คนไข้ดื้อคือคนไข้ที่เราควรเข้าใจเขาให้มาก


ถ้าเราให้ความสนใจกับผู้ป่วยรายที่ยากหรือดื้อในความคิดเรา อย่างน้อยเราจะเข้าใจในความเจ็บป่วยของเขาและผู้ป่วยเราก็จะได้รับการดูแลและไม่หายไปจากระบบ ฉันยังเคยคิดว่าถ้าฉันทำเป็นลืมผู้ป่วยรายนี้ ป่านนี้ผู้ป่วยอาจต้องขายบ้านเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแน่ๆจากที่ขายรถแล้ว ทั้งๆที่การรักษาหรือยาที่โรงพยาบาลชุมชนของเราก็มี

 งานให้บริการผู้ป่วยเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความรู้  ความสามารถ  ความเอาใจใส่  ความละเอียดรอบคอบ  การประสานงาน  การสื่อสาร  ค่อนข้างมาก  ไหนภาระงานล้นมือจนแทบไม่ได้รับประทานอาหารตรงตามเวลา   บ่อยๆที่พบว่าเป็นผู้ป่วยที่ยุ่งยากเหลือเกิน  ไม่เคยปฏิบัติตามคำแนะนำเลยหรือปฏิบัติบ้างแต่ไม่ทั้งหมด  เมื่ออาการเพิ่มมากขึ้นก็กลับมาหาเราอีกด้วยปัญหาที่เราอธิบายแล้วอธิบายอีก ถ้าเจอแบบนี้ส่วนใหญ่ทำอย่างไรกัน  แต่ฉันคิดว่าถ้าท่านได้อ่านเรื่องราวคนไข้รายนี้อาจทำให้ท่านพอมีคำตอบให้กับตัวเองได้บ้าง

วันนี้ก็เป็นเหมือนเช่นทุกวัน  มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่แพทย์ส่งมาทำกายภาพบำบัดด้วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน  เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ  30  ปี มีอาการปวดหลังร้าวลงขาขวามาก เดินตัวเอียงมาด้านซ้าย  มือจับบริเวณบั้นเอวตลอด  ร้องโอดโอยเป็นระยะ  หน้าตาบ่งบอกถึงความเจ็บปวดมาก  ประมาณด้วยสายตา  ระดับความเจ็บปวดเต็ม  10 หลังจากตรวจร่างกายเสร็จก็วางแผนการรักษาทางกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย  วางแผ่นร้อน  ใช้เครื่องอบไฟฟ้าก่อนรอให้อาการปวดลดลงก่อนค่อยเพิ่มการดึงหลังวันหลัง  จากนั้นก็นัดผู้ป่วยมาทำกายภาพบำบัดซ้ำอีกพร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติตัวที่บ้าน 

แรกๆผู้ป่วยปฏิเสธแต่ฉันก็ได้พยายามอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงความสำคัญของการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องเพราะจากอาการระยะยาวอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตขาได้  ผู้ป่วยก็รับปากแบบไม่ค่อยเต็มใจเพราะห่วงต้องออกไปทำมาค้าขาย  พอถึงวันนัดผู้ป่วยไม่มาตามนัด  ฉันก็คิดว่าผู้ป่วยคงปวดมากมาไม่ไหว  และเมื่อวันนัดต่อมา  ผู้ป่วยขาดนัดอีก  ฉันเลยเริ่มมั่นใจว่าผู้ป่วยขาดการรักษาทางกายภาพบำบัดแน่นอนจะเป็นด้วยสาเหตุอันใดไม่สามารถบอกได้  แต่ถ้าให้ประเมินอาการปวดค่อนข้างสูงน่าจะหาทางไปรักษาอย่างอื่น  ในใจส่วนหนึ่งก็คิดช่างเถอะไม่เห็นความสำคัญของการรักษา  คนไข้ดื้อ  แต่ในใจลึกๆก็คิดเป็นห่วงผู้ป่วยอยู่เหมือนกัน

หนึ่งเดือนต่อมาได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านผู้พิการ  จำได้ว่าผู้ป่วยรายที่เรายังคงกังวลใจเรื่องอาการปวดด้วยอยู่พื้นที่นี้  จึงสอบถามข้อมูลพี่สถานีอนามัย  ได้ข้อมูลว่าผู้ป่วยปวดหลังและเป็นคนชอบดื่มสุรา  มีอาชีพหลักรับซื้อผักสวนครัวไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง  ซึ่งต้องออกไปขายทุกวันแต่หลังจากขายแล้วก็จะเอาเงินที่ได้ไปดื่มสุรา  ตอนนี้ภรรยาก็เพิ่งจะคลอดลูกคนที่สองได้ไม่กี่วัน  ภรรยาก็แยกไปอยู่กับยายอีกตำบลหนึ่งเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถดูแลได้ 

จากนั้นพี่สถานีอนามัยก็พาไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน  เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วยกำลังจะเตรียมข้าวของขึ้นรถ  ฉันจึงได้สอบถามผู้ป่วยจะไปไหนกัน  ผู้ป่วยบอกว่ากำลังจะไปโรงพยาบาลเอกชนที่ต่างจังหวัดเพื่อพบแพทย์  จึงสอบถามว่าพบแพทย์ด้วยเรื่องใดใช่โรคปวดหลังไหม  ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าไม่ใช่  เป็นโรคตับอักเสบ  แพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนนัดทุกสัปดาห์  ได้รับยา  4  ซอง  เลยสอบถามต่อว่าค่าใช้จ่ายแพงไหม  ผู้ป่วยบอกว่าตั้งแต่ป่วยค่ารักษา 1  เดือนเกือบสองแสนบาท  พอได้ฟังก็ตกใจ  โอโฮค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงจังเลย  ขนาดเราเป็นข้าราชการมีเงินเดือนยังไม่กล้าเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเลย  เลยเริ่มสงสัยค่ายาอะไรแพงจังเลย  แล้วโรงพยาบาลเราน่าจะมียานี้นะ สอบถามผู้ป่วยวางแผนการดูแลตัวเองอย่างไร  ผู้ป่วยจะยังคงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนเพื่อรักษาโรคตับอักเสบ  และฉันได้แนะนำผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลต่อพร้อมกับบอกว่า“ หมอเป็นห่วงเลยตามมาเยี่ยม  ถ้าไงหมอจะคอยอยู่ที่โรงพยาบาลนะ ”  จากนั้นก็ขอตัวไปเยี่ยมผู้พิการรายอื่น 

ผ่านไป  1  สัปดาห์ผู้ป่วยก็กลับมาทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง  จนอาการที่หลังดีขึ้นมาก  และยอมนำยาจากโรงพยาบาลเอกชนมาให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเราดู  และเริ่มรักษาโรคตับอักเสบที่โรงพยาบาลของเรา ภรรยากับลูกก็กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วย   เฮ้อ....สำเร็จแล้ว  ในที่สุดผู้ป่วยก็ใจอ่อนให้กับความพยายามไม่ย่อท้อของเรา 

จากการดูแลติดตามผู้ป่วยรายนี้ทำให้ตัวฉันเองเห็นถึงความสำคัญว่างานให้บริการในโรงพยาบาลสำคัญยิ่ง  ถ้าเราให้ความสนใจกับผู้ป่วยรายที่ยากหรือดื้อในความคิดเรา  อย่างน้อยเราจะเข้าใจในความเจ็บป่วยของเขาและผู้ป่วยเราก็จะได้รับการดูแลและไม่หายไปจากระบบ  ฉันยังเคยคิดว่าถ้าฉันทำเป็นลืมผู้ป่วยรายนี้  ป่านนี้ผู้ป่วยอาจต้องขายบ้านเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแน่ๆจากที่ขายรถแล้ว  ทั้งๆที่การรักษาหรือยาที่โรงพยาบาลชุมชนของเราก็มี อยากชักชวนพี่น้องชาวสาธารณสุขเราว่า  ถ้าเรามีผู้ป่วยที่พูดยากมารับบริการที่โรงพยาบาล เราอาจจะเหนื่อยและเบื่อในการให้การดูแล  แต่อย่าท้อนะค่ะ  เขาเหล่านี้น่าสงสาร  มีความทุกข์ยากมากมายเกินกว่าจะมาเล่าให้หมอฟังในระยะเวลาอันน้อยนิด รับฟังเขา  เข้าใจเขาเริ่มแค่นี้ก็ช่วยเขาได้เยอะแล้ว รายนี้เป็นรายแรก  ต่อไปต้องมีรายสอง  รายสามแน่นอน   เป็นกำลังใจให้นะค่ะ

 

เล่าเรื่องโดย   นวดี  เทศศรีเมือง   นักกายภาพบำบัด 

หมายเลขบันทึก: 444045เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท