้ว่า  เพลงลูกทุ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงเพลงไทยเดิม  เพลงพื้นบ้าน พื้นเมืองให้มีลักษณะคล้อยตามการแพร่ของวัฒนธรรม  แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงลักษณะเดิมไว้ด้วย

 

ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น

          ประชาสังคมคือ  การที่ประชาชนในสังคมมีจิตสำนึกร่วมกัน  มีการร่วมมือผ่านองค์กรที่หลากหลายและมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีความคิดเพื่อสร้างเอกลักษณ์ มีความผูกพันมีความเชื่อร่วมกัน  ดังนั้นหัวใจของการเมืองแบบใหม่จึงอยู่ที่การสร้างการเมืองแบบที่ให้ประชาชนธรรมดามีบทบาทในรูปแบบการเคลื่อนไหวของประชาชนในแบบต่างๆ มากขึ้น 

          ทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่มีคุณค่า  ประกอบด้วย ความรู้ ความคิด ภูมิปัญญา และความสามารถในการจัดการอันเป็นกระบวนการที่มีอยู่ทั้งในตัวบุคคลและชุมชน  เป็นพลังที่เสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือ ความไว้วางใจ ความสามัคคี และเป็นฐานทุนที่ก่อให้เกิดการผลักดันสิ่งที่มีคุณค่าที่มีอยู่ในชุมชน  โดยชุมชนท้องถิ่นสามารถนำทุนที่มีอยู่เหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ มั่นใจในศักยภาพของตนเองและพัฒนาจากฐานทุนที่มีอยู่นั้น ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการพัฒนาที่เข้มแข็ง 

          ความเป็นชุมชนท้องถิ่น  หมายถึง  ความตระหนัก ความเชื่อมั่นและการแสดงออกถึงคุณค่า ทุนทางสังคม การเรียนรู้และการปรับตัวของคนในชุมชน  เพื่อแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่ทำให้ชุมชนเกิดความเป็นปึกแผ่น มีความมั่นใจ มีศักยภาพในการพัฒนา  ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ สิทธิและอำนาจของการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร  ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐที่ร่วมกันสร้างสรรค์ จนก่อให้เกิดความรู้ ประสบการณ์ และบริบททางสังคม วัฒนธรรม

          แนวโน้มของชุมชนท้องถิ่น จะมีลักษณะการเพิ่มขึ้นของคนเมือง (ที่เบื่อชีวิตสังคมเมือง) ในชุมชนท้องถิ่น, เกิดชุมชนที่ให้คุณค่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ชุมชนจะมีวัฒนธรรมแบบรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย,ชุมชนท้องถิ่นที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์, ชุมชนท้องถิ่นที่ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

          นายสุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.เมืองบางขลัง  เห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการจัดการที่เหมาะสม โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้กระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนท้องถิ่นเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น จำเป็นต้องสถาปนาความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการสร้างสรรค์จากทุนท้องถิ่น  ทุนทางสังคม เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

          จากความสำคัญของประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และเพลงลูกทุ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น  ประกอบกับความแพร่หลายของเพลงลูกทุ่งในปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ  เพราะนอกจากเพลงลูกทุ่งจะให้ความบันเทิงด้วยเสียงเพลงแล้ว  เพลงลูกทุ่งยังทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ ปลุกใจ  ประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้วยเนื้อร้องอีกด้วย  จึงมีแนวคิดนำเพลงลูกทุ่งไทยมารับใช้ชุมชนท้องถิ่น

พลวัตเพลงลูกทุ่ง : นวัตกรรมแห่งท้องถิ่น       

           ชุมชนท้องถิ่นเมืองบางขลัง ภายใต้การนำของ สุวิทย์  ทองสงค์ นายก อบต. สมเด็จ หลวงนุช  ประธานสภาฯ ได้พยายามนำทุนท้องถิ่นทางด้านประวัติศาสตร์  ศิลปะ วัฒนธรรม  มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่น แต่เนื่องจากชาวบ้านต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ  ประกอบกับประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ ทำให้ชุมชนไม่ค่อยทราบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตน 

          การถ่ายทอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านโครงการต่างๆ  จึงเกิดขึ้นตามลำดับ  เช่น โครงการเรียนรู้ศิลปะโดยศิลปินพื้นบ้าน, ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง, ละครอิงประวัติศาสตร์,  การแสดงแสง สี เสียง ปฐมบทแห่งชาติไทย, บันทึกการแสดงแสง สี เสียง, วีดีทัศน์รอยอารยธรรมโบราณเมืองบางขลังแห่งกรุงสุโขทัย ๑-๒,  ประกวดเล่าเรื่องเมืองบางขลัง, ประกวดเรียงความ “เมืองบางขลังของฉัน”, อบรม อส.อบต.,  ยุวชน อส.อบต., เอกลักษณ์แห่งเมืองบางขลังในมังคละ ฯลฯ

          ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นคนบ้านนอก  มีความนิยม  ชื่นชมในบทเพลงลูกทุ่ง จึงเห็นว่าน่าจะใช้เป็นสื่อด้านการอนุรักษ์ การปลุกจิตสำนึก  การถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ประกอบกับถือได้ว่าเพลงลูกทุ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติที่ควรรักษาไว้   ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจาก โชคชัย บัณฑิต’กวีซีไรต์ ประจำปี ๒๕๔๔ (วิทยาจารย์ ๗ ว.ศูนย์พาณิชย์นาวี), คุณดวงใจ ดำรงสุทธิพงศ์  สโมสรเทพศรีกวีศิลป์, ศิลปินแห่งชาติ ชินกร  ไกรลาศ, อ.ประทีป สุขโสภา ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นจังหวัดสุโขทัย(เพลงขอทาน), ผอ..สนอง บุญคง ร.ร.อนุบาลสวรรคโลกประชาสรรค์, อ.จำลอง  พรมเสน ร.ร.บ้านไร่พิทยา อ.ศรีสำโรง, รศ.บุปผา บุญทิพย์ ม.รามคำแหง ซึ่งได้ให้คำปรึกษาและร่วมเรียงร้อยถ้อยคำนำมาสู่บทเพลงลูกทุ่งประจำตำบล

          กรณีของนักร้องนั้นได้รับความอนุเคราะห์จากนักร้องท้องถิ่นชาวจังหวัดสุโขทัยทั้งสิ้น  ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติชินกร ไกรลาศ, วรัญญา  กาบัว ร.ร.ทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ หรือน้องบิว  รายการชิงช้าสวรรค์,  นักร้องผู้ผ่านเวทีประกวดหลายเวที เช่น ศุภชัย  โพธิ์สลัด, วัญญ์ธชัย  ศักดิ์กัณฑ์หา, เสาวลักษณ์  ฉันทวสุพล, สุภาวดี  นวลบ้านด่าน  เป็นต้น พร้อมนักร้องกิตติมศักดิ์ กวีซีไรต์โชคชัย  บัณฑิต’ ดนตรีโดย อ.สมคิด แห้วเหมือน, อ.จามร   หนูเมือง แห่ง Sukhothai  Studio

เพลงลูกทุ่งแห่งเมืองบางขลัง

          ในงานวันอนุรักษ์มรดกไทยและวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๕๓  โดยมี ฯพณฯ พรรณสิริ  กุลนาถศิริ  รมช.สาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธาน  อบต.เมืองบางขลังได้นำบทเพลงลูกทุ่ง ๒ บทเพลงมาขับร้องสดๆ ท่ามกลางผู้ชมที่หลั่งไหลกันเข้ามาชมอย่างมากมาย ได้แก่เพลงเทิดบารมีจักรีราชวงศ์ ในการถวายพระพรสมเด็จพระเทพฯ และเพลงพลังผองเรา ในการนำเข้าสู่การแสดงแสง สี เสียง เมืองบางขลัง ปฐมบทแห่งชาติไทย (ก่อนกวีซีไรต์โชคชัย  บัณฑิต’ จะอ่านบทกวี)  ซึ่งจัดการแสดงโดย อ.มงคล  อินมาและยศชาติกรุ๊ป  ทั้ง ๒ เพลงประพันธ์คำร้องโดย โชคชัย  บัณฑิต’ กวีซีไรต์ ปี ๒๕๔๔ ขับร้องโดย วรัญญา  กาบัว    

           บทเพลงลูกทุ่ง  ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นจำนวนทั้งสิ้น ๔๐ เพลง  โดยเนื้อหามีความหลากหลาย เช่นบอกเล่าถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์การเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าศรีสัชนาลัย,การรวมพลของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวที่เมืองบางขลังตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม, ถนนโบราณสายประวัติศาสตร์ คือถนนพระร่วงที่ผ่านเมืองบางขลัง, การพบพระธาตุใต้กอดอกเข็มเมืองบางขลังแล้วถูกพระสุมนเถระนำไปถวายพระเจ้ากือนา  พระธาตุเกิดปาฏิหาริย์แยกเป็น ๒ ส่วน  ปัจจุบันบรรจุไว้ที่วัดสวนดอก และพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, ลำน้ำฝากระดานที่หล่อเลี้ยงชุมชนแห่งนี้มา ๘๐๐ กว่าปี, การเสด็จพระราชดำเนินของราชวงศ์ ๓ พระองค์ ได้แก่  รัชกาลที่ ๖  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, วรรณกรรมการท่องเที่ยวเล่มแรก “เที่ยวเมืองพระร่วง”  รัชกาลที่  ๖ พระราชนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามเส้นทางถนนพระร่วง, การขุดพบของโบราณ เช่น ถ้วย ชาม ไหกระดูก เงินพดด้วง เตาเผาโบราณ, การพบพระเครื่องโบราณที่เรียกกันว่า “นางบางขลัง”, พระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัย, ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง, วัฒนธรรม ประเพณี, บุคคลสำคัญ, ฝ่ายปกครองท้องที่, ฝ่ายปกครองท้องถิ่น, ส่วนราชการต่างๆ  เป็นต้น      

           แบ่งออกเป็น ๓ ชุด  มีทั้งเพลงช้า  เพลงเร็ว  เพลงปลุกใจ  จังหวะสามซ่า  ตลุง  รำวง  กลองยาว  ม้าย่อง  เพลงมาร์ช  ฯลฯ 

           ชุดที่ ๑ ชุดรุ่งเรืองเมืองบางขลัง  จำนวน ๑๒ เพลง  (ซึ่งชุดนี้ได้จัดทำเป็นมิวสิควีดีโอและคาราโอเกะแล้ว)  ได้แก่  เพลง  รุ่งเรืองเมืองบางขลัง, มนต์เมืองบางขลัง, เทิดบารมีจักรีราชวงศ์, พบน้องแล้วชาตินี้, คำสัญญาที่ริมน้ำฝากระดาน, เสน่ห์สาวบางขลัง, พลังผองเรา, จากลาอาลัย, หนีรักมาพักสุโขทัย, นางบางขลัง, รำกลองยาวกับสาวเมืองบางขลัง, คอยพี่ที่เมืองบางขลัง

           ชุดที่ ๒  ชุดลือเลื่องชื่อเมืองบางขลัง  จำนวน ๑๔ เพลง  ได้แก่  ลือเลื่องชื่อเมืองบางขลัง, ที่นี่...เมืองบางขลัง, สวัสดีปีใหม่, เที่ยวเมืองบางขลัง, ศรีเมืองบางขลัง, ร้องทุกข์นายอำเภอ, พบพี่ที่เมืองบางขลัง, ตำนานเมืองบางขลัง, รักของหนุ่มบางขลัง, ฝากใจไว้บางขลัง, รักสาว อบต., ตามหารักที่สุโขทัย, ลูกหลานบรรพชน, อาลัยบางขลัง

           ชุดที่ ๓  ชุดเราจะสร้างพรุ่งนี้ด้วยกัน  จำนวน ๑๔ เพลง  ได้แก่  เราจะสร้างพรุ่งนี้ด้วยกัน, ดอกเข็ม, คอยคนสุโขทัย, มิตรไมตรีที่บางขลัง, ม้าย่องมาจองใจ, บางขลังดินแดนแห่งไมตรี, เมืองบางขลัง, รักนี้แด่พี่ช่าง, แหล่สุโขทัย (หญิง), พบกันที่สวรรคโลก, มาลาดาบไขว้, ก่อร่างสร้างใจสายใยท้องถิ่น, รอพี่ช่างซ่อมใจ, แหล่สุโขทัย (ชาย)

ลมหายใจแห่งเพลงลูกทุ่งในวันพรุ่งนี้       

           จากผลการดำเนินงานสร้างอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่นด้วยวรรณกรรมเพลงลูกทุ่งไทย รวมทั้งการจัดกิจกรรมประกวดร้องเพลงลูกทุ่งประจำตำบล และ จัดทำคาราโอเกะบทเพลงลูกทุ่งประจำตำบลที่ใช้สถานที่และนักแสดงในตำบล  โครงการเหล่านี้มีลักษณะผ่อนคลาย ไม่เป็นวิชาการ ทำให้สามารถเข้าถึงดึงเด็ก เยาวชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างได้ผล อีกทั้งเป็นการลดช่องว่างซึ่งกันและกันระหว่างข้าราชการ อบต. สมาชิก อบต. ผู้นำท้องถิ่น นักปกครองท้องที่ และกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี  ส่งผลให้เกิดเอกลักษณ์แห่งท้องถิ่น  เกิดความรู้ ความเข้าใจในความเป็นมาของท้องถิ่นตน เกิดความรัก  ความสามัคคี  ความผูกพัน ความตระหนักรักชุมชนท้องถิ่นของตน นำมาสู่การเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม โครงการ  สร้างพลังแห่งภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง  ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

           สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนประจำตำบล  ที่มีนักเรียน  แม่บ้าน  พ่อบ้าน  ฝ่ายปกครอง  ส่วนราชการ  มาเป็นนักจัดรายการ มอบสาระความรู้ พร้อมความบันเทิงที่หลากหลาย มีรายการสดเกี่ยวกับการประกวดร้องเพลงประจำตำบล การเล่าเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของตน การตอบปัญหาชิงรางวัล  การประกวดแต่งเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ ส่งเสริมเป็นแหล่งเรียนรู้คู่เมืองบางขลัง สมดังปณิธานที่ว่า เราจะสร้างพรุ่งนี้ด้วยกัน 

           ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี (คำนิยม ที่นี่..เมืองบางขลัง ๒, พ.ศ.๒๕๕๓) ได้กล่าวไว้ว่า  “...ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นปัจจัยของความเข้มแข็งของท้องถิ่น  ทุกท้องถิ่นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง  สำนึกในรากเหง้าของตนเองคือพลังจิตสำนึกร่วม  พลังจิตสำนึกนั้นเปรียบประดุจพลังนิวคลียร์ในตัวมนุษย์  พลังจิตสำนึกร่วมจะเป็นพลังนิวเคลียร์ทางสังคมที่ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นไปสู่ความสำเร็จ  ฉะนั้นทุกตำบลควรมีการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  และจัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ตำบล  เพื่อสร้างพลังจิตสำนึกร่วมของท้องถิ่น...”

           ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ (คำนิยม ที่นี่...เมืองบางขลัง ๓,๒๕๕๔) “...การจัดกิจกรรมต่างๆ ข้างต้น  ถือเป็นตัวอย่างความอุตสาหะขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลังเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งการดำเนินการได้สะท้อนให้เห็นว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” แต่ละแห่งล้วนมีศักยภาพหรือจุดเด่นของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน  แต่สิ่งสำคัญคือต้องค้นหา “อัตลักษณ์” หรือทุนของท้องถิ่นให้เจอ  ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลังสามารถค้นพบและประสบความสำเร็จในการนำทุนทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่มีมาต่อเติมเสริมค่า เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมได้เป็นอย่างดี  ด้วยการสร้างพันธมิตรเครือข่ายในการพัฒนา  บริหารทุนทางประวัติศาสตร์ที่มี  โดยองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลังเป็นตัวกลางในการประสานสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งชาวบ้าน ชุมชน ภาครัฐและภาคเอกชนในการที่จะสร้างเมืองบางขลังภายใต้คำขวัญปลุกใจที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ว่า “เราจะสร้างพรุ่งนี้ด้วยกัน” ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมและเป็นแรงบันดาลใจในการจุดประกายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นพัฒนาบนพื้นฐานของทุนที่มีอยู่ในท้องถื่นด้วยเช่นกัน...”

          ดังนั้น อบต.เมืองบางขลัง จะนำเพลงลูกทุ่งบรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กนักเรียนในพื้นที่  ตลอดจนสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการในทุกระดับ เช่น การทำรายงาน การทำสาระนิพนธ์  การค้นคว้าอิสระ การทำวิทยานิพนธ์  โดยมองเพลงลูกทุ่งประจำตำบลในด้านต่างๆ  เช่น  ด้านประวัติศาสตร์  ศิลปะ  วัฒนธรรมประเพณี  ด้านภาษาและวรรณกรรม  ศึกษาถึงความงามของภาษา  แผนผังคำประพันธ์  สำนวนโวหาร  ด้านบทบาทของเพลงลูกทุ่งต่อชุมชนท้องถิ่น  ด้านพลวัตของชุมชนท้องถิ่นผ่านเพลงลูกทุ่ง  ประวัติชุมชนท้องถิ่นที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงลูกทุ่ง  ฯลฯ 

 

------------------------------------

 

 หนังสืออ้างอิง

       สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ. กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง...สืบสานคุณค่าวัฒนาธรรมไทย. ๑๘ กันยายน ๒๕๓๗

       บุบผา  เมฆศรีทองคำ. ศึกษาบทบาทของเพลงลูกทุ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) คณะวารสารศาสตรและสื่อมวลชน. ม.ธรรมศาสตร์, ๒๕๓๔

       อเนก  นาวิกมูล. เพลงนอกศตวรรษ. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. กรุงเทพฯ, ๒๕๒๗

       ประมวลสาระชุดวิชา ประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น.(พิมพ์ครั้งที่ ๒) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี, ๒๕๕๐.

        องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง. ที่นี่...เมืองบางขลัง ๒ ปาฎิหาริย์แห่งกาลเวลา (พิมพ์ครั้งที่ ๒). บ้านช้างโฆษณาการพิมพ์. สุโขทัย, กันยายน ๒๕๕๓.

        องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง. ที่นี่...เมืองบางขลัง ๓ ประติมากรรมแห่งเวลา (พิมพ์ครั้งที่ ๑). บ้านช้างโฆษณาการพิมพ์. สุโขทัย, มีนาคม ๒๕๕๔.

 

  

หมายเลขบันทึก: 444978เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท