มิชิแกน (๔): ฮัลโหลอเมริกา


"มองตนเองสูงเกินไป จะไม่สามารถก้าวหน้าได้ มองตนเองต่ำเกินไป จะไม่สามารถพัฒนาได้" จากหนังสือเหวยหลูเยี่ยฮว่า เก็บตก(เก็บได้)จากหนังสือปรัชญาทางสายกลาง

ผมเดินทางออกจากเมืองไทยวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๙.๓๐ น. เดินทางถึงแผ่นดินอเมริกาเมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น. ของวันเดียวกัน ดูเหมือนใช้เวลาบินแค่ชั่วโมงเดียว แต่จริงๆไม่ใช่ บอกใครก็ไม่เชื่อ...แต่มันเป็นไปได้เพราะข้อตกลงเรื่องการกำหนดเขตเวลาที่แตกต่างกันตามแนวการหมุนรอบตัวเองของโลก ชีวิตจริงหลายเรื่อง...เข้าใจไม่ตรงกันเพราะข้อสมมุติไม่ตรงกัน หรือเข้าใจไม่เหมือนกัน เพราะการรับรู้แตกต่างกัน ข้อสันนิษฐานแตกต่างกัน ตอนออกจากเมืองไทยฟ้าก็เริ่มมืด พอมาถึงอเมริกาฟ้าก็เริ่มมืดเช่นกัน ถ้าไม่มีนาฬิกาเป็นตัวกำหนด จะไปแยกกันได้อย่างไร ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงขยายเวลากลางวันให้ยาวนานขึ้นในเขตยุโรปและอเมริกาที่เรียกว่าเดย์ไลฟ์เซฟวิ่ง ฟ้าจะมืดช้ากว่าตัวเลขตามเข็มนาฬิกา

ผมกับพนา เดินไปตามเส้นทางที่กำหนดในอาคารสนามบิน ข้างทางมีป้ายโฆษณาเป็นระยะๆ มีห้องน้ำสะอาดๆให้แวะใช้บริการฟรี เดินไปสัก ๑ๆ นาที ก็ถึงบริเวณตรวจคนเข้าเมือง อเมริกันชนไปเข้าช่องหนึ่ง ยุโรปชนไปอีกช่องหนึ่งและชนชาวอื่นๆอย่างพวกเราก็ต้องไปเข้าแถวอีกช่องหนึ่ง คนเยอะ แถวยาว ยืนรอต่อแถวกันไปเรื่อยๆกับช่องทางรอแคบๆที่คดไปคดมาในพื้นที่ที่จำกัด หลายคนจึงสามารถเผื่อแผ่กลิ่นกายให้กันและกันได้ง่าย ไม่รู้ของใครเป็นของใคร แถวขยับไปอย่างช้าๆ บางคนยังไม่ได้กรอกแบบฟอร์มเข้าเมือง ก็ต้องมายืนยักแย่ยักยันกรอกกันไป

ข้างหลังผมเป็นชายหนุ่มชาวฟิลิปปินส์ ถามผมว่าคุณเอาแบบฟอร์มมาจากไหน ผมได้มาจากพนักงานสาวสวยบนเครื่องบินและกรอกเรียบร้อยไปแล้ว ใกล้ๆบริเวณยืนรอมีเคาน์เตอร์พร้อมแบบฟอร์มให้กรอก แต่ถ้าหนุ่มฟิลิปปินส์คนนี้ออกจากแถว เขาต้องไปเริ่มต่อแถวใหม่ พอดีมีเจ้าหน้าที่เดินผ่านมาเขาจึงสอบถามและเจ้าหล่อนก็ใจดีไปหยิบแบบฟอร์มมาให้ และเขาก็ขอใช้ปากกาของผมกรอกจนเสร็จ...คำขอบคุณและรอยยิ้มจากเขาและผมก็เป็นการบ่งบอกถึงมิตรภาพให้กันและกันได้...ต่างเชื้อชาติแต่ก็อาเซียนเหมือนกัน

แถวขยับใกล้เข้าไปเรื่อยๆ หลายคนถูกสอบถามอยู่นาน บางคนถูกเชิญไปอีกห้องหนึ่งที่ไม่ใช่ห้องวีไอพี (ผมคิดว่าใครๆก็ไม่อยากเข้าไปห้องนี้ เพราะจะถูกสอบประวัติกันยาว) ผมใจสั่นนิดๆ... เวลาไปต่างประเทศตอนจะเข้าเมืองผมมักถูกซักถามอยู่นานทุกที ขนาดว่าตอนกลับเข้าเมืองไทยก็ยังถูกมองแล้วมองอีก เพื่อนๆมักแซวผมว่าหน้าตาผมไม่เหมือนคนไทยแต่เหมือนแขกดำมากกว่า ช่องทางรอช่องเดียวแต่ยังดีที่มีช่องผ่านเจ้าหน้าที่ ๔ ช่อง หมอพนาผ่านฉลุยไปก่อนผม เราเข้าคนละช่องกัน

คราวนี้ถึงตาผมบ้างละ...ผมเข้าไปช่อง ๑ เจ้าหน้าที่ชายวัยกลางคน (ผมคิดเอาเองเพราะป้ายชื่อไม่ได้ติดอายุไว้) เขายิ้มอย่างเป็นมิตร พร้อมกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ มาทำไมหรือครับ" ว้าว! พูดไทยได้ชัดแจ๋วเลย ผมผ่อนคลายไปเยอะพร้อมกับชำเลืองดูป้ายชื่อของเขาที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "เชษฐ์ ธนาพานิช" พี่เขาเป็นคนไทย เอ๊ะ...ไม่ใช่สิ พี่เขาน่าจะเป็นไทย-อเมริกัน หลังจากทักทายและพูดคุยกันอีกสองประโยค ผมก็เดินผ่านเข้าไปได้สบายๆ ก็ผมมาเรียนหนังสือ เอาเงินมาให้มหาวิทยาลัยที่อเมริกา มันก็ไม่น่าจะมีปัญหานี่ครับ

ผมเดินออกไปตามป้ายทางออกและแจ้งรับกระเป๋า ตรวจสอบสายพานแล้วก็ไปรอสักพักกระเป๋าคนละสองใบของเราก็ไหลเลื่อนออกมาตามสายพาน การบินไทยให้มีกระเป๋าโหลดได้คนละสองใบๆละ ๓๒ กิโลกรัม (ชั้นธุรกิจ) และกระเป๋าเล็กหิ้วขึ้นเครื่องอีกคนละ ๑ ใบ เราเช็คทรูกระเป๋าจนไปถึงมิชิแกนเลยตั้งแต่ที่สุวรรณภูมิ แต่เราต้องเอากระเป๋าของเรา ผ่านด่านตรวจไปส่งที่บริเวณเช็คอินของสายการบินที่เราจะบินต่อ เราลากกระเป๋าผ่านจุดตรวจไปได้อย่างสบายๆ ไม่มีการขอตรวจ ไม่มีของต้องสำแดง ลากกระเป๋าไปยังจุดเช็คอินของสายการบินเดลต้าแอร์ ส่งมอบกระเป๋าเสร็จสรรพ ก็เดินออกมาด้านหน้าอาคารสนามบิน

เรารีบร้อนเกินไป ไม่ได้เข้าไปสำรวจหรือขอแผนที่เก็บไว้ เลยไม่ทราบว่าทางสนามบินที่นี่จะมีแผนที่แอลเอไว้แจกฟรีหรือเปล่า แต่ที่ผมไม่ใส่ใจนักก็คงเป็นเพราะพี่ตู่ได้ให้แผนที่ผมมาแล้ว ออกมาด้านหน้าสนามบิน มีป้ายจอดรถรับส่งประเภทต่างๆเป็นสีเขียวบ้าง สีฟ้าบ้าง เราต้องสังเกตเอาเอง ผมกับพนาช่วยกันมองหารถรับส่งของโรงแรมฮิลตัน ลอสแองเจลิสแอร์พอร์ต ที่พนาจองไว้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตตั้งแต่อยู่เมืองไทย รถบัสสีฟ้าจะมารับส่งทุก ๑๕ นาที ที่รถจะติดป้ายHilton LAX ไว้

ข้างนอกลมพัดพอควร อากาศเย็นแต่ไม่มาก สังเกตว่าหลายคนเริ่มใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะกันแล้ว เราเดินออกไปทางขวาจนเห็นป้ายสีฟ้าและรถรับส่งรูปทรงน่ารัก (คล้ายๆรถบรรทุกสมัยก่อนที่มีหน้ายาวๆ แต่บริเวณโดยสารเหมือนรถสองแถวบ้านเรา) ขึ้นรถแล้วสอบถามคนขับจนมั่นใจว่าไม่ผิดคัน

นั่งรถไปสัก ๑๕ นาทีก็ถึงโรงแรม เข้าไปข้างใน รอเช็คอินสักประเดี๋ยวก็เรียบร้อย หมอพนาพิมพ์รายละเอียดการจองมาด้วย จองไว้ห้องเดียวพักด้วยกัน ราคาคืนละ ๑๘๐ เหรียญ เราเดินขึ้นลิฟต์เข้าห้องพักเอง ไม่มีบริกรนำไป โรงแรมหรูพอควร อยู่นอกสนามบินแต่ไม่ห่างมากนัก ถึงห้องพักราว ๔ ทุ่มครึ่ง แต่ดูเวลานาฬิกาที่หัวเตียงกลับเป็นเวลา ๕ ทุ่มครึ่ง เราทั้งสองจึงคิดว่าเราปรับนาฬิกาผิด จึงปรับตามนาฬิกาในห้องพัก โดยไม่ได้ตรวจสอบใดๆทั้งสิ้น แม้ว่ามือถือของเราสองคนจะสามารถเทียบเวลาตามเขตต่างๆได้

ผมไม่รู้สึกง่วง แม้จะห้าทุ่มกว่าแล้ว แต่ก็พยายามปรับตัวตามเวลาและความมืดของท้องถิ่นแต่เมืองไทยมันเพิ่งจะเที่ยงวันเอง จะไปง่วงได้ยังไง ก็อยากจะเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม พนาลงไปติดต่อการใช้อินเตอร์เน็ตกับทางโรงแรมและสามารถเข้าใช้เน็ตได้ สามารถพูดคุยกับภรรยาเขาผ่านทางเน็ตและไอโฟน แต่ผมทำไม่ได้จึงได้เพียงส่งอีเมล์แจ้งข่าวว่ามาถึงแอลเอแล้วโดยสวัสดิภาพ

จะนอนก็ยังไม่ง่วง เอาหนังสือจัสท์-สปีค-เอาท์ของคุณนิน่า (กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์) ที่ติดมาด้วย ออกมาอ่าน...อ่านไปได้สองหน้าก็รู้สึกยังไม่อยากอ่าน จะอ่านอีกเล่มที่เพิ่งซื้อที่สุวรรณภูมิก่อนมา "สู้จากศูนย์ สู่มหาเศรษฐีแสนล้าน เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา" ก็อ่านจบไปแล้วตั้งแต่อยู่บนเครื่อง ทำให้ไม่ตื่นเต้นที่จะเอามาอ่านซ้ำ อีกเล่มที่มีคือ "ในคนมีปลา ในขามีครีบ" ก็รู้สึกมันออกจะวิชาการไปหน่อย (ใจ) ยังไม่พร้อมที่จะอ่าน

จะเตรียมบรรยาย "การจัดการความรู้" ที่รับปากทางเหมืองแม่เมาะไว้ ว่าจะไปบรรยายหรือน่าจะเรียกว่าไปเล่าสู่กันฟังให้หลังกลับจากอเมริกา ในวันที่ ๘ มิถุนายน หรือเตรียมสคริปต์บรรยายให้หลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง รุ่น ๒๕ ของวิทยาลัยพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ ในหัวข้อ "วัฒนธรรมทางการบริหารที่สำคัญ" และ "การพัฒนาทีมงานและเครือข่าย" ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ก็ทำไม่ได้ ไม่มีอารมณ์อยากทำ การเตรียมสคริปต์บรรยายของผมต้องใช้พลังและสมาธิอย่างมาก และต้องพยายามถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตัวเองด้วย

จริงๆแล้ว ใจมันไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น น้ำยังไม่อยากอาบเลย แม้จะมีน้ำอุ่นสบายๆ แม้ไม่มีชุดเปลี่ยนสำหรับวันรุ่งพรุ่งนี้ แต่ก็มีชุดนอนขาสั้นติดเป้มาด้วย ...ไม่อยากทำอะไร ก็นอนดีกว่า ล้มตัวลงนอน หัวถึงหมอน แม้จะเพลียๆจากการเดินทาง แต่เอาเข้าจริง หลับตาได้ แต่หลับใจไม่ลง...อดคิดถึงภรรยาและลูกๆไม่ได้ หลังจากแยกกันที่สุวรรณภูมิตั้งแต่ใกล้ๆหกโมงเย็นเมื่อวาน จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ข่าวคราวกันเลย

การเดินทางกลับตากจะเป็นอย่างไรบ้าง รถยนต์จะมีปัญหาหรือเปล่า เด็กๆจะเป็นยังไงบ้าง ขลุ่ยยังจะร้องไห้งอแงคิดถึงพ่ออีกหรือเปล่า คิดไปเรื่อยเปื่อย หลายคนอาจจะเคยอยู่ในสภาพแบบนี้ ผมไม่ได้เปิดโรมมิ่งโทรศัพท์ไว้เลยโทรติดต่อกันไม่ได้ ส่งเมล์ไปก็ยังไม่มีตอบกลับมา ยิ่งคิดยิ่งว้าวุ่น...คิดไปสารพัด 

 "นิราศไกล ไปห่าง ใจห่วงหา     จากภรรยา ลูกน้อย คอยอยู่หลัง

ดุจนกน้อย พรัดพราก จากรวงรัง   คนข้างหลัง แดนไกล ใจร้าวราญ

เคยอยู่ใกล้ ค่ำเช้า เราพร้อมหน้า   ตื่นขึ้นมา พร้อมพรัก สมัครสมาน

แคนขิมขลุ่ย เริงร่า หน้าเบิกบาน   แต่เมื่อวาน กลับหมองเศร้า เราไกลกัน..."

ผมจบบทกลอนไว้แค่นั้น... เวลาเหงา เศร้า คิดมาก กังวล ...แบบนี้ อารมณ์กลอนมันจะเกิดได้ง่าย สุนทรภู่มักเขียนกลอนสุภาพไพเราะๆเวลาจากคนรัก อกหักหรือผิดหวัง นิราศหลายเรื่องของสุนทรภู่จึงติดตราตรึงใจเป็นอย่างมาก นักเพลงหลายคนก็เขียนเพลงอักหักได้ดี เขียนได้มาก เพลงที่ออกมาทางสมหวังมักไม่ค่อยมี ยกเว้นอย่างเดียวตอนที่กำลังตกหลุมรักใครสักคน อารมณ์กลอนอันสุนทรียก็เกิดง่ายเช่นกัน อกหักหรือแอบรักเขาข้างเดียวนี่ ทำให้เกิดผลงานเพลงดีๆมาเยอะ

คิดไปนาน เวลาผ่านไปแค่ไหน ไม่ได้ลืมตามาดูนาฬิกา แต่ถ้าปล่อยให้คิดจมอยู่กับความหงอยเหงาแบบนี้ไม่ดีแน่ จะมาคิดเชิงลบในเวลาที่เรากำลังจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเวลาที่เราอุตส่าห์ขวนขวาย สร้างโอกาสให้ตนเองได้พัฒนาตนเอง เราต้องปลุกพลังในตัวเอง เราต้องคิดให้ใจคึกคัก มีพลัง พยายามรวบรวมสมาธิ แล้วก็คิดทางบวก "เราเป็นอย่างที่เราคิด คิดดีก็มีพลัง คิดลบก็ถดถอย" เหมือนแก้วที่มีน้ำครึ่งแก้ว เราจะคิดว่ามันมี "แค่ครึ่งแก้ว" หรือมันมี "ตั้งครึ่งแก้ว" ก็อยู่ที่ตัวเรา

การมาอเมริกาครั้งนี้เป็นผลจากที่ผมได้อ่านหนังสือเยอะขึ้น ได้ไปเรียนต่างประเทศทำให้ได้รับรู้ว่า ตัวเรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ "ยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้ว่าเรายังรู้น้อย" ปราชญ์หลายท่านมักหยิบยกคำสอนของเซนที่ว่า "อย่าเป็นแก้วที่เต็มน้ำหรืออย่าเป็นชาที่ล้นถ้วย" หนังสือเหวยหลูเยี่ยฮว่ากล่าวไว้ว่า "มองตนเองสูงเกินไป จะไม่สามารถก้าวหน้าได้ มองตนเองต่ำเกินไป จะไม่สามารถพัฒนาได้"

สหรัฐอเมริกา มีชื่อเรียกสั้นๆเป็นชื่อเล่นหลายสำนวน เช่น ลงุแซม อินทรี พญาอินทรี หรือเจ้าโลก แต่ผมชอบคำว่า "พญาอินทรี" มากกว่า มาจาก "นกอินทรีหัวขาว" ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติมาคั้งแต่ค.ศ.๑๗๘๒ เป็นประเทศสหพันธรัฐประชาธิปไตย ที่มีประชากรราว ๓๐๘ ล้านคน มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ หรือ ๔ ของโลก (ไม่แน่ใจอันดับกับจีน ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับอินเดียอยู่) รองจากรัสเซีย แคนาดา แต่ถ้าคิดเฉพาะผืนดิน จะเป็นรัสเซีย จีน อเมริกา ส่วนแคนาดาตกไปอันดับ ๔

รัฐ ๕๐ รัฐ มีขนาดหลากหลาย ใหญ่น้อย มีความหลากหลายของประชากร เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมสูงมาก จึงไม่มีการกำหนดภาษาประจำชาติ ไม่กำหนดศาสนาประจำชาติ เปิดโอกาสหรือให้ "เสรีภาพ" และ "ความเป็นธรรม" แก่ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจากที่ไหน เชื้อชาติไหน ถ้าคุณเก่งคุณมีฝีมือ คุณจะมีที่ยืนในอเมริกา

จุดเริ่มต้นของการเกิดชาติอเมริกา (ผมขอเรียกสั้นๆแบบนี้นะครับ) มาจากการรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบจากอังกฤษเจ้าอาณานิคม สิบสามอาณานิคมจึงรวมตัวกันต่อสู้กับอังกฤษจนได้รับชัยชนะ และประกาศอิสรภาพเมื่อ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๑๙ (ค.ศ.๑๗๗๖) หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประกาศอิสรภาพจากพม่าคราวเสียกรุงฯครั้งที่สองได้ ๙ ปี และได้รับการยอมรับเป็นประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๖ หลังจากรัชการที่ ๑ ตั้งกรุงเทพมหานครได้ ๑ ปี หลังจากนั้นอเมริกาก็ผนวกหรือซื้อดินแดนใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆเข้ามาเรื่อยๆจนมีขนาด ๕๐ รัฐเท่าปัจจุบันและมีดินแดนในอาณัติอีกหลายแห่ง

เมืองหลวงของประเทศชื่อวอชิงตัน ดีซี ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนที่เรียกว่าดิสตริคส์อ๊อฟโคลัมเบีย เมืองใหญ่ ๑๐ อันดับของประเทศคือนิวยอร์ค ลอสแอนเจลิส ชิคาโก ฮูสตัน ฟีนิกซ์ ฟิลาเดลเฟีย ซานอันโตนีโอ ซานดิเอโก ดัลลัสและซานโฮเซ ประชากรทั้งหมดแบ่งออกเป็นคนผิวขาว (รวมเม็กซิกัน) ๘๑.๗% แอฟริกันอเมริกัน ๑๒.๙ % เอเชียแอฟริกัน ๔.๒ % อินเดียนแดง ๑.๔ % และฮาวาย ๐.๒%

พื้นที่ทวีปอเมริกานี้ ได้ถูกเรียกชื่อตามชื่อของนักแผนที่ชาวอิตาเลียนคืออเมริโก เวสปุซซี่ โดยคนยุโรปที่มาพบพื้นที่นี้เป็นคนแรกคือคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หลังการเกิดสหรัฐอเมริกา ประเทศนี้ก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ ผ่านสงครามกลางเมือง การสู้รบกับประเทศอื่นๆเพื่อรักษาอธิปไตยและการแย่งชิงดินแดน จนมีความเข้มแข็งทั้งด้านการทหาร เทคโนโลยี วัฒนธรรมและเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้ อเมริกามีคำขวัญดั้งเดิมเป็นภาษาละตินว่า "จากหลากหลายรวมกันเป็นหนึ่ง" และมีคำขวัญที่ใช้อย่างเป็นทางการว่า "เราเชื่อในพระเจ้า: In God we trust"

เมืองหลวงของอเมริกา ไม่ติด ๑ ใน ๑๕ เมืองใหญ่ของประเทศ เมืองหลวงก็คือเมืองหลวง ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจ แยกออกจากกัน ในขณะที่เมืองไทยทั้งเมืองหลวง เมืองเศรษฐกิจ เมืองการศึกษา และเมืองใหญ่ที่สุดเป็นเมืองเดียวกัน เป็นการรวมศูนย์ของทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น แต่น่าจะคล้ายกับสงขลา ที่มีเมืองใหญ่อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ แล้วก็ไม่พยายามแยกออกมาเป็นจังหวัดใหม่

สงครามกลางเมืองอเมริกา เป็นบาดแผลสำคัญของประเทศที่รัฐทางตอนใต้ทำกสิกรรมต้องอาศัยข้าทาสแรงงาน ส่วนทางตอนเหนือทำอุตสาหกรรมใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ สงครามเลิกทาสดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงครองราชย์ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๐๘) จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือและเลิกทาสสำเร็จ ในอีกไม่กี่ปีต่อมาด้วยพระปรีชาสามารถของพระปิยมหาราช ไทยก็มีการเลิกทาสได้โดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อเลย

การประกาศอิสรภาพตั้งประเทศใหม่ของอเมริกา คงไม่ใช่แค่อิสรภาพทางการทหารเท่านั้น ต้องมีอิสรภาพทางวัฒนธรรมประกอบด้วย ภาษาที่ใช้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษแต่ก็มีความแตกต่างทางด้านการออกเสียง เป็นอเมริกัน-อังกฤษ มีคำศัพท์หลายคำที่เป็นเฉพาะแตกต่างไป ส่วนด้านการกีฬาก็ไม่เน้นฟุตบอลแบบอังกฤษ แต่เน้นไปสร้างกีฬาฟุตบอลแบบใหม่ที่เรียกว่า อเมริกันฟุตบอล ที่มีการปลูกฝังจนฝังรากลึกเป็นกีฬาเอกลักษณ์ของชาติ มีการแข่งขันกันในทุกระดับ สรางรายได้มหาศาลและมีกีฬาที่ได้รับความนิยมอีกมาก ๓ ประเภทคือบาสเก็ตบอล เบสบอลและฮ็อกกีน้ำแข็ง โดยเฉพาะบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอนี่ดังมาก

คงคล้ายๆกับตอนที่คนไทยสร้างชาติ ปลดแอกจากอิทธิพลขอมในสมัยสุโขทัย ก็พยายามลดอิทธิพลทางวัฒนธรรมขอมเพื่อสร้างความยั่งยืนในความเป็นตัวของตัวเองด้วยการคิดอักษรภาษาไทย เปลี่ยนจากนับถือพราหมณ์ไปนับถือพุทธแบบลังกาวงศ์ ที่เป็นหินยาน ไม่เอาแบบมหายานเพราะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอมก็ทรงให้นับถือพุทธศาสนามหายาน อเมริกันก็คงต้องการหลุดจากความเป็นอังกฤษด้วยวิธีคล้ายๆกัน แม้ว่าสถานที่ต่างๆก็ยังคงมีชื่อเป็นสถานที่ในยุโรปหลายๆแห่ง เพียงแต่เพิ่มคำว่า "นิว" เข้าไป คิดว่าน่าจะเหลือไว้ให้คิดถึงอดีตบ้าง

ผมนอนคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย คืนนี้ผมนอนอยู่ที่อเมริกาแล้ว ชีวิตการเรียนรู้ใหม่ๆกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในดินแดนที่ได้ชื่อว่า "ดินแดนแห่งเสรีภาพ ภราดรภาพและความมั่งคั่ง" ผมไม่รู้ตัวจริงๆว่าคืนนั้น...ผมหลับไปตอนไหน และก็ไม่รู้ว่าหมอพนาเขาเข้านอนตอนไหน แม้จะนอนเตียงเดียวห้องเดียวกันก็ตาม 

หมายเลขบันทึก: 444754เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

หนูมาติดตามเรื่องเล่าการเรียนรู้และการเดินทางของคุณหมอค่ะ อ่านแล้วสนุกและได้เรียนรู้ไปกับคุณหมอด้วย

ขอบคุณมากๆ นะค่ะ

สวัสดีครับคุณมะปรางเปรี้ยว

ผมจะพยายามเล่าจนจบครับ ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจครับ

สวัสดีครับคุณหมอ แค่คุณหมอไปถึงมิชิแกน ก็เล่าได้สนุกแล้วครับ ตอนที่ผมไปถึงเจนีวาก็อารมณ์นี้เลยครับ

ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าดีๆ ครับ

อิทธิพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท