แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) กับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง

ทศพนธ์ นรทัศน์[*]

 

บทนำ 

          ประเทศไทยมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ใน พ.ศ. ๒๕๕๘ บทความนี้ จึงนำเสนอถึงการแนวทางการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ซึ่งจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕

 

ประชาคมอาเซียน 

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN) หรือ “อาเซียน” เป็นองค์การทางภูมิรัฐศาสตร์และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า อาเซียนมีพื้นที่ราว ๔,๔๓๕,๕๗๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว ๕๙๐ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของชาติสมาชิกรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว ๑.๘ ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา อยู่ในลำดับที่ ๙ ของโลก เมื่อเรียงตามผลิตภัณฑ์มวลรวม มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของอาเซียน[๑]

อาเซียนมีจุดเริ่มต้นมาจากสมาคมอาสา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔  โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ได้ถูกยกเลิกไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีการลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ" อาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีรัฐสมาชิกเริ่มต้น จำนวน ๕ ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ หลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา อาเซียนมีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นจนเป็น ๑๐ ประเทศในปัจจุบัน “กฎบัตรอาเซียน” ได้มีการลงนามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งทำให้อาเซียนมีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น เขตการค้าเสรีอาเซียนได้เริ่มประกาศเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘[๒] ซึ่งจะประกอบด้วยวิสัยทัศน์และเสาหลักของประชาคมอาเซียน ดังนี้

  • ·วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 เพื่อกำหนดเป้าหมายว่าภายในปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. ๒๕๖๓)[๓] อาเซียนจะเป็น

๑) วงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (A Concert of Southeast Asian Nations) 

๒) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต (A Partnership in Dynamic Development)  

๓) มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก (An Outward-Looking ASEAN)

๔) ชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร (A Community of Caring Societies)  

  • ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก (Pillars) ได้แก่

๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะ (๑) ใช้เอกสารทางการเมืองและกลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค รวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้าย การลักลอบ ค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และการขจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (๒) ริเริ่มกลไกใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคง และกำหนดรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือในด้านนี้ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานการป้องกันการเกิดข้อพิพาท การแก้ไขข้อพิพาท และการส่งเสริมสันติภาพภายหลังจากการเกิดข้อพิพาท (๓) ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือด้านนี้  ทั้งนี้ ความร่วมมือข้างต้นจะไม่กระทบต่อนโยบายต่างประเทศ และความร่วมมือทางทหารของประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค[๔]

๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)[๕] เป็นเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน  ภายหลังการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนประชาคมเศรษฐกิจมีองค์ประกอบสำคัญคือการเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน  โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  แรงงานฝีมืออย่างเสรี และเงินลงทุนที่เสรีมากขั้น  มีความสามารถในการแข่งขันสูง  มุ่งสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน  และการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับประชาคมโลก ขนาดของตลาดอาเซียนที่ใหญ่ขึ้น มีอำนาจซื้อสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งช่วยให้ชาติสมาชิกสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์

อาเซียนมีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางหลวงอาเซียน การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ ผ่านไปยัง มาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนามและสิ้นสุดที่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ การปรับมาตรฐานของเส้นทางคมนาคมทางบกและทางรถไฟให้มีมาตรฐานเดียวกันได้ส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนด้านการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นด้วย อาเซียนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) และเริ่มรวมตัวกับประเทศหรือกลุ่มคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ฯลฯ ความเหนียวแน่นใกล้ชิดระหว่างกันจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า  และการบริการในสาขาที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น การท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร  สุขภาพ ฯลฯ  นอกจากนี้  ยังจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังอาเซียน  ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของอาเซียนในเวทีการค้าโลก  และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอาเซียนโดยรวม

๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม (Social security)  โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น (๑) การพัฒนาสังคม โดยการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่อาศัยในถิ่นทุระกันดาร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของกลุ่มต่างๆ ในสังคม  (๒)  การพัฒนาการฝึกอบรม การศึกษาระดับพื้นฐานและสูงกว่า การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างงาน และการคุ้มครองทางสังคม
(๓) การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เช่น โรคเอดส์ และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (๔) การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (๕) การส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน นักคิดและศิลปินในภูมิภาค[๖]

          ประชาคมอาเซียน จึงเป็นความท้าทายและโอกาสใหม่ของประเทศไทย ที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะมีการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในภูมิภาค (Regional Value Chain) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มอำนาจในการต่อรอง[๗] และการขยายตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า ๕๙๐ ล้านคน ดังกล่าวข้างต้น

 

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ กับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

          การสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้ระบุไว้โดยละเอียดในยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค ความว่า “สร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน[๒๗] โดยผลักดันให้ไทยมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการ ได้แก่

(๑)      พัฒนาบุคลากรในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ภาคการผลิต อุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องประชาคมอาเซียนให้ได้รับข้อมูลและศึกษากฎระเบียบและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจชัดเจน เพื่อให้มีความรู้และมีสมรรถนะในการแข่งขันในระบบเสรี เพื่อเตรียมความพร้อมของธุรกิจ ตลอดจนแนวทางการขยายตลาดตามโอกาสและข้อตกลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งมีระบบการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างและการแข่งขัน

(๒)      ยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและบริการด้านสาธารณสุข ทั้งบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพของภูมิภาค (Medical Hub)

(๓)      เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและทักษะด้านภาษาเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงานไทยเข้าสู่ตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยไทยมีบทบาทนำในอาเซียนร่วมกับประเทศอื่นที่มีศักยภาพ

(๔)      กำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานของคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันสินค้าและบริการนำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการกำหนดคุณสมบัติของแรงงานนำเข้า เพื่อให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการ”

กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ได้ระบุถึงบทบาทการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมอาเซียน จากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและศักยภาพของแต่ละภาค โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน[๒๘] ดังนี้

(๑)     ภาคเหนือ  พัฒนาเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน (GMS) และกลุ่มเอเชียใต้ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (NSEC) และแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) รวมทั้งเชื่อมโยงสู่เมียนม่าร์ และเอเชียใต้ผ่านทางพรมแดนตะวันตกของภาคเหนือ (WEST GATE) โดยเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง สร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบเชิงลบจากการเปิดเสรีทางการค้า

(๒)     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เร่งต่อยอดและใช้ประโยชน์จากความตกลงต่างๆ ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาเมืองชายแดนและด่านชายแดน ได้แก่ มุกดาหาร หนองคาย นครพนม และอุบลราชธานี ให้เป็นประตูการค้า การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและสกลนครให้เป็นเมืองสนับสนุน การเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออก พร้อมทั้งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ ที่จังหวัดนครพนมเช่น คลังสินค้า สถานที่จอดรถสินค้า

(๓)     ภาคกลาง  เป็นประตูการค้าและการขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ มาตรฐานการให้บริการและอำนวยความสะดวกบริเวณเขตเศรษฐกิจชายแดน การใช้เมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนม่าร์ โดยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย ท่าเรือแหลมฉบัง และประเทศอื่นในภูมิภาค

(๔)     ภาคใต้   พัฒนาโดยใช้กรอบความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซีย (JDS) และกรอบความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดจีน-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) โดยพัฒนาเมืองชายแดนและเขตเศรษฐกิจชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาด่านในจังหวัดสงขลา สตูล ยะลา และนราธิวาส เป็นประตูการค้า การท่องเที่ยวและขนส่งกับมาเลเซียและสิงค์โปร์ พัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนสะเดา บูกิตกายูฮิดัม เชื่อมโยงกับเขตการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย พัฒนาทางหลวงพิเศษ (Motor Way) สายหาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย รวมทั้ง พัฒนาทักษะด้านภาษาและฝีมือแรงงานให้พร้อมรองรับการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

บทวิเคราะห์

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ไว้ครอบคลุมทั้งมิติด้านความมั่นคง สังคม-วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเสาหลักของประชาคมอาเซียน  แม้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ จะไม่ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ไว้เป็นการเฉพาะก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “แนวทางปฏิรูปประเทศไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง”[๒๙] ซึ่งเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยได้เสนอแนะให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะส่งผลกระทบในด้านบวกและด้านลบต่อประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยยังมีผลผูกพันให้ต้องเปิดเสรี  ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ และการดำเนินงานตามความร่วมมือรายสาขาอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านเกษตรอาหารและป่าไม้  ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น  ดังนั้น การปฏิรูปทุกด้านควรมีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเทศไทยต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินศักยภาพจากการเปิดเสรีในหลายๆ ด้าน  การใช้ประโยชน์ และเตรียมความพร้อมรับมือจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และสร้างกลไกในการเยียวยา หรือมาตรการสนับสนุนต่างๆ ขึ้นมารองรับ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคเอกชน และภาคประชาชนให้มีความพร้อมในการรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น ควรจัดตั้งคณะทำงาน หรือหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภาคเกษตร ที่จะได้รับได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดูเนื้อหาของบทความทั้งหมดได้ที่ http://www.researchgate.net/file.FileLoader.html?key=9afb4e794f4f1cdb39a1e568929611f2

หมายเลขบันทึก: 444000เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท