เรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนสร้างสุขภาพ ตำบลยม


เมืองยม เป็นหัวเมืองเก่าเมืองหนึ่งในอดีต ตั้งบนฝั่งลำน้ำย่าง ลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน ปัจจุบันเมืองยม ได้จัดตั้งเป็นตำบลยม อยู่ในเขตปกครองพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มองจากเมืองยมไปทางทิศตะวันออก เห็นดอยภูคาตั้งตระหง่านอยู่ไม่ไกล อันเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำย่างที่ไหลมาหล่อเลี้ยงคนแถบนี้ ที่นี่จึงเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอท่าวังผา

ด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ที่นี่ก็เป็นแหล่งเมืองพุทธศาสนาที่รุ่งเรือง ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของคนแถบนี่ ไม่ว่าจะเป็นวัดบ้านเสี้ยว วัดบ้านก๋ง และมีอดีตครูบาวัดก๋งที่เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีคนเคารพนับถือกันมาก

หากมองด้านสุขภาพ ที่นี่มีกลุ่มผู้สูงอายุและอสม.ที่เข้มแข็ง มีกิจกรรมการสร้างสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุมีกิจกรรมการรำไม้พลอง เล่นเปตองอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่ม ฒ ผู้เฒ่าเมืองยม ที่มีกิจกรรมการรวมกลุ่มกันทำของเล่นเด็กแบบโบราณ สอนลูกสอนหลานในการทำของเล่น เป็นการสานความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่และลูกหลาน

สิ่งเหล่านี้เป็นทุนฐานเดิมในการพัฒนาสุขภาพ การสร้างสุขภาพด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน

นี่เป็นภาระสำคัญของการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

......................................................................

วันนี้ (๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔) ทีมสุขภาพตำบลยม ได้ชักชวนแกนนำสุขภาพตำบลยมมาร่วมกันกำหนดแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพของตำบล หลังจากเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการสร้างสุขภาพร่วมกัน และได้กำหนดประเด็นการขับเคลื่อนด้านสุขภาพในปีนี้ ๓ ประเด็นหลัก คือ ประเด็นอาหารปลอดภัย ประเด็นการออกกำลังกาย และประเด็นเรื่องยาเสพติด ในประเด็นหลังนี้ได้มีแผนของตำบลและงบประมาณรองรับเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นวันนี้จึงได้แบ่งกลุ่มกันคิดกันหาแนวทางการทำงานในประเด็นอาหารปลอดภัย ประเด็นการออกกำลังกาย เพื่อจัดทำเป็นแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์(SRM)ของตำบลไปบรรจุไว้ในแผนของกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาและกระบวนการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร มีจุดแข็งจุดที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอะไร เอาอดีตมาเป็นบทเรียน แล้วจินตนาการใหม่ว่าอยากเห็นประชาชน ชุมชน เป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้ แล้วมากำหนดวีการทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้น และกำหนดว่าแต่ละภาคส่วนจะมีบทบาทในการสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างไร แล้วนำไปเขียนเป็นแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์(SRM)และแผนปฏิบัติการของตำบล

หลังจากนี้ทีมรพ.สต.และอบต.ก็จะนำแผนจากเค้าความคิดเหล่านี้ไปลงรายละเอียดกิจกรรมและงบประมาณ แล้วกลับมาให้กลุ่มแกนนำได้พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนสุขภาพตำบลระดับตำบลอีกครั้งหนึ่ง

ตอนนี้เท่ากับว่าได้แผนแล้วว่าจะทำอะไรกัน แต่สิ่งที่ยากกว่าการทำแผนคือการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ

แต่จากที่สังเกตกระบวนการทำแผนมีความคึกคัก แต่ละคนก็มีความมุ่งหวังและตั้งใจที่จะร่วมกันพัฒนาสุขภาพของประชาชน เพียงแค่นี้ก็ไม่ยากสำหรับการขับเคลื่อน

สุขภาพดีต้องร่วมสร้าง

.................................................................

บันทึกการเรียนรู้การจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์(SRM)ตำบลยม อำเภอท่าวังผา

๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 443791เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท