ประวัติพระพุทธศาสนาตอนที่ ๓


ประวัติพระพุทธศาสนาตอนที่ ๓

๒.๓.๓  สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ[1]

                   พระฉันนะ เคยเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าสุทโธทนะ และใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามาก่อนบวช คือเป็นสารถีขับม้าให้พระองค์ในวันที่เสด็จออกผนวช และมีอายุเท่ากันกับพระพุทธเจ้าเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช นายฉันนะก็ได้ตามเสด็จจนถึงฝั่งแม่น้ำ  อโนมานทีแล้วจึงกลับ  เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้  และสั่งสอนเวไนยสัตว์จนพุทธศาสนาแผ่ไปกว้างไกล  ฉันนะจึงพร้อมด้วยเจ้าชายศากยะหลายองค์ตามออกบวช เมื่อบวชมาแล้วจึงมีความเย่อหยิ่งจองหอง ว่าคนเป็นคนของพระพุทธเจ้า  นอกจากนี้ยังได้ติเตียนดูหมิ่นภิกษุรูปอื่นๆ ด้วย แม้พระองค์จะได้ทรงตักเตือนหลายต่อหลายครั้งก็ไม่เชื่อ พระองค์จึงตรัสสั่งพระอานนท์ไว้ว่า “ดูกรอานนท์    หลังจากเราล่วงไปแล้ว  คณะสงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ”

                   ครั้นนั้น  พระอานนท์ได้แจ้งแก่ที่ประชุมสงฆ์ พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า  ท่านอานนท์  ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือไม่ว่า  พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร  พระอานนท์ตอบว่า ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว  พระองค์ตรัสว่า  ดูก่อนอานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดตามปรารถนา  ภิกษุทั้งหลาย  ไม่พึงว่ากล่าว  ไม่พึงสั่งสอน  ไม่พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ

                   พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์  ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละจงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ   พระอานนท์ขอปรึกษาพระเถระทั้งหลายว่า จะลงพรหมทัณฑ์ได้อย่างไร  พระฉันนะท่านเป็นคนที่ดุร้ายมาก   ถ้าเช่นนั้นท่านจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป พระอานนท์ก็โดยสารเรือไปพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ  ๕๐๐  รูป ถึงเมืองโกสัมพี  พระอานนท์เข้าไปยังวัดโฆสิตาราม ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะ  พระฉันนะเห็นท่านก็เข้าไปหาท่านพระอานนท์  อภิวาทแล้วนั่งที่สมควร  พระอานนท์ได้กล่าวกะพระฉันนะว่า  สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ท่านแล้ว

                   พระฉันนะ  ถามว่า  พรหมทัณฑ์คืออะไร พระอานนท์ ตอบว่า      ท่านปรารถนาจะพูดคำใด  พึงพูดคำนั้นเถอะ   พระสงฆ์ทั้งหลายจะไม่กล่าว  ไม่ตักเตือน พระฉันนะเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว  ไม่ตักเตือน  ไม่พร่ำสอน   สงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือ แล้วพระฉันนะ  กล่าวจบลง  ท่านก็สลบล้มลง  ณ ที่นั้นเอง

                   ครั้นต่อมาพระฉันนะ  ก็มีความอึดอัด  ระอาใจ  รังเกียจอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์จึงหลีกหนีออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว  ท่านสำนึกได้ ตั้งใจบำเพ็ญเพียร  ไม่ประมาท ฝึกฝนอบรมตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เท่าไรนักได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม  เป็นที่สุดพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรียนบวชโดยชอบต้องประสงค์    ด้วยปัญญาอันยิ่ง       ด้วยตนเอง       ท่านพระฉันนะได้สำเร็จเป็นอรหันต์   อีกรูปหนึ่ง ในบรรดาอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่ในขณะนั้น  แล้วท่านก็ไปพบพระอานนท์แล้วกล่าวว่า    ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์แก่ผมในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์กล่าวตอบว่า  ท่านฉันนะ เมื่อใดท่านทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว  เมื่อนั้นพรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว

 

๒.๔  ผลของกาทำสังคายนาครั้งที่ ๑

          ๒.๔.๑ สรุปการสังคายนาครั้งที่ ๑

                   การสังคายนาครั้งที่ ๑ นี้ สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

                   ๑)        ทำที่ถ้ำสัตตปัณณคูหา ภูเขาเวภาระ  เมืองราชคฤห์  แคว้นมคธ ๒)พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน  และเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชนา พระวินัย  พระอานนท์ เป็นองค์วิสัชนา พระสูตรและพระอภิธรรม ๓) พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์                    ๔) พระอรหันต์ จำนวน  ๕๐๐  องค์ เข้าร่วมประชุม ๕) สงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์  ๖) สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ  ๗) พระปุราณะคัดค้านการทำสังคายนา ด้วยวัตถุ ๘ ประการ ๘) วัตถุประสงค์ของการสังคายนาครั้งนี้  เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยเข้า เป็นหมวดหมู่เพื่อความดำรงมั่นของพระศาสนา   ๙) ทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้  ๓  เดือน  และ ทำอยู่  ๗  เดือน     จึงสำเร็จมีการตระเตรียมงานอยู่นานถึง  ๖  สัปดาห์

             

              ๒.๔.๒ ผลที่เกิดจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๑

                         ๑) ได้ร้อยกรองพระธรรมวินัยเข้าเป็นหมวดหมู่  เป็นระเบียบเรียบร้อย  ๒) การปฏิบัติของพระอานนท์     และการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเป็นตัวอย่างที่ดี   ชี้ถึงหลักประชาธิปไตย  และธรรมาธิปไตย  อย่างชัดเจน ๓)       ทำให้คำสอนของพระพุทธองค์ดำรงมั่น  และได้ตกทอดมาถึงพวกเราทุกวันนี้  ๔)    แสดงถึงความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ที่ได้พร้อมเพียงกัน จนถือเอาเป็นตัวอย่างในการทำสังคายนาในสมัยต่อๆ  มา

 

สรุปท้ายบท

                   หลังพุทธปรินิพาน   สถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียราวพุทธศตวรรษที่ ๑ มีสาระสำคัญ คือ การทำปฐมสังคายนา  โดยคณะสงฆ์เริ่มงานรวบรวมประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นระบบ   มีความน่าเชื่อถือ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อการสืบทอดและขยายตัวของพระพุทธศาสนาในยุคต่อๆ มา  ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดสังคายนาครั้งที่    ๑   น่าจะมาจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่   แนวคิดที่จะรวบรวมพระธรรมวินัยก่อนพุทธปรินิพพานของพระสารีบุตร เหตุการณ์ที่พระจุนทะการกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย       เมื่อทราบข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์  และเพื่อความดำรงมั่นของพระธรรมวินัย

                   เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการสังคายนาครั้งที่    ๑    เริ่มจากการขอความสนับสนุนของรัฐแห่งอาณาจักรมคธในยุคของพระเจ้าอชาตศัตรู การรวบรวมคัดเลือกพระสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ มีความเชี่ยวชาญพระธรรมวินัย การอภิปรายวินิจฉัยสิกขาบทเล็กน้อยซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องบ่ง ชี้ลักษณะสำคัญของนิกายสงฆ์ในยุคต่อๆ มา คือ เถรวาทให้ยึดหลักการดั้งเดิมไม่ให้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น โดยยึดหลักว่าจะไม่ลดทอนในส่วนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้ว และไม่เพิ่มเติมในส่วนที่พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัส    พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจึงค่อนข้างเป็น อนุรักษ์นิยม ส่วนมหายานมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัย   ประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้สนองความต้องการของสังคม จึงมีลักษณะเป็นเสรีนิยม 

                   ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ นี้ทำในถ้ำสัตตบรรณคูหา มีพระอรหันต์ที่ถูกคัดเลือกมาจำนวนถึง ๕๐๐ องค์ สาระสำคัญของการประชุม คือ การร้อยกรองพระธรรมวินัยเป็นหมวดหมู่ มีการซักถามให้เกิดความเข้าใจและรับหลักการร่วมกัน นอกจากนี้ก็มีเรื่องสงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์ การลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะตามพุทธดำรัส  การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ของพระพุทธศาสนาครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประมวลความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบของเหล่าพุทธสาวกแล้ว เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเจริญเติบโตของพระพุทธศาสนาในยุคต่อมา



[1] พระอุดรคณาธิการ. เรื่องเดิม,  หน้า  ๑๙๐.

 

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 443895เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท