สิงที่ได้ศึกษาจากวีดีทัศน์


แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง: จากปรัชญาสู่การสอน


                                                                                         เฉลิมลาภ  ทองอาจ[*]

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          หลังการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกในช่วงปี พ.ศ. 2540 แนวคิดสำคัญที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการออกแบบ และการจัดการเรียนการสอนของการศึกษาไทยก็คือ  แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centered approach) เนื่องจากแนวคิดนี้มีที่มาจากต่างประเทศ เป็นผลให้           นักการศึกษาไทยตีความและอธิบายความหมายไปในหลายลักษณะ  ทั้งในแนวทางที่ “สุดโต่ง” เช่นให้ความหมายว่า เป็นแนวคิดที่ให้อิสระและเสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ ในการที่จะเรียนรู้ตามความสนใจและความต้องการ  ในขณะที่ส่วนหนึ่งก็อธิบายว่า หมายถึง การให้ผู้เรียนศึกษาเรียนรู้ในเรื่องใดๆ ก็ตามด้วยตนเอง โดยครูมีบทบาทเพียงเป็นผู้สนับสนุน หาใช่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ดังที่เป็นมา         แต่เดิมไม่ การอธิบายความหมายในหลายลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสับสน และการขาดซึ่งบรรทัดฐานสำหรับการจัดการเรียนการสอน

          เมื่อหลักคิดหรือมโนทัศน์เกี่ยวกับการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางบิดเบือนไป ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน (misconception) เกี่ยวกับการออกแบบและการจัดการเรียนการสอน เช่น ครูที่ให้เสรีแก่นักเรียนในการเลือกเรียนตามความสนใจและความต้องการ ก็จะไม่คำนึงถึงเป้าหมายหรือคุณลักษณะผู้เรียนตามที่สังคมต้องการ หรือครูที่เห็นว่านักเรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองทุกเรื่อง ก็จะไม่สนใจการสอนและทิ้งผู้เรียนและห้องเรียนไป เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจมโนทัศน์ทั้งในด้านความหมาย แนวคิดและหลักการของการสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ     จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้ครูเข้าใจว่า การสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ  “คืออะไร” “มีที่มาอย่างไร”  และ “มีคุณค่าอย่างไร” แล้ว ประเด็นที่สำคัญคือ จะทำให้ครูเกิดปัญญาว่าจะ “สอนอย่างไร” และ “พัฒนาการสอนของตนเองอย่างไร” อีกด้วย ประเด็นหลังนี้นับว่าสำคัญมาก  เพราะการคิดหาวิธีการสอนใหม่ๆ  ย่อมเป็นการพัฒนาและปรับปรุงการสอนของครูเช่นกัน บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอที่มาของแนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ  เพื่อเสนอหลักการสอนและบทบาทของครูที่ใช้แนวคิดนี้   

          แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เมื่อพิจารณาที่มาในแง่ของปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้พบว่า มีรากฐานมาจากปรัชญาการศึกษาพิพัฒนนิยม (Progressivism)  ซึ่งมี        นักปรัชญาคนสำคัญคือ Dewey (1859 – 1952)  สำหรับ Dewey นั้น เขามีแนวคิดสรุปได้ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและเรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น  และการเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลได้รับเสรีภาพ  ในการเข้าไปร่วมทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเอง ดังนั้นความรู้ในแนวคิดของ  Dewey จึงเกิดขึ้นจากการที่บุคคลประยุกต์ใช้ประสบการณ์เดิมในการดำเนินการแก้ปัญหาใหม่ (Rowe, 2010: online) การจัดการศึกษาจึงควรมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับ  “กระบวนการเรียนรู้”  (learning process) ของนักเรียน  มากกว่าความรู้หรือความสามารถที่ครูมี  นักเรียนจะต้องได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ใช้กระบวนการสร้างประสบการณ์  จากการได้ลงมือปฏิบัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามจากข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้  นักเรียนตามแนวคิดของปรัชญานี้ จึงเป็นทั้งนักแก้ปัญหา (problem solver) และนักคิด (thinker)  โดยครูมีบทบาทในการจัดหรือเตรียมประสบการณ์ที่มีความหมายแก่นักเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (learn by doing) 

          นอกจากพื้นฐานด้านปรัชญาการศึกษาแล้ว  แนวคิดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ (constructivist learning theory) ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธิปัญญานิยม (Cognitivism)  ที่เสนอว่าจิต (mind) จะทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความหมาย (maker of meaning)  ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีจึงเชื่อว่าความรู้ใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่บุคคลสร้างขึ้น จากการได้รับประสบการณ์และการตีความประสบการณ์เหล่านั้น ทฤษฎีการเรียนรู้       การสร้างความรู้ประกอบด้วยทฤษฎีย่อย ได้แก่ ทฤษฎีการสร้างความรู้เชิงปัญญา (cognitive constructivism)   ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดของ Piaget และ Bruner  สำหรับ Piaget นั้น เขาเสนอว่า     การปรับเปลี่ยนมโนทัศน์และการพัฒนาด้านสติปัญญาเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างปัญญาหรือโครงสร้างความรู้ (cognitive structure/schemata) ที่บุคคลมีอยู่เดิม กับประสบการณ์ใหม่ที่รับเข้ามา ในขณะที่ Bruner เสนอแนวคิดว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างกระตือรือร้น (active process) ที่ผู้เรียนสร้างแนวคิดใหม่บนพื้นฐานความรู้ที่มีในอดีตและปัจจุบัน  และผู้เรียนสามารถที่จะขยายความเข้าใจไปมากกว่าข้อมูลที่ตนเองได้รับ เพื่อพัฒนาความเข้าใจส่วนบุคคลให้มีความลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีการสร้างความรู้เชิงสังคม  (social constructivism) ซึ่งเสนอโดย Vygotsky  ทฤษฎีนี้อธิบายสรุปได้ว่า  การเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของผู้เรียนจะ   เกิดขึ้นได้ มิได้อาศัยแต่เพียงตัวผู้เรียนเท่านั้น  แต่จะต้องอาศัยความช่วยเหลือของบุคคลที่มีความสามารถ ด้วยเหตุนี้  ครูจะต้องใช้วิธีการเสริมสร้างศักยภาพ (scaffolding) เพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้สามารถปฏิบัติงานและบรรลุซึ่งความสำเร็จ แทนที่จะปล่อยให้ผู้เรียนปฏิบัติงานเพียงลำพัง

คำสำคัญ (Tags): #วีดีทัศน์
หมายเลขบันทึก: 444526เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2011 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท