เรียนรู้จากดูงานที่ชุมพร


ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี คุ้มค่ามากกว่าคุ้มทุน
ศึกษาดูงานจังหวัดชุมพร 2-6 มิถุนายน 2554
         
ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท    เป็นกิจการรีสอร์ท และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  มี คุณวริสร รักษ์พันธ์เป็นเจ้าของกิจการ  มีพนักงานทั้งสิ้น 99 คน  คุณวริสรพบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ทำให้เป็นหนี้ถึง 300 ล้านบาท ด้วยความเป็นผู้บริหาร มีความรับผิดชอบสูง เพราะถ้ากิจการเจ๊งไม่เพียงแต่เขาเท่านั้นที่เดือดร้อนยังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแลและรับผิดชอบ ทำให้เขาต้องสู้และอยู่ให้ได้ จากวิกฤตครั้งนี้ทำให้เรียนรู้ว่าการที่จะอยู่รอด ต้องรู้จักพึ่งตนเอง โดยเริ่มจากการฝึกวินัยของตัวเอง  เจ้าหน้าที่ของโรงแรม ต้องเคารพธงชาติ 8.00 น. สวดมนต์ทุกวัน รู้จักนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ การที่จะอยู่กับธรรมชาติต้องเข้าใจธรรมชาติ และได้นำเอาปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาใช้ในการบริหารจัดการปัญหา  โดยใช้คติที่ว่า เดินที่ละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง จะทำอะไรต้องระเบิดจากข้างในคือต้องทำจากข้างในให้เป็นแบบอย่างก่อนจึงขยายต่อออกสู่ภายนอก มีจัดการในเรื่องการกิน  การใช้ การอยู่  โดยให้พนักงานโรงแรมทำนาปลูกข้าวกินเอง  ( ปัจจุบันมีชาวบ้าน และแขกของโรงแรมที่สนใจมาช่วยทำนา มีข้าวในสต๊อก ปีละ 40 ตัน )  มีการเลี้ยงไก่ /หมู /วัว ไว้ในบริเวณโรงแรม   อาหารที่เหลือจากโรงแรม นำไปเป็นอาหารไก่  นำไข่จากไก่มาใช้ในโรงแรม  เศษอาหารจากโรงครัวนำไปทำแก๊สชีวภาพ และนำกลับมาใช้ในโรงแรม น้ำเสียจากห้องน้ำ จัดการบำบัดโดยจุลินทรีย์ในช่วงแรก และผ่านไปบ่อบำบัดโดยใช้พืชน้ำ  จากบ่อที่1 ไป บ่อ 2  ,3 ,4  เรื่อยๆ  โดยแต่ละบ่อปลูกพืชน้ำไว้  จนบ่อสุดท้าย น้ำใส  ใช้รดน้ำต้นไม้ในสวน  นำพืชสมุนไพรที่ปลูกไว้ในสวนไปทำเป็นสบู่  แชมพู ไว้ใช้ในโรงแรม  อุจจาระที่เกิดขึ้นในโรงแรมจัดการโดยใช้บ่อหมัก  28 วัน  แล้วตักใส่ตะแกรงโรยแกลบตากให้แห้ง  เข้าเครื่องอัดเม็ดใช้เป็นปุ๋ยอย่างดีในนาข้าวและสวนหย่อม มีการจัดสวนแบบ 4 ด. คือ ดูได้สวยงามเพลินตา ดมได้ดอกไม้ใช้ล่อแมลง ดื่มได้ชื่นใจ และแ..กได้อร่อยจัง เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตจริง ไม่วูบวาบทำให้เกิดความยั่งยืน ประหยัดค่าใช้จ่ายในโรงแรมได้อย่างมากมาย พนักงานของโรงแรมอยู่กันแบบครอบครัวไม่มีเกษียณอายุ ปัจจุบันมีพนักงานที่มีอายุมากที่สุด 79 ปี     ทุกคนอยู่กันแบบพอเพียงและมีความสุข จะพบว่า ที่ชุมพร คาบาน่าทำได้นั้น  เพราะผู้บริหารปลูกฝังให้รักองค์กร มีวินัย ไว้ใจเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งผูกมัดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พนักงานที่มาจากหลายพ่อพันแม่ได้มาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข และสามารถเป็นตัวอย่างแก่องค์กรอื่นได้ ท้ายสุดฝากข้อคิดดีๆจากผู้บริหารไว้เตือนใจ    คือ...ยิ่งทำยิ่งได้  ยิ่งให้ยิ่งมี  คุ้มค่ามากกว่าคุ้มทุน...
จากสิ่งที่ได้เรียนรู้สามารถนำมาใช้กับครอบครัวตัวเองและใช้ในสำนักงานได้เป็นอย่างดี เพราะงานที่เราทำประจำกับงานที่ชุมพรคาบาน่าคล้ายคลึงกัน คือการให้บริการ เราต้องทำจากข้างในคือต้องออกมาจากใจสามารถสัมผัสได้ วัดได้จากความพึงพอใจของผู้รับบริการ การที่จะพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพให้เกิดความยั่งยืนก่อนอื่น ต้องทำภายในองค์กรก่อนเพื่อเป็นแบบอย่างหรือขยายต่อสู่ภายนอกได้ ตามคติที่ว่า..แบบอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนการที่เราจะทำอะไรต้องอยู่บนวิถีชีวิตจริงของชาวบ้าน เหมาะสมกับบริบท ไม่วูบวาบ ทำให้เป็นธรรมชาติ เนียนอยู่ในงานประจำ หากองค์กรมีการบริหารจัดการในเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นระบบอยู่แล้ว  ก็น่าจะพัฒนาต่อไปในทางที่ดีขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต
หมายเลขบันทึก: 443874เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท