ชีวิตพอเพียง .. ความสุขที่เพียงพอของพี่ปราณี


ชีวิตพี่มีความสุขอย่างทุกวันนี้เพราะมหาวิทยาลัยชีวิต

 

 

ปราณี ธีรวิเศษไกร


จาก ‘แม่บ้าน’ สู่ ‘บัณฑิตเกียรตินิยม’ 
จาก ‘ปริญญาบนฝาผนัง’ สู่ ‘ปริญญาชีวิต’

 

 

     ชีวิตที่รับหน้าที่คอยดูแลรับส่งลูกชาย 2 คน เตรียมอาหาร และจัดการความเรียบร้อยภายในบ้านตามแบบฉบับของแม่บ้านที่ดีในครอบครัวเล็กๆ ซึ่งสามีรับราชการ ข่าวการเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ที่มีเพื่อนมาบอกกล่าวชักชวนให้ไปเรียนด้วยกัน (เมื่อประมาณปี 49-50) จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของพี่ปราณี ที่จะทำความฝันของตนเองให้เป็นจริง ในการที่จะได้มีใบปริญญามาใส่กรอบแขวนประดับไว้บนฝาผนังบ้านเหมือนกับคนอื่นๆ บ้าง

 

 “ไปเรียนเถอะ .. ดีกว่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ หายใจเข้าออกทิ้งไปเฉยๆ”

 

     ไฟเขียวจากหัวหน้าครอบครัว ที่ยังคงทิ้งร่องรอยของความรู้สึก ‘เต็มปลื้ม’ ให้ผู้เขียนสัมผัสได้จากดวงตาของพี่ปราณีขณะพูดถึงเรื่องราวในตอนนั้นให้ได้ฟัง ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ด้วยวัย 44 ปี (ขณะนั้น) ที่แม้แต่ตัวพี่ปราณีเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่า ผลของการตัดสินใจในครั้งนั้นจะทำให้ชีวิตของตัวเองและครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา

 

 

 

 

     เรื่องราวชีวิตในฐานะนักศึกษาของพี่ปราณี ค่อยๆ ถูกเรียบเรียงและถ่ายทอดออกมาในการสนทนาอย่างละเอียด ไล่เรียงมาตั้งแต่ช่วง 3 อาทิตย์แรกที่พี่ปราณีรู้สึก ‘เป็นกังวล’ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตที่ ‘ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง’ ซึ่งเน้นการปฏิบัติมากกว่าท่องอ่านจากในตำรา ดูค่อนข้างจะแตกต่างกับสิ่งที่คิดเอาไว้แต่แรกอย่างมากมาย ทำให้หลายครั้งพี่ปราณีรู้สึกท้อเพราะไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถทำได้ จนเริ่มปรับตัวได้และรู้สึกสนุกไปกับการเรียน หลังจากพบว่าตัวเองเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ด้วยความรู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตของเธอได้อย่างเห็นผลจริงๆ

 

     จากคนขี้อายที่ไม่กล้าพูดกล้าแสดงออก และมักจะนั่งฟังเงียบๆ ในห้องเรียน ก็เริ่มที่จะกล้าคิด กล้าแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนมากขึ้น หลังจากที่ต้องออกไปร้องเพลง ‘ช้าง’ หน้าชั้นเรียน ตามคำเชิญของอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งพี่ปราณีบอกว่า “ฝืนร้องไปจนจบเพลงด้วยความประหม่า” แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้ทำให้พี่ปราณีเริ่มรู้สึกว่าการพูด หรือแสดงออกต่อหน้าคนหมู่มาก ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือเป็นสิ่งที่ตนเองไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

 

     กับลูกชายทั้ง 2 คน ที่เริ่มจะโตเป็นหนุ่ม ซึ่งพี่ปราณีมักรู้สึกว่าความสนิทสนิทสนมที่เคยมีเริ่มทอดระยะห่างขึ้นเรื่อยๆ ก็กลับมาใกล้ชิดกันเหมือนเดิม จะต่างไปก็แต่เพียงสถานะที่จากเดิมเคยเป็นคนสอนการบ้านลูก ครั้งนี้กลับกลายมาเป็นลูกๆ ช่วยกันสอนการบ้านภาษาอังกฤษ และการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับพี่ปราณีแทน ซึ่งจากคำบอกเล่าของพี่ปราณี ทำให้ผู้เขียนรู้สึกถึงความอบอุ่นในบรรยากาศของการสอนการบ้าน ที่มักจะอบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะสนุกสนานของทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพราะความที่ไม่ค่อยประสาในเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษของตัวเธอ

 

     การทำบัญชีครัวเรือน การวางแผนชีวิต ที่แต่เดิมมองว่าเป็นเรื่องที่หยุมหยิมวุ่นวาย น่าเบื่อ แต่ทันทีที่ได้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในแต่ละเดือนที่ต้องเสียไป จึงได้รับรู้ถึงความสำคัญและทำให้พี่ปราณีเริ่มหันมาจัดระเบียบทางการเงินและชีวิตเสียใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งก็ช่วยให้ลดภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างภายในบ้านลงไปได้อย่างมาก

 

     ทั้งๆ ที่มีที่ดินรอบๆ บ้านกว่า 100 ตารางวา บวกกับที่ในสวนอีกเกือบ 2 ไร่ แต่ถึงอย่างนั้นอาหารที่นำมาปรุงส่วนใหญ่กลับล้วนแล้วแต่ต้องไปซื้อหามาจากตลาดทั้งสิ้น จนได้มาทำโครงงาน ‘ผักอินทรีย์’ ในวิชา สปช.1 จึงทำให้พี่ปราณีได้รับรู้คุณค่าของทุนรอบๆ บ้านตนเองว่า สามารถปลูกผักเพื่อนำมารับประทานโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหาได้มากมายหลายชนิดขนาดไหน

 

 

 

 

     ปัจจุบันแม้พี่ปราณีจะได้รับปริญญาในสาขาศิลปศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 2 (ซึ่งเพิ่มความรู้สึกพิเศษอีกเล็กน้อยตรงที่เป็นปริญญาที่เธอได้รับพร้อมกับลูกชายคนโต) สมความปรารถนาที่ต้องการจะมีใบปริญญาบัตรใส่กรอบแขวนประดับอยู่บนผนังบ้านของตนเอง แต่ก็ดูว่าสิ่งนั้นจะไม่ใช่สาระสำคัญอะไรอีกต่อไป มากไปกว่าความรู้ต่างๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น ถูกแปรสภาพให้กลายเป็น ‘ปัญญา’ ที่สามารถนำมาสานต่อเพื่อทักทอความสุขให้กับชีวิตและครอบครัวของพี่ปราณีได้อย่างไม่รู้จบ บนพื้นฐานของการใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

     ที่ดินรอบบ้านอุดมไปผักสารพัดชนิด รวมถึงโรงเห็ดที่สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน จนบ่อยครั้งที่บ้านของเธอกลายเป็นที่จ่ายตลาดของเพื่อนบ้านในละแวกนั้น ที่มาขอแบ่งปันซื้อหาไปรับประทาน เป็นสถานที่อบรมดูงานให้กับเพื่อนบ้านที่สนใจอยากจะทำได้อย่างเธอ บนพื้นที่เกือบ 2 ไร่ในสวน เพิ่มบ่อเลี้ยงปลาขึ้นมา 2 บ่อ แถมด้วยไม้ผลอีกสารพัดชนิด ที่พี่ปราณีคุยให้ฟังว่าบ้านเธอมีผลไม้ให้รับประทานตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาออกไปซื้อหาแต่อย่างใด กลายมาเป็นฟิตเนสส่วนตัวของสามีในวัยเกษียณ ให้ได้ออกกำลังกายไปกับกิจวัตรประจำวันในการดูแลต้นไม้ ใส่ปุ๋ย และให้อาหารปลา

 

 

 

 

      “พี่รู้สึกว่าตัวเองโชคดีอยู่ 3 เรื่อง อย่างแรกพี่โชคดีที่มีสามีดี อย่างที่สองคือพี่มีลูกดี ลูกพี่ไม่เกเร สุดท้ายคือโชคดีที่ตัดสินใจมาเรียนที่ ม.ชีวิต .. ชีวิตพี่มีความสุขอย่างทุกวันนี้เพราะมหาวิทยาลัยชีวิต”

 

     คำพูดสรุปในช่วงท้ายของการสนทนากับพี่ปราณี ที่ละอองความสุขจากรอยยิ้มของผู้เล่า ถ่ายทอดแบ่งปันมาถึงผู้ฟัง จนผู้เขียนอดที่จะรู้สึกมีความสุขไปกับผู้หญิงธรรมดาอย่างพี่ปราณี บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชีวิตผู้นี้ไปด้วยไม่ได้จริงๆ

 

 

 

 

“สังคมไทยไม่ได้ขาดเงิน  หากแต่ขาด  ‘ปัญญา’
ที่จะทำให้มองเห็น 'คุณค่า' ของสิ่งที่มีอยู่รอบตัว”

รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ
อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

 

 

 

บทความโดย

พรายพิลาศ

ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗
พ.ศ. ๒๕๕๔

 

 

หมายเหตุ : ปัจจุบันพี่ปราณี ยังคงพักอยู่ที่หมู่บ้านดงสันเงิน ต.บ่อแห้ว อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งนอกบทบาทแม่บ้านที่ยังคงทำหน้าที่อย่างไม่บกพร่องแล้ว เธอยังมีส่วนในการลงพื้นที่บนดอยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ ใน จ.ลำปาง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยเป็นผู้ชักนำโครงการต้นกล้าอาชีพเข้าสู่หมู่บ้าน จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมที่ผลิตของใช้ในครัวเรือนใช้กันเองภายในหมู่บ้าน และกำลังจะเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำวิชากระบวนทัศน์พัฒนาของศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนลำปาง ซึ่งเธอวางเป้าหมายไว้ว่าจะทำงานด้านการศึกษาระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 443769เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับ
  • ยินดีกับความสำเร็จและความก้าวหน้าในชีวิตครอบครัวและการงานของพี่ปราณีด้วยครับ
  • สังคมไทยไม่ขาดเงิน อีกทั้งมีแดดดี ดินดี พื้นที่ทำเกษตรมากมาย ถ้าขยันและรู้จักพลิกพื้น แต่คนส่วนใหญ่ละเลยและขาดปัญญา น่าเสียดายที่มีของดีอยู่ในมือแต่มองไม่เห็นครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วทำให้คิดได้ว่าไม่มีอะไรที่ยากจนเกินกว่าที่เราจะทำได้  ถ้าเรามี

ความมุ่งมั่นและมีคนรอบข้างที่คอยให้กำลังใจ  ทุกอย่างย่อมสำเร็จได้นะคะ

สวัสดีทุกท่านครับ

คุณชำนาญ

- พี่ปราณีน่ารักมากครับ ด้วยความานะของพี่เขาอีกไม่นานผมเชื่อว่าพี่ปราณีคงได้เป็นมหาบัณฑิตสมในแน่นอน

- 'เมื่อเห็นคุณค่า มูลค่าก็เกิด' คงจะเป็นอย่างคำที่ รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ ได้กล่าวเอาล่ะครับ

คุณ krugui Chutima

เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ กำลังใจจากคนใกล้ตัว และมานะ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ

ยิ่งกับพี่ปราณี ที่นำความรู้มาสร้างให้เกิดปัญญาได้ด้วยแล้ว ยิ่งนับว่าน่ายินดีเพิ่มขึ้นไปอีกครับ

ขอบพระคุณ คุณชำนาญ เขื่อนแก้ว คุณ krugui Chutima และคุณ อ.นุ. มากๆ นะครับ

สำหรับกำลังใจ และความเห็นดีๆ ที่กรูณานำมามอบให้ในที่นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท