การเมืองการปกครองในคัมภีร์ชาดกในทางพระพุทธศาสนา


องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพระประมุขของชาติทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนาตลอดมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าพระพุทธศาสนาได้สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญของชาติไทยตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

การเมืองการปกครองในคัมภีร์ชาดกในทางพระพุทธศาสนา 

            พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ด้วยชนชาติไทยได้นับถือและยกย่องเทิดทูนเป็นสรณะแห่งชีวิต สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของชาติส่วนใหญ่ มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา

          องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพระประมุขของชาติทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนาตลอดมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าพระพุทธศาสนาได้สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญของชาติไทยตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

          กล่าวได้ว่าชาติไทยได้มีความเจริญมั่นคง ดำรงเอกราชอธิปไตยสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล จวบจนกาลปัจจุบัน ก็ด้วยคนไทยทั้งชาติยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความเคารพบูชาพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ พระพุทธศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิตของชาวไทย โดยมีส่วนเสริมสร้างอุปนิสัยของคนในชาติให้รักความสงบ มีความเสียสละ แกล้วกล้า อาจหาญ รอบรู้ฐานะ อฐานะ มีความรักและยึดมั่นอยู่ในสามัคคีธรรม

             มนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มีความเชื่อ แนวคิด อุปนิสัย ทัศนคติและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มารวมกันอยู่ภายในอาณาเขตเดียวกัน จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหาการปกครองที่เหมาะสมมาใช้ในสังคม เพื่อให้สังคมนั้นๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี คือมีความสงบเรียบร้อย มีความยุติธรรม มีความสามัคคี ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม หากสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ไม่มีการนำการปกครองที่เหมาะสมมาใช้แล้ว ก็อาจทำให้สังคมนั้นประสบกับความสับสนยุ่งเหยิง เกิดความแตกแยก แย่งชิงผลประโยชน์ตามมา อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เห็นได้ในสังคมต่างๆ ในปัจจุบันนี้[๑]

             การปกครองที่เหมาะสมจึงเป็นที่ต้องการของทุกๆ สังคม เพราะข้อนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้มาซึ่งการมีเสถียรภาพทางสังคมและการนำสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ความผาสุก การบริหารและการปกครองของสังคมในอดีตมีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างใกล้ชิด มีการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ศาสนาจึงเป็นที่มาของอุดมการณ์รูปแบบเดียว เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการธำรงรักษาความชอบธรรมของการปกครองและการยอมรับของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครอง

            พระพุทธศาสนาทั้งที่เป็นส่วนพระธรรม คือคำสอน และพระวินัย คือ คำสั่ง มีคุณค่าต่อการปกครอง ทั้งในด้านการปกครองตนเอง การปกครองหมู่คณะและการปกครองประเทศหรือสังคมโดยส่วนรวมตลอดจนมีการปกครองโลกอยู่มาก กล่าวคือ มุ่งส่งเสริมให้บุคคลหมั่นสำรวจ ฝึกฝน ปรับปรุง เคารพ ควบคุม บังคับภายในคือจิตใจ เชื่อมั่นรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นการปกครองตนเอง รู้จักธรรมชาติและความต้องการของผู้อื่น ใช้พระคุณควบคู่กับการใช้พระเดช เป็นการปกครองหมู่คณะและปกครองประเทศหรือสังคมโดยส่วนรวม ตลอดมีการใช้ธรรมเป็นโลกบาล คือหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นการปกครองโลก

 

๑. ผู้ปกครองสำคัญกว่าระบบการปกครอง 

 

ระบบการปกครองในคัมภีร์ชาดก คือ เผด็จการแบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) แต่ไม่ใช่เผด็จการแบบอำนาจนิยมดังที่เข้ากันในทางรัฐศาสตร์ เพราะยังคำนึงถึงเสียงของประชาชน และยึดถือธรรม ความถูกต้อง ความดีงามเป็นหลัก ให้ความสำคัญแก่ผู้ปกครองมากกว่าระบบการปกครอง คือผู้ปกครองต้องประกอบไปด้วยธรรมสำหรับการบริหารและการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม พละ ๕ ของกษัตริย์ เว้นจากอคติ ๔ เมื่อผู้ปกครองประพฤติตามธรรมดังกล่าว ย่อมเกิดผล คือประชาชนเป็นสุข

                   แม้ว่ากษัตริย์จะมีอำนาจมากเพียงใดก็ตาม แต่กษัตริย์ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย ดังปรากฏในเวสสันดรชาดก พระเวสสันดรซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระโอรสของพระเจ้าสญชัยกษัตริย์เมืองสีพีทรงประทานช้างปัจจัยนาค ซึ่งเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองให้แก่พวกพราหมณ์ต่างเมืองทั้ง ๘ คน ที่มาขอช้างคู่บ้านคู่เมือง ทำให้ประชาชนเมืองสีพีทั้งหลายโกรธเป็นอันมาก พากันมาเข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัยทูลให้ขับไล่พระเวสสันดรออกนอกเมือง ซึ่ง พระเจ้าสญชัยก็ต้องทำตาม ดังมีข้อความที่ชาวเมืองสีพีทูลแก่พระเจ้าสัญชัยว่า

                “พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระเวสสันดรนั้นด้วยท่อนไม้หรือศัสตราเลย ทั้งพระเวสสันดรนั้นก็ไม่ควรแก่เครื่องพันธนาการ แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรเสียจากแว่นแคว้น จงไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด”

 

 

 

 

 

 

                   ต่อมา พระนางผุสดีซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสญชัยจะทัดทาน แต่พระเจ้าสญชัยก็ไม่ทรงยินยอมเพราะทรงรับฟังเสียงประชาชนดังที่ปรากฏในเวสสันดรชาดกว่า

                “ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น เกล้ากระหม่อมฉันขอกราบทูลพระองค์ว่า ประโยชน์อย่าได้ล่วงพระองค์ไปเสียเลย ขอพระองค์อย่าทรงขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิด เพราะถ้อยคำของชนชาวสีพีเลย”

            “เราทำความยำเกรงต่อพระราชประเพณี จึงขับไล่พระราชโอรสผู้เป็นชาวสีพี เราจำต้องขับไล่ลูกของตน ถึงแม้จะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา”

 

 

 

 

 

 

 

 

                    

                   พระพุทธศาสนาถือว่า การปกครองไม่ว่าระบบใด ขอให้ผู้ปกครองเป็นผู้ประพฤติธรรม เป็นอันยอมรับได้ ในตัวรูปแบบการปกครอง มีความเป็นไปได้น้อยมากที่อัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตยจะนำไปสู่ความถูกต้องดีงามได้อย่างได้อย่างสมบูรณ์เพราะการปกครองเต็มไปด้วยอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งยั่วยวนใจคนให้เปลี่ยนนิสัยไปในทางมีความโลภ ความโกรธและความหลง ขาดการตรวจสอบมากยิ่งขึ้นเป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักรัฐศาสตร์ทั้งหลายว่า บรรดาสิ่งยั่วยวนทั้งหลายนั้น อำนาจย่อมยั่วใจได้มากและรวดเร็ว อำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยและทำให้การพิจารณาไม่เที่ยงแท้ ทำให้คนซึ่งมีความเมตตากรุณากลายเป็นคนโหดร้าย ดังที่ลอร์ด แอคตัน ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “อำนาจมักทำลายตัวเองและอำนาจสูงสุดทำลายตัวเองอย่างที่สุด (Power corrupts ; Absolute power corrupts absolutely)”

 

            ๒. ความสำคัญของผู้ปกครอง 

 

                   ในทรรศนะของคัมภีร์ชาดก พระราชาหรือกษัตริย์มีความสำคัญมิใช่เป็นเพียงผู้นำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของสังคม เป็นแกนให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางสุริยะจักรวาล แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น ความวิปริตทางดินฟ้าอากาศ ทุพภิกขภัย หรือภัยพิบัติ ต่างๆ ก็เชื่อว่าอยู่ในความรับผิดชอบของกษัตริย์หรือพระราชาด้วยในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า กษัตริย์หรือพระราชามีความสำคัญในฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีรูปแบบประมุขของรัฐแบบใหม่ คือประธานาธิบดีเป็นประมุขตามวิวัฒนาการทางการเมืองก็ตามผู้นำหรือผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาประชาชน (พลเมือง) และประเทศชาติไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อมได้ ถ้าได้ผู้ปกครองที่ดีมีศีลธรรม มีความรู้ความสามารถ จะนำพาประชาชนและประเทศชาติไปสู่ความผาสุกความเจริญได้ แต่ถ้าได้ผู้ปกครองที่ทุจริตคดโกง ผิดศีลธรรม จะทำให้ประชาชนประสบกับความเดือดร้อนและประเทศชาติอาจจะล่มสลายกลายเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นก็ได้

                   ในราโชวาทชาดก[2] ได้สะท้อนย้อนให้เห็นว่าผู้นำหรือผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างไร ต่อความผาสุกและความเจริญของประชาชนและบ้านเมืองไว้ดังนี้

                “ถ้าเมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายคด เมื่อโคผู้นำฝูงว่ายคดเช่นนี้ โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดไปตามกัน ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรมอย่างแน่แท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั่วกันถ้าเมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามตรง เมื่อโคผู้นำฝูงว่ายข้ามตรงเช่นนั้น โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปตามกันในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติเป็นธรรมไปตามอย่างแน่แท้ ถ้าพระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมรัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน”

                 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   ในเวสสันดรชาดก[3] พระนางมัทรีกราบทูลแก่พระเจ้าสญชัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระราชาไว้ว่า

 

                “ธงเป็นเครื่องหมายแห่งรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟพระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น ภัสดาเป็นสง่าของหญิงความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก”

 

 

 

 

 

                   ในมหาโพธิชาดก[4] ได้เสนอความสำคัญของผู้นำหรือพระราชาไว้ดังนี้

                “ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปคด เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปคด โคทั้งหมดนี้ก็ย่อมไปคดฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ไม่จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปตรง เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปตรง โคทั้งหมดนี้ก็ย่อมไปตรงฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติธรรม จะจำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรมเมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้นย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศรัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชานั้นย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ย่อมพินาศเมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลสุกมา ผู้นั้นย่อมรู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ไม่พินาศรัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยธรรม พระราชานั้นย่อมทรงรู้จักรสแห่งรัฐนั้นและรัฐของพระราชานั้นก็ไม่พินาศ”

                 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   อนึ่ง ขัตติราชพระองค์ใด ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้นย่อมคลาดจากโอชะทั้งปวงอนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนชาวนิคมผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและพลีกรรม พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากส่วนพระราชทรัพย์พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนนายพรานผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียดเบียนทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียนอำมาตย์ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากพลนิกายอนึ่ง พระราชาผู้ไม่ประพฤติธรรม เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากสวรรค์อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมได้ประสพเหตุแห่งทุกข์หนัก และย่อมผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาวนิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียนบรรพชิต พึงประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรสและพระชายาพระราชาผู้เป็นภูมิบดีเช่นนั้น เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงหวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น เมื่อพระราชาทรงประพฤติธรรมแล้ว นอกจากทำให้ประชาชนในรัฐประสบกับความผาสุกแล้ว พระราชาเองย่อมได้รับผลในชาติหน้าด้วย ดังที่ปรากฏในอุมมาทันตีชาดก ซึ่งอภิปารกเสนาบดีกราบทูลแก่พระเจ้าสีวิราชให้ประพฤติธรรมแก่บุคคลและสัตว์รอบข้างไว้ดังนี้

                “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติธรรมอันไม่มีความฉิบหาย เป็นแดนเกษมอยู่เป็นนิจแท้ พระองค์จักดำรงราชสมบัติอยู่ยั่งยืนนาน เพราะพระปัญญาของพระองค์เป็นเช่นนั้นพระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใด ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์ พระราชาผู้เป็นอิสระทรงประมาทธรรมเสียแล้ว ย่อมเคลื่อนจากรัฐ ข้าแต่พระมหากษัตริย์ขัตติยราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระชนนีและพระชนก  ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์  ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์ทั้งหลายครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์

           “ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในราชพาหนะและทหารแกล้วทั้งหลาย ครั้งทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชนชาวคามและนิคมทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชนชาวแว่นแคว้นและชนบททั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในเนื้อและนกทั้งหลาย ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด เพราะว่าธรรมที่ประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้ ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด ด้วยว่า พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหม เป็นผู้ถึงทิพยสถาน เพราะธรรมที่ประพฤติแล้ว ข้าแต่พระราชา พระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย”

                 

 

 

 

        ในมหาสุบินชาดก[5] ซึ่งเกี่ยวกับพุทธทำนายความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองอยู่ ๑๑ ประการ คือ ๑, ๔, ๕, ๖, ๘, ๙, ๑๐, ๑๒, ๑๓, ๑๕ และ ๑๖ ถ้าผู้ปกครองไม่มีคุณธรรมในการปกครอง เหตุการณ์ที่เลวร้ายในความฝันย่อมเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ปกครองมีคุณธรรมในการปกครอง เหตุการณ์ที่เลวร้ายในความฝันย่อมไม่เกิดขึ้น เป็นการให้ความสำคัญแก่ผู้ปกครองในฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ซึ่งมีผลต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเรื่องที่พระราชาไม่ทรงประพฤติธรรม ส่งผลทำให้ประชาชนในรัฐไม่ประพฤติธรรมไปด้วย นอกจากจะพบได้ในคัมภีร์ชาดกแล้ว ยังพบในพระสูตรต่าง ๆ เช่น ธรรมิกสูตร มีเนื้อหาดังนี้

                “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดี เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมผิดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำเสมอผิดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบ ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุสั้น มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก” นอกจากนั้น พระราชายังเป็นศูนย์กลางทางสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ในคัมภีร์ชาดกยอมรับว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมของผู้นำกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กล่าวคือ ถ้าผู้นำไม่ประพฤติธรรม เช่น ลุแก่อำนาจอคติ ๔ ได้แก่ ลำเอียงเพราะชอบ เป็นต้น สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติย่อมผันแปรผิดเปลี่ยนไปจากธรรมดาของมัน แต่ถ้าผู้นำประพฤติธรรม เช่น ละเว้นจากการลุอำนาจอคติ ๔ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติย่อมเป็นไปตามปรกติธรรมดาของมัน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กล่าวโดยสรุป ในชาดกต่างๆ ได้กล่าวถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในด้านการบริหารจัดการและด้านการปกครอง ซึ่งมุ่งเน้นผู้บริหารหรือผู้ปกครองที่มีธรรมเป็นที่ตั้ง หรือการปกครองโดยธรรม จะส่งผลให้การบริหารหรือการปกครองเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นผลดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนที่อยู่ภายในการปกครองที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข หรือเกิดสันติภาพในที่สุด

 



[๑]มานพ นักการเรียน, ผศ.,รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์, อ้างใน www.src.ac.th/web/index.php?option=

content&task=view&id=423

[2] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗ / ๑๓๓ / ๑๘๔.

[3] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘ / ๑๘๔๑ / ๔๗๓.

[4] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘ / ๑๖๘ / ๓๑.

[5] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗ / ๗๗ / ๓๒.

หมายเลขบันทึก: 444112เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท